×

อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ เจาะกลไกสมองทำงานอย่างไร

05.08.2022
  • LOADING...

ทำไมเรามักจะจำในสิ่งที่อยากจะลืม แต่กลับลืมในสิ่งที่อยากจำ สิ่งนี้เป็นเหมือนปริศนาธรรมที่หาคำตอบได้ยากไม่แพ้เรื่องไหนๆ เลย

 

Top to Toe เอพิโสดนี้ ดร.ข้าว จะพาทุกคนบุกเข้าไปในสมอง เพื่อไขความลับว่าเราสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร แล้วถ้าอยากจะลบความทรงจำที่เจ็บปวดออกไปบ้าง วิทยาศาสตร์จะช่วยเราได้หรือเปล่า

 

สมองของเราจดจำเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร

ทุกวันที่เราออกไปใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน แน่นอนว่าสมองต้องรับข้อมูลตลอดเวลาแทบทุกวินาที ผ่านการคิด มองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส หรือลิ้มรส โดยทั้งหมดจะถูกเก็บรวมกันไว้ก่อน แต่ยังไม่เอาออกมาประมวลผล เพราะในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม กลไกของสมองจะจดจ่ออยู่แค่การทำอย่างไรก็ได้ ให้ร่างกายสามารถอยู่รอดปลอดภัยบนโลกใบนี้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือถูกทำร้าย 

 

โดยข้อมูลระหว่างวันที่ได้รับมาทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในฐานะ ‘ความทรงจำระยะสั้น’ (Short-term Memory) จนกระทั่งเมื่อเรากลับถึงบ้านปลอดภัย ปล่อยใจให้ว่าง จนสมองไม่ต้องคอยกังวลแล้วว่าเราจะเป็นอันตรายหรือเปล่า ช่วงเวลานั้นจะเป็นจังหวะที่สมองเริ่มนำข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้มาพิจารณาว่าก้อนไหนที่สำคัญ ควรเก็บเอาไว้ หรือก้อนไหนที่ไม่ค่อยจำเป็นก็ทิ้งมันไป 

 

คำถามต่อมาคือ แล้วสมองรู้ได้อย่างไรว่าความทรงจำไหนที่สำคัญ 

 

ต้องย้อนกลับไปที่จุดเดิมคือ สมองพยายามทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ เพราะฉะนั้นความทรงจำอะไรก็ตามที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ สมองจะถือว่าเป็นความทรงจำที่สำคัญ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม

 

อารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธ ความกลัว ความขยะแขยง ความเศร้าเสียใจ สมองจะจำเรื่องเหล่านี้ได้แม่น เพราะมันตีความว่าเป็นภัยอันตรายที่ทำให้เราไม่มีความสุข อาจก่อให้เกิดโรค หรือทำให้ตายได้ โดยการจดจำเรื่องเหล่านี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเจอสถานการณ์แบบเดิมซ้ำอีกในอนาคต และทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น 

 

เช่นเดียวกันกับอารมณ์ด้านบวก ที่สมองพยายามจะเก็บเอาไว้เพื่อทำให้เราหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น เอ็นดอร์ฟิน โดพามีน หรือออกซิโตซิน โดยฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุข คลายเครียด และมีส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตดีขึ้น 

 

ส่วนความจำประเภทอื่นๆ ที่ไม่ค่อยกระตุ้นอารมณ์ เช่น วันก่อนใส่เสื้อผ้าสีอะไร เมื่อวานก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาออกจากบ้าน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นต่อสัญชาตญาณการอยู่รอด สมองจึงไม่ค่อยเก็บเอาไว้

 

เมื่อคัดกรองแล้วว่าจะเลือกเก็บความทรงจำอะไรไว้บ้าง ขั้นต่อมาคือสมองจะเล่นความทรงจำนั้นซ้ำอีกครั้งในขณะที่เราฝัน โดยกระบวนการนี้จะทำให้ความทรงจำระยะสั้นถูกเปลี่ยนเป็นความทรงจำระยะยาว (Long-term Memory) ผ่านตัวการสำคัญในร่างกายที่ชื่อว่า ‘ฮิปโปแคมปัส’  

 

สมองเก็บความทรงจำไว้ที่ไหน 

จริงๆ แล้วสมองไม่ได้เก็บความทรงจำรวมเป็นก้อนไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่ทุกความทรงจำจะถูกหั่นเป็นชิ้นๆ และจัดเก็บแยกกันไปตามส่วนต่างๆ ของสมอง 

 

ยกตัวอย่าง ถ้าหากสมองคือประเทศไทย ฮิปโปแคมปัสก็คือกรุงเทพฯ เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการที่ทำหน้าที่จัดการความทรงจำ เริ่มจากคัดกรองความทรงจำระยะสั้นให้เปลี่ยนเป็นระยะยาว แล้วหั่นเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาพ เสียง และความรู้สึก แล้วใส่กล่องของใครของมัน นี่คือกระบวนการที่สมองเก็บความทรงจำหนึ่งเรื่องเอาไว้ 

 

แต่กล่องเก็บข้อมูลที่ว่านี้ก็กระจายตัวกันไปคนละที่ เหมือนอยู่เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต การที่ความทรงจำทั้งหมดจะประสานกันได้เป็นเรื่องราว ก็ต้องมีถนนดีๆ มาเชื่อมต่อให้ทุกอย่างมาบรรจบกันอย่างราบรื่น ซึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราจำแม่นหรือหลงลืมก็คือถนนนี่เอง ความทรงจำไหนที่มีค่าและสำคัญ ถนนที่สร้างจะมีคุณภาพดี เดินทางสะดวก แต่ความทรงจำไหนที่ไม่จำเป็น มีความสำคัญน้อย ก็เป็นเพราะคุณภาพถนนด้อยกว่า ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากนั่นเอง 

 

เราบังคับสมองให้ลืมได้ไหม

ในชีวิตคนเราย่อมต้องมีเรื่องร้ายๆ ที่ไม่อยากจดจำ แต่ยิ่งความทรงจำนั้นกระทบกระเทือนจิตใจมากเท่าไร ทำไมกลายเป็นว่าสมองยิ่งจำได้ไม่ลืม

 

ปกติแล้วสมองของเรามีกลไกที่ทำให้ลืมในสิ่งที่ไม่จำเป็นด้วยเหมือนกัน อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าสมองจะจดจำเฉพาะในสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดเท่านั้น ซึ่งบางครั้งความทรงจำแย่ๆ เหล่านี้แหละ ที่ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย จังหวะนี้สมองจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเองว่าความทรงจำเหล่านั้นควรจะถูกกำจัดทิ้งไปซะ

 

ซึ่งการลบความทรงจำร้ายๆ ก็เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสมอง และเกิดขึ้นได้กับทุกคนด้วย เหมือนเวลาเจอเรื่องร้ายมาใหม่ๆ เราจะเจ็บปวด เสียใจ ร้องไห้ทุกวัน แต่นานวันเข้าความเศร้าจะค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะลืมความทรงจำนั้นไปหมดสิ้น เพราะสมองอาจยังจำเหตุการณ์ทั้งหมดได้ดี เพียงแต่เราเอาอารมณ์ความรู้สึกไปผูกไว้กับความทรงจำน้อยลง จนทำให้ลืมความเจ็บปวดได้บางส่วนนั่นเอง

 

วิทยาศาสตร์ช่วยลบความทรงจำได้หรือเปล่า

เพราะว่านักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกธรรมชาติของสมองเป็นอย่างดี พวกเขาจึงพยายามจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ (Phobia) เป็นโรคเครียด ประสบปัญหาทางด้านจิตใจ (Mental Health) หรือได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีต (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) 

 

โดยนักวิทยาศาสตร์เคยมีความพยายามที่จะช่วยเหลือคนที่กลัวแมงมุมทารันทูลา (Tarantula) มากๆ แบบที่แค่จินตนาการถึงมันก็ตัวสั่น กระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ได้ วิธีการของเขาคือให้คนไข้กินยาตัวหนึ่งที่สามารถทำลายถนน ที่เชื่อมต่อกล่องเก็บความทรงจำเพื่อขัดขวางการเดินทาง ซึ่งเมื่อได้รับยาบ่อยครั้งเข้า คนไข้จะเริ่มไม่เอาอารมณ์ความกลัวไปผูกกับรูปร่างหน้าตาของแมงมุม จนสุดท้ายคนไข้ถึงขั้นสามารถใช้มือสัมผัสแมงมุมได้โดยไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป

 

ถึงแม้ยาลบความทรงจำจะมีข้อสรุปว่าใช้ได้ผลในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ เพราะจำเป็นต้องมีการศึกษาอีกหลายขั้นตอนเพื่อการใช้งานที่ปลอดภัย และคาดว่าน่าจะสามารถใช้ได้เฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

แต่ต่อให้โลกนี้ไม่มียาลบความทรงจำ ตัวเราเองก็สามารถเป็นผู้ควบคุมและลบความทรงจำอันเจ็บปวดด้วยกลไกตามธรรมชาติได้เช่นกัน แค่ปล่อยให้เวลาเยียวยาจิตใจ แล้วเปลี่ยนโฟกัสใหม่ด้วยการทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเอง ให้สมองค่อยๆ เรียนรู้และสร้างถนนเส้นใหม่ที่พาเราไปในทิศทางที่ดีขึ้น แล้วคุณอาจลืมความเจ็บปวดได้เองโดยที่ไม่ทันตั้งตัวเลยด้วยซ้ำ

 


 

Credits


The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ณัชชยา เมธากิตติพร 

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising