หากใครที่อยากทำงานเพื่อสังคมแต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน อยากให้ฟังพอดแคสต์เทยเท่ตอนนี้
ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ คือเทยธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งสนใจเรื่องราวหลากหลาย และเปลี่ยนเอาความสนใจนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำเพื่อสังคม ทั้งการถ่ายภาพแฟชั่นอนุรักษ์สัตว์ การถ่ายภาพแฟชั่นเพื่อรณรงค์ให้คนบริจาคอวัยวะ รณรงค์เรื่องความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ
นอกเหนือไปจากเรื่องอนุรักษ์แล้ว ครั้งหนึ่งยังเคยขับเครื่องบินเล็กรอบโลกกับอดีตคู่ชีวิต เพื่อเก็บโปสต์การ์ดจากคนไทยในต่างประเทศมาถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 9
อยากให้แนะนำตัวหน่อยค่ะ
สวัสดีครับ ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์
ปัจจุบันเป็นช่างภาพแต่ไม่ใช่ช่างภาพธรรมดา แต่เป็นสายอนุรักษ์ ย้อนรอยไปก่อนว่าชีวิตตอนเด็กเป็นอย่างไรบ้าง
ชีวิตตอนเด็กเป็นเด็กชอบค้นหา ทดลอง ชอบเล่นอะไรกับธรรมชาติ แต่ก่อนเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่อ่อนนุช ด้วยความเป็นหมู่บ้านจัดสรรพื้นที่สีเขียวมันจะน้อย และยิ่งเราเป็นลูกคนเดียวเลยไม่มีใครเล่นด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเล่นกับผีเสื้อ หนอนบุ้ง ผักตบชวา เราเห็นว่าจริงๆ แล้วธรรมชาติกับคนมันค่อนข้างจะใกล้ชิดกัน แต่ด้วยความเจริญมันทำให้สองอย่างนี้ห่างกันไปเรื่อยๆ ธรรมชาติมันยังมีการปรับตัว และแทรกตัวอยู่ในความเจริญได้
เราคิดได้อย่างนี้ตั้งแต่ช่วงเด็กๆ แต่เรายังไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอะไรกับมัน โตมาเราก็ไม่รู้จะเรียนอะไร ถามที่บ้านเขาก็บอกว่าจะเรียนอะไรก็เรียนสิ ขอแค่ให้เป็นคนดีของสังคม คำว่าเป็นคนดีของสังคมคืออะไรก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ชีวิตช่วงมัธยมฯ ค่อนข้างจะผาดโผน เพื่อนเยอะมาก ตอนนั้นเราเริ่มเล่นกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำระเบิดเทียม เราทดลองเล่นอะไรที่เป็นผู้ชายมากๆ เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม เป็นโค้ชทีมชาติกีฬาเอ็กซ์เกม พอเรียนมหาวิทยาลัยเริ่มเป็นพวกคุณหนู เที่ยวกลางคืนเตลิดเปิดเปิง แต่ด้วยความโชคดีที่กลุ่มเพื่อนเราดี เพราะฉะนั้นก็เลยหลุดไม่ได้ไปไกลมาก
แต่ชีวิตยังผูกพันกับธรรมชาติมาตลอดใช่ไหม
ใช่ ทุกคนถามว่าเราทำศิลปะถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็กเหรอ เพราะค่อนข้างชัดเจนเรื่องแนวคิดและสไตล์ แต่จริงๆ แล้วเราเพิ่งมาจับงานศิลปะและภาพถ่ายอย่างจริงจังได้ประมาณ 3 ปี เพราะตอนช่วงมัธยมฯ เราค่อนข้างจะกลัวการทำศิลปะ สำหรับตอนนั้นศิลปะคือสิ่งที่แบบแผนชัดเจนแน่นอน จะต้องถูกต้องตามหลัก มันไม่สนุกเลยน่ะ กับวงกลมวิทยาศาสตร์ที่มีแดง เหลือง เขียว เราวาดสลับสีกัน อาจารย์ด่า บอกว่าอันนี้มันไม่ได้ มันผิด มันห่วย มันใช้ไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันใช้ไม่ได้ เพราะมันมี 3 สีเท่ากันเหมือนเดิม หลังจากนั้นก็ไม่เคยแตะศิลปะอีกเลย เกลียดมาก วาดรูปก็ไม่ได้ ถ่ายรูปก็ไม่เป็น กลัวการใช้อุปกรณ์
พอจบมหาวิทยาลัยเราก็เดินทางท่องเที่ยวอยู่ประมาณปีกว่า พอกลับมาเรารู้สึกเริ่มจะชื่นชอบงานสถาปัตยกรรม งานดีไซน์ งานที่มีความเป็นกะเทยมากขึ้นแบบงานตกแต่งภายใน ตอนนั้นที่วัดธรรมมงคลเขาเปิดคอร์สของอคาเดมิกอินทีเรียนา จากประเทศอิตาลี เราก็รู้สึกว่าจริงๆ เราเรียนที่นี่ก็ได้ ไม่ต้องไปไกล ไปไกลที่บ้านก็ด่าอีก ด้วยความเป็นลูกคนเดียว
หลังจากนั้นก็มีความรัก ตอนนั้นอดีตคู่ชีวิตทำให้ชีวิตเราพลิกผันไปอย่างไรบ้าง
เขาทำซอฟต์แวร์เอ็นจีเนียร์มาก่อน ตอนที่คบกันแรกๆ เขาบอกว่ามีเครื่องบินเล็ก เขาจะพาเราไปนั่งเครื่องบิน ฉันไม่เชื่อหรอกว่าเธอมีเครื่องบิน วันนั้นเขาก็ชวนไปเดตด้วยการนั่งเครื่องบินที่ดอนเมือง เป็นเครื่องบินเล็ก 2 ที่นั่ง เราคิดว่าเขาโม้เลยไม่ได้ไป จนเขาโทรมาตามเลยไป เราเป็นคนที่กลัวการนั่งเครื่องบินเล็กมาก เขาก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเชื่อใจเขา ปกป้องเรา และทำให้เรารู้สึกปลอดภัย หลังจากนั้นเราก็เริ่มมาคุยกันว่าเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไร ตอนนั้นเราค่อนข้างชัดเจนว่าเราไม่อยากอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะตอนนั้นเราผ่านจุดที่ดีและเลวที่สุดของชีวิตกรุงเทพฯ มาแล้ว เลยอยากไปค้นหาว่าตัวเองยังมีความสามารถอะไรซ่อนอยู่บ้าง และใช้ความสามารถตรงนี้ไปทำอะไรได้อีกบ้าง
เราเลยมานั่งดูว่าจุดอ่อนชีวิตของเรามีอะไรอีก คำตอบคือศิลปะ เลยคิดว่าที่ไหนสามารถยัดเยียดศิลปะให้เราได้อีก คุณเอ็ด (คู่ชีวิต) บอกว่าเขาจะไปเรียนการขับเครื่องบินที่เชียงใหม่พอดี ก็เลยย้ายสำมะโนครัวจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เชียงใหม่ เขาไปเรียนการขับเครื่องบิน ส่วนเราจะไปอยู่เป็นมาดามเหรอ ก็เริ่มเบื่อ เพราะปกติเราเป็นคนแอ็กทีฟมาก แต่ก็ยังไม่ได้เรียนศิลปะ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เรียน แต่เราเริ่มรู้จักคนในพื้นที่ รู้จักศิลปินคนต่างๆ มากมายแบบครูพักลักจำ ทำให้เราชื่นชอบศิลปะมากขึ้น และเราคิดว่านอกจากศิลปะจะทำให้เรารู้สึกในด้านสุนทรียภาพแล้ว มันน่าจะมีฟังก์ชันอื่นได้อีก เช่น การยกระดับความเป็นอยู่ของคน สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น หลังจากนั้นคุณเอ็ดเลยบอกว่าถึงเวลาที่ต้องไปอเมริกาแล้วเพื่อไปซื้อเครื่องบินลำหนึ่ง ตอนนั้นความกลัวเครื่องบินของเราถึงจุดพีกมาก เพราะต้องบินกลับจากอเมริกาด้วยเครื่องบินเล็ก 6 ที่นั่ง เรากลับกันมา 4 คนในหน้าหนาว มันต้องผ่านทั้งหมด 13 จุด ภายใน 11 วัน เลยมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะหายกลัวเครื่องบิน ทั้งเกม PSP ก็ลองมาแล้ว หนังสือก็ลองมาแล้ว ธรรมะก็ลองมาแล้ว เทปพระพยอมก็ลองมาแล้ว คือลองเกือบทั้งหมดที่จะทำให้เราสงบได้ มันไม่มีอะไรช่วยเราได้จริงๆ สุดท้ายมาจบที่กล้องถ่ายรูป กล้องคอมแพกต์เล็กๆ ที่วิวไฟน์เดอร์ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นใช้กล้อง Canon G9 มันเริ่ดมาก เป็นกล้องที่ทำให้เรารู้สึกว่าการถ่ายรูปเป็นมิตรกับเรา แล้วตอนนั้นถ่ายภาพจากทางอากาศเพราะว่าตอนนั่งเครื่องบินมันไม่เห็นอะไรเลย มันจะเห็นแค่ช่วงเทกออฟกับแลนดิ้ง แต่ระหว่างบินเราก็จะเห็นภูมิประเทศของแต่ละประเทศ มันค่อนข้างจะสวย และมีอะไรให้บันทึกไว้ มันทำให้ความกลัวของเราน้อยลง
แทนที่เราจะโฟกัสว่าเราอยู่บนความสูง เราก็ไปรื่นรมย์กับทัศนียภาพที่อยู่ด้านล่างแทน
ใช่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเริ่มชอบถ่ายรูป แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมัน แล้วหลังจากนั้นก็เดินทางจน ค.ศ. 2011 ได้เดินทางจากเชียงใหม่ไปสเปน และทริปนั้นแพลนทั้งหมด 46 ประเทศ ใช้เวลาเดินทาง 4 เดือน แม่บอกว่าเซ็นพินัยกรรมเอาไว้เลยนะลูก ทริปนั้นเราได้ทำโครงการอันหนึ่งให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงนั้นพระองค์เริ่มประชวรตั้งแต่ ค.ศ. 2008 ซึ่งปีนั้นเราบินกลับจากอเมริกา และได้เริ่มทดลองทำโครงการบินรอบโลกรวมใจเพื่อในหลวง
จุดเริ่มต้นโครงการนี้มาได้อย่างไรคะ
ตอน ค.ศ. 2008 ที่เราเดินทาง เราเจอหลายคนที่ถามถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าพระพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างไร เขาอยากทำเหมือนที่คนไทยได้ทำบ้างอย่างการถวายพระพร หรือเข้าเฝ้าฯ และเราในฐานะที่ได้เดินทาง เราสามารถเล่าเรื่อง เราสามารถส่งต่อและเชื่อมต่ออะไรบางอย่างได้ เลยคิดขึ้นมาได้ว่าทำไมทุกคนไม่เซ็นโปสต์การ์ดมาจากที่คุณอยู่ ทริป ค.ศ. 2008 เรารวบรวม 81 ใบ เพราะตรงกับ 81 พรรษา แต่ทริปของ ค.ศ. 2011 นี้ เราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่ามันจะได้เท่าไร ปรากฏว่าได้ 1,200 กว่าใบ
ตอนนั้นคนเขารู้ข่าวจากที่ไหนว่าเราทำโครงการนี้
เฟซบุ๊ก และวิธีการหาคนไทยของเรา ก็คือการเดินทางไปตามหาร้านอาหารไทยตามเมืองต่างๆ เลยมีอาหารไทยกินตลอดทาง พอกลับมาเมืองไทยจากทริปนั้น ทริปนั้นค่อนข้างอัศจรรย์เพราะเราไม่ได้แพลนว่าจะได้ไปเจอใครระหว่างทางแต่เราได้เจอคนมหัศจรรย์มาก เช่น นายกเทศมนตรีเมืองโลซานน์ นางก็พาไปฟาร์มของนาง พาไปกินไวน์อายุ 300 ปี
คือด้วยพระบารมีเลยทำให้เราได้รับความเกื้อกูลที่น่ารักๆ กลับมา
ความเกื้อกูลคือส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่าความมหัศจรรย์ของคนที่ได้รับอิทธิพลในการใช้ชีวิตจากในหลวงค่อนข้างเจ๋ง เรื่องตลกจากทริปนี้คือ พอกลับมาเมืองไทยเราก็ไม่ได้กะว่าทำขนาดนี้แล้วจะต้องดัง หรือจะเป็นคนของประชาชน เราเบื่อความเป็นคนของประชาชนมาก เพราะว่าเวลาไปไหนทุกคนก็จะบอกว่าโปรเจกต์เราดีอย่างนั้น อย่างนี้ ชีวิตเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกวันไง
จนมีอยู่วันหนึ่ง เราได้รับจดหมายจากสำนักพระราชวัง ว่าให้ทีมที่ไปบินสำรวจเข้าเฝ้าฯ
วินาทีนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง
โอ๊ย ทรุดตัวอยู่บนเตียงแล้วน้ำตาไหล รู้สึกว่าสิ่งที่พยายามทำให้คนอื่นค่อนข้างจะเห็นผลแล้ว คนที่อยู่ทั่วโลกคงจะดีใจ แต่พอใกล้ถึงวันพระองค์ประชวรหนัก สำนักพระราชวังให้เข้าเฝ้าฯ กับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทน
มาถึงอีกโปรเจกต์หนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักทอมมากขึ้น คือเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอนนั้นเราคิดว่าจริงๆ แล้ว ความสามารถในการบินของคุณเอ็ด กับการถ่ายภาพของเรามันน่าจะทำอะไรได้อีก ก็เลยไปช่วยบินสำรวจพะยูนที่จังหวัดตรัง จริงๆ เราไม่ค่อยรู้จักสัตว์ชนิดนี้เท่าไร ไม่รู้จักสัตว์ป่าอะไรเลย รู้แค่ว่าสวนสัตว์เราจะถ่ายรูปกับตัวนั้นตัวนี้ เราไม่ได้เข้าใจความต้องการของสัตว์ ไม่ได้เข้าใจปัญหาของสัตว์ป่าในปัจจุบัน เราเข้าใจแค่ว่าเราอยากไปถ่ายรูปกับสัตว์ อยากมีรูปเก๋ๆ ไปโพสต์เฟซบุ๊กให้คนดู อันนี้ผิด หลังจากนั้นเราเลยเริ่มศึกษาว่าจริงๆ แล้วพะยูนมันเป็นอะไร เราเลือกช่วยเหลือพะยูนเพราะว่ามันเป็นสัตว์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และน่าสงสาร มันจะอยู่ในพื้นที่จำกัดเพราะว่าอาหาร และด้วยความรุกรานของมนุษย์รวมถึงการท่องเที่ยว ทำให้มันตายเยอะ แล้วบ้านของมันในประเทศไทยค่อนข้างจะน้อย มีแค่ตรัง กระบี่ และจันทบุรี ก็เลยไปบินสำรวจกับทีมของกรมทรัพย์ฯ ปีนึงไป 10 วัน ไปช่วยเขา
ภาพแรกที่เห็นตอนไปบินสำรวจก็คือพะยูนแม่ลูกว่ายน้ำคู่กัน เราร้องไห้ เรารู้สึกว่า โห มันได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้อยู่กับแม่มัน มันรู้สึกปลอดภัยแต่ไม่รู้เลยว่าห่างออกไปแค่ 500 เมตรอันตรายเยอะมาก ก็เลยอุทิศตัวว่าตราบใดที่ยังทำไหวก็จะทำ จะช่วย
ในช่วงปีแรกเราทำการสำรวจได้ประมาณ 200-300 ตัว แล้วจำนวนมันก็ลดลงมาเรื่อยๆ ทุกปี ปีนี้ทำมาเป็นปีที่ 10 ปีนี้นับได้ 167 ตัว ช่วงระหว่างปีที่ 1-5 การทำแคมเปญหรือการให้ข้อมูลทางวิชาการ หรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมันค่อนข้างจะสื่อสารยากกับคนทั่วไป ซึ่งใช้ชีวิตในเมืองและชีวิตทางทะเลและอนุรักษ์เป็นเรื่องไกลตัว
พอมาปีที่ 3-4 เราได้เริ่มทำโครงการกับกรมทรัพย์ฯ อ่าวไทยตอนบน สำรวจวาฬบรูด้า เราก็ตายแล้ว ประเทศไทยมีวาฬบรูด้าด้วยเหรอ มันคืออะไร ก็เลยไปบินสำรวจช่วยเขาอีก พบว่าอ่าวไทยตอนบนมีวาฬอยู่ด้วย ประเทศไทยเก๋ มีทุกอย่างทั้งวาฬ พะยูน โลมา เต่า เรารู้ว่ามันมีแต่ไม่เคยได้สัมผัสหรือเห็นมันจริงๆ เลยไม่ได้ทำการอนุรักษ์จริงจังเหมือนประเทศอื่นที่เขารู้ว่าสัตว์พวกนี้มันมีคุณค่าทางธรรมชาติ มันเป็นตัววัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลขนาดไหน ก็เริ่มทำตรงนั้นมา
จนมีอยู่วันหนึ่งเราอยู่ที่ภูเก็ต เราเห็นข่าวมีวาฬตายอยู่กลางทะเลอ่าวไทย เราก็เลยปิ๊งความคิดขึ้นมาว่า แคมเปญที่ควรจะเป็นและสื่อสารกับคนรุ่นใหม่
มันไม่อิมแพกต์พอ?
มันไม่อิมแพกต์อยู่แล้ว เราไม่เคยเห็นแคมเปญทางวิชาการอันไหนมันอิมแพกต์เลย ตอนนั้นเริ่มทำงานแฟชั่น ถ้าเราเอาแฟชั่นที่มีอยู่ในตัวทุกคน ทุกคนสนใจในการแต่งตัวไม่ว่าคุณจะแต่งตัวดีหรือเลว อินหรือเอาต์ขนาดไหน ทุกอย่างที่คุณแต่งตัวมันคือการสื่อสารในรูปแบบหนึ่ง เลยตัดสินใจบินกลับมาที่สมุทรปราการเพื่อมาถ่ายแฟชั่นซากวาฬ ซึ่งลูกน้องเราบอกว่า คุณแม่ คุณแม่จะบ้าเหรอ ใครเขาจะไปถ่ายกับซากวาฬกลางทะเลอ่าวไทย เราเลยบอกว่าเพราะไม่มีคนถ่ายไง ฉันนี่แหละจะเป็นคนถ่ายคนแรก โชคดีว่าวาฬลอยเข้ามาติดป่าโกงกางเพราะน้ำขึ้น เราเลยไม่ต้องหอบไปกลางอ่าวไทย แต่มันก็ทุลักทุเลพอสมควร
พอไปถึงจุดที่มีซากวาฬ เราเจออุปสรรคในการทำงานค่อนข้างเยอะ ทั้งเลน ซากเน่า กลิ่นเหม็น วาฬมันเริ่มบวมและพร้อมจะระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้ จากเหตุการณ์วันนั้นมันทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ เพราะมีสื่อเจ้าหนึ่งไปถ่ายภาพเราตอนทำงาน และไปเขียนแคปชันว่า ช่างภาพสุดเพี้ยน พานางแบบอินเตอร์ลุยซากวาฬถ่ายแฟชั่น เราจะพูดเสมอว่าสิ่งที่ร้ายกาจกว่าอาวุธคือภาพถ่าย แต่สิ่งที่เลวกว่าภาพถ่ายคือแคปชันใต้ภาพถ่าย วันนั้นโทรศัพท์ดังไม่หยุดเลย และด้วยอานุภาพของซากวาฬที่ตายส่งผลต่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ได้ขึ้นหน้า 1 ทุกฉบับ
ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง
เราน่ะรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องของความคิดเห็นในด้านลบ เพราะเราให้ความสำคัญเรื่องของแนวคิดการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน หรือสิ่งที่เราตั้งใจทำงานมากกว่า ว่าทำไมเราถึงทำ ถ้าตราบใดมันเป็นความเชื่อที่บริสุทธิ์ บวกกับการค้นคว้าที่สมบูรณ์ ฉันสวยแล้ว ไม่มีใครแย่งมงจากฉันไปได้
จากโมเมนต์นั้นมันทำให้เรื่องการอนุรักษ์สัตว์กับเรามันโดดเด่นขึ้นมาหรือเป็นที่ตระหนักมากขึ้นใช่ไหม
ใช่ คือคนรุ่นใหม่เขาสนใจเรื่องพวกนี้ แต่ไม่มีสิ่งที่เชื่อมระหว่างโลกที่น่าเบื่อที่สุด กับโลกที่กำลังหมุนไปในสปีดที่รวดเร็วมาก ก็เลยคิดว่านี่แหละน่าจะเป็นทางของเราที่รวมหลายศาสตร์มาอยู่ด้วยกัน มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความตระหนักรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรจากความสนใจของตัวเองได้
ตอนนั้นเริ่มอนุรักษ์ แล้วชุมชนความเป็นอยู่มาสนใจได้อย่างไร
เริ่มจากปี ค.ศ. 2011 ที่เราเดินทาง แต่มันเปลี่ยนความคิดเราตอนที่เดินทางไปจิตตะกอง บังกลาเทศ เป็นประเทศที่น่าสงสารมาก เพราะทำการส่งออกผ้าให้เราแต่งตัวสวยๆ งามๆ แต่ความเป็นอยู่ของคนในบังกลาเทศค่อนข้างจะแย่ ที่จิตตะกองเราเดินทางไปจากเชียงใหม่ใช้เวลาบิน 2 ชั่วโมง ไปถึงช็อตแรกที่เจอคือเด็กคุ้ยกินขยะกลางถนน แล้วเรารู้สึกว่า 2 ชั่วโมงจากสิ่งที่เราอยู่ท่ามกลางความเจริญ ความสวยงาม เรามาเจอสิ่งนี้เราช็อก เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาอยู่ในสภาพนี้ ห่างไปอีก 200 เมตรมีป้าคนหนึ่งตัวสูงยาว เดินโป๊ โผล่ขึ้นมาจากน้ำที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน นางเป็นเหมือน X-Men เรารู้สึกว่าความเป็นอยู่ของคนพวกนี้ทำไมมันแย่ขนาดนี้ เราเดินทาง เราเห็นความเจริญ ความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มันเริ่มหายไประหว่างตัวมนุษย์คือเกื้อกูลระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เริ่มรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันหายไปเพราะความเจริญ เราเลยให้ความสำคัญกับชุมชนมาก
ชุมชนที่เรารู้สึกกับมันมากๆ คือชุมชนราไวย์กับชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมาจากคนละขั้วเลย ชุมชนราไวย์อยู่ที่ภูเก็ต ปกติเราชอบไปอยู่ภูเก็ตอยู่แล้ว ราไวย์เป็นหมู่บ้านชาวประมงชาวอูรักลาโว้ย ปกติจะอยู่ในทะเลแต่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ชายฝั่งทะเลตอนท้ายของเกาะภูเก็ต ตอนนั้นไปแล้วรู้สึกว่าเราต้องอยู่เฉยๆ เราจะมาพักและไม่ยุ่งกับอะไรทั้งนั้น เพราะวันนั้นมีการตีกัน มีนายทุนเอากลุ่มคนมาบุกปิดหมู่บ้าน แล้วตีคนในหมู่บ้าน แต่สุดท้ายก็อดรนทนไม่ได้ เลยได้งานออกมาชุดหนึ่งชื่อ The Boy Who Grows Up Among The Seashells ซึ่งเป็นการถ่ายภาพพอร์เทรตคนในหมู่บ้านในมุมมองที่เราเห็น คือความสวยงาม ความน่ารัก ความเป็นตัวตนของแต่ละคน ความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ
งานเซตนั้นมันค่อนข้างเป็นเซตที่ยากที่สุดสำหรับเรา เพราะเราทำไปครึ่งหนึ่งอดีตคู่ชีวิตที่คบกันมา 9 ปีบอกเลิกกันแบบฟ้าผ่า คือมันไม่มีสัญญาณมาก่อนเลย ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเวลาคนเราสูญเสียอะไรไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว หรือไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว การที่เขามีความหวังอะไรสักอย่างมันสำคัญสำหรับเขามาก เราเลยใช้ตรงนี้เป็นแรงผลักดันให้ทำงานภาพเซตนั้นจนเสร็จโดยที่ไม่บอกใคร ตอนนั้นภาพเสร็จประมาณ 80 ภาพ เรารู้สึกว่าภาพเซตนี้เราทำให้ชุมชน เราทำให้คนที่มาสัมผัสกับชุมชนได้เห็น ดังนั้นเราเลยไม่อยากให้ไปอยู่ในกาลาดินเนอร์หรือแกลเลอรีสวยๆ เราต้องการให้งานเราอิมแพกต์ มีคุณค่า และสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างอะไรบางอย่างในตัวคนที่ได้สัมผัส ให้มีความรู้สึกกลับมาเป็นคนอีกครั้ง แค่นี้พอแล้วสำหรับงานเรา
ทีนี้ที่หน้าหมู่บ้านจะมีบอร์ดอันหนึ่งที่เอาไว้แปะภาพคนในหมู่บ้านโดนตี เลยรู้สึกว่าถ้าเราเป็นคนในหมู่บ้านเราคงหดหู่ หลังจากนั้นภาพคนตีกันที่บอร์ดหน้าหมู่บ้านเริ่มหลุด เลยคิดว่าจะบอมบ์งานซะเลยด้วยการเอาภาพเราไปแทรกๆ แล้วมันค่อนข้างจะน่ารัก คนในหมู่บ้านก็มามุงดู หมู่บ้านเปลี่ยนทันที ทุกวันเขาเดินผ่านไปด้วยความไม่มีหวังแล้วกับตรงนี้ เขากลับรู้สึกว่านี่มันฉันนี่ ฉันมีความสุขที่นี่ สิ่งที่มันเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือนักท่องเที่ยวเร่ิมมาเห็นและสัมผัส มีคนเริ่มมาทำเรื่องราวคนในหมู่บ้านนี้มากขึ้น เราคิดว่าหน้าที่เรากับที่นี่จบแล้ว หน้าที่ของเราที่เหลือคือการเยียวยาตัวเอง
ตอนนี้มาถึงเรื่องชีวิตของเราแล้วคือเรื่องความเป็นอยู่ ทั้งโปรเจกต์ดินทรุดหรือการบริจาคอวัยวะ มันไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร
มันเริ่มจากความซนในวัยเด็กของเราด้วยว่าเรื่องบางอย่างถ้าเราคิดว่ามันน่าจะทำได้ มันน่าจะสร้างอิมแพกต์ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เราควรจะทำ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำ เราก็จะคาใจ ลองทำดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น โครงการนี้ชื่อ Anatomy 101 ทำตอนที่เราผ่าตัดเอาไตออกไปข้างหนึ่ง
เราเป็นมนุษย์ประหลาดที่มีเกิดมามี 3 ไต แต่แม่ลืมบอกลูกไปว่าลูกตัวเองมี 3 ไต จนกระทั่งอายุ 30 ปี เริ่มพบความผิดปกติและเริ่มใช้ชีวิตได้ยากลำบากมากขึ้น ตอนนั้นไปโรงพยาบาลเอกชน ค่าผ่าตัดประมาณ 600,000 บาท ฉันเอาไปทำอย่างอื่น ไปบินสำรวจได้อีกตั้งมากมาย ไม่ได้คิดว่ามันแพงแต่คิดว่ามันเอาไปทำอย่างอื่นได้อีก ก็เลยขอคุณหมอว่าออกไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐบาลไหนได้บ้าง เราจะไปรักษาที่นั่น แล้วส่วนต่างเราเอาไปสร้างประโยชน์ เราเลยได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เราไปคลินิกตั้งแต่ตี 4 เห็นความลำบากของเพื่อนมนุษย์ ไปเจอป้าคนหนึ่งที่รอเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมา 4 ปีแล้ว นางบอกว่าชีวิตนางเหมือนศพที่เดินได้ เราเข้าใจเลยคำนี้ เพราะว่าก่อนที่จะมาผ่าตัดหลังก็ปวด เพราะไตมันบวมแล้วไปดันกระดูกสันหลัง นอนก็ไม่ได้ คลานก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าชีวิตจะจบแล้ว คิดแค่ว่าเมื่อไหร่ไตจะระเบิดแล้วจะตายเสียที ตอนนั้นเลยขอคุณหมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่าถ้าเราผ่านการผ่าตัดได้ปลอดภัย เราจะทำโครงการอันหนึ่งในกับโรงพยาบาลจุฬาฯ จะเอาส่วนต่างที่เอาไปให้เอกชน เอาตรงนั้นมาบริจาคกับโรงพยาบาล แต่จะทำเป็นงานออกมาที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ ก็เริ่มทำ reference ให้หมอดู ก็ไปเอามาจาก Vogue อิตาลี แล้วเอาให้คุณหมอดูตอนมาตรวจสุขภาพ คุณหมอก็ตกใจเพราะคิดว่าไม่ค่อยน่าจะเหมาะ เราเลยถามว่าอะไรคือความเหมาะสม เราก็เลยบอกว่าถ้าทำอันนี้คนรุ่นใหม่สนใจ และมันสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นไปทำตามความสามารถของเขา เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ได้อีกมากมาย ก็เลยออกมาเป็นโครงการ Anatomy 101 ไม่คิดว่ามันจะทำประโยชน์ได้มากขนาดนี้ ตอนแรกเราจะได้ไปแสดงตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะ แต่เราไม่ไป ขอกลับมาแสดงงานในโรงพยาบาลจุฬาฯ ในหอรับผู้ป่วย ตึกจักรพงษ์ ซึ่งเราวางนิทรรศการไว้ให้คนมาดูงานแล้วเห็นความเจ็บป่วยของคนที่มารับการรักษา เป็นเหมือน Installation ของเราที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที แล้วคนที่มามันจะมาด้วยความต้องการต่างกัน แล้วตัวคนที่มาชมงาน เขาจะเห็นตัวเขาเป็นหนึ่งในผู้ป่วยนั้น
ท้ายที่สุดของนิทรรศการเราวางโต๊ะรับบริจาคไว้ มีดวงตา ร่างกาย อวัยวะ ซึ่งก็ตลกเพราะต้องแยกกัน ในการแสดงงาน 8 วัน เราได้รับการบริจาค 500 กว่าคน คุณหมอบอกว่าถ้าเอามาแยกส่วนดีจริงๆ ร่างหนึ่งจะช่วยคนได้ 35 คน เราคิดว่าถ้าการทำแคมเปญที่มันมีความใหม่และสามารถสื่อสารกับคนได้ ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องการการทำแคมเปญเรื่องบริจาคอวัยวะอีกต่อไป เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าคือหน้าที่ คือสิ่งที่จะต้องทำ นี่คือเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าสนุกดีและภูมิใจกับมัน
สิ่งหนึ่งที่ทอมเล่ามาทั้งหมด อาจมีบางคนที่อยากก้าวขึ้นมาทำเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าอยู่ๆ เราจะช่วย หรือเราจะลุกขึ้นมาทำได้อย่างไร ทอมอยากบอกคนอื่นๆ อย่างไรบ้างว่าจริงๆ การลุกขึ้นมาช่วยสังคมหรือทำอะไรสักอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัวเราเลย
ต้องเริ่มจากแรงบันดาลใจก่อน หลายคนจะชอบถามว่าเราไปเอาแรงบันดาลใจจากไหนมากเยอะแยะ เราบอกว่ามันไม่ได้เยอะเลย แต่เราเป็นคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่กับมัน แล้วคอนเทนต์ในชีวิตค่อนข้างเยอะ แต่เรื่องที่หยิบมาทำคือเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา หรือใกล้ตัวเรา แต่บางทีเราไม่เคยหยิบมันขึ้นมาพูดในลักษณะใหม่ คราวนี้คนจะถามอีกว่าเราไปเอาทุนมาจากไหน เราก็บอกว่างานส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานเพื่อสังคมมันบอกอยู่แล้วว่าเพื่อสังคม ฉะนั้นเราจะใช้ทุนของตัวเอง หรือถ้ามีผู้ใหญ่ใจดีช่วยซัพพอร์ตก็จะทำ แต่เรื่องไหนถ้ามันสปาร์กขึ้นมาแล้วก็จะทำเลยเพราะมันรอไม่ได้ ถ้าให้แนะนำคือชอบเรื่องไหนให้ทำเรื่องนั้น เรื่องใกล้ตัว เรื่องภูมิลำเนา วัฒนธรรมของพื้นที่ตัวเอง ประสบการณ์ชีวิต แม้แต่อกหักกินยาฆ่าตัวตาย มันเอามาทำได้หมด หรือชอบองค์กรไหนหรือเห็นประเด็นไหนน่าทำก็ไปเสนอเขา ทำ Proposal ไปเสนอ ใช้เงินเท่าไรก็ลองขอเขาดู ถ้ามีไอเดียใหม่ๆ ลองทำดู
ในอนาคตเราจะได้เห็นโครงการอะไรจากทอมอีกบ้าง
โครงการล่าสุดที่ทำคือโครงการ Art for the ocean เมื่อก่อนเราอยู่กับท้องฟ้าแต่นางฟ้าถูกถีบตกจากสวรรค์ต้องกลายมาเป็นศิลปินรับใช้ท้องทะเล โครงการ Art for the ocean คือโครงการที่ใช้ศิลปะเพื่อให้ความรู้ ให้แรงบันดาล และสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับท้องทะเล แต่ประเด็นคือเรื่องของการอนุรักษ์ แต่จะใช้แพลตฟอร์มของศิลปะ ทีนี้ปลาอาจจะได้ดูศิลปะ ศิลปินจะทำการซัพพอร์ตมากขึ้น แล้วเรามองเห็นว่าศิลปินไทยจริงๆ เก่งมากๆ แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับงานตัวเอง หรือยังไม่รู้ว่างานตัวเองจะไปอยู่จุดไหน เราเลยคิดว่าตรงนี้จะทำมันให้ดี
เราเลยไปคุยกับกรมทรัพย์ฯ ว่า ท่านครับ วันนั้นไปดำน้ำมาและเห็นปะการังเทียมของท่านแล้ว ผมคิดว่าผมมีทางเลือกอีกทางให้ท่านพิจารณา บอกเขาว่าถ้าเราสามารถทำโครงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลแล้วมันสร้างอิมแพกต์โดยที่ทุกคนวินหมด ท่านโอเคไหม ปลามีบ้านอยู่ใหม่ ปะการังมีที่อยู่ใหม่ มีการฟื้นฟู เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ผู้ประกอบการ และท้ายที่สุดประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เขาเลยโอเค ตอนนั้นก็เริ่มเผยแพร่ที่ TEDXBangkok หลักๆ คือใช้ศิลปะเพื่อสื่อสาร เราทำเวิร์กช็อปเพื่อหาทุนไปสร้างประติมากรรมใต้ทะเล ทำงานร่วมกับชุมชนในฐานะศิลปิน
ในฐานะที่เพศสภาพของเราเป็นอย่างนี้ มันช่วยส่งเสริมการทำงานของเราอย่างไรบ้าง
ความเป็นเทยของเราคือมีความอัธยาศัยดี ถ้าใครคุยจะได้รู้ว่าปากร้ายแต่ใจดี
แล้วถ้าเลือกได้อยากเปลี่ยนเป็นชายจริงหญิงแท้ไหม
ไม่เปลี่ยนน่ะ มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวแล้วตอนนี้ เรารู้ว่าบางอย่างของเราน่าจะปรับปรุงได้ แต่เรื่องของเพศสภาพเราไม่ได้แย่หรือไม่ได้มีความทุกข์กับมัน
Credits
The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ
The Guest ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com
- ดูรายละเอียดโครงการบินรอบโลกรวมใจเพื่อในหลวง Global Expedition for the World’s Greatest King ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/theglobalx2
- ชมวิดีโอการเดินทางโครงการบินรอบโลกรวมใจเพื่อในหลวง ช่วงแรกทั้งหมด 7 Episode ได้ที่ Youtube Playlist นี้ www.youtube.com/playlist?list=PLyqElAx9LwUbFUgfkzCj2PVR6sF_DfOtB
- สกู๊ปข่าว ‘โปสต์การ์ดรอบโลกทำด้วยใจเพื่อในหลวง’ จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ www.posttoday.com/life/life/403536
- สัมภาษณ์รายการสุริวิภา กับการเดินทาง 36 เมือง 22 ประเทศ กว่า 35,000 กิโลเมตรเพื่อบินรอบโลกรวมใจเพื่อในหลวง www.youtube.com/watch?v=pBYtE5ONTDA
- ชมการเดินทางครั้งแรก 132 วัน อันเป็นที่มาของโครการบินรอบโลก ในรูปแบบหนังสือออนไลน์ได้ที่ issuu.com/tompotisit/docs/book_the_globalx2_proof_2_2e5cad79539ddd
- สกู๊ปข่าวแฟชั่นซากวาฬบรูด้า สร้างจิตสำนักอนุรักษ์ จากช่อง Voice TV news.voicetv.co.th/viral/109688.html
- สกู๊ปข่าวทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพอิสระ ถ่ายแฟชั่นซากวาฬบรูด้า ปลุกสำนึกอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมจากเว็บไซต์ข่าวสด www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd05ETTNOVGcxTVE9PQ==
- สกู๊ปรายการแลโลกศิลปะ ตอน ANATOMY 101 ภาพถ่ายแฟชั่นเพื่อการบริจาคอวัยวะ ช่อง Thai PBS นิทรรศการรณรงค์เรื่องการบริจาคอวัยวะที่ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ร่วมกับสุรชัย แสงสุวรรณ www.youtube.com/watch?v=lyJwbdnMLCc
- ติดตามผลงานภาพถ่ายทั้งหมดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pg/tompotisitphotography/photo