×

เทยเกษตรตำบล: ใจสู้ ทันสมัย ใกล้ชิดประชาชน

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

03.58 เทยเดินสายประกวดนางงาม

13.10 นักศึกษาเคมีการเกษตร

16.12 หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร

19.32 การทำงานกับเกษตรกร

26.50 เทคโนโลยีในการทำเกษตร

31.44 เกษตรกรไทยทุกวันนี้

38.47 อยากเปลี่ยนเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไหม

     นอกจากเพลง กสิกรแข็งขัน และภาพผู้ชายที่ใส่ชุดข้าราชการในละครแล้ว เราก็นึกภาพเกษตรตำบลไม่ออกว่าเขาทำงานกับประชาชนอย่างไร ‘เต๋าหวาน’ เทยเท่ในเอพิโสดนี้เลยจะมาเล่าเรื่องเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ว่าหลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดดเคียงข้างกับเกษตรกรไทยขนาดไหน แล้วความเป็นเทยมันยากลำบากในการทำงานแบบนี้หรือเปล่า

     มาเปลี่ยนภาพจำว่าจะมีตีกลองประชุมอย่างที่เราคุ้นเคยกันในเพลง เพราะเกษตรตำบลทุกวันนี้เขาใช้แอปพลิเคชันลิงก์กับดาวเทียมเก็บข้อมูลทางการเกษตรแบบเท่ๆ กันแล้ว

 


 

02.46

     “จริงๆ แล้วหน้าที่การงานก็เป็นราชการนี่แหละค่ะ รับราชการแต่เวลาทำงานมันก็ไม่ได้แมนเท่าไหร่ ก็พูดจาปกติ เพียงแค่ว่าด้วยหางเสียงเราจะพูดว่า ‘ครับ’ หรือ ‘ผม’ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความน่าเชื่อถือของหน้าที่การงาน เราจะ ‘สวัสดีค่ะ หนูค่ะ’ ก็คงจะไม่ใช่เลเวลนั้น”

 

03.58

     “จริงๆ แล้วสาวประเภทสอง ตุ๊ดแต๋ว กะเทย เขาไปได้ทุกที่จริงๆ ที่ขอให้มีความรักในสิ่งที่เขาจะทำ เขาไปได้หมด อย่างการประกวดนางงาม ก็จะเรียกว่านางงามเดินสายอย่างที่เราเข้าใจ เขาไปได้หมดจริงๆ โดยเฉพาะที่นี่คือขึ้นชื่อมาก โซน 3-4 จังหวัดตรงนั้น โอ้โห งานวันมีร้อยแปดพันเก้าก็ไปทุกเวที”

 

04.29

คือเรียกได้ว่าถ้ามีเวทีนางงาม ก็ต้องมีสาวประเภทสองขึ้นไปประกวดด้วย

     “มันเป็นสีสัน และสิ่งที่สำคัญคือมันจะมีชื่อแปลกๆ เยอะ เช่น ธิดาหัวโกร๋น รับรองว่าที่ไหนมีจัดประกวดวัยรุ่นผู้ชายอย่าได้หวังเลยค่ะ ไปตามหาลูกไม่เจอหรอกอยู่ที่เวทีหมด”

 

04.56

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าเดินสายประกวดด้วยใช่ไหมคะ

     “จะบอกว่าเป็นความคันของตุ๊ดเด็กหัวโปกสมัยนั้น เพราะว่าเราจะสู้กับนางงามเดินสายที่เขาผมยาว อัพฮอร์โมน ทำหน้าอกมาแล้วไม่ได้ เพียงแค่เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกว่าไม่มีลูกกระเดือก คืออยากจะอวดศักยภาพแต่อาจจะทำได้ไม่ถึง สิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นกะเทยด้วยการจิกวิก มัดผมเป็นจุก ไว้ผมหน้ายาวหน่อย ต่อวิก ยี เกล้า เพื่อที่จะประกวดชุดไทย ก็จะไปตามเวทีนั้นๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ”

 

05.58

ตอนจะประกวดครั้งนึงต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

     “อย่างแรกก็คือเทกยาคุม (หัวเราะ) ช่วงนั้นเรากินย้อนศร อย่างที่บอกว่าเราเป็นเด็กวัยรุ่นผู้ชาย เรื่องสิวสำคัญที่สุด ยาคุมจะช่วยได้ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง กินแล้วเรารู้สึกว่าเป็นผู้หญิง มีความเป็นนี แล้วก็มีดูแลน้ำหนัก ทรวดทรงองค์เอว”

 

09.01

ถ้าเกิดว่าในยุคเราเวทีไหนที่แซ่บ ถ้าเกิดผ่านเวทีนี้แล้วคือที่สุดในชีวิต

     “ศาลตายายสุพรรณบุรี ถ้าพูดแบบนี้ปุ๊บแล้วเป็นแฟนคลับนางงามเดินสายจะรู้จักกันพอสมควร เพราะว่าจะมีการประกวดผู้ชายวันนึง ผู้หญิงวันนึง สาวประเภทสองวันนึง แล้วเวทีนี้ถ้าดูในยูทูบหลายคลิปมันจะมีความเดือดของนางงามตัวแม่หลายคนที่ยุคหลังเขากลับมาประกวด หัวโปกจริงมักจะตุ้บหมด ต้องเป็นนางงามเดินสายจริงๆ แม้แต่คนที่เคยคว้ามงกุฎทิฟฟานี่ดังๆ ที่เรารู้จักกันดี ก็เคยได้รองของเวทีนี้กันแล้ว”

 

10.18

ทำไมเขาถึงชื่อว่าศาลตายาย

     “ชื่ออาจจะดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วคืองานกาชาดของจังหวัดเขา และเป็นงานเคารพสักการะศาลประจำหลักเมือง คือศาลตา ศาลยายนั่นเอง”

 

13.10

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าตอนเรียนเกษตร เขาเรียนอะไรกันบ้าง

     “ต้องทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ว่ามันไม่ได้มีแค่เกษตรเพียวๆ มีทั้งภาควิชาคหกรรมศาสตร์ เรียนเรื่องแม่ ผ้า เด็ก อาหาร ก็จะเป็นคณะเกษตรด้วยเหมือนกัน

     “เราเรียนศาสตร์ทางด้านการเกษตร เพื่อมาพัฒนาปรับปรุง เพราะว่าเราไม่สามารถเดินเข้าไปในป่า แล้วไปเจอพันธุ์พืชใหม่ๆ มีผลผลิตเยอะๆ ต้านทานต่อโรคแมลง เราคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์เหล่านั้นขึ้นมา”

 

14.41

เคมีการเกษตรสอนอะไรเราบ้าง

     “สอนเคมีค่ะ (หัวเราะ) เพราะเรียนเคมีทั้งหมด 9 ตัว เรียนกระบวนการทางเคมีทุกอย่างเพื่อการเกษตร ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้น มนุษย์เราแม้หายใจก็เป็นเคมีหมดเลย เครื่องสำอาง ผิวพรรณ ยาสระผม ก็ต้องยอมรับว่ามันคือเคมี แม้กระทั่งพืชผักผลไม้ที่เรากินเข้าไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตมันก็คือเคมี มันทำให้เรารู้จักประยุกต์ใช้ เพื่อที่จะยอมรับหรือปฏิเสธมันก็ได้”

 

15.30

รู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนมันขัดกับความเป็นไปของโลกไหมคะ เพราะเราเรียนเคมี แต่เหมือนยุคนี้รณรงค์ให้มีความออร์แกนิก ธรรมชาติมากขึ้น

     “เราต้องเรียนไงคะ เพื่อที่จะรู้ว่าป้องกันได้มากน้อยขนาดไหน บางอย่างมันห้ามกันไม่ได้ เพราะช่วงนี้มันช่วงเปลี่ยนแปลงและยอมรับ”

 

16.12

     “หน้าที่หลักๆ ของเกษตรตำบลหรือของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จริงๆ แล้วคือมันเป็นหน่วยงานปลายท่อของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการจะเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงประสาน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและเป็นทุกอย่างให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่าน่าจะเป็นเกียรติและศักดิ์ของเจ้าหน้าที่”

 

18:20

     “โดยหลักแล้วอย่างที่บอกว่าเราพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ทุกวันศุกร์ทุกสิ่งทุกอย่างที่นายกได้อภิปรายประเด็นปัญหา โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่สำคัญของประเทศ​ ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นนโยบายหมดเลย เราต้องเอาสิ่งเหล่านั้นไปขับเคลื่อน เกษตรกรจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ เข้ามาประสาน เข้ามาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร มีการรวมกลุ่มการทำงานอย่างชัดเจน เช่น จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกพืชชนิดเดียวกันหรืออะไรก็แล้วแต่ เราจำเป็นต้องเข้าไปช่วยประสานกลไก เพื่อให้มีความแข็งแรง มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นเราแล้วที่จะเข้าไปหาชาวบ้าน หมู่บ้านนี้ทำงานกับผู้นำชุมชน อบต. ทหาร”

 

19.32

ที่ที่เราอยู่ มันมีปัญหาเรื่องเกษตรอะไรบ้างที่หนักหนาสาหัส

     “คน สิ่งที่สำคัญของเจ้าหน้าที่คือการทำงานกับคน คนมีหลายประเภท

     “เราพยายามจะบอกอยู่เสมอว่าจะต้อง define เกษตรกรให้เข้าใจก่อน มันมีทั้ง หัวไวใจสู้ เบิ่งตาแลดู รอดูทีท่า จนถึงงอมือจับเจ่า และไม่เอาไหนเลย

     “อันนี้คือประเภทของเกษตรกรหรือแม้แต่คนทั่วไปที่เราอยากจะให้ข้อมูล อันนี้เป็นกลยุทธที่เราต้อง define ให้ได้ เหมือนนักเรียนหน้าห้องกับหลังห้องนั่นแหละค่ะ พอเรา define ได้ เราจะรู้ว่าเราจะปฏิบัติกับใครมากน้อยขนาดไหน เกษตรกรบางคนหัวไวใจสู้ ‘ถ้าเราจะให้มาลองทำดูมีใครสนใจไหม’ ‘ผมครับ’ อันนี้คือหัวไวใจสู้ รอดูทีท่าก็เหมือนรอดูตาคนนี้ทำก่อน จนถึงเบิ่งตาแลดูคือมองดูก่อน ถ้าเขาดีร้อยละ 50 เดี๋ยวค่อยทำตาม จนถึงไม่เอาไหนเลย เราก็ค่อยๆ ประนีประนอมเขา”

 

21.16

     “ปัญหามันจะมีทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ปัญหาเรื่องคนเป็นปัญหาควบคุมได้ อย่าลืมว่าเราทำงานกับหน่วยงานท้องถิ่นทั้ง อบต. เทศบาล ในแต่ละพื้นที่มันไม่มีใครทำการเกษตร 100% บางคนที่ไม่ทำการเกษตร ก็จะเป็นแนวไม่ให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะถ้าเขาเป็นผู้นำ ต้องยอมรับว่าบ้านเรามีบวก ลบ ขาว เทา ดำ เราเองต้องปรับตัว นี่คือปัญหาสำคัญ เพราะถ้าคนไม่มีปัญหามันขับเคลื่อนได้หมดแล้ว ส่วนสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อย่างภัยธรรมชาติ พื้นที่เราอุดมสมบูรณ์ก็จริง แต่ไม่สามารถควบคุมปริมาณฟ้า ฝน น้ำ ความแห้ง ลม พายุ ยิ่งถ้ามีของพวกนี้มา มันเหมือนสวรรค์กลั่นแกล้งนะคะ พอมีปัญหาปุ๊บมันจะมาพร้อมกัน ทุกอย่างมันอยู่ที่เราจะตั้งหลักและมีสติกับการจัดการมันอย่างไร เพราะบางทีในทางปฏิบัติเราทำไม่ได้ เช่น น้ำท่วมข้าว”

 

25.04

ด้วยความที่เราเป็นเทย เราลงพื้นที่กลัวผิวเสียบ้างไหม

     “แต่ก่อนขาวกว่านี้ แต่กันแดดแน่นมาก แล้วแต่งตัวเหมือนมัมมี่เลยค่ะ สิ่งที่ต้องมีคือบู๊ตยางเผื่อลงไร่ลงนา เสื้อคลุม หมวก ร่มนี่ก็เอาร่มกองถ่ายไป ขนาด 2 ชั้น กัน UV 180 แต่เรารู้สึกว่าเราควรจะโชว์ให้เกษตรกรเห็นแค่ไหน “

 

26.50

     “จริงๆ แล้วมันต้องเป็นกลไกเครื่องมือ อย่างที่บอกไปว่าเราไม่สามารถทำงานอย่างเดิมๆ ได้แล้ว โทรศัพท์เอย เทคโนโลยีเอย มันมีหลากหลาย มันเป็นการประยุกต์ใช้ร่วมกับดาวเทียม ทำให้เราทำงานรวดเร็วสะดวกขึ้น มันต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการเปลี่ยนแปลง เช่น แอปพลิเคชันในการสำรวจพื้นที่ สมมติว่า เอ๊ะ ปีนี้ปลูกข้าวพันธุ์นี้กี่ไร่แล้ว เดี๋ยวนี้เราสามารถยืนตรงนี้ตรงนั้น เปิดแอปพลิเคชัน ลิงก์กับดาวเทียมข้างบนมาส่องแล้วเราก็คีย์ข้อมูลลงไป ดาวเทียมก็จะจิ้มลงตรงแปลงนี้

     “เราสามารถคีย์ข้อมูลว่าเขาปลูกข้าวพันธุ์อะไร เมื่อไหร่ ถ้าต่อไปเกิดน้ำท่วม ทุกอย่างเสียหาย แปลงเดียวกันนี้ก็จะมีข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ ภาครัฐเขาจะได้รู้ว่าโอนเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่ว้าว”

 

28.16

     “เกษตรกรเหล่านี้เขาจะตรวจดินเป็น รู้แนวทางพอสมควร อย่างน้อยก็ 50% ของพื้นที่ต้องทำเป็น เราจะสอนเขาตลอดทุกปี ทำกิจกรรมเดิมๆ ทุกปีเลย เขาก็จะรู้ว่าสีนี้คุณภาพแบบไหน และเริ่มเก็บตัวอย่าง หลังจากนั้นเขาก็จะคีย์ข้อมูลของเขาทุกปี ข้อมูลดินจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน ปีนี้น้ำท่วมมากน้อยขนาดไหน สีของดินจะเปลี่ยนไหม ธาตุอาหารตัวไหนที่หายไปแล้ว เขาควรจะใช้ปุ๋ยตัวไหนเพิ่ม แอปพลิเคชันมันก็จะบอกว่าควรจะให้อะไรเพิ่ม ต่อไปเขาก็จะไม่ต้องซื้อปุ๋ยที่เหลือใช้ ตัวที่มันไม่จำเป็นมันก็ไม่ต้องซื้อ ซึ่งมันแพงและมันเป็นสินค้านำเข้า ประเทศไทยเราไม่ได้ปุ๋ยผลิตเอง มันคือแร่ธาตุจากหินและสารเคมีบางตัวที่มาจากชั้นใต้ดินเกือบชั้นเปลือกโลก ซึ่งบางทีจะเป็นปุ๋ยจากจีน คูเวต จากพื้นที่ที่มีอากาศหนาว จะขนเข้ามาเป็นผง บ้านเราอาจจะเอามาปั้นเป็นเม็ดและคลุกเคล้าให้กับเกษตรกรบรรจุเป็นยี่ห้อ ส่วนใหญ่แม่ปุ๋ยก็จะไม่ค่อยต่างกัน”

 

30.41

     “ทุกวันนี้พอเกิดปัญหาปุ๊บ มันสามารถสื่อสารได้ทันที มันไม่ต้องรอให้เดือดร้อนก่อน นึกออกไหมคะว่าอย่างราคายางตกต่ำมันรู้ได้ทันที ก็จะเข้าไปแก้ไขได้ทันที เดี๋ยวนี้ผู้นำเองก็จะมีกรุ๊ปไลน์กับเกษตรกรโดยตรง เขาก็จะสั่งการเจ้าหน้าที่ว่าเข้าไปดูหน่อย มีปัญหาตรงนี้ บางทีเขาจะบริหารจัดการในพื้นที่ให้เสร็จเรียบร้อย ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เพราะมันเป็นเรื่องผลลบอยู่แล้ว มาตรการทุกอย่างในยุคปัจจุบันร้อยละ 90 เป็นเรื่องการเกษตรหมดเลย เพราะมันคือเรื่องปากท้อง มันคือรายได้ของประเทศในการกระจายข้าวหรือสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ออกนอกประเทศ”

 

31.44

อยากบอกอะไรให้คนทั่วไปเข้าใจถึงหัวอกเกษตรกรสมัยนี้

     “เกษตรกรทุกวันนี้จะอยู่ในรุ่นคาบเกี่ยวระหว่าง Baby Boom กับ Gen X คือฐานข้อมูลเกษตรปัจจุบันที่มีอยู่ อายุ 40 ปีขึ้นไป อีกไม่กี่ปีนางก็ล้มหายตายจาก เกษียณตัวเองหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่พ่อแม่มีที่ทางทำกิน ขอให้ตระหนักว่าจริงๆ แล้วอาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่ด้อย ถ้าคนรุ่นใหม่กลับมาทำมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีหรือประยุกต์ใช้มากขึ้น มาพัฒนาสิ่งที่เขามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยจะเป็นประเทศการเกษตรอันดับหนึ่งเหมือนกับญี่ปุ่น อย่างที่บอก ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าแหลมทอง

     “เราไม่ได้เอาของทุกอย่างไปให้เขา แต่เราสอนให้เขาทำให้เป็น อยู่ให้ได้ มีให้เก็บ เดินให้พอ”

 

36.41

     “ถ้าตราบใดที่เราบริโภคข้าวเป็นอาหาร ทานเนื้อสัตว์ ดื่มน้ำผลไม้ หรือแม้กระทั่งหยิบดอกไม้มาดม เดินบนผืนดิน ชีวิตคุณอยู่ล้อมรอบด้วยความเป็นเกษตรหมดเลยค่ะ ต่อให้อยู่ในเมืองฟ้าป่าปูน ความศิวิไลซ์ขนาดไหน คุณก็ดำเนินการได้ด้วยเกษตร เพราะมันเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงชีวิต ดังนั้นการที่จะมือเปื้อนโคลน หน้าเปื้อนฝุ่น ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่ามันมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อาชีพนี้อาจเป็นแค่กลไกในการขับเคลื่อน ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี มีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงไม่ใช่แค่เรา ลูกหลานเราต่อไปในอนาคต ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีแล้ว ลดน้อยลงหรือไม่เพียงพอ เราก็คงต้องไปซื้อของประเทศอื่น บ้านอื่นเมืองอื่น แล้วต่อไปเราจะพูดว่าทำไมข้าวถึงแพง ของถึงแพง”

 

38.47

     “ถ้าเป็นชาตินี้คงไม่เปลี่ยนแล้ว เหตุผลหนึ่งก็คือรู้สึกชอบตัวเองมาก เราเป็นแบบนี้ก็จริง อาจจะมีความน้อยใจในการถูกมอง ยังคิดเลยว่าถ้าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจริงๆ อาจจะถูกมองว่าเท่แล้วหลงไปในทางใดทางหนึ่งเลยก็ได้ แต่พอเป็นแบบนี้เรารู้สึกว่าแข็งก็ได้ อ่อนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เรารู้สึกเรามีความสามารถเต็ม เวลาเราทำงานร่วมกับผู้หญิงเราก็ได้การยอมรับในระดับหนึ่ง พอทำงานร่วมกับผู้ชายเขาก็จะมองเราในความชื่นชมว่าเราเก่ง อาจจะสะสมเลเวลมาพอสมควร อยู่ที่ว่าเราจะแสดงด้านไหนให้เขารู้ ถ้าเราแสดงว่าเราเป็นกะเทย เราแรด เราก็จะถูกมองไปอีกอย่างหนึ่งเลย อย่างที่คนทั่วไปเขามองกัน แต่ถ้าเราทำตัวให้ทุกคนรู้สึกว่าเราเก่ง นั่นแหละเราจะเป็นโรลโมเดลให้คนอื่นเขา”

 


 

Credits

 

The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Music Westonemusic.com

FYI
  • ถ้าใครนึกภาพเวทีประกวดสาวประเภทสอง ธิดาตายายไม่ออก คลิกดูที่ลิงก์นี้ www.youtube.com/watch?v=bY-PRQhPgQk&t=490s จะเห็นภาพการประกวดอย่างละเอียดทุกขั้นตอน
  • เพลง รำวงกสิกร (ชีวิตกสิกร) ของ สุนทราภรณ์ ถูกนำมาประกอบข่าวเกษตรในช่วงเช้าทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่เราคุ้นเคยกันดีกับเนื้อร้อง “กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม” www.youtube.com/watch?v=ykWdsC8ObM0
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising