×

ทำอย่างไรให้มี R&D Mindset ในตัวเอง กับ สวทช.

22.03.2019
  • LOADING...

การสร้างสินค้ารูปแบบเดิมๆ ออกมาขายในยุคที่มีการแข่งขันสูงอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การทำ R&D​ (Research and Development) จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่เหนือคู่แข่ง เพิ่มโอกาสความสำเร็จ พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตัวเอง

แต่จะทำอย่างไรให้ตัวคุณและคนที่ต้องทำงานร่วมกันมี R&D Mindset หรือวิธีคิดในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ให้องค์กร

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในรายการ The Secret Sauce

 

 


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำงานเกี่ยวกับอะไร

 

1. งานวิจัยและพัฒนา 

มีส่วนช่วยธุรกิจตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ เช่น แป้งศรีจันทร์ ยาอมตราตะขาบ 5 ตัว หรือไส้กรอกไขมันต่ำเบทาโกร เป็นต้น

2. พัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัย
สร้างคนเก่งขึ้นมาช่วยงานด้านนี้โดยตรง เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประเทศชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านการใช้วิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

3. เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน R&D ของประเทศ
เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้ที่สนใจงานพัฒนาและวิจัยมาทดลอง ใช้ห้องแล็บ มีรองรับกับงานทุกแขนงทุกรูปแบบ พร้อมให้เช่าพื้นที่ R&D และบริการต่างๆ

 


หัวใจสำคัญในการสร้าง R&D Mindset

 

1. เปิดรับความหลากหลาย

ปัจจุบันองค์ความรู้ของคนเพียงคนเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น สมัยก่อนมีเพียงนักประดิษฐ์อย่าง โทมัส เอดิสัน คนเดียว ก็สามารถหาคำตอบกับสิ่งประดิษฐ์ได้มากมาย เพราะความรู้ยังอยู่ในวงที่จำกัด ผมเทียบยุคนั้นเหมือนเวลาเราเดินเข้าไปในสวนมะม่วงที่ยังไม่มีใครเคยเหยียบ สามารถเก็บเกี่ยวผลของมันออกมาได้รวดเร็ว แต่ตอนนี้ คุณเดินเข้าไปในสวนมะม่วงเดิม มีคนมาเก็บเกี่ยวผลไม้ไปก่อนแล้ว 99 คน เราเป็นคนที่ 100 ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะใช้อุปกรณ์อะไรมาช่วยเก็บ เราต้องมีเซนเซอร์ แว่นวิเศษ ถุงมือ และเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยตามคนอื่นให้ทัน เช่นเดียวกัน องค์ความรู้ที่หลากหลายในการสร้างนวัตกรรมก็ต้องอาศัยความคิดที่หลากหลาย

 

2. ระวังกับดัก ‘เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’

การสร้างนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้คนคิดนอกกรอบ แม้จะมีบางมิติที่ขัดกับสังคมไทย เพราะสังคมไทยบอกให้เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟัง แต่ผมอยากเสริมว่า ญี่ปุ่นกับจีนก็มีวัฒนธรรมไม่ต่างจากประเทศไทย แต่ทำไมเขาถึงสร้างนวัตกรรมได้ นอกจากผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังแล้ว อีกเทคนิคสำคัญคือ เด็กรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

 

ผมเชื่อในกฎของ 3 นาที ก่อนพรีเซนต์อะไร คนทำงานต้องเตรียมมาพูดให้ดีที่สุด ถ้าผู้ใหญ่มีเวลาให้ 3 นาที คุณจะนำเสนออะไรใน 3 นาทีแรกนั้น เพื่อให้เขาอยากฟังต่อไปได้อีก 15 นาที

 

บางคนเข้าใจผิด คิดว่าใน 3 นาทีแรกต้องเล่าทุกอย่างให้จบ ไม่จำเป็นครับ แต่ต้องทำให้คนอยากฟังต่อ พร้อมคุยให้เห็นตรงกัน สามารถปิดดีลลงทุน ทำให้โปรเจกต์เกิดขึ้นได้จริงในที่สุด ฉะนั้นอย่าทำอะไรโดยไม่มีการวางแผน

 

 

3. การวิจัยและพัฒนาต้องลงทุนระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงในองค์กรต้องได้รับการยอมรับจากผู้นำสูงสุด หลายครั้งผู้บริหารและพนักงานอยากทำ แต่ขาดการสนับสนุนก็ไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจ ต้องเชื่อก่อนว่า การวิจัยและพัฒนาคือการค้นหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ใช้เวลาในการผลิดอกออกผล มันไม่สามารถสำเร็จได้เสมอไป แต่เมื่อลงมือทำมากพอ โอกาสสำเร็จก็จะเกิดขึ้นตาม

โทมัส เอดิสัน รู้จักความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เช่นเดียวกัน ผู้บริหารต้องกล้าเดินไปในที่มืด เดินไปในที่ที่ไม่รู้ แต่ต้องเดินไปอย่างถูกต้องและมั่นคง มันมีความเสี่ยงในตัวมันเองอยู่แล้ว มันอาจไม่ใช่รายได้ที่เข้ามาทันที แต่ขอให้เชื่อว่าการลงทุนจะเกิดผลในระยะยาว



4. ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อย่าหยุดตั้งคำถาม อย่าหยุดเรียนรู้
ยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวทุกคน ถ้าคุณเห็นข่าวส่งต่อกันมาในกรุ๊ปไลน์ คุณเชื่อทันทีไหม ส่งต่อให้คนอื่นเลยหรือเปล่า หรือเริ่มต่อยอดโดยการตั้งคำถาม ค้นหาข้อมูลในกูเกิล คุณเป็นคนแบบไหน

เมื่อคุณตั้งคำถามและหาคำตอบไปเรื่อยๆ คุณจะได้ความรู้ที่พอกพูน และท้ายที่สุด ความรู้ที่ล่องลอยจะตกผลึกด้วยตัวมันเอง คุณจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ได้ นักปราชญ์หรือนักวิทยาศาสตร์ไม่มีใครสอน แต่มันเกิดขึ้นจากการตกผลึกของวิธีคิด

 

แต่ทั้งนี้ต้องรู้ลึกและรู้กว้าง เพราะโลกแห่งอนาคตต้องใช้หลายศาสตร์ อีกเรื่องไม่ว่าจะทดลองอะไร ต้องไม่ลืมความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วย

 


อุปสรรคของการทำวิจัยและพัฒนา
คนไทยมักไม่ค่อยใช้ประโยชน์ของความหลากหลายมากเท่าที่ควร เรามักสรุปและใช้อำนาจเข้าไปควบคุม หยุดพูด หยุดคิด ต้องสรุปเดี๋ยวนี้

ถ้าจะให้คนตั้งถาม อย่าด่วนตัดสินว่าคำถามของคนอื่นโง่ แต่ถ้าจะวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ควรบอกให้ได้ว่า คำถามนั้นๆ ไปต่อไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไร บางคำถามใช้ไม่ได้ในตอนนี้ แต่อาจดีในวันหน้า

เมื่อไรที่สามารถนำทางให้ทีมงาน 10-15 คน เห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกันด้วยความรู้ที่แตกต่างกัน เมื่อนั้นผมว่าจะเกิดพลังด้วยตัวมันเอง ถ้าคนสื่อสารองค์กร คนทำวิจัย ฝ่ายการเงินและบัญชี และทุกภาคส่วนเห็นทิศทางเดียวกัน งานที่ทำจะง่ายขึ้นมาก เพราะทุกคนคิดจากความรู้ในการทำงานจากมุมของตัวเอง เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

 




 

งาน NAC2019 เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วย วทน.
งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2019) จัดต่อเนื่องทุกปี เน้นให้นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และชุมชน ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน พร้อมแสดงผลงานที่ สวทช. มีส่วนร่วม เหมาะสำหรับทุกคนที่อยากเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

จัดวันที่ 25-28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
สนใจติดต่อ 0 2564 8000
หรือ www.nstda.or.th/nac

 


สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising