×

3 วิธีสร้างและเร่งสปีดนวัตกรรมในองค์กรจาก RISE

01.02.2019
  • LOADING...

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก RISE องค์กรเร่งสปีดนวัตกรรม กับหลากหลายประสบการณ์การทำงานให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำ Top 10 ของประเทศ RISE ได้ร่วมงานอยู่แล้วถึง 5 บริษัท

 

เคน นครินทร์ คุยกับ หมอคิด-ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ซีอีโอแห่งบริษัท RISE ในพอดแคสต์ The Secret Sauce

 


 



เชื่อไหมว่า สมัยที่หมอคิดเรียนแพทย์อยู่ชั้นปีที่ 2 เขาได้มีส่วนร่วมในการเขียนแอปพลิเคชันดูกราฟหุ้นบนโทรศัพท์มือถือ จนภายหลังได้ขายลิขสิทธิ์ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงเมื่อเรียนจบ เขาได้เปิดบริษัทเอเจนซี MCFIVA เน้นทำการตลาดดิจิทัล โดย 8 ปีที่ผ่านมา บริษัทเติบโต 100% ทุกปี

 

จากประสบการณ์ทั้งหมด หมอคิดเริ่มมองเห็นความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กรชั้นนำในประเทศไทย เพราะเขาอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยตั้งเป้าหมายว่า สิ่งที่ทำต้องมีส่วนเพิ่ม GDP ของประเทศไทยได้ 1% จึงเป็นที่มาของ RISE นั่นเอง

 

ปัจจุบันธุรกิจ RISE ทำทั้งหมด 4 อย่าง คือ

 

1. Outside In จับคู่สตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการขององค์กรใหญ่ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

 

2. Inside Out รับจัดอบรมหรือสร้างคอร์สต่างๆ ให้พนักงานในองค์กรมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม

 

3. Joint Venture รวมกลุ่มคนหรือหุ้นส่วนจากองค์กรใหญ่มาจับคู่กับสตาร์ทอัพ และเกิดเป็นบริษัทใหม่

 

4. Immersive Experience เปิดรับซีอีโอจากทั่วประเทศไปเรียนรู้เรื่องการสร้างนวัตกรรมถึงซิลิคอนวัลเลย์

 

ล่าสุด RISE กำลังจะมีอีเวนต์ใหญ่ชื่อว่า Corporate Innovation Summit 2019 ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 ที่รวมสุดยอดสปีกเกอร์ส่งตรงจากต่างประเทศ หลายคนเป็น CEO บริษัทระดับโลกที่พร้อมมาแชร์มุมมองเรื่องการสร้างนวัตกรรมองค์กรแบบเข้มข้น 
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cis.riseaccel.com/)

 



3 วิธีสร้างและเร่งสปีดนวัตกรรมในองค์กรจาก RISE

 

1. เปลี่ยนชุดความคิดเดิม (Mindset)

อุปสรรคสำคัญในการเคลื่อนตัวขององค์กรคือ HIPPO ย่อมาจากก Highest-Paid-Person Opinion หรือคนที่นั่งหัวโต๊ะ คนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด ชุดความคิดของคนกลุ่มนี้ บางทียังยึดติดอยู่กับรูปแบบเก่า เราอาจได้ยินบ่อยครั้งว่าเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง มีไอเดียเยอะ แต่พอเอาความคิดไปเสนอรุ่นพี่ทีไร พวกเขาก็มักตอบกลับด้วยประโยคเดิมๆ ว่า “ตอนเด็กเท่าเธอ พี่ก็เคยคิดแบบนี้แล้วไม่เวิร์ก”

 

เคสตัวอย่างการทำงานของกูเกิล ปัจจุบันเวลาประชุม พวกเขาเปิด 2 จอ จอแรกเป็นพรีเซนเทชัน ส่วนอีกจอเป็น Data ประกอบการตัดสินใจ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ที่เคยสะสมมา ไม่อาจฟันธงได้ว่า ไอเดียใหม่นั้นดีหรือไม่ดี จึงต้องอาศัยชุดข้อมูลมาช่วยยืนยัน ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการกำจัด HIPPO คือ การกำจัดชุดความคิดแบบเดิมๆ เพิ่มวิธีคิดใหม่ให้เกิดนวัตกรรม

 

2. สร้างทักษะจากการลงมือทำจริง (Skill Set)

ลองเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิมๆ นั่งคิด นั่งประชุม วนซ้ำไปเรื่อยๆ เป็นการเริ่มต้นลงมือทำจริง แม้ไอเดียอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่การทำก่อน ล้มเร็ว และล้มไปข้างหน้า ในยุคนี้ย่อมดีกว่า ที่สำคัญอย่าลืมติดอาวุธสำคัญอย่าง Skill Set โดยเฉพาะเรื่อง Design Thinking

 

Design Thinking ที่ว่านี้ ไม่ใช่การท่องจำได้ว่ามีกี่ขั้นตอน แต่ควรทำทุกขั้นตอนอย่างถูกวิธี อาศัยจากประสบการณ์และการฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเหมือนการออกกำลังกาย ถ้าอยากแข็งแรง คุณต้องกระตุ้นกล้ามเนื้อเป็นประจำ เช่นเดียวกัน ถ้าอยากฝึกความสร้างสรรค์ ก็ต้องหมั่นฝึกกล้ามเนื้อแห่งความครีเอทีฟเอาไว้ด้วย

 

3. ติดตั้งเครื่องมือในองค์กร (Tool Set)

จำไว้เสมอว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ก่อนจะพัฒนาไปข้างหน้า ต้องรู้จักองค์กรของตัวเองก่อน

 

ขั้นที่ 1 ตั้งโจทย์ให้ชัดเจน สิ่งที่อยากทำหรืออยากมุ่งไปให้ถึงคืออะไร เพื่อปรับจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้ถูกทาง

 

ขั้นที่ 2 ต้องมีทีมงานเต็มเวลาที่เข้ามาทำเรื่องนวัตกรรม และนวัตกรรมต้องเริ่มที่ซีอีโอเท่านั้น ถ้าซีอีโอยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ยังไงการเปลี่ยนแปลงใหม่ก็ไม่เกิด
ขึ้นในองค์กรอย่างแน่นอน

 

ขั้นที่ 3 ใส่ใจรายละเอียดภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง การวัดผลคนทำงาน รวมถึงอื่นๆ ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมาย

 

วัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมของ RISE

1. เน้นความสำคัญของคน ถ้าคนทำงานไม่มี Mindset และ Skill Set ที่ใช่ ยิ่งทำให้การช่วยพัฒนาองค์กรตัวเองและองค์กรอื่นเป็นเรื่องยาก

 

2. พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ล้มเหลว ผิดพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าเกิดจากอะไร และไม่ทำซ้ำในเรื่องเดิม

 

3. สิ่งที่ลงมือทำทั้งหมดจะต้องถูกใช้กับทั้งองค์กร ไม่ใช่ทำกับคนที่ขึ้นตรงกับใครบางคนเท่านั้น

 

4. ไม่ทำงานแบบธุรกิจครอบครัว ไม่รักกันแบบพี่น้อง แต่ทำเหมือน Professional Player ทุกคนในองค์กร เมื่ออยู่ข้างนอกเป็นพี่น้องกัน แต่พอเข้าทำงานจะต้องเป็นมืออาชีพ ไม่เน้นการสอนแบบพี่สอนน้อง แต่ให้พื้นที่ในการทำผิดพลาด และสามารถตักเตือนกันได้

 

5. เมื่อมีการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ หัวหน้าและทีมงานต้องเข้าสัมภาษณ์และมีมติเอกฉันท์ตรงกันในการรับคนคนนั้นเข้ามาทำงาน

 

 

 


 

 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising