×

ตั้งเป้าหมายและใช้กลยุทธ์อะไรให้ Minor เติบโตเป็นอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน

25.12.2018
  • LOADING...

เชื่อไหมครับว่าองค์กรที่ผมจะชวนมาพูดคุยในเอพิโสดนี้ แทบทุกคนต้องเคยผ่านการเป็น ‘ลูกค้า’ ของเขา เพราะธุรกิจในเครือมีทั้งโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหารชื่อดังหลายแห่ง และแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อีกจำนวนมาก  

 

บิลล์ ไฮเนคกี (Bill Heinecke) จากเด็กหนุ่มวัย 17 ปี กับการยืมเงินเพียงแค่ 25,000 บาท เพื่อมาสร้างธุรกิจโฆษณาและทำความสะอาดสำนักงาน จนค่อยๆ ขยายกิจการถึงวันนี้ ที่กลายเป็นกิจการระดับแสนล้าน มีสินทรัพย์รวมกว่า 1.45 แสนล้านบาท แถมปี 2017 ทำกำไรได้ถึง 5.4 พันล้าน ทั้งหมดที่กล่าวมานั่นคือ บริษัท Minor International จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

 

เคน นครินทร์ คุยกับ บิ๊ก-ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ของไมเนอร์ กรุ๊ป ในรายการ The Secret Sauce

 

 


 

 

แบรนด์ทั้งหมดในรูปประกอบข้างต้น คือแบรนด์ทั้งหมดในเครือของ Minor International ธุรกิจไทยระดับสากลที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี

 

ล่าสุดยังเข้าไปถือหุ้นใหญ่ของ NH Hotel Group ถึง 94% ด้วยเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท เพราะเห็นศักยภาพในการเติบโต มีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับองค์กร และมั่นใจว่าในผลตอบแทนที่จะได้กลับมา

 

จากที่ได้พูดคุยเกือบชั่วโมงเต็มกับ บิ๊ก-ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ของ Minor International คิดว่าเคล็ดลับความสำเร็จมีด้วยกัน 4 ข้อ

 

1. มีจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการ

‘จิตวิญญาณผู้ประกอบการ’ หมายถึง คนที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงาน มีแพสชันกับสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใช่คิดแค่ว่าต้องทำ แต่มองไปถึงความสุขเมื่อผลงานออกมาสำเร็จ มากกว่าแค่เรื่องเงินทองหรือผลตอบแทน

 

ในยุคเริ่มต้น บิลล์ ไฮเนคกี (Bill Heinecke) ผู้ก่อตั้งไมเนอร์ เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการอย่างเต็มเปี่ยม และได้แทรกซึมความคิดนี้ไปกับองค์กร ทำให้พนักงานทุกคนมีแพสชันในการทำงาน สามารถสร้างผลงานคุณภาพได้ในระยะเวลาไม่นาน

 

เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น พนักงานมีจำนวนมากขึ้น บริษัทเริ่มเข้าสู่ระเบียบแบบแผน ถึงยุคที่ดำเนินต่อไปได้ด้วยผู้บริหารหลายคน แต่ทุกคนก็ยังคงเน้นย้ำในเรื่องจิตวิญญาณผู้ประกอบการเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและทำให้องค์กรค่อยๆ ขยายฐานได้อย่างมั่นคง

 

จนถึงวันนี้ องค์กรขยายไปยังต่างประเทศ หลักการสำคัญที่ยึดมั่นคือ Think globally, act locally คิดใหญ่ระดับสากล แต่ลงมือทำให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เปิดโรงแรมที่ประเทศไหน ถึงแม้จะคิดใหญ่ แต่ก็ต้องไม่ลืมปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นั่นด้วย

 

2. วัฒนธรรมขับเคลื่อนองค์กร (The DRIVE Culture)

การขับเคลื่อนศักยภาพในตัวตนของพนักงานให้ไปถึงจุดสูงสุด หลายคนไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพมากว่าที่คิด ฉะนั้นองค์กรจะเป็นส่วนช่วยในการปลูกฝังทัศนคติ Can do หรือ Possible ability ให้กับพวกเขา อย่าเพิ่ง Say no กับทุกโอกาส อย่าคิดไปก่อนว่าทำไม่ได้ ลองกลับไปคิดดีๆ ก่อนว่ามีหนทางไหนบ้างที่สร้างสรรค์ให้ผลงานสำเร็จได้ นี่คือวัฒนธรรมสำคัญขององค์กรไมเนอร์ กรุ๊ป

 

3. ตั้งเป้าหมายและวางกลยุทธ์ชัดเจน

เป้าหมายสูงสุดตอนนี้ของไมเนอร์คืออยากเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ในระดับสากล พร้อมวางแผนระยะยาวมาสนับสนุนวิสัยทัศน์ตรงนี้ เช่น การวางแผนระยะ 5 ปี ก็ต้องมีการนำแผนมาทบทวน ดูภาพรวมสภาพแวดล้อม บริบทที่เกิดขึ้นของธุรกิจว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ควรรับมืออย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

 

ที่สำคัญต้องไม่ลืมนำแผนไปใช้อย่างเป็นระบบระเบียบ ทุกคนในองค์กรต้องมีวินัยกับการมุ่งสู่แผนการที่วางไว้ เพื่อพัฒนาให้องค์กรดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถรายงานผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องให้กับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นต่อองค์กร

บุคลากรคือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดขององค์กร ถ้าไม่มีพวกเขา เราก็คงประสบความสำเร็จไม่ได้

จุดที่น่าสนใจของแผน 5 ปี นอกจากเรื่องผลกำไรที่อยากเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว พวกเขายังอยากเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ที่คนอยากร่วมงาน และอยากเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว มากกว่าแค่เรื่องเงินทอง แต่มองไปถึงผลกระทบเชิงบวกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ชุมชนใกล้เคียง ทุกคนล้วนสำคัญกับไมเนอร์ทั้งหมด

 

4. ไม่หยุดนิ่งกับการเรียนรู้

ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อหาความรู้อยู่ทุกวัน แต่ถ้าเมื่อไรที่มีข่าวสารเกิดขึ้นใหม่ๆ บนโลก ต้องไม่ลืมที่จะหาข้อมูลเรื่องนั้นด้วยทางใดทางหนึ่ง ให้ตัวเองไม่ตกเทรนด์ สิ่งที่หลายองค์กรเกรงกลัวคือการเข้าไม่ถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ ทำให้ต้องหมั่นปรับตัวเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ ‘ลูกค้า’ หรือคนสำคัญที่สุดของธุรกิจได้อยู่เสมอ

 

ยกตัวอย่างการจัดงาน Minor Tasting The Future Hackathon 2018 จับมือกับ Disrupt Technology Venture และ 500 TukTuks เฟ้นหานักพัฒนานวัตกรรม FoodTech และ DiningTech เพื่อนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามา disrupt วงการและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งไมเนอร์ทำเพื่อเรียนรู้วิธีคิดของคนรุ่นใหม่ด้วย

 

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising