“การมีสติสำคัญที่สุดสำหรับนักกีฬา ช่วงเวลาที่คุณหกล้มหรือเสียคะแนนคือช่วงเวลาเดียวกับที่จิตใจของคุณต้องแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
เคน นครินทร์ สรุปเคล็ดลับบริหารสติของนักกีฬาระดับโลก อาวุธลับเพื่อเข้าถึงความคิด อารมณ์ และความรู้สึกระหว่างการแข่งขัน เพื่อดึงศักยภาพขีดสุดออกมาในเวลาที่ต้องโฟกัสกิจกรรมตรงหน้า จากเว็บไซต์พิเศษ Olympic State of Mind ในซีรีส์ต้อนรับการกลับมาของ Tokyo Olympic 2020 ที่ชื่อว่า ‘The Secret Weapon’
ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของ Tokyo Olympic 2020 ได้ที่ https://thestandard.co/tokyo2020/
Mindfulness หรือการฝึกสติสำคัญอย่างไร
พีวี ซินดู นักกีฬาแบดมินตันหญิงเดี่ยวจากอินเดีย เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก ปี 2016 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การมีสติสำคัญที่สุดสำหรับนักกีฬา ช่วงเวลาที่คุณหกล้มหรือเสียคะแนนคือช่วงเวลาเดียวกับที่จิตใจของคุณต้องแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น การทำให้จิตใจเข้าถึงความสงบจะช่วยให้คุณมีสติจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้เป็นอย่างดี คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นว่าคุณทำได้ แล้วจากนั้นค่อยไหลไปตามโฟลวของมัน”
ดังนั้น ‘การมีสติ’ จึงคล้ายกับการทำสมาธิหรือการทำให้คุณตระหนักรู้ถึงความคิด อารมณ์ และความรู้สึก จนไปถึงขีดจำกัดทางกายภาพของตัวเอง ณ ขณะปัจจุบัน ถึงขั้นมีข้อมูลยืนยันว่า Mindfulness สามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บและฟื้นฟูร่างกายนักกีฬาได้ หากพวกเขาสามารถมีสติจดจ่ออยู่กับ ‘ข้อมูลที่ร่างกายรับเข้ามา’ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือนอาการบาดเจ็บหรือสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น และส่งต่อข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผลความพร้อมของตนเอง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถพุ่งเป้าสติไปที่การพัฒนา Performance โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นในระหว่างฝึกซ้อม และเมื่อเวลาแข่งจริง พวกเขาจะสามารถนำหน้าคู่แข่งหนึ่งก้าวได้เสมอ
อยากฝึก Mindfulness บ้าง ต้องทำอย่างไร
อ้างอิงจากบทความในเว็บไซต์ Sportsnet หัวข้อ How mindfulness training quietly gives elite athletes an edge
บทความนี้เล่าขึ้นต้นด้วยคำสัมภาษณ์ของ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลผู้ยิ่งใหญ่ ในสารคดี The Last Dance เขาเคยแชร์เคล็ดลับความสำเร็จของตัวเองว่ามันคือ “It’s in the moment.” หรือการอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน
ดร.เอมี ซอลส์แมน Mindfulness Coach เผยเคล็ดลับเบื้องหลังของ ไมเคิล จอร์แดน ว่า สิ่งที่เขาทำคือ Mindfulness Training วิธีการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มนักกีฬาชั้นนำ เพื่อฝึกฝนให้พวกเขาบรรลุจุดสูงสุดของการ Performance ที่ยอดเยี่ยม รวมถึงมีวิถีการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สรุปบทเรียนฝึก Mindfulness ของนักกีฬาระดับโลก ที่คนทั่วไปปรับใช้ได้จริง
1. จินตนาการสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้กลายเป็นภาพ
แซ็ค ไฮแมน นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งจากทีมโทรอนโต เมเปิ้ล ลีฟส์ กล่าวว่า เขามักใช้เวลาก่อนเริ่มแข่งขันด้วยการปิดรับสิ่งเร้าจากโลกภายนอก แล้วค่อยๆ จินตนาการภาพถึง Scenario ในเกมที่กำลังจะเริ่มขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ทำให้เกิดสมาธิจดจ่อ แม้สนามแข่งรอบตัวจะเต็มไปด้วยเสียงดังวุ่นวาย
เวย์น เกรทสกี นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งจากแคนาดา พูดถึงความสำคัญของการเลือกจุดโฟกัสจังหวะในเกมฮอกกี้ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การจดจ้องไปยังการเคลื่อนไหวของลูกพัค แต่เขายังต้องเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
เขาได้ฝึกฝนควบคุมจิตและโฟกัสให้ถูกจุดในแต่ละโมเมนต์ บางครั้งเขาต้องมองหลายสิ่งรอบตัวพร้อมๆ กัน เพื่อประมวลภาพรวมที่เกิดขึ้น (Widen Your Attention) ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายครั้งที่เขาต้องรวบรวมสติทั้งหมดและจดจ่ออยู่กับการทำสิ่งเล็กๆ เพียงสิ่งเดียวให้ดีที่สุด (Narrow Your Attention)
2. ฝึก Meditation สม่ำเสมอ
อเล็กซ์ คิลลอร์น นักกีฬาฮอกกี้ทีมแทมปาเบย์ ไลท์นิ่ง มีช่วงเวลา Performance ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเขามาเปิดเผยว่าบางส่วนมาจากการค้นพบวิธีทำ Meditation Practice for the Improvement
เขาเริ่มสนใจการฝึกนี้หลังจาก Performance ไม่ได้เท่าที่ควร ในการแข่งขัน 3 เกมติด เขาเริ่มหาสมดุลในตัวเองผ่านการทำสมาธิ จนได้เข้าใจว่าสิ่งที่เขาควรให้ความสำคัญไม่ใช่เรื่องของคะแนน แต่เป็นการตั้งใจลงเล่นแต่ละครั้งให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้ว
ทุกวันนี้เขามักจะหาเวลาสั้นๆ วันละ 10 นาที ฝึกสมาธิผ่านแอปพลิเคชัน Headspace มันช่วยลดความกังวลและปัญหานอนไม่หลับได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
3. มีช่วงเวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเอง
เราทุกคนล้วนใช้เวลาไปกับการทบทวนความผิดพลาดในอดีต และกังวลกับอนาคต โดยลืมอยู่กับปัจจุบัน ลืมการได้ Enjoy the Moment ปิดโอกาสตัวเองดื่มด่ำกับช่วงเวลาที่เกิดขึ้นตรงหน้า
เทคนิคหนึ่งที่นักกีฬาชอบใช้คือการหาห้องเงียบๆ เพื่อสร้างภาวะที่ทำให้จิตใจรู้สึกสงบ ค่อยๆ สแกนร่างกายทีละส่วน จดจ่ออยู่กับลมหายใจ เพื่อดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เมื่อนั้นสมองคุณจะเปิดโล่งพร้อมใช้งานอีกครั้ง สิ่งนี้เรียกว่า The Zone
คุณสามารถลองนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้ได้กับช่วงเวลาที่ต้องการรวบรวมสติ ไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่สาธารณะ การพรีเซนต์งานใหญ่ๆ และทุกโอกาสสำคัญของคุณ
4. เปลี่ยนอารมณ์เชิงลบให้กลายเป็นพลังผลักดันตัวเอง
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬาหรือคนธรรมดาที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดั่งใจ อารมณ์โกรธ หงุดหงิด ผิดหวัง หรืออยากตำหนิใครสักคน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่หากคุณใช้สติในการนำทางชีวิต พยายามหาวิธีเข้าใจอารมณ์เชิงลบอย่างมีจุดมุ่งหมาย สิ่งนี้อาจกลายเป็นอาวุธสำคัญที่ผลักดันคุณไปสู่ความสำเร็จ
ลองจินตนาการว่าคุณคือนักกีฬาคนหนึ่งที่กำลังลงสนาม และเกิดเรื่องราวบางอย่างที่ผิดจากความคาดหมาย โค้ชหรือเพื่อนร่วมทีมอาจเริ่มมองเห็นอารมณ์วูบวาบที่เกิดขึ้นของคุณ มันกำลังส่งสัญญาณว่าคุณกำลังสูญเสียการควบคุมตัวเอง เพื่อทำให้เกมดำเนินต่อไปได้ ทุกคนพยายามทำให้คุณอารมณ์สงบลง โดยหารู้ไม่ว่า ความเครียดเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนความต้องการเป็นแชมป์และความโกรธในเวลาที่เหมาะสม มักเป็นความฉลาดทางอารมณ์ที่ทำให้คุณอยู่เหนือคู่แข่ง
จำไว้เสมอว่า ไม่มีใครรู้จักคุณดีเท่าตัวคุณเอง เมื่อไรที่รู้ตัวว่าคุณกำลังโกรธ คุณต้องเพ่งสมาธิเพื่อหาให้เจอว่าอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกร้อนรุ่มกับมัน ระบายสิ่งนั้นให้กลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนผลงานของคุณให้ได้
Call to Action
1. ลองทำสมาธิง่ายๆ โดยการใช้เวลาเพียง 5 นาทีต่อวัน นั่งเงียบๆ จดจ่อกับลมหายใจ โดยไม่ต้องทำอะไร คล้ายกับวิถีวะบิ ซะบิ
2. ออกไปเดินเล่น ใช้เวลาเพียงชั่วครู่อยู่กับตัวเอง เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวในร่างกายของคุณ
3. กินข้าวอย่างมีสติ งดทุกกิจกรรมระหว่างรับประทานอาหาร วางโทรศัพท์มือถือ ปิดทีวี ปิดคอมพิวเตอร์ และจดจ่อกับอาหารที่คุณกำลังกิน!
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์, พชร ไพโรจน์
Video Editor วุฒิชัย ถิระบัญชาศักดิ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Assistant อสุมิ สุกี้คาวะ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin จักรภัทร อ่ำพริ้ง
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster ณฐพร โรจน์อนุสรณ์
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน