SMEs ในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นฐานรากหรือโครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ โดยมี สสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและบูรณาการความรู้ทั้งหมดของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ในภาพรวม สสว. มองว่า SMEs ควรปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 และปัจจุบันมีเครื่องมือหรือโครงการอะไรที่ SMEs สามารถเข้าร่วมได้บ้าง
เคน นครินทร์ คุยกับ มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.
ภาพรวมสถานการณ์ SMEs ในประเทศไทย
เราได้เปลี่ยนนิยามของ SMEs ใหม่ โดยใช้ฐานรายได้เพิ่มเข้าไปในนิยามเดิม ทำให้ครอบคลุมในระดับ Micro SMEs โดยเราจะดูแลคนตัวเล็ก หรือคนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี ซึ่งหมายถึงคนที่คนที่อยู่นอกระบบหรือไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม พอนิยามเปลี่ยน จึงทำให้สำมะโนประชากร SMEs จากเดิมที่มีประมาณ 3 ล้าน กลายเป็นประมาณ 5 ล้านรายในปัจจุบัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแล SMEs ทั้งทางตรงและทางอ้อมมีประมาณ 40 กว่าหน่วยงาน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานบูรณาการ ซึ่งในกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า สสว. ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและบูรณาการกระบวนการช่วยเหลือและส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในด้านที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน
2 ปัจจัยที่ทำให้ SMEs บ้านเราไม่แข็งแรง นั่นก็คือความไม่รู้และการหลงผิด
อะไรคือความท้าทายของ SMEs ไทย
SMEs ในประเทศไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก หลักๆ มีอยู่ 2 ปัจจัยที่ทำให้ SMEs บ้านเราไม่แข็งแรง นั่นก็คือความไม่รู้และการหลงผิด SMEs ในประเทศไทยเป็นคนตัวเล็กที่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันในการกู้ยืมในระบบธนาคารพาณิชย์ และหลายคนก็ไม่มีความรู้และวินัยทางการเงิน ทำให้โอกาสในการเตรียมพร้อมด้านเอกสารและการแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนตามที่สถาบันการเงินต้องการ กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยถูกไม่ได้ จึงต้องหันไปใช้ Non-Bank ที่มีดอกเบี้ยแพง ซึ่งถ้ากู้ธนาคารรัฐ กว่าจะคืนทั้งต้นทั้งดอกต้องใช้เวลาถึง 7 ปี และแน่นอนว่าต้องกู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีกระแสเงินสดไม่พอ กลายเป็นดินพอกหางหมู และหางใหญ่กว่าตัวหมูอีก เป็นวงจรวนไปแบบนี้ ทำให้ SMEs บ้านเราในระยะเวลา 10 ปี จะเหลือรอดแค่ 50% ดังนั้นความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรู้จะทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงบริการรัฐหรือแหล่งเงินทุนได้ ความไม่รู้หรือการหลงผิดเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าการไม่อยู่ในระบบจะทำให้ต้นทุนตัวเองถูก เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าแบงก์ชาติได้กำหนดไว้ว่า รายได้ที่นำมาสำแดงในการกู้ ต้องเป็นรายได้ที่อยู่ใน พ.ร.บ. บัญชี หรือรายได้ที่เสียภาษีให้กับรัฐเท่านั้น ดังนั้นใครที่หลบภาษีหรือไม่แสดงรายได้ตามจริง รายได้ก็จะหดหายไป 1 ใน 3 ของรายได้ที่สามารถกู้ยืมได้ และในแต่ละธนาคารก็มีวงเงินสำหรับคนตัวเล็กที่ไม่ต้องใช้หลักประกันเลยด้วยซ้ำ เราเรียกว่าการใช้ บสย. หรือบริษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม โดยวงเงินประมาณ 40-50 ล้านสามารถใช้ บสย. ไปค้ำประกันและกู้ยืมได้ นั่นก็คือการมีความรู้ความเข้าใจและเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง
SMEs บางรายพยายามทำทุกทางเพื่อเข้าสู่ระบบ แต่ด้วยประวัติและเครดิต ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อยู่ดี มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้จริงๆ แล้วแก้ไขได้ ยกตัวอย่างบริการของ สสว. ทุกคนสามารถมาลงทะเบียนเป็นผู้รับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่เกี่ยวข้องกับฐานภาษีเลย เป็นการมาแสดงตัวว่าคุณเป็นผู้ประกอบการจริงๆ แล้วยังสามารถขอรับการส่งเสริมการบริการจากภาครัฐได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงการจดทะเบียนพาณิชย์หรือการเสียภาษี กฎหมายเปิดโอกาสตรงนี้ให้ SMEs โดย สสว. จะมีศูนย์บริการทุกจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ศาลากลาง เราเรียกตรงนี้ว่า One Stop Service (OSS) หรือติดต่อผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับเราก็ได้
ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ง่ายแบบนี้ อยากให้ช่วยอธิบายว่าถ้ามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง SMEs ควรทำอย่างไร
ผมขอยกตัวอย่าง SMEs ที่ได้รับรางวัลและผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยม SMEs เจ้านี้ขายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์หลากหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ที่น่าสนใจคือเขาใช้หลักการ ODM ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น เขาทำหน้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์และออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนการผลิตเขาไปจ้างจีนผลิตแทน เพราะเขาคิดแล้วว่าเขาผลิตสู้จีนไม่ได้แน่นอน เขาสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านจนได้รับรางวัล พอผมไปดูแล้วก็เห็นว่ามันได้ผลจริง เพราะในไต้หวันหรือในอเมริกาก็ทำแบบนี้ เขาหันมาใช้การออกแบบและสร้างมูลค่าเพิ่มแทนที่จะไปผลิตเอง สิ่งเหล่านี้มาจากงานวิจัยทั้งสิ้น ซึ่งจริงๆ คนไทยเรามีความสามารถด้านนี้มาก เพียงแต่เราขาดองค์ความรู้ด้านนี้ SMEs ควรใช้เครื่องมือทั้งโลกนี้ให้เสมือนว่าโลกใบนี้เป็นของเรา อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็น SMEs ที่ทำซอสพริกอยู่ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี จุดเด่นของเขาคือการใช้พริกที่อยู่ในธรรมชาติ 40% และใช้โม่หินในการบด เพราะโดยธรรมชาติโม่หินจะไม่มีความร้อน จึงไม่ทำให้วัตถุดิบและรสชาติเปลี่ยน นี่คือองค์ความรู้ที่ทำต่อเนื่องกันมา 80 ปีแล้ว นอกจากนี้เขายังนำพริกไปผสมกับกระเทียมดอง ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนทำแบบนี้ได้ จากตัวอย่างเหล่านี้ผมต้องการจะบอกว่า SMEs ถ้าไม่แตกต่างมากพอจะตายหมด สิ่งสำคัญคือเรื่องของ Storytelling และการออกแบบ แนวทางที่ควรนำไปปรับใช้คือบันได 5 ขั้น ขั้นแรก เราใช้แนวคิดก่อน ไตร่ตรอง สังเกตการเปลี่ยนแปลง และต้องไวต่อการปรับตัว ขั้นที่ 2 ดูว่าอะไรที่เราโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น SMEs รายเล็กไม่มีแบรนด์จึงต้องมีสตอรี ขั้นต่อมา สิ่งเหล่านี้ควรออกมาเป็นมาตรฐานและเป็นสากลที่เราสามารถไปคุยกับคนทั้งโลกได้ ขั้นที่ 4 เราจำเป็นต้องมีคนรับรอง ถ้าในมาตรฐานสมัยใหม่ก็จะมี KOL หรือสถาบัน ISO เป็นต้น และสุดท้ายขั้นที่ 5 โลกของดิจิทัล เป็นเรื่องของอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ รวมถึงอีโลจิสติกส์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับ เช่น การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หีบห่อต่างๆ หรือแม้แต่การตั้งราคาก็ต้องแตกต่างกันไป เป็นต้น
SMEs ควรใช้เครื่องมือทั้งโลกนี้ให้เสมือนว่าโลกใบนี้เป็นของเรา ถ้าไม่แตกต่างมากพอจะตายหมด สิ่งสำคัญคือเรื่องของ Storytelling และการออกแบบ
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SMEs เจ็บหนักมากและมีภัยคุกคามเต็มไปหมด สสว. มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง
เราต้องจำแนกตัวเองก่อนว่าเราอยู่ในโซนเขียว เหลือง หรือแดง เพราะแต่ละคนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน คนที่อยู่ในโซนเหลืองจะแยกออกเป็น 2 อย่าง อาจเกิดมาจากช่วงโควิด-19 หรือข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ลูกค้าและนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด Over Supply เห็นได้ชัดในธุรกิจโรงแรม ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2 ปีแน่นอน ฉะนั้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องให้โรงแรมต่างๆ หยุดคิดดอกเบี้ยไปเลย ไปแช่อยู่ในกองทุนสักอันหนึ่ง ซึ่งในสมัยที่เกิดสึนามิเราก็เคยทำ หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น โรงแรมบางที่เปิดให้คนทำงาน นักลงทุน หรือผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงมาอยู่ SMEs ต้องมีการปรับเปลี่ยน Business Model และ Market ใหม่ ต้องมีการรีสกิลหรืออัปสกิลธุรกิจทั้งหมด ใครทำเร็วคนนั้นก็ได้เปรียบ สำหรับธุรกิจที่มีเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงจนตลาดหาย รายได้หด คุณต้องยอมข้ามความเชี่ยวชาญของคุณไปทำธุรกิจอื่นเลย ซึ่งผมก็แนะนำทุกคนให้มาทำธุรกิจการเกษตร เพราะไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจการเกษตรของ SMEs บ้านเรา ปัจจุบันมีแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งมันยังน้อยมากและเป็นโอกาสที่ดี
การจะปรับหรือจะเปลี่ยน ควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน
ธุรกิจที่เห็นชัดเลยว่าพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปแล้ว ต้องอย่าฝืน ส่วนธุรกิจที่ต้องมีค่าส่งอย่างร้านอาหาร ถ้ายังขาย 30 บาท คุณจะขายใน LINE MAN ไม่ได้ เพราะแค่ค่าส่งก็ 30 บาทแล้ว คุณต้องปรับมาทำเป็นอาหารชุดหรือเบนโตะที่มีกับข้าวหลายอย่าง และตั้งราคาเป็นชุดไปเลย เพราะคนที่มีอำนาจซื้อจริงๆ เขายอมจ่ายอยู่แล้วถ้าร้านของคุณอร่อยและคุ้มค่า ที่สำคัญหน้าร้านต้องเล็กลง เพราะคนมาทานที่ร้านมีน้อยลงแล้ว คุณต้องไปกระจายในหลายๆ ช่องทางแทน โดยบอกเล่าว่าสตอรีของคุณคืออะไร อีกเรื่องที่สำคัญที่อยากฝากให้ทุกคนคิดคือ เรื่องการคุยกับเจ้าหนี้ วันนี้ใครคุยก่อนได้เปรียบก่อน เพราะเป็นการแสดงถึงความตั้งใจและการร่วมมือ ไม่ต้องตกใจกลัวเพราะการคุยกับเจ้าหนี้ไม่จบภายในครั้งเดียวแน่นอน เราอยากให้กำลังใจทุกคน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนแสวงหาอาชีพที่หลากหลาย สำคัญที่สุดคืออย่าอยู่เฉย ต้องเปลี่ยนแปลงให้ไว การตั้งราคาในยุคนี้ต้องตั้งเผื่อหลายอย่าง เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะอยู่ไม่ได้ พูดง่ายๆ สินค้าราคา 30 บาท คุณต้องขายได้ 100 บาท ก็คือประมาณ 3 เท่า ถ้าทำไม่ได้ก็อยู่ยาก
ส่วนไฟแดงก็มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือล้มละลาย กับอีกอย่างคือลุกขึ้นมาใหม่ คนที่มีหนี้เกิน 2-3 ล้านบาท ตามกฎหมายสามารถใช้การฟื้นฟูกิจการได้ คุณจำเป็นต้องไปหาเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อให้ช่วยเหลือคุณ การล้มละลายต้องใช้เวลารอคำสั่งศาลและดำเนินการเบ็ดเสร็จทุกอย่างถึง 10 ปี ซึ่งถ้าคุณมีความรู้จริงๆ จะสามารถลดให้เหลือ 3-4 ปีได้ ในประเทศไทยมีจำนวนตรงนี้หลายล้านคน น่าเสียดายที่หลายคนขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการแก้ปัญหาหรือเจรจาเพื่อฟื้นฟูกิจการ จึงอยากให้ร่วมมือกับเจ้าหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการขึ้นมาใหม่ได้ ตอนนี้แบงก์ชาติก็มีคลินิกสำหรับคนที่มีหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่าซื้อ หรือหนี้ต่างๆ เป็นการรวมหนี้เพื่อนำมาแก้ไข โดยดึงระยะเวลาให้ยาวขึ้นและดอกเบี้ยถูกลง ทุกปัญหามีทางออกแต่ควรออกในทางที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นมันจะยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าจริงๆ
SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
สามารถสมัครผ่านแบงก์พาณิชย์ได้เกือบทุกแห่ง และถ้าต้องการความรู้ความเข้าใจ ก็สามารถมาที่ EXIM Bank หรือเข้าไปในสื่อออนไลน์ของ EXIM Bank ได้ โดยทางเราก็มีโครงการเป็นระยะๆ ที่เปิดโอกาสให้คนมาเข้าเรียนหรือมาซักถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ด้วย
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster ณฐพร โรจน์อนุสรณ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์
Archive Officer ชริน จำปาวัน
Music westonemusic.com