×

ชานนท์ ซีอีโออนันดาฯ เปิดเกมสภาพคล่อง “เราไม่ใช่แค่บริษัทอสังหาฯ อีกต่อไป”

06.09.2020
  • LOADING...

โมเดลธุรกิจของอนันดาฯ มีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นบริษัทอสังหาฯ แต่เป็นบริษัทลงทุนที่มีอสังหาฯ เป็นธุรกิจหลัก เพราะอะไรประเทศไทยต้องมีวิธีคิดแบบ ‘กล้าลองผิดลองถูก’ เพื่อที่จะก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ และเราควรเรียนรู้อย่างไรเพื่อเตรียมร่างกายและสมองให้พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

 


 

เลือกเล่นเกม ‘ตั้งรับ’

เราเป็นธุรกิจใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งมีโควิด-19 มา กำลังซื้อก็ยิ่งน้อยลงไปอีก แต่เราเลือกเล่นเกม Defensive หรือเกมตั้งรับมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตจะเข้ามา ผมจะคอยเตือนและฝึกให้น้องๆ ในทีมรันโมเดลเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าเสมอ เพื่อไม่ให้เวลาที่มันเกิดขึ้นจริงแล้วทุกคนเกิดอาการช็อก เพราะนั่นคือเวทีที่แท้จริงที่เราเตรียมตัวและฝึกซ้อมมาตลอด 8 ปี อีกเรื่องที่ผมทำคือพยายามเก็บเงินสดไว้เสมอ เพื่อรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำตัวให้เบาที่สุด อย่างไตรมาสแรกของปีนี้ เราก็ขายสนามแข่งรถไป ผมคิดว่าเราต้องพร้อมสละบางอย่าง อย่าชะล่าใจ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

พยายามเก็บเงินสดไว้เสมอ เพื่อรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำตัวให้เบาที่สุด ต้องพร้อมสละบางอย่าง อย่าชะล่าใจ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

หมัดโควิด-19 ครั้งนี้หนักกว่าที่คิดไหม

ช่วงที่ผ่านมามีหลายหมัดที่เข้ามา รวมถึงหมัดโควิด-19 ด้วย แต่ผมมองว่าทุกคนเจอเหมือนกันหมด ยิ่งในบางธุรกิจเจอโหดกว่าเราอีก ผมก็มองเขาเป็นฮีโร่ และบอกกับทีมว่าเราจะใจเสาะไม่ได้ ถ้าเราสู้ต่อไป อย่างไรวันหนึ่งก็ถึงฝั่ง ที่มั่นใจแบบนี้เพราะเราวางแผนโครงสร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว เราออกแบบ Business Model ที่ตั้งรับไว้ตลอดเวลา และเราก็สามารถยืดหยุ่นได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ เสมือนเป็นโรงงานอสังหาริมทรัพย์ที่มีท่อเงินต่อเข้ามาตลอด ซึ่งท่อพวกนี้เราสวิตซ์ไปมาได้ตามกลยุทธ์ของเรา ผมไม่คิดว่าอนันดาจะมาถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ ผมแค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถรับมือได้เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น มันวัดกันตรงนี้ เพราะสิ่งสำคัญคือการรักษาวัฒนธรรมองค์กรเอาไว้ด้วย ไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นก็ตัดคนออก ผมมองทุกอย่างเป็นสตาร์ทอัพทั้งหมด และโฟกัสที่ Financial Model ตลอดเวลา ผมอยากแนะนำให้ทุกคนมองธุรกิจตัวเองแบบตั้งอยู่บนความเป็นจริงที่วิเคราะห์ได้ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก คิด Scenario ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้และหาทางป้องกัน

สิ่งสำคัญคือการรักษาวัฒนธรรมองค์กรเอาไว้ด้วย ไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นก็ตัดคนออก

อนันดาฯ มีกลยุทธ์อะไรกับเกมที่ยากขึ้น

เกมยากขึ้นเพราะมีผู้เล่นเยอะ แต่ต่อจากนี้ผู้เล่นจะน้อยลง เพราะธุรกิจอสังหาฯ เป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัดสินใจแล้วจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้เลย ผู้เล่นที่ไม่ยืนหยัดจริงๆ จะหายไป จะเหลือแต่ผู้เล่นหลักที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผู้ประกอบการต้องจับเทรนด์และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทัน เรื่องการเงินก็ต้องแน่นพอ สำหรับตัวผมเอง เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะยอมรับผิดเองก่อน เพราะเราเป็นคนเปิดไฟเขียวออกมา อย่ากลัวเสียฟอร์ม ผมให้ความสำคัญกับการเป็นคนขับเคลื่อนตัวเอง ไม่ยอมให้อะไรมาบีบบังคับให้เราต้องทำหรือต้องเปิดโครงการที่ไม่พร้อม เพราะผมรู้ดีว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กรผมต้องเป็นคนรับผิดชอบ

ธุรกิจอสังหาฯ เป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัดสินใจแล้วจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้เลย ผู้เล่นที่ไม่ยืนหยัดจริงๆ จะหายไป จะเหลือแต่ผู้เล่นหลักที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

คิดว่าหลังจากนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะแข่งขันกันที่อะไร

เราอยู่ในยุค Aging Society ที่จำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการมีคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Z ด้วย เพราะถ้าคนเหล่านี้ไม่มีงานทำ เขาก็มาซื้อบ้านซื้อคอนโดฯ ไม่ได้อยู่ดี เราจึงมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายหรือ Diversification ไปเรื่อยๆ เราต้องมองยาวๆ ว่าประเทศไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร และเราจะยืนอยู่จุดไหนท่ามกลางความต้องการหรือปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป 

 

อย่างไรก็ตาม ผมอยากชวนให้ทุกคนรักษาวัฒนธรรมองค์กรไว้ให้ได้ แม้เราจะมีโซเชียล แต่มันก็ทำได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์ที่ต้องการการพบปะแบบ Face to Face อยู่ดี สำหรับโครงการของอนันดาฯ ผมอยากทำให้รองรับ Gen Y และ Gen Z มากที่สุด แต่ราคาที่ดินติดรถไฟฟ้าค่อนข้างแพง นั่นคืออุปสรรคหลักของเรา เราจึงต้องมองในภาพที่ไมโครมากขึ้น ถ้าเราสามารถหาของที่โดนใจและราคาย่อมเยา อย่างไรก็ไปต่อได้ ต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่นเพียงนิดเดียวก็สามารถทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันได้แล้ว เพียงแต่ต้องมาดูว่าจะคืนทุนได้เร็วแค่ไหน ถ้าผู้บริโภคชนะ ผู้ประกอบการก็แพ้ จนกว่าคุณจะ Leapfrog หรือเป็นกบที่กระโดดไปหาบลูโอเชียนอื่น ไปหาบ่อใหม่ๆ ที่เราแข่งขันได้

 

คุณค่า หรือ Value ของอนันดาฯ คืออะไร 

สิ่งที่เรามีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือการเข้าใจลูกค้า ผมมองหาอะไรที่สดใหม่อยู่ตลอด และจะแบ่งเวลามาทดลองส่วนอื่นๆ ด้วย ออกแบบระบบให้ดีขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วม ผมมองว่าพื้นฐานของทุกอย่างจะต้อง Digitize และทำงานจากทุกที่ได้ ถ้าเราจะ Leapfrog จริงๆ จะต้องคิดเกินประเทศไทยไปอยู่แล้ว เรามองตัวเองเป็น Inter Company และเซตอัพทุกอย่างเพื่อโกอินเตอร์ เพราะเราไม่ใช่แค่บริษัทอสังหาฯ อีกต่อไป 

วัฒนธรรมองค์กรของอนันดาฯ เน้นที่ความโปร่งใส ผมมองทุกคนเป็นนักกีฬา และมุ่งเน้น OKR อย่างมาก คนที่มีสปิริตเท่านั้นที่จะไปต่อได้ เพราะเรามองว่าเราอยากมี High Performance จึงต้องมุ่งไปที่เป้าหมายเป็นหลัก แต่เวลาที่เกิดวิกฤต เราจะต้องดูแลใจลูกน้องก่อนเป็นหลัก มันเป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ไทยกับต่างชาติให้เข้ากัน 

ผมมองว่าเราต้องสนุกกับความท้าทายให้ได้ก่อน ที่สำคัญผู้บริหารจะต้องประเมินตัวเองด้วยว่าเราเป็นคนชอบเรียนรู้ตลอดเวลาหรือไม่ เพราะคนที่มีความสนุกเท่านั้นถึงจะมีแรงในการศึกษาอะไรใหม่ๆ ได้ตลอด และควรมองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ที่ฟิต เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่าเด็กอยู่แล้ว ถ้ายิ่งไปเป็นพาร์ตเนอร์กับเด็กด้วยก็จะดีมาก 

 

มีข้อเสนออะไรต่อรัฐบาลเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยหลังโควิด-19

ผมเสนอว่าควรใช้ Startup Mentality และกล้าไปทดลองอะไรใหม่ๆ ในแต่ละพื้นที่ และให้คนในพื้นที่นั้นโหวตกันเองว่าจะทำหรือไม่ โดยทำเป็น Shark Tank เพื่อจัดให้มีการประกวดไอเดียในแต่ละจังหวัด ทำให้มหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดเป็น Knowledge Center เพราะเราต้องมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ ให้งบประมาณกับเขาและทำการทดลองให้เร็วที่สุด จากนั้นก็วัดผลและเก็บข้อมูลทันที เราต้องกล้าเลือก และลองผิดลองถูก เพราะเราเล่นเกมเดิมไม่ได้แล้ว ผิดที่สุดคือไม่ทำอะไรเลย เราจำเป็นต้องมีมายเซตที่มาทำร่วมกัน ธุรกิจอสังหาฯ ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตถ้าสามารถควบรวมกันได้ก็ควรทำ เพื่อที่เราจะสามารถไปแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในตลาดได้

เราต้องกล้าเลือกและลองผิดลองถูก เพราะเราเล่นเกมเดิมไม่ได้แล้ว ผิดที่สุดคือไม่ทำอะไรเลย

อะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สนุกกับการใช้ชีวิต

เรื่องแรกที่สำคัญสำหรับผมคือร่างกาย ผมใส่ใจเรื่องอาหารมาก เพราะมันเป็นเสมือนเชื้อเพลิงให้กับร่างกาย ร่างกายของผมต้องฟิตเหมือนนักกีฬาในวงการธุรกิจ และต้องดูใจตัวเองว่าไปต่อได้อีกเท่าไร อีกเรื่องที่สำคัญคือการดูสภาวะจิตของตัวเอง ทุกปีผมจะต้องไปปฏิบัติธรรมเพื่อรีฟอร์แมตตัวเอง หาวิธีที่จะชาร์จแบตสมองได้ทันทีที่ต้องการ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องฝึก ผมมองว่าถ้าเรามีแรง เราก็มีโอกาส ทุกอย่างเป็นสิ่งชั่วคราว เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ อยู่ที่ว่าเราจะคิดบวกอย่างไรให้มีผลดีกับคนอื่นได้ แชร์ความคิดกันให้ได้มากที่สุด แล้วโลกจะเปลี่ยนเอง 

ทัศนคติของผมที่ตื่นขึ้นมาทุกเช้า ผมจะบอกตัวเองก่อนว่าเราเลือกเป็นใคร เราต้องเป็นกระจกที่สะท้อนตัวเองให้ได้ก่อน เพราะมันเป็นการวัดความเป็นผู้นำของเรา


 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer & Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

Music westonemusic.com

Interns ภูมิ ทรงศรีพิพัฒน์, ณัชชา ขอเพิ่มทรัพย์

Shownote หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising