×

genie records กับปรัชญาการทำค่ายเพลงร็อกให้ศิลปินถูกรัก

01.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:18 จุดเริ่มต้นของ genie records

10:48 ศิลปินคนแรกของค่ายคือใคร

15:15 รู้ได้อย่างไรว่าเพลงไหนจะดัง

20:45 วิธีคัดเลือกศิลปินแบบ Nick Genie

23:54 หลักการทำงานและบริหารศิลปิน

28:16 รับมือกับช่วงวิกฤต

36:11 สร้างแบรนดิ้งให้ศิลปิน

41:30 กลยุทธ์ในการโปรโมต

47:13 เคล็ดลับในการยืนระยะ

54:20 อะไรคือ The Secret Sauce ของ genie records  

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ genie records ค่ายเพลงร็อกอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มีศิลปินในค่ายอย่าง Bodyslam, Big Ass, Labanoon, Cocktail, Klear และอีกมาก


เรื่องราวการก่อตั้งค่ายเพลงเป็นมาอย่างไร มีวิธีคัดเลือกและบริหารศิลปินอย่างไร เคยเจอช่วงวิกฤตไหม และทำค่ายเพลงอย่างไรให้อยู่ได้มาถึงยุคนี้


เคน นครินทร์ คุยกับ นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง genie records    

 


 

 

genie records เริ่มต้นอย่างไร

ผมเรียนจบรัฐศาสตร์ แต่สนใจงานด้านนิเทศศาสตร์ เริ่มต้นมาจากคนธรรมดาที่อยากเป็นครีเอทีฟ อาชีพแรกคือทำงานเป็น Best Boy ในกองถ่ายรายการเพลง มีหน้าที่ซื้อของตามสั่งจากทีมงานคนอื่นเพื่อเอามาประกอบฉาก จนกระทั่งแกรมมี่เริ่มมีค่ายเพลง ยุคนั้น พี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ เข้ามาร่วมงานกับบริษัท ก่อตั้งเป็น Grammy Entertainment ตอนนั้นผมเริ่มขยับมาอยู่เบื้องหน้า ทำงานเป็นพิธีกรรายการเพลง ชื่อว่า ยิ้มใส่ไข่ พิธีกรร่วมของผมในสมัยนั้น ทุกวันนี้กลายเป็นกรุ๊ปซีอีโอกันหมดแล้ว นำทีมโดย คุณเล็ก-บุษบา ดาวเรือง และคุณภิญโญ รู้ธรรม

ยุคต่อมาแกรมมี่ใหญ่ถูกผ่าเป็นค่ายเพลงต่างๆ เช่น Grammy Grand, Grammy  Gold มีค่าย Green Beans ที่ทำเพลงวัยรุ่นอย่าง คูณ 3 ซูเปอร์แก๊งค์ และทาทา ยัง มีค่ายเพลงร็อกที่บริหารโดยคุณอัสนี โชติกุล ส่วนผมถูกส่งให้ไปทำค่ายเพลงรวมฮิตชื่อ Grammy Big ทำเรื่องคัดเลือกศิลปิน ทำรายการเพลง ได้ลองทำหลายอย่าง แต่ใจจริงอยากเปิดค่ายเพลงของตัวเองที่สุด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดี เลยพยายามไปเดินผ่านหน้าห้องอากู๋และเปรยเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ

 

จนในที่สุดก็ได้เปิดค่าย genie records ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ผมว่าจีนี่เหมือนสตาร์ทอัพ อากู๋สั่งแค่อย่างเดียวคือห้ามเจ๊ง เพราะผมเปิดทีหลังสุด ศิลปิน โปรดิวเซอร์ คนทำงาน มีค่ายอื่นดึงตัวไปหมดแล้ว


ศิลปินคนแรกของค่าย

เป็นศิลปินดูโอชื่อว่า สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง เป็นพนักงานธรรมดาของแกรมมี่ที่ชอบแต่งเพลงและร้องเอง ด้วยคาแรกเตอร์ภายนอกอาจดูไม่ค่อยเหมือนคนอื่นสักเท่าไร พวกเขาเลยไม่ได้ถูกทรีตเหมือนเป็นศิลปิน ไม่รู้จะส่งไปอยู่ค่ายไหนดี สุดท้ายเลยมาอยู่กับค่ายผม เพราะผมวางภาพไว้แล้วแต่แรกว่าค่ายเราอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นตัวจริง ผมบริหารไปเรื่อยๆ จนในปีต่อมาวงนี้ก็ดังได้สำเร็จ

 

รู้ได้อย่างไรว่าเพลงไหนจะดังหรือดับ

ผมฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก ฟังเพราะชอบ ไม่มีเก๊กหล่อ เพราะก็บอกว่าเพราะ ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ ผมว่าการฟังแบบนักดนตรีที่มีความเอาใจช่วย มันจะรู้สึกชื่นชมในผลงานเขาไปหมด แต่สุดท้ายเพลงขายไม่ได้จริงๆ เลยฟังแบบคนธรรมดาทั่วไป ฟังไปทำอย่างอื่นไป ไม่ได้ฟังในฐานะโปรดิวเซอร์ที่จริงจังและเข้าข้างศิลปินตัวเอง

 

 

คนทำค่ายเพลงที่ดีต้องเป็น A&R Man คือ Artists and Repertoire ดูให้ออกว่าใครจะดัง ฟังให้ออกว่าเพลงไหนจะฮิต ครั้งแรกที่ผมเจอพลพล ภายนอกเขาเป็นผู้ชายอ้วนดำ หน้าตาไม่ดี แต่ลองมองดีๆ ทำไมคนรักเขาเยอะมาก เพราะข้างในที่ดีของเขามันส่งออกมาหมด ผมรู้เลยว่าคนนี้เป็นศิลปินได้แน่นอน หรืออย่างวง Paradox เจอครั้งแรกเหมือนโรคจิตเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) จำได้เลย ผมถามเขาว่าอยากรวยหรืออยากดัง ต้า (นักร้องนำ) ตอบว่าอยากดัง ผมบอก เออ ทำได้ เพราะเพลงเอ็งมันแหวกมาก ผมเชื่อว่าเพลงแบบนี้มันต้องมีในวงการบ้าง ก็ปั้นมาจนประสบความสำเร็จในที่สุด

 

 

เกณฑ์ในการคัดเลือกศิลปิน

ผมเปรียบศิลปินเป็นเพชร บางคนอาจคิดว่าการเป็นนักร้องใครก็เป็นได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ คนเป็นนักร้องต้องมีคุณสมบัติและความสามารถ ต้องอึด อดทน ดังนั้นผมจะไม่มองคนฉาบฉวย แต่มองคนที่เติบโตได้ ไปดูได้เลย วง Bodyslam เข้าวงการปี 2539 แต่กว่าจะดังจริงคือปีไหน เพชรแต่ละเม็ดมีความแตกต่างกันออกไป จะไม่มี Bodyslam ที่ 2 เพราะคนที่ร้องตามพี่ตูนได้ก็เป็นแค่ก๊อบปี้ ดังนั้นศิลปินค่ายผม 20 วง 20 คาแรกเตอร์ ไม่มีการซ้ำรอย ถึงแม้จะมีแนวทางคล้ายกัน อย่างวง Retrospect กับ Sweet Mullet แต่ผมก็ดีไซน์วงออกมาให้แตกต่างกันว่าวงหนึ่งคือมารดำ อีกวงคือมารขาว อย่างนี้เป็นต้น

หลักการเลือกศิลปินของผมคือคัดเพชร อย่าโกยหิน คุณเจียระไนหินเท่าไร สุดท้ายมันก็ยังเป็นหินอยู่ดี เต็มที่ก็เป็นได้แค่หินที่สวย ไม่ใช่ไร้คุณค่านะ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเท่านั้นเอง


หลักการทำงาน

รากเหง้าของจีนี่คือความอ่อนน้อมถ่อมตน (humble) ผมเจอกวีบทหนึ่งบอกว่า ต่ำต้อยจึงยิ่งใหญ่ น้ำค้างจากยอดหญ้าบนที่สูงยังไหลมารวมกันที่ทะเล ผมเอาปรัชญานี้มาใช้ในการทำงาน ดูตัวอย่างพี่ตูนได้ ไหว้จนจะถึงพื้นอยู่แล้ว (หัวเราะ) ศิลปินของผมจะเป็นแบบนี้ เป็นคนอ่อนน้อม ไม่หยิ่งยโส ผมปกครองโดยไม่ปกครอง

ผมไม่ตีเส้นให้ศิลปินไต่ แต่จะสร้างถนนใหญ่ให้ศิลปินเดิน และมุ่งสู่ปลายทางที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน

หมายความว่าผมไม่ได้บังคับให้ใครต้องเดินทางไหน แต่ให้อิสระในการตัดสินใจของแต่ละวง และให้มองไปในเป้าหมายเดียวกันคือความสำเร็จ

 

 

จีนี่เจอช่วงวิกฤตบ้างไหม

ตอนที่วิทยุบูม ตอนนั้นวิทยุเปิดเฉพาะเพลงฮิต แต่ไม่เปิดเพลงใหม่ และช่องทางเจอคนฟังสมัยนั้นยังไม่หลากหลายเท่าสมัยนี้ ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการไปเปิดที่ต่างจังหวัดก่อน เพราะคลื่นพวกนั้นยังยินดีเปิดให้เราอยู่ เหมือนป่าล้อมเมือง ค่อยๆ เข้ามาหากรุงเทพฯ จนถึงยุคนี้เราเป็นเจ้าของสื่อได้ด้วยตัวเองแล้ว เผยแพร่เพลงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไม่ค่อยได้ยุ่งกับคลื่นวิทยุเท่าไร แต่ก็ยังพึ่งพาอาศัยกันอยู่

 

พอยุคที่แผ่นซีดีเริ่มขายยาก เราก็หาวิธีปรับตัวอย่างไม่ค่อยรู้ตัว อะไรเข้ามาเราก็เล่นตามเขาหมด จีนี่เล่นโซเชียลฯ เยอะมาก ผมค้นพบว่าถึงแม้เพลงจะขายยากขึ้น แต่คนก็ยังฟังเพลงอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขายได้คือแบรนดิ้งของศิลปิน เพราะมันขโมยกันไม่ได้ ภาพที่เห็นชัดคือกลุ่มแฟนคลับที่ยอมไปยืนรอที่สนามราชมังฯ เพื่อดูคอนเสิร์ตตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน ดังนั้นกลุ่มคนที่เราให้ความสำคัญมากคือแฟนคลับ กลุ่มคนที่มีกำลังพร้อมซัพพอร์ต

แฟนเพลงกับแฟนคลับต่างกัน แฟนเพลงคือกลุ่มคนที่ชอบฟังเพลง จะเป็นเพลงของใครก็ได้ทั้งนั้น แต่แฟนคลับคือคนที่รักศิลปินจริงๆ และพร้อมซัพพอร์ตมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดเลยคือเหล่านุชของคุณหลวงเป๊ก ผลิตโชค

https://www.instagram.com/p/Be2NLSUnc3q/?taken-by=nickgenie


สร้างแบรนดิ้งให้ศิลปินอย่างไร

ธรรมชาติของเพลงมีขึ้นมีลง มีร้อยล้านและไม่ถึงร้อยล้าน ผมไม่อยากให้ศิลปินซีเรียส อย่างเพลงใหม่ของปาล์มมี่ที่ชื่อ แม่เกี่ยว รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางดังแบบรวยๆ แน่นอน แต่ผมอยากให้ทำ เพราะมันมีคุณค่า เป็นการสร้างแบรนด์ให้ตัวศิลปิน

 


เพลงมีขึ้นมีลง แต่แบรนดิ้งศิลปินต้องขึ้นอย่างเดียว ถ้าลงมันหมายถึงคุณไปทำเรื่องไม่ดีมา แต่ถ้าขึ้นแปลว่าคุณต้องไปทำอะไรดีสักอย่าง เช่น เรื่องฝีมือที่ไปได้รางวัล ทัศนคติที่แสดงออกมา บุคลิก เสื้อผ้าหน้าผม สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกโดยไม่เกี่ยวกับเพลงคือแบรนดิ้งหมด อย่างคุณแพท วง Klear ตอนนี้มีภาพลักษณ์เป็นที่ปรึกษาเหมือนพี่อ้อย-พี่ฉอด เขียนบทความเกี่ยวกับผู้หญิงต่างๆ ผมไม่เคยไปบอกใครให้ทำแบบไหน แต่จะคอยเสริมและชี้แนะตลอด

 

 

กลยุทธ์ในการโปรโมตเพลง

เมื่อก่อนเราจะรู้ว่าเพลงไหนฮิตจากการโดนเปิดจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งเพื่อนข้างบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีเพลย์ลิสต์อยู่ในหูฟังของตัวเอง ดังนั้นเราต้องดึงดูดคนเข้ามาฟังเพลงให้ได้มากที่สุด

 

วิธีคิดของผมคือ จงทำเรื่องของเขา อย่าเอาแต่ทำเรื่องของเรา เพราะถ้าเอาแต่พูดเรื่องของเรา เขาอาจไม่สนใจ หรือถ้าจะพูดเรื่องของตัวเอง ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะทำยังไงให้เข้ากับเขา ยกตัวอย่างมิวสิกวิดีโอเพลง เชือกวิเศษ ของวง Labanoon มันจะเล่าเรื่องออกมายังไงก็ได้เลย แต่ตอนนั้นเรารู้ว่าแฟนคลับของ Labanoon กำลังสนใจเรื่องฟุตบอล เลยเอาตัง-สารัช อยู่เย็น มาเล่น ทำให้เกิดเป็นกระแสและมีคนสนใจขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และคนก็ต่างรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

 

 

หัวใจสำคัญในการทำงาน

ผมใช้หลัก 3S ในการทำงาน ตัวแรกคือ Start ทุกครั้งที่เริ่มต้นทำอะไรใหม่ เราให้ความสำคัญกับมันเสมอ และผมเชื่อว่า No way is no way ทุกอย่างมีทางไปเสมอ เราพร้อมทำทุกอย่างด้วยความไม่กลัวไปก่อน สองคือ Sustain ปีแรกเรามีไท ธนาวุฒิ ความยั่งยืนของเราคือทุกๆ ปีเราต้องมี ไท ธนาวุฒิ คนใหม่เกิดขึ้นตลอด เหมือนมีดาวดวงใหม่ของเราเสมอ และสุดท้าย Never Stop เราต้องปรับตัวและไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำตัวเป็นวัยรุ่นเสมอ

 

 


ฟังรายการ The Secret Sauce พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest วิเชียร ฤกษ์ไพศาล


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising