×

ซูเปอร์จิ๋ว ปรับอย่างไรให้ SUPER 10 และ SUPER 60+ ฮิตถล่มทลายได้ทุกแพลตฟอร์ม

17.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:48 บริษัทซูเปอร์จิ๋วทำอะไรบ้าง

05:31 จาก ซูเปอร์จิ๋ว เป็น SUPER 10

13:53 สู่เรตติ้งอันดับหนึ่งอย่างที่ฝัน

18:41 ต่อยอดมาเป็น SUPER 60+

24:36 ทำงานกันอย่างไรกว่าจะได้มาแต่ละเทป  

28:31 เคล็ดลับในการทำงาน  

31:05 จุดร่วมที่จะทำให้งานออกมาสำเร็จ

36:40 สิ่งที่ทำให้ซูเปอร์จิ๋วยืนระยะมาได้ 27 ปี

39:59 การมาทำธุรกิจอีเวนต์

42:16 การทำงานแบบพี่ซุป

47:34 รับมือกับ Digital Disruption

54:20 แพสชันและความสุขในการทำงาน

58:05 The Secret Sauce ของซูเปอร์จิ๋ว

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ ซูเปอร์จิ๋ว รายการเด็กที่ยืนระยะมาได้ถึง 27 ปี ที่ตอนนี้กลายมาเป็นรายการ SUPER 10 ในช่องเวิร์คพอยท์ และต่อยอดไปทำรายการ SUPER 60+ อัจฉริยะพันธุ์เก๋า

 

จากรายการเด็กที่ทำไปก็ฮิตยาก แต่รายการของซูเปอร์จิ๋ว กลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นหลังจากปรับเปลี่ยนรูปแบบ  จนนำมาซึ่งเรตติ้งอันดับหนึ่ง และโกยยอดวิวไปรวมๆ แล้วเกือบ 1,000 ล้านวิวในยูทูบ   

 

เคน นครินทร์ คุยกับ พี่ซุป-วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ในวันที่บริษัทซูเปอร์จิ๋วไม่ได้ผลิตแค่รายการเด็ก แต่มีอีกกว่า 6 รายการที่น่าสนใจ พี่ซุปคิดรายการอย่างไร กว่าจะปรับได้จนลงตัวยากแค่ไหน และการทำอีเวนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทได้อย่างไร 

 


ตอนนี้บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว ทำอะไรอยู่บ้าง

ตามโครงสร้างของบริษัทแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ อีเวนต์และโทรทัศน์ เรามีรายการทางช่องเวิร์คพอยท์ คือ SUPER 10, SUPER 60+, คิด(ส์)กระหึ่มโลก รายการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีจินตนาการมาจากอีเวนต์ก่อน เป็นโครงการของลูกค้าที่ประกวดจินตนาการเด็ก และรายการ คิด(ส์)Stronger อยู่ในช่วงระหว่างถ่ายทำ รูปแบบคือหาเด็กที่มีความแข็งแกร่งทางด้านร่างกาย ส่วนรายการที่ทำกับช่องไทยพีบีเอส คือ นโยบาย By ประชาชน เน้นให้คนได้แสดงความคิดเห็น ท้าให้อ่าน รายการที่ออกแบบให้เด็กเป็นคนรักการอ่าน

 

ส่วนอีเวนต์ 30% ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ส่วนที่เหลือไม่ใช่ เราวางตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอีเวนต์ เน้นความหลากหลายและความพร้อม มีทีมงานทุกแผนกเหมือน One Stop Service รับทำงานครบวงจร มาคุยกับเราสามารถจบงานได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าลูกค้าต้องการงานด่วน ถ้าเจ้าอื่นทำให้เขาไม่ได้ แต่ทีมของผมทำได้

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดรายการ SUPER 10

ผู้ใหญ่ของเวิร์คพอยท์บอกว่า การทำรายการเด็กจะยากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมนี้แข่งขันกันดุเดือด รายการที่มีผู้ชมน้อยอาจต้องออกอากาศเช้าขึ้นเรื่อยๆ เราก็กลับมาคิดว่าควรจะตอบแทนสถานีที่ให้โอกาสอย่างไร ไปพร้อมกับได้ทำในสิ่งที่รัก เลยตั้งโจทย์ใหม่ตั้งใจทำรายการเด็กเพื่อทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถสนุกไปด้วยกันได้

 

ถึงแม้โครงสร้างรายการเดิมของผมจะแข็งแรงอยู่แล้ว มีลูกค้าสนับสนุน และยืนระยะมาได้ถึง 26 ปี แต่พอต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าไม่ตามมา เพราะเขางงว่าเรากำลังทำอะไร ใช่แบบที่เคยทำไหม กลุ่มเป้าหมายจะเหมือนเดิมหรือเปล่า ไม่ใช่เขาไม่เชื่อใจนะ แต่ขอดูท่าทีเราก่อน ดังนั้นอุปสรรคแรกที่มีคือ การเริ่มต้นแบบขาดทุน

ตอนนั้นโปรดักชันของเรามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะรายการสำหรับผู้ใหญ่จะมีมาตรฐานสูงกว่ารายการเด็ก เราต้องทำให้ถึงจุดนั้น ดังนั้นต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าครึ่งต่อเทป ในขณะที่ขายลูกค้าราคาเท่าเดิม ฝ่ายการตลาดก็งงเพราะมันขาดทุนแน่นอน

 

เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายขนาดเล็ก ต่อให้ทำรายการดีแค่ไหนเรตติ้งมันก็ยังน้อยมาก ยิ่งในยุคที่โทรทัศน์มี 20 กว่าช่อง ดังนั้นผมเลยมีความฝันส่วนตัว อยากเห็นเรตติ้งรายการตัวเองขึ้นถึงเลขตัวเดียวสักครั้งก่อนตาย เราเลยท้าทายตัวเองในรายการ SUPER 10 รายการค้นหา 10 สุดยอดอัจฉริยะพันธ์ุจิ๋ว

 

ความฝันเป็นสิ่งที่ตัดทิ้งไม่ได้

ผมเคยคิดกับตัวเองว่าต้นทุนของรายการ SUPER 10 มันเยอะไป เราควรตัดเรื่องความฝันของเด็กหรือเปล่า แค่ให้มาโชว์แล้วจบไปจะดีกว่าไหม เพราะความฝันเป็นสิ่งที่ควบคุมรายจ่ายไม่ค่อยได้แน่นอน แต่สุดท้ายผมเชื่อว่าเด็กดีต้องได้รางวัล สมัยก่อนเคยอยากทำห้องของขวัญสำหรับเด็กที่ทำความดี ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยอย่างแค่เรียนเก่ง ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน หรือเก็บสตางค์ได้ตามที่สาธารณะ เขาสามารถเดินเข้าห้องนี้ไปหยิบของขวัญได้เลย แต่พอมายุคนี้ห้องนั้นถูกสร้างไว้ในอากาศ พอทีมงานได้พูดคุยกับเด็กไปสักพัก จะจับประเด็นได้ว่าความฝันเขาคืออะไร และเราอยากให้สิ่งนั้นกลับไป มันสำคัญไปถึงความรู้สึกร่วมของคุณผู้ชม เพราะเขาจะรู้สึกดีใจเมื่อเด็กดีใจ ดังนั้นรูปแบบรายการเราจึงเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเด็ก

 

เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม

ผมทำงานกับเด็กมานานจนรู้ดีว่าเด็กมีความสามารถ แต่เวทีให้เขาแสดงออกมันน้อย เช่น เรามีเวทีให้เด็กโชว์เตะบอลและร้องเพลง แต่ถ้าเขาไม่ถนัดสิ่งนี้ บางคนอาจสรุปเอาเองเลยว่าเด็กคนนี้ไม่มีความสามารถ ทั้งที่เขาอาจยิงหนังสติ๊กเก่งมากก็ได้ เราเลยตั้งใจทำเวทีที่แสดงความสามารถอะไรก็ได้ ให้เด็กที่มีความเชื่อว่านี่คือต้นทุนของเขาและอยากแสดงออกให้คนอื่นเห็น

 

ตอนแรกรายการจะออกอากาศเช้ามาก แต่เมื่อผมส่งเทปแรกไปและมีผู้ใหญ่ได้ดู เขาบอกว่ารายการเราออกอากาศตอนเย็นได้เลยนะ กลายเป็นว่าผมได้เวลา 5 โมงเย็นวันเสาร์ กลุ่มคนดูเปลี่ยนเลย

 


เด็กคนแรกของรายการเราคือน้องพี น้องชอบฟุตบอล แต่ไม่เคยมีลูกบอลของตัวเอง วันแคสติ้งน้องเก่งมาก แต่พอซ้อมก่อนเข้ารายการจริงเตะเท่าไรก็เตะไม่โดน เราก็เอาวะ เตะเลยแล้วกัน สรุปน้องทำได้ดีมาก คนในห้องส่งตื่นเต้นกันหมด ยอดแชร์คลิปถล่มทลาย ผมเองยังตกใจเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความโชคดีที่อยู่บนพื้นฐานการวางแผน เราคิดอยู่แล้วว่าทุกวันนี้ไม่ได้ทำแค่รายการโทรทัศน์ แต่เราทำคอนเทนต์ที่ไปได้หลายแพลตฟอร์ม ดังนั้นคลิปสั้นแยกที่ตั้งใจตัดมันกระจายเร็วมาก วันแรกได้ 5 ล้านวิว ไปในทุกช่องทุกสื่อ และจากที่เคยบอกว่าอยากได้เรตติ้ง 1 เทปแรกเปิดมาที่ 1.49 ผมและทีมงานดีใจมาก มันเกินฝันไปแล้ว

เป้าหมายในวันนี้

ทางสถานีอยากให้รักษาคุณภาพนี้ไว้ ทุกสัปดาห์เขาจะส่งตัวเลขเรตติ้งมาให้ดู พร้อมเปรียบเทียบกับช่องอื่นที่ออกอากาศในเวลาเดียวกัน ช่วงแรกเราอยู่อันดับ 2 ในระยะหลังเราขยับไปที่ 1 ด้วย แต่รายการ SUPER 60+ มาวันแรกเราได้ที่ 1 เลย

 

ถามว่ารายการ SUPER 60+ มีที่มายังไง หลังจากทำรายการแรกได้ไป 4 เดือน ผมไปเจอพี่จิก ประภาส และบอกเขาว่า ผมเชื่อว่ารายการใหม่ SUPER 60+ ทำได้ เวลาไล่อ่านคอมเมนต์จากรายการ SUPER 10 มันจะเห็นพลังจากคนดู เห็นกลุ่มเป้าหมายที่โตขึ้น 10 เท่า เริ่มตั้งแต่เด็ก 5 ขวบไปจนถึงผู้ใหญ่ เป็นการไล่จากล่างขึ้นบน ผมเลยอยากลองทำรายการที่ไล่จากบนลงล่างดูบ้าง คือเล่าถึงคนที่ผ่านเรื่องราวชีวิตมา 60 ปี คนที่ถูกเรียกว่าไม้ใกล้ฝั่ง คนที่กำลังจะมาเป็นคนจำนวนมากในประเทศเราไม่อีกกี่ปีข้างหน้า เขาเหล่านั้นเป็นคนที่สิ้นไร้พลังจริงหรือ หรือยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้

 

 

รายการนี้รายละเอียดจะเยอะกว่า เพราะชีวิตคนกลุ่มนี้ผ่านอะไรมามาก อย่างเทปที่เพิ่งออกอากาศไป คุณตาอายุ 80 ปีอยู่กับคุณยายมา 63 ปี ไม่เคยให้ของมีค่าอะไรกับยายเลย ไม่ใช่ว่างก แต่มันไม่มีจริงๆ ทุกวันนี้ยังคงออกไปหาปลาดูแลครอบครัว ได้เงินเท่าไรให้ยายทั้งหมด ทีมงานเลยจัดแหวนทองเกลี้ยงให้พวกเขา สิ่งที่สามีภรรยาคู่นี้พูดเหมือนกันคือ ‘อย่าเพิ่งตายจากกันหนา ให้อยู่ด้วยกันนานๆ ตลอดไป’ มันเป็นความรักที่มีอยู่จริง และทำให้คนดูได้กลับมานึกถึงตัวเอง

 

วิธีการทำงานเพื่อให้ได้มาแต่ละเทป

SUPER 10 คือโรงเรียนที่ทำให้ผมและทีมงานได้เรียนรู้ถูกผิด ช่วงแรกเราใช้งบประมาณไปกับการเฟ้นหาเด็กที่จะมาออกรายการ กล้าพูดเลยว่าครั้งแรกที่ลงทุนไป 200,000 บาท ผมไม่ได้เด็กกลับมาสักคนเลย ด้วยเรื่องราวชีวิตและความสามารถที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ บวกกับโปรดักชันในการเล่าเรื่องเรายังไม่ดีมากนัก แต่พอมาเป็น SUPER 60+ เรารู้เลยว่าอยากได้ใคร คู่รักที่อยู่ด้วยกันมายืนยาว คนเล่นกีฬาเปตอง คนที่มีความสามารถมหัศจรรย์ไม่เคยเห็นมาก่อน พอรู้แล้วเราก็ไปเจาะในสถานที่ที่คิดว่าจะเจอพวกเขาเหล่านั้น รวมถึงเราจะประชุมกันในทีมอีกด้วย

 

โชคดีที่เรามีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนความฝันของแขกรับเชิญ แต่ทั้งนี้บางครั้งก็ต้องดูความเหมาะสมและโอกาสในการเป็นไปได้ เด็กบางคนอยากได้ MacBook มันก็อาจดูเป็นของฟุ่มเฟือยเกินไป แต่ถ้าเด็กอยากได้กล้องดูดาว ผมให้ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานที่เราออกแบบมาแล้ว

 

เคล็ดลับความสำเร็จ

เราทำงานหนักและคัดกรองกันมาดีก่อนเริ่ม ประสบการณ์จากการทำงานมันสอนเรา ถ้าผมย้อนกลับไปทำเทปแรกได้อีกครั้งมันจะดีกว่านี้เยอะเลย

 

หัวใจหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ เราเลือกที่จะทำงานยาก ไม่กลัวที่จะทำงานหนัก และใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาสั่งสอนตัวเอง

 

ต้องไม่ลืมสิ่งที่ทำผิดพลาด และพยายามทำสิ่งใหม่ให้ดีขึ้นเสมอ เรานึกถึงแง่ของคนดู ถ้าเรากำลังดูเด็กที่อยูในที่ห่างไกลมาก ชีวิตเขามันจะน่าเอาใจช่วยเป็นพิเศษ เพราะตัวเขามันเรียลมาก และอาจไปโดนใจคนดูเพราะเป็นมุมที่เขาเคยเจอตอนเด็ก หรือไม่ได้เห็นมานานแล้ว

 

จุดร่วมที่ทำให้รายการสำเร็จ

สำคัญมากคือเข้าใจ Insight ของคนดู ผมทำรายการเด็กมาโดยตลอด มันจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกไปโดยไม่รู้ตัว คือเราอยากสอน แต่ลืมไปว่าเขาอยากรับไหม เพราะเด็กโดนสอนจากที่โรงเรียนมาทั้งวันแล้ว เราสอน 100% อาจจะเยอะไป สอนแค่ 20-50% อาจจะดีกว่า และใช้รูปแบบการนำเสนอผ่านโทรทัศน์ ไม่ต้องดูตั้งใจมากเกินไป เหมือนเวลาทำอาหาร เราจะเสิร์ฟรสชาติที่ตัวเองชอบคนเดียวไม่ได้ เราต้องคำนึงถึงรสชาติที่คนกินชอบด้วย แต่เราสามารถเลือกส่วนผสมและวัตถุดิบได้

 

วิธีตรวจสอบ Insight คือการทำรายการไลฟ์ มันจะเห็นทันทีว่าอันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ คอมเมนต์มันจะบอกทันที จังหวะนี้คนดูเข้าใจที่เราพยายามนำเสนอ จังหวะนี้คนดูไม่เคลียร์ ทุกอย่างมันบอกหมดเลย เพราะจริงๆ การทำรายการโทรทัศน์เป็นเรื่องของรสนิยม แม้กระทั่งทีมงานทีมเดียวกันก็ยังชอบไม่เหมือนกัน แต่คนดูจะเป็นคนบอกเองว่าสิ่งที่เราคิดมันดีหรือไม่อย่างไร

 

หัวใจที่ทำให้รายการของพี่ซุปยืนระยะมาได้ 27 ปี

ก่อนที่จะมาเป็นรายการ SUPER 10 รายการของซูเปอร์จิ๋วขาดทุนมาโดยตลอด บางปีคนอื่นแย่ เราก็แย่ บางปีคนอื่นได้ เราก็ได้บ้าง ผมเปรียบการทำงานของตัวเองเหมือนการพายเรือ แค่เจอคลื่นจากเรือลำใหญ่ที่ผ่านเข้ามาเราก็แทบไม่ไหวแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้คือความบ้าคลั่ง หลงใหลในงานที่ทำ มันเป็นมากกว่างาน เราอยากทำสิ่งนี้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำไหว

ถ้าเป็นพื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัว ไม่ใช่พี่ซุปใครจะทำ ดังนั้นเราไม่ได้เอาเรื่องตัวเลขมากำหนด แต่ให้ความสำคัญกับแพสชันอันเข้มข้นในงานทุกวันนี้

 

ทีวีคือฝันของเรา แต่อีเวนต์คือฝันของลูกค้า

คนทำรายการโทรทัศน์เป็นคนที่ทำงานเบื้องหลัง ใช้ความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ในการนำเสนอเมสเสจบางอย่างไปสู่กลุ่มคน ซึ่งคล้ายกับงานด้านอีเวนต์เอเจนซี คือการสื่อสารเมสเสจบางอย่างจากลูกค้าไปถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ต่างตรงที่ทีวีคือฝันของเรา แต่อีเวนต์คือฝันของลูกค้า

 

ข้อดีของอีเวนต์คือเราจะไม่ขาดทุน เพราะบริหารงบตามลูกค้า ดังนั้นอีเวนต์จะวัดผลกันที่ KPI ดูว่าจัดงานแล้วคนมามากน้อยแค่ไหน ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจสิ่งที่งานกำลังสื่อสารไหม ยอดลูกค้าเป็นอย่างไร มันก็จะมีสูตรในการวัดผลงานอยู่

 

เป้าหมายในอนาคต

20 กว่าปีที่ผ่านมาเราก็ทำงานหนักมาโดยตลอด และผมภูมิใจที่ปีกว่ามานี้สิ่งที่เราทำเป็นที่ตอบรับกับคนมากขึ้น อยากรักษาคุณภาพของงานไปเรื่อยๆ ทำงานที่มีประโยชน์ ผู้ชมรู้สึกร่วมจริงๆ และได้ทำงานที่มีคนดู เพราะถ้าไม่มีคนรับสารที่เราตั้งใจสื่อ กำลังใจมันคงไม่ดีเท่านี้

 

เด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ บางประเทศมีทองคำ บางประเทศมีเพชร บางประเทศมีน้ำมัน แต่ทุกประเทศมีเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคน เราบอกไม่ได้เลยว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอะไร เพราะเขาจะเป็นอะไรก็ได้ทุกอย่าง ผมจึงมีความเชื่อว่า ต้องมีพื้นที่สำหรับพวกเขาในการค้นหาตัวเอง รู้จักภาคภูมิใจในตัวเอง และมีแรงบันดาลใจในชีวิต


ฟังรายการ The Secret Sauce พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X