สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องดื่มอย่างเบียร์สิงห์ น้ำดื่มสิงห์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 87 ปี ดำเนินมาถึงเจเนอเรชันที่ 4 และกำลังสู้กับภาวะดิสรัปชันเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
เคน นครินทร์ คุยกับ ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่เชื่อในการลองผิดลองถูกและเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่ารักแบรนด์ตัวเองมากเกินไป
วัฒนธรรมที่บุญรอดเทรดดิ้งปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนคือ ‘วัฒนธรรมกล้าลองผิดลองถูก’ ผู้บริหารระดับสูงต้องกล้าที่จะให้อิสระกับคนรุ่นใหม่
ภูริตให้ความสำคัญและลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) อย่างมาก ในรอบหนึ่งปีบุญรอดเทรดดิ้งมีการทดลองผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก เพราะผู้บริหารเชื่อเสมอว่า แม้ทำแล้วจะล้มเหลว ก็ขอให้ทำต่อไป ทำจนกว่าจะเจอสิ่งที่ทำแล้วสำเร็จ หากผลิตภัณฑ์ไหนไปต่อไม่ได้ ก็ต้องกล้าที่จะปล่อยไป เช่นเดียวกับคำที่ภูริตบอกกับพนักงานเสมอว่า เราทำอะไรผิดพลาด อย่าใช้ยางลบลบ แต่ให้ใช้ปากกาหรือดินสอขีดฆ่าแทน เพราะหากเราลบสิ่งที่ผิดให้หายไป เราจะจดจำความผิดพลาดนั้นไม่ได้ แต่ถ้าเราเพียงขีดฆ่า เราจะสามารถย้อนกลับมาดูรอยแผลเดิม เพื่อเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อต้องปรับตัว ภูริตโฟกัสที่เรื่องเจเนอเรชันในองค์กรเป็นอันดับแรก ทำอย่างไรให้คนที่มีวัยต่างกัน มีแนวคิดต่างกัน มองเห็นภาพเดียวกันได้ คล้ายๆ กับการถ่ายเลือดระหว่างรุ่นสู่รุ่น บุญรอดฯ ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์ และไว้ใจได้ เข้ามาในองค์กร และพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อแสดงให้คนในองค์กรเห็นว่า เราทำได้ การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากผู้นำ เราไม่ควรคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น แต่เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวัน ทุกเวลา เราต้องอยู่กับความกลัวให้ได้ เพื่อที่เราจะได้กล้าออกไปค้นหาโอกาสใหม่ๆ กล้าที่จะเรียนรู้และลองทำจนสำเร็จ
เด็กพูดก่อน ผู้ใหญ่พูดทีหลัง
ความเก่งไม่ใช่ศัตรู ความเก่งมากๆ ต่างหากคือศัตรูที่จะทำให้เราไม่กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังนั้นองค์กรที่ต้องการไปต่อจะต้องเป็นองค์กรที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พูดแสดงความคิดเห็นก่อนผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ในที่ประชุม
จากแต่ก่อนอายุของพนักงานบุญรอดเทรดดิ้งมีสูงถึงอายุ 70 กว่า ซึ่งคนวัยนี้มักเป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด และทำให้เกิดระบบอาวุโส เด็กจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อบุญรอดเทรดดิ้งทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุพนักงานบุญรอดเทรดดิ้งก็ลดลงมาอยู่ที่ 30 กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เราในฐานะผู้บริหารและผู้ใหญ่จึงควรรับฟังเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้น สนับสนุนให้เขาได้เติบโตก้าวหน้าในอนาคตด้วยการทำ Fast Track ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสามารถเติบโตในสายงานของตนได้อย่างรวดเร็ว มีการฟอร์มทีมเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นนี้ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือเขาต้องได้ลองลองผิดลองถูก และเกิดการเรียนรู้แบบธรรมชาติ เมื่อคนเราเกิดความรักในองค์กร แน่นอนว่าเขาจะอยากพัฒนาให้องค์กรเติบโตและมีแพสชันในการทำงานโดยอัตโนมัติ
สร้างพอร์ตโฟลิโอให้หลากหลายมากที่สุด
การปรับตัวของบุญรอดเทรดดิ้งคือการสร้างพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์ให้มีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพื่อสังเกตว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่มีแนวโน้มจะไปได้ไกล และเป็น New S-Curve ได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักของบุญรอดเทรดดิ้ง เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ต่างกับบางธุรกิจที่แทบจะไม่มีต้นทุน
ปัจจุบันบุญรอดเทรดดิ้งจึงปรับตัวด้วยการสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ต้องการอะไรที่แตกต่าง ต่อไปคนเราจะไม่นิยมบริโภคอะไรที่แมสแล้ว เขาจะเลือกอะไรที่คิดค้นหรือพัฒนาขึ้นมาสำหรับเขาโดยเฉพาะ ธุรกิจแอลกอฮอล์ในอนาคตอาจจะมีรสชาติที่หนักเบาแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือ ‘อย่ายึดติด’ กับสิ่งที่ทำ อย่ายึดติดว่าธุรกิจของเราจะเติบโตหรือคงอยู่ได้ตลอดไป ในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่มาแทนบุญรอดเทรดดิ้งก็ได้ อย่าพยายามไปฝืนทิศทางลม
องค์กรในโลกปัจจุบันควรมีวัฒนธรรมที่พร้อมเปลี่ยนแปลง เพราะเทรนด์โลกเปลี่ยนเร็ว การทดลองผลิตภัณฑ์จึงสำคัญ ภูริตเชื่อว่า หัวใจที่สำคัญที่สุดในการทรานส์ฟอร์มองค์กรคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สะสมไว้ในพอร์ตโฟลิโอ เพื่อพร้อมออกสู่ตลาดได้ทันที ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทบุญรอดบริวเวอรียังมีกองทุนสิงห์ เวนเจอร์ส สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมาเพื่อจับตาเทรนด์ใหม่ๆ ที่เป็น New S-Curve ของบริษัท ถือเป็นตัวอย่างของการเตรียมพร้อมก่อนการถูกดิสรัปชันได้อย่างดี
Customization
เทรนด์โลกตอนนี้ที่มาแรงมากคือการ Customization หรือการทำธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล
ธุรกิจแอลกอฮอล์จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองหรือ Personalize มากขึ้น บุญรอดเทรดดิ้งใช้ความคิดที่แตกต่างกับผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม แม้น้ำดื่มที่ขายออกไปจะเป็นแบบเดียวกัน แต่บุญรอดกลับทำการตลาดที่ไม่เหมือนกัน ใช้การประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก รวมทั้งปรับเปลี่ยนจากการใช้สื่อทางโทรทัศน์ในยุคก่อนมาโฟกัสช่องทางออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแล้ว การทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ยังส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์สามารถลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล เนื่องจากทุกคนในองค์กรร่วมมือกัน แต่ละคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และสามารถดูแลทุกส่วนในองค์กรได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะหากสินค้าดี แต่ระบบไม่ดี เครือข่ายไม่ดี ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จเช่นกัน
ฝากถึงผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับภาวะดิสรัปชัน
การประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้อยู่รอดนั้น คุณต้องมีใจรักในสิ่งที่ตัวเองทำ เมื่อคุณรักสิ่งไหน คุณจะเชื่อในสิ่งนั้น จากนั้นมองหาคนที่มองเห็นภาพเดียวกับคุณและนั่งคุยกัน เราควรมีทีมที่เก่งกันคนละด้าน เพราะเมื่อแต่ละคนโฟกัสที่การพัฒนาจุดแข็งของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้น ทีมจะสมบูรณ์แบบได้ในท้ายที่สุด
หัวใจสำคัญที่ภูริตเน้นย้ำมาโดยตลอด ไม่ว่าคุณต้องการทำธุรกิจอะไรให้สำเร็จ คุณต้องพยายามเรียนรู้กับมันให้ได้มากที่สุด เพราะการทำธุรกิจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และ ‘ไม่มีสูตรสำเร็จ’ การลองผิดลองถูกด้วยตนเองจึงเป็นครูที่ดีที่สุด
“เมื่อเราทำอะไรผิดพลาด อย่าเอายางลบลบ เพราะเราจะลืมมันทันที แต่ให้เอาปากกาขีดฆ่ามันไว้ เพื่อที่จะเก็บความผิดพลาดนั้นไว้เป็นบทเรียน และจดจำได้ทุกครั้งที่นึกย้อนกลับมา”
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editors เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์, เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music westonemusic.com