×

jobsDB กับ insight ของคนทำงานและตลาดแรงงาน ที่ตอบโจทย์คนหางาน

30.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
01.05 ผู้บริหารที่สมัครงานผ่าน jobsDB
03.20 ยุคแรกของ jobsDB
05.32 การพัฒนาตลอด 18 ปี
12.28 จุดแข็งของ jobsDB
14.59 Signature Content
19.36 กลุ่มคนหางานในปัจจุบัน
28.58 Digital Disruption
32.21 ภาพรวมตลาดแรงงาน
39.29 ตำแหน่งที่เสี่ยงตกงาน
42.14 คุณสมบัติของคนหางานที่ควรมี
49.42 ความสุขในการทำงานของคุณนพวรรณ
51.03 อะไรคือ The Secret Sauce ของ jobsDB

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ jobsDB เว็บไซต์หางานอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ใช้ insight ของคนทำงานและตลาดแรงงานมาตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและคนที่กำลังหางานได้อย่างดีเยี่ยม

 

เคน นครินทร์ คุยกับ คุณเปิ้ล-นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด

 


 

 

ผู้บริหารที่สมัครงานผ่าน jobsDB

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่ยังหางานในหนังสือพิมพ์และบริษัท Head Hunting แต่พี่เริ่มเห็นว่ามีการหางานโดยสมัครผ่านออนไลน์ เลยเปิดเข้าไปดูตำแหน่งที่ลงประกาศ ตอนนั้นเพิ่งจบปริญญาโทสาขา MBA มา อยากทำงานด้านรีเทล แต่สุดท้ายสมัครไปมากลายเป็นว่าได้งานที่ jobsDB แทน โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ jobsDB นี่เอง

 

ตอนนั้นจ๊อบส์ดีบีเพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทยได้ 3 ปี เว็บไซต์ยังเป็นพื้นที่ฟรีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการประกาศหาคนทำงาน เพราะเรายังไม่เป็นที่รู้จักและอยากสร้างความน่าเชื่อถือ เราทำควบคู่กันไประหว่างฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายขายต้องพยายามนำเสนอให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ ส่วนฝ่ายการตลาดต้องพยายามชักจูงให้คนที่กำลังหางานเข้ามาฝากเรซูเม่

 

จริงๆ ตอนนั้นเว็บไซต์หางานมีหลายเจ้า แต่ของเรามาจากต่างประเทศ ได้เปรียบตรงที่มีเว็บไซต์อยู่หลายประเทศ ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้นผู้หางานจะได้งานต่างประเทศไปด้วย

 

ยุคแรกของ jobsDB

ช่วงแรกค่อนข้างยาก เวลาโทรไปแนะนำตัวให้ผู้ประกอบการรู้จัก เขามักถามกลับว่า เว็บไซต์คืออะไร บางครั้งถึงขั้นถามว่าเปิดคอมพิวเตอร์ยังไง เมาส์ต้องไปคลิกตรงไหน

 

บริษัทแรกๆ ที่ใช้งานกับจ๊อบส์ดีบี คือบริษัทที่มีขนาดใหญ่ เพราะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็วกว่า แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทขนาดเล็กและกลางมาใช้เยอะขึ้น เพราะเขารู้ว่าเราไม่ได้หลอกลวง สามารถเชื่อถือ

การพัฒนาตลอด 18 ปี

  1. มีตำแหน่งงานที่หลากหลายมากขึ้น เราพิสูจน์ให้ตลาดได้เห็นว่า จ๊อบส์ดีบีมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการเจอคนทำงานที่มีคุณภาพ
  2. ปรับปรุงเว็บไซต์อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราสร้างโปรดักต์ขึ้นมาใหม่ เรามองจากความต้องการที่แท้จริงของคนหางาน เช่น ทำให้เว็บไซต์ใช้งานง่าย เรารู้ว่าคนเข้าเว็บไซต์มีคีย์เวิร์ดในใจอยู่แล้ว เราเลยทำช่องค้นหาให้มีขนาดใหญ่ สามารถเสิร์ชคำยอดนิยมได้เลย ทั้งชื่อตำแหน่งงานและชื่อบริษัท หรือสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออก เราก็มีลิสต์ชื่อตำแหน่งให้เขาดูเป็นทางเลือก เราทำทุกอย่างให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการทำรีเสิร์ชอย่างต่อเนื่อง
  3. เรามักดูแนวโน้มของการพัฒนาโปรดักต์ในต่างประเทศ และมาปรับปรุงให้เข้ากับการใช้งานของคนไทย อย่างที่เม็กซิโก จากเดิมคนมักย้ายถิ่นฐานไปหางานที่อเมริกา แต่หลังจากทรัมป์มีกฎตั้งกำแพง เขาต้องหางานภายในประเทศ ทางเว็บไซต์เลยตั้งเป็นสำนักงานจัดหางานให้คนเดินเข้ามากดหางานตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการตรงนั้นได้เลย เป็นทั้งเรียลไทม์และออนไลน์ในเวลาเดียวกัน  

 

จุดแข็ง

เรารู้ว่าจุดประสงค์เดียวของคนที่เข้ามาคือหางานทำ ดังนั้นเราต้องทำให้เขามั่นใจว่า jobsDB มีตำแหน่งงานที่ประกาศมากเพียงพอในการรองรับ ใส่ใจคุณภาพในแต่ละงาน และมีความหลากหลาย รวมถึงเรามีการจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการในการทำประกาศงานให้น่าสนใจ และทำให้เขาเข้าใจถึงตลาดแรงงานของประเทศไทยด้วย

 

Signature Content

เราทำคอนเทนต์ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตั้งหัวข้อที่เป็น insight ของผู้ประกอบการหรือมนุษย์เงินเดือน เช่น เรื่องค่าจ้าง ปกติคนหางานมักเปรียบเทียบรายได้ของตัวเองกับคนรู้จัก ดูว่าแต่ละปีเงินเดือนเขาขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ บางคนฟูมฟายว่าทำไมเงินเดือนตัวเองขึ้นน้อย แต่เขาลืมมองภาพรวมของอุตสาหกรรมว่ามาตรฐานเงินเดือนมันขึ้นเท่าไร เราเลยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ออกมาเพื่อให้คนเกิดความเข้าใจที่ดีมากยิ่งขึ้น

 

กลุ่มคนหางานในปัจจุบัน

เราสามารถเรียกคนหางานในยุคปัจจุบันได้ว่า ‘monitoring’ คือคนที่มีงานทำอยู่แล้ว แต่พร้อมเปลี่ยนงานเสมอถ้ามีโอกาสที่ดีกว่า ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งเอเชีย องค์กรเองก็ต้องปรับตัว ทำทุกวิถีทางเพื่อให้พนักงานอยู่นานที่สุด แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนความคิดว่า ถ้างั้นตอนที่เขายังอยู่กับเรา จะทำอย่างไรให้เขาดึงศักยภาพออกมาให้ได้เยอะที่สุด

 

“จากการรีเสิร์ชเรื่อง Happiness index ความสุขของคนทำงานอันดับแรกคือเรื่องโลเคชัน เนื่องจากปัญหารถติดของประเทศไทย ถ้าใครได้ทำงานที่เดินทางสะดวก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขามีความสุข”

 

คนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน
เราต้องเข้าใจคนแต่ละรุ่น คน Gen Y ต้องการแสดงศักยภาพของตัวเอง ถึงแม้เราจะอำนวยความสะดวกเขามากแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ สุดท้ายก็มีโอกาสที่เขาจะลาออก และสมัยนี้มีคนมากมายออกมาแสดงให้เห็นว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการทำธุรกิจส่วนตัว

 

รายได้หลัก 
รายได้ 100% ของเรามาจากองค์กรที่เข้ามาใช้พื้นที่ประกาศหางาน ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในจุดที่ดี คนอาจเข้าใจว่าช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีตำแหน่งงานอาจจะน้อยลง แต่เราอยู่ในตลาดออนไลน์ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีช่วงกราฟตกเลย

 

Digital Disruption

จ๊อบส์ดีบีพยายามมุ่งเน้นที่ core value ของตัวเอง และทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุด จึงทำให้เรายังเป็นเว็บไซต์ที่หางานที่ดีในเอเชียอยู่ ถึงแม้จะมีคู่แข่งเข้ามาบ้าง แต่ตำแหน่งงานเราก็ยังเป็นตำแหน่งที่มีคุณภาพ ตำแหน่งอยู่ในระดับคนที่จบปริญญาตรี ซึ่งเป็นกลุ่มคนเป้าหมายหลักที่ยังคงแข็งแรงอยู่ และโชคดีที่บริษัทแม่ของเราที่ออสเตรเลียมีนโยบายที่เตรียมพร้อมรับมือกับคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา

 

ภาพรวมตลาดแรงงานของประเทศไทยในสายตาของคนที่อยู่กับตลาดนี้มาตลอด 15 ปี

โครงสร้างตลาดแรงงานไทยยังมีความไม่สมดุลอยู่เยอะ นักศึกษาเรียนจบมาไม่ตรงสาย องค์กรหาคนมาทำงานได้ยาก ประกาศรับเท่าไรก็ไม่เคยเพียงพอ อย่างคนทำงานด้านไอที ในยุคที่หลายองค์กรมีเรื่องเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง บุคลากรด้านนี้เป็นที่ต้องการตัวสูง แต่คนกลับเข้าเรียนสายนี้น้อยลงทุกปี ต้องยอมรับว่าคนไทยยังยึดติดกับการได้ปริญญาบัตรมากกว่าแง่ของความรู้และโอกาสในการหางาน คนส่วนใหญ่จึงเลือกเรียนสิ่งที่ง่ายไว้ก่อน

 

รวมถึงสายงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล คนทำ SEO, SCM, UX, UI สายงานด้านบัญชี วิศวกร ถึงจะมีคนเรียนจบจำนวนมากแต่ใช่ว่าทุกคนจะมีคุณภาพ สายงานด้านการแพทย์ สายงานที่เกี่ยวข้องกับความงามและสุขภาพ สายงานของคนที่เรียนจบพวกอาชีวะศึกษา อาชีพเหล่านี้ถือว่างานยังมีเยอะกว่าคน ยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ

 

ตำแหน่งที่เสี่ยงตกงาน หรืออยู่ในช่วงภาวะถดถอย
มีหลายสายงานที่มีสิ่งอื่นมาทดแทนได้ เช่น คนทำงานด้านสื่อจากสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไปออนไลน์ คนทำงานด้านรีเทล ที่มี AI เข้ามาแทนที่ เห็นได้ว่าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแทบไม่ต้องมีพนักงานแล้ว ธนาคารก็เป็นอีกส่วนที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ สาขาอาจปิดตัวลงบ้าง ออนไลน์อาจขยายใหญ่ขึ้น แต่สิ่งที่ต้องการคือคนทำงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทำยังไงให้คนเชื่อใจว่าใช้แอปฯ แล้วจะปลอดภัย

 

คุณสมบัติของคนทำงานที่สำคัญในอนาคต

  1. สามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เป็นเรื่องที่ต้องฝึกบ่อยๆ เริ่มต้นจากปัญหาที่เราเจอทุกวัน ลองมองปัญหาในมุมมองที่หลากหลาย ทำให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
  2. มีความคิดวิพากย์ บางครั้งคนชอบทำอะไรตามกระแส แต่ขาดการไตร่ตรองว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือเปล่า ต้องกล้าคิดต่าง ไม่จำเป็นต้องคิดตาม แต่อยู่บนความเหมาะสมและถูกต้อง
  3. มีความคิดสร้างสรรค์ จำเป็นกับทุกสายอาชีพ
  4. การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เราทราบดีว่าการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ยังไงผลลัพธ์ก็ไม่มีทางดีเท่าการทำงานร่วมกัน

 

ความสุขในการทำงานของคุณนพวรรณ

เราช่วยทำให้คนเป็นล้านในประเทศไทยมีงานทำ และงานที่นี่ไม่เคยน่าเบื่อเลย เราไม่เคยต้องแก้ไขปัญหาเดิมๆ ในแต่ละวัน ทุกวันมีปัญหาใหม่ให้เราแก้ปัญหา และการได้ร่วมงานกับคนที่มีความสามารถ ทำให้เราได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมและภาษา

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริน ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X