อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ AIS เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเบอร์หนึ่งของประเทศ ที่มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านเลขหมาย เป็นบริษัทที่ทำรายได้และผลกำไรอย่างสม่ำเสมอ แถมยังเป็นผู้นำเข้าดิจิทัลคอนเทนต์ที่ฮิตมากอย่าง Netflix, HBO GO และ Viu
เคน นครินทร์ คุยกับ คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ CEO ของ AIS
4 ยุคของการสร้างแบรนด์
ยุคแรกคือยุค Product Centric ขายสินค้ากันอย่างตรงไปตรงมา ยุคที่สอง คือ Customer Centric หันมาใส่ใจเรื่องความรู้สึกและลูกค้ามากยิ่งขึ้น ยุคที่สาม เป็นยุคที่ลูกค้ามีความเป็นตัวเองสูง ทุกอย่างจึงต้อง Personalize และตอบโจทย์เฉพาะตัวบุคคล และตอนนี้กำลังพยายามขับเคลื่อนไปในยุคที่ 4 ให้เข้ากับไทยแลนด์ 4.0 เน้นความสร้างสรรค์ในสังคม มีสโลแกน Digital for Thais ทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ถึงแม้จะเป็นยุคที่ทุกอย่างรวดเร็ว มีกระแสต่างๆ เข้ามาในโซเชียลอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ายึดสิ่งนี้เป็นแกนส่วนรวมเป็นสำคัญ มันจะทำให้แบรนด์เราแข็งแรงขึ้นในระยะยาว
การส่งต่อวิชันไปยังพนักงานหลักหมื่น
- ทำการสื่อสาร นำเสนอความคิดและกลยุทธ์ไปให้ถึงคนในองค์กร
- สร้างความเข้าใจ ทุกฝ่ายต้องทำงานให้สอดคล้องกับวิชัน เช่น สโลแกนคือ Digital for Thais แต่คนคิดแพ็กเกจหรือโปรโมชันไม่ได้ออกแบบไปในทิศทางใกล้เคียง ก็ถือว่าไม่สำเร็จ ดังนั้นดีเอ็นเอพนักงานต้องสอดคล้องกับวิชันที่เราตั้งไว้
- ลงมือทำ ปีที่แล้วเราเปิด AIS D.C. ที่ ดิ เอ็มโพเรียม เป็นคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่สนใจหรือกำลังทำสตาร์ทอัพ ขยายคอลเซ็นเตอร์ไปยังจังหวัดโคราช ขยายดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังพื้นที่หลายจังหวัด และยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
AIS Academy
ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าที่ AIS สามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้ เพราะพนักงานของเรามีคุณภาพที่ดีกว่าที่อื่น แต่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การพัฒนาบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงควรดูแลพนักงานให้ดี ผมมีหลักแค่ 2 อย่าง คือ ให้ความรู้และให้โอกาส
เสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้พนักงานอยู่เสมอ อย่างพนักงานประจำสาขา แต่ก่อนแค่ยิ้มแย้มพูดจาไพเราะก็อาจจะเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แต่ในสมัยนี้มันไม่ใช่ เขาคาดหวังคำตอบของสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเขา มือถือโหลดไม่ได้ เปิดไม่ติด ก็แก้ให้เขาได้ ดังนั้น AIS Academy จึงสร้างมาเพื่อให้องค์ความรู้และเท่าทันสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
อีกสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่อยากได้คือโอกาสในการทำงาน โอกาสในการแสดงความสามารถ ตัวผมเองเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการได้รับโอกาส ผมเริ่มจากการเป็นพนักงานตอกบัตรธรรมดา ทำงานติดต่อหน่วยงานราชการ ทำไปได้สัก 5 ปี ผู้ใหญ่ให้โอกาสไปทำเกี่ยวกับการพัฒนาโปรดักต์ ทำจนได้ตามเป้า ก็เปลี่ยนมาดูเรื่องฝ่ายขายและการตลาด ซึ่งแตกต่างจากทั้งหมดที่เคยทำมา แต่เขาก็เชื่อใจ เราเลยบอกพนักงานอยู่ตลอดว่า คนที่จะทำงานได้ดีต้องกล้าลุกออกจากคอมฟอร์ตโซนและโยกย้ายตัวเองไปทำสิ่งใหม่ๆ
Mobile Money
เราเป็นรายแรกๆ ที่ทำเรื่องพวกนี้ ผมเป็นคนสร้าง mPay เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ร่วมกับ NTT DOCOMO ของประเทศญี่ปุ่น แต่มันยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไร เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งตัวสมาร์ทโฟนเองและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ในปีนี้ DNA (Device / Network / Application) พร้อมแล้ว เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากประเทศจีน ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้จริงๆ เราก็มีความตั้งใจจะทำเช่นนั้น
วิธีการรับมือกับ Digital Disruption
ทุกองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ ผมอยากให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องเจอเรื่องนี้ปรับมุมมอง ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา ให้คิดว่ามันกำลังทำลายล้างสิ่งเดิมที่ล้าสมัยและต้นทุนแพง และกำลังสร้างโอกาสในการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีใหม่ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้นคุณต้องรู้จักปรับตัวและใช้มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดประโยชน์
สิ่งที่เราเลือกทำคือ Co-competitive การร่วมงานกันระหว่างองค์กรอย่าง AIS กับ LINE ออกโปรดักต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่สร้างสรรค์ บางครั้งเราอาจแข่งขันกัน แต่บางครั้งเราก็ร่วมงานกันได้เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
ผู้บริหารที่เชื่อใน Ecosystem
ผมให้ความสำคัญกับการพาร์ตเนอร์กับองค์กรที่มีความสามารถ ในแต่ละปี ผมต้องสร้างรายได้กว่าแสนล้านบาท สิ่งนี้ทำให้ผมพร้อมทำทุกอย่าง เช่น ถ้าผมอยากสร้างมีเดีย ผมมีเงินพันล้านก็สามารถลงมือทำได้ แต่ผมจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะผมไม่เชื่อเรื่องการเป็นเจ้าพ่อคนเดียวในตลาด สิ่งที่ผมทำคือการมองหามีเดียที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นอย่างแท้จริงและเข้าไปสนับสนุนเขา เพื่อให้เกิดระบบนิเวศแห่งโลกสื่อสารอย่างสมบูรณ์
ความเปลี่ยนแปลงของ AIS
ผมพยายามสร้างองค์กรให้กระฉับกระเฉงกว่าที่เคย องค์กรเราแข็งแรงและประสบความสำเร็จ สิ่งนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะพนักงานหลายคนอาจติดกับดักความสำเร็จ ทำให้ไม่ได้พัฒนาตัวเองต่อเท่าที่ควร
สิ่งสำคัญในปีนี้คือการ transform คนให้เท่าทันโลกดิจิทัล องค์กรเรามีพนักงานเพียง 2% ที่อยู่ในยุค Baby Boomer ที่เหลืออีก 98% เป็นคนรุ่น Gen X และ Gen Y แต่วัฒนธรรมองค์กรในตอนนี้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มน้อยอยู่ ผมเลยมีความตั้งใจสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่จะเข้ามาตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่มากขึ้น
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบฉบับของคุณสมชัย
No room policy เมื่อก่อนคนที่มีตำแหน่งระดับสูงจะมีห้องของตัวเอง แต่ปัจจุบันเราออกกฎให้พวกเขาเลิกใช้ห้องพวกนั้น และยกให้พนักงานใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความใกล้ชิดมากขึ้น
No meeting day จากที่พนักงานต้องติดประชุมกันแทบทุกวัน เราเลยเซตให้ทุกบ่ายวันพฤหัสบดีเป็นวันงดประชุม และเปิดพื้นที่เป็น Innovation Center ให้ทุกคนมาร่วมกันสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
Free food day จัดวันให้พนักงานกินอาหารฟรี จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้เพื่อให้หัวหน้ามีโอกาสเจอลูกน้อง ได้พูดคุยถามไถ่
นอกจากนี้ผมยังตั้งใจละลดเลเยอร์ของผู้บริหารที่แต่ก่อนมีหลายขั้นหลายตำแหน่ง ให้เหลือเพียงเลเยอร์เดียวคือตำแหน่งที่เรียกว่า Head of Function ไม่ว่าคุณทำตำแหน่งไหนมาก่อน คุณมีสิทธิ์ทำตำแหน่งนี้ได้ถ้าเจ๋งมากพอ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะมันเป็นหน้าเป็นตาของคนที่เคยมีตำแหน่งสูงมาก่อน แต่ผมเชื่อว่าตัวเองกำลังมาถูกทาง เพราะองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศเขาก็ทำเช่นเดียวกันในตอนนี้ ถือเป็นความจำเป็นที่เราต้องปรับตัว
หน้าที่ผู้บริหารที่ดี
2 สิ่งที่ผมต้องทำคือ หาเงินเข้าองค์กรให้รายได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และพัฒนาลูกน้องเพื่อให้ขึ้นมาแทนที่ผมให้เร็วที่สุด อาจเป็นสิ่งที่ฟังดูแปลก หรือเป็นความคิดที่แตกต่างกับผู้บริหารหลายองค์กร แต่สำหรับผม การดูแลคนให้เติบโตถือเป็นสิ่งสำคัญ
ย้อนกลับเรื่องประวัติของคุณสมชัย ที่เติบโตมาจากการเป็นพนักงานตอกบัตร จนได้นั่งตำแหน่งซีอีโอ
เอไอเอสมีซีอีโอมาทั้งหมด 5 คน คนอื่นอาจจะเริ่มจากตำแหน่งที่ใหญ่แล้ว แต่ผมเริ่มมาจากพนักงานตอกบัตรธรรมดาเลย
เดี๋ยวนี้คนที่อยากขึ้นตำแหน่งในองค์กรใหญ่อาจรู้สึกว่ารอไม่ไหว กว่าจะได้ขึ้นต้องใช้เวลานาน หลายคนเลยชอบทำงานเร็วๆ และย้ายงานบ่อยๆ แต่ผมมักพูดเสมอว่า เส้นทางของมืออาชีพไม่มีทางลัด เวลายังมีอีกมากมายให้เราค่อยๆ เติบโต ประสบความสำเร็จเร็วแล้วจะไปไหนต่อ การที่ผมได้ขึ้นตำแหน่งตอนอายุเท่านี้ สิ่งที่สะสมมามันให้อะไรมากกว่าเรื่องเงิน ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมรู้จักผู้ใหญ่ระดับประเทศมากมาย เพราะผมเริ่มมาจากทำงานติดต่อกับราชการ องค์กรทำให้ผมได้เจอรัฐมนตรีหลายท่าน สุดท้ายผมอยากให้คนวัดความสำเร็จด้านอื่นๆ มากกว่าแค่เรื่องเงิน
กุญแจแห่งความสำเร็จของคุณสมชัย
- ความขยัน ผมเป็นคนทำงานหนัก และผมเชื่อว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่ประสบความสำเร็จก็เป็นคนขยันเช่นกัน
- ความซื่อสัตย์ ผมได้เลื่อนขั้นมาจนถึงวันนี้เพราะเจ้านายไว้ใจ คนเก่งหาไม่ยาก แต่คนดีหายาก ดังนั้นคุณต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เราเป็นคนที่ดีจริงและซื่อสัตย์ต่อองค์กร
- ความจริงใจ เราต้องยุติธรรมกับทุกคน ทั้งคนในองค์กรและคนนอกองค์กร
เป้าหมายในอนาคต
ผมมีความตั้งใจว่าจะดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 3 ปี และสร้างคนใหม่ขึ้นมาแทน ลดตำแหน่งตัวเองลงไปเป็นที่ปรึกษา แต่ปัจจุบันยังทำไม่ได้ เพราะเรายังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้า แต่ถ้าวันหนึ่งพร้อม ผมจะถอยและให้โอกาสลูกน้องแน่นอน
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guest สมชัย เลิศสุทธิวงศ์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริน ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com