×

ถอดรหัส Innovation-Driven Company จาก MSD ผู้ค้นคว้านวัตกรรมยาชั้นนำของโลก

03.02.2020
  • LOADING...

เมื่อธุรกิจน้อยใหญ่ต่างมุ่งขับเคลื่อนโลกใบนี้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่บ่มเพาะ Innovation Mindset ให้แก่ทุกคนได้จริง 

 

เคน นครินทร์ คุยกับ เควิน ปีเตอร์ Managing Director แห่งบริษัท เอ็มเอสดี  (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับ Top 5 ของโลก ว่าพวกเขาทำงานท่ามกลางความล้มเหลวอย่างไร ให้ยังคงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาไม่มีหยุด

 


 

 

บริษัทระดับโลกหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน มักจะมีกุญแจสำคัญในมือที่ชื่อว่า นวัตกรรม เก็บไว้อยู่ข้างกาย ซึ่งตามมาด้วยการลงทุนมหาศาลไปกับการวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่สร้างรายได้อย่างสมเหตุสมผล แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ลงทุนไปแล้วคุ้มค่า 

 

คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการค้นคว้าวิจัยลงทุนกับการทำ Research And Development มากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง อย่างอุตสาหกรรมยา ซึ่งจะต้องทุ่มเทเวลา เงินทอง และบุคลากรร่วมกันค้นคว้า ทดลอง และวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่านับสิบปี กว่าจะได้ยาตัวหนึ่งออกมา The Secret Sauce จึงชวน เควิน ปีเตอร์ Managing Director แห่งบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จํากัด เป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับ Top 5 ของโลก ที่มีอายุกว่า 130 ปี ในสหรัฐอเมริกาจะรู้จักกันดีในชื่อของ Merck ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจะเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งหรือวัคซีน เป็นผู้นำในด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกับบำบัด (Immuno-oncology) ด้วย

 

MSD มองว่า ตัวเองเป็น R&D Focus Company ที่ต้องการที่จะให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนามากที่สุด ขณะที่บริษัทยาอื่นๆ อาจจะมุ่งไปที่ยาราคาถูก (Generic Medicine) ซึ่งทุกเจ้าสามารถมีเหมือนกันได้ เพราะหมดสิทธิบัตรยาไปแล้ว หรือมุ่งซื้อกิจการอื่นๆ เพื่อมาทำรายได้ให้บริษัท แต่ MSD เชื่อว่า จะต้องพัฒนา คิดค้น และวิจัยยา เพื่อที่จะมาช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกให้ได้ จอร์จ ดับเบิลยู. เมิร์ก ผู้ก่อตั้ง เน้นย้ำว่า เขาให้ความสำคัญแก่ P ซึ่งไม่ใช่แค่ Profit แต่คือ People ด้วย จึงให้ความสำคัญกับ R&D ที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น 

 

 

แม้ในอุตสาหกรรมยาจะรู้กันดีว่า 90% ของการทดลอง คือความล้มเหลว จน เควิน ปีเตอร์ ใช้คำว่า เป็นโรงงานผลิตความล้มเหลว (Industry of  Failure) แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา MSD ทุ่มเงินกับการวิจัยและพัฒนายาไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

นี่คือวิธีคิด วิธีการทำงานของพวกเขาที่สร้างรายได้ สร้างนวัตกรรมออกมาช่วยชีวิตผู้คนได้อีกนับไม่ถ้วนตลอดมา

 

Passion & Commitment  

เมื่อต้องพบเจอความล้มเหลวถึง 90% สิ่งที่จะทำให้ไม่ล้มเลิกความตั้งใจก็คือ Passion ทั้งซีอีโอ นักวิจัย นักการตลาด Stakeholder หรือ Shareholder ต่างก็ต้องมี Passion ความหลงใหล ความบ้า ความตั้งใจจริงจัง ที่จะช่วยชีวิตคนมากขึ้นให้ได้ แต่ Passion จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าปราศจาก Commitment ซึ่งก็คือ ความรับผิดชอบที่ทำให้เกิดผลงานนั้นได้จริง สองสิ่งนี้จึงต้องมาคู่กัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เมื่อต้องพบเจอกับความล้มเหลว ก็พร้อมที่จะเดินต่อไปได้ 

 

ฟังมากกว่าพูด 

การฟังจะทำให้เราได้รับไอเดียใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น การจะสร้างนวัตกรรมได้ ต้องเปิดรับความคิดเห็นต่างๆ ที่หลากหลาย นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับ MSD มักจะได้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือยาใหม่ๆ จากการที่ฟังไอเดียคนอื่น หรือระหว่างโยนไอเดียกันไปมา เพราะฉะนั้นถ้าองค์กรใดอยากจะมีวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม จะต้องสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนเปิดใจ สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และสร้างโอกาสให้ทุกๆ คนได้ฟังซึ่งกันและกัน 

 

Long Term Goal, Short Term Trade Off 

ในเมื่อระหว่างทางเต็มไปด้วยความล้มเหลว ไม่รู้ว่าเรามาถูกทางจริงหรือเปล่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ เป้าหมาย (Goal) และพันธกิจ (Mission) ที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Sidetrack ทำให้ไขว้เขวไประหว่างทาง เมื่อทำไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็อาจจะมองแต่เป้าหมายระยะสั้น จนเลือกไปทำอะไรที่น่าจะสร้างผลกำไรในช่วงเวลานั้นได้ก่อน แต่ทว่า สิ่งนั้นกลับไม่ใช่รายได้ที่แท้จริงของบริษัทในระยะยาว แถมยังไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวที่อยากจะช่วยเหลือผู้ป่วย จึงจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Short Term Trade Off ก็คือ กล้าแลกกับเป้าหมายระยะสั้นที่หอมหวานกว่า แล้วมุ่งไปหาเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน  

 

 

Patient Centric 

ธุรกิจทั่วไปใช้คำว่า ‘Customer Centric’ ในวงการยามีคำว่า ‘Patient Centric’ ให้คนไข้เป็นศูนย์กลาง เพราะแต่ก่อนจะมีคำว่า ‘Doctor Knows Best’ คุณหมอรู้ดีที่สุด เจ็บป่วยขึ้นมาไปหาหมอ ได้ใบสั่งยามาแล้วจบ นั่นคือวิธีคิดแบบเก่า แต่ปัจจุบันนี้ Patient Centric จะสนใจไปถึงว่า คุณเข้าถึงยาแบบไหน บริโภคยานั้นอย่างไร มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยาหรือโรคนั้นอย่างไร ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับคนไข้ทั้งหมด วิธีคิดต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปทันที การวัดผลที่เปลี่ยนไป จะนำมาซึ่งการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไป 

 

สิ่งที่ MSD พยายามทำมากที่สุดก็คือ พยายาม Educate Processional ทำให้คุณหมอหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเข้าใจหัวจิตหัวใจผู้ป่วยมากขึ้น สร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เจาะลึกพฤติกรรมต่างๆ มากขึ้น เหมือนกับที่หลายคนเคยกล่าวว่า “หมอไม่ได้รักษาแค่โรค แต่คุณกำลังรักษามนุษย์คนหนึ่งอยู่” 

 

อย่าเสี่ยงลงทุนแค่อย่างเดียว 

เรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณในการวิจัยและพัฒนากับผลกำไรที่จะได้มาในระยะยาวนั้น เควิน ปีเตอร์ มองว่า ต้องพยายามสร้าง Very Board Portfolio ทำผลงานที่กว้างมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน 

 

บริษัทยาต้องมียาหลายๆ ตัว ผลิตภัณฑ์หลายๆ แบบ วิธีการรักษามากมาย วัคซีนหลายชนิดที่พร้อมที่จะออกมาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้บริษัทสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนการลงทุนในหุ้นที่ตัวใดตัวหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็ยังมีตัวอื่นๆ รองรับอยู่ แต่ตัวใดจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศิลปะในการบริหารจัดการของแต่ละคน 

 

Find Unmet Need 

เมื่อจะลงทุนกับการสร้างนวัตกรรมสักอย่าง คุณจะต้องนึกถึงความต้องการที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน (Unmet Need) อยู่เสมอว่า ปลายทางถ้าสิ่งนั้นมันสำเร็จมันจะเป็นอย่างไร เควิน ปีเตอร์ ใช้คำว่า How big is unmet need? หมายถึงว่า เราต้องเห็นภาพ มองตลาดให้ออก และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ไม่ใช่ทำนวัตกรรมอะไรก็ได้ ไม่ใช่ทดลองอะไรก็ได้ แต่ปลายทางต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนด้วย

 

ตัวอย่างเช่น ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์มะเร็งในประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก มีการป้องกัน ให้ความรู้เรื่องวัคซีน เรื่องอาหารการกิน การตรวจพบเซลล์มะเร็ง ทว่า ในแต่ละปียังมีคนไทยประมาณ 1 แสนคน เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอยู่ ยังมีความต้องการเกี่ยวกับการรักษารูปแบบใหม่ๆ อย่างการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบที่ MSD กำลังพัฒนาอยู่ นั่นหมายความว่า รายได้ (Financial Benefit) ก็น่าจะตอบโจทย์เช่นเดียวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (Human Benefit) 

 

 

นวัตกรรมต้องมาจากการทำความเข้าใจตลาดและโอกาสทางธุรกิจ ความต้องการที่ยังไม่เคยมีใครทำได้ (Unmet Need) มันใหญ่แค่ไหน คุณต้องหาให้เจอ เพราะจะทำให้คุณมีโอกาสสร้างรายได้ไปพร้อมกับการสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกด้วย 

 

ความหลากหลายทางความคิด 

ความหลากหลายของพื้นเพชีวิต วิธีคิด ทัศนคติ ที่มีต่อความล้มเหลว จะช่วยให้ทีมที่ต้องพบเจอความล้มเหลวอยู่บ่อยครั้งประคับประคองกันไปได้ ไม่ล้มไปพร้อมกันทั้งหมด เพราะแต่ละคนล้มแล้วลุกขึ้นมาไม่พร้อมกัน เวลามีสักคนล้มลงไป มีคนอื่นๆ คอยรับไว้ ก็จะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี ความหลากหลายถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญมาก ในมุมของ เควิน ปีเตอร์ มองว่า ความหลากหลายที่เชื่อมต่อเข้าหากันได้ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมที่นวัตกรรมต่างๆ จะเติบโตได้ดี 

 

นี่ก็คือวิธีคิดสร้างนวัตกรรมในแบบฉบับบริษัทยา MSD ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ก็สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้เช่นกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X