×

โคบี ไบรอันต์ กับ Mamba Mentality ปรัชญาแห่งชัยชนะของตำนานบาสเกตบอล

28.01.2020
  • LOADING...

ช่วงเช้าของวันที่ 26 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น โลกต่างเศร้าโศกกับการจากไปอย่างกะทันหันของ โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์โดยสารตก

 

ไบรอันต์ถือเป็นหนึ่งในตำนานนักบาสเกตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของสหรัฐอเมริกาและเอ็นบีเอ โดยเป็นซูเปอร์สตาร์ของทีมลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ยาวนานถึง 20 ปี มีส่วนสำคัญในการพาทีมคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 5 สมัย และติดทีมออลสตาร์ถึง 18 ครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจอำลาวงการไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

 

นอกเหนือจากความสำเร็จด้านอาชีพแล้ว ไบรอันต์ถือเป็นสุดยอดของแรงบันดาลใจแห่งยุค เขามีหลักคิดและปรัชญาอันน่าทึ่ง ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดเป็นหนังสือชื่อว่า The Mamba Mentality: How I Play 

 

The Secret Sauce ขอไว้อาลัยกับการจากไปของสุดยอดตำนานบาสเกตบอล ด้วยการเรียนรู้ปรัชญาแห่งชัยชนะที่เขาได้ทิ้งไว้ให้กับเรา

 


 

Mamba Mentality คืออะไร

ไบรอันต์เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันคือปรัชญาที่เขากลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตลอด 20 ปีในการเป็นนักบาสเกตบอล “มันคือความสามารถในการพยายามเป็นคนที่ดีที่สุดในแบบของตัวเอง (The best version of yourself)” หรือความพยายามในการเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน

 

ไบรอันต์ใช้ปรัชญานี้กับตัวเองและส่งต่อให้กับคนรอบข้างหรือทีมงานของเขาเสมอมา เขาชอบท้าทาย กดดัน และทำให้คนรู้สึกอยู่เฉยไม่ได้ เพื่อให้คนเหล่านั้นพัฒนาตัวเอง “ผมชอบท้าทายให้ทุกคนเป็นคนที่ดีที่สุดในแบบของพวกเขาเอง”

 

ตอนที่ไบรอันต์ทำแอนิเมชันของตัวเอง หน้าที่ของเขาคือการเดินไปคุยกับทีมงานว่า ถ้างานง่ายเราจะไม่ทำ เพราะมันง่าย เราต้องท้าทายตัวเองเพื่อกลายร่างเป็นคนที่เก่งกว่าเดิมให้ได้

 

สื่อกีฬาบางเจ้านิยาม Mamba Mentality ว่าคือ ‘การรวมพลังเพื่อพุ่งชนเป้าหมาย’ (Singular focus to attack your goals.) 

 

ไบรอันต์ไม่ได้กระตุ้นแค่ทีมตัวเอง บางครั้งเขาชอบกระตุ้นคู่แข่งด้วย ครั้งหนึ่งที่เขาปะทะกับ เลอบรอน เจมส์ รุ่นน้องที่เก่งกาจไม่แพ้กัน ปรากฏว่าเจมส์ทำผลงานได้ไม่ดีในครึ่งแรก ไบรอันต์จึงเดินไปหาที่ห้องล็อกเกอร์แล้วบอกว่า “พวกเราทำบ้าอะไรกันอยู่!” พอครึ่งหลังเจมส์ก็ลงแข่งด้วยมายด์เซตที่ไม่เหมือนเดิม และสู้กับไบรอันต์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

 

Mamba Mentality ประกอบไปด้วย 5 ข้อ 

  1. Passion ความรัก ความหลงใหลจนไม่ลืมหูลืมตา 
  2. Obsessiveness ความใส่ใจในทุกรายละเอียด ทุ่มทั้งหัวใจให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  3. Relentlessness ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ใช้ความพ่ายแพ้เป็นพลังในการสู้ต่อ
  4. Resilience ความยืดหยุ่นต่อความเจ็บปวด ผ่อนหนักให้เป็นเบา ก้าวทีละก้าวเพื่อพุ่งชนเป้าหมาย 
  5. Fearlessness ไม่กลัว กล้าท้าชนกับตัวเอง

 

Passion – เขาลองเล่นกีฬามาหลากหลาย แต่ก็ไม่มีกีฬาชนิดใดที่ทำให้เขาสงบหรือหนีออกจากสิ่งนี้ได้ ถึงขั้นทำหนังแอนิเมชันขนาดสั้นเพื่อบอกรักบาสเกตบอลชื่อ Dear Basketball ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ด้วย 

 

เขาฝันไกล กล้าอุทิศทุกอย่าง เพื่อเป็น วิล สมิธ ของวงการเอ็นบีเอ เป็นตำนานวงการบาสเกตบอล และได้แชมป์ ถึงขั้นที่เขาเคยบอกว่าบางครั้งคุณต้องยอมแลกหรือเสียสละอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเวลากับครอบครัวหรือเวลากับเพื่อน

 

 

Obsessive ให้ความสำคัญ ใส่ใจรายละเอียดในสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะนั่นคืองานของเขา คือการที่จะได้เป็นนักบาสเกตบอลที่ดีที่สุด ถ้าคุณตื่นมาตอนสิบโมง เริ่มฝึกซ้อมตอนเที่ยงถึงบ่ายสอง แล้วพัก กลับมาซ้อมอีกทีตอนหกโมงถึงสองทุ่ม เท่ากับคุณจะซ้อมได้แค่สองเซกชัน แต่ถ้าคุณตื่นตอนตีสาม เริ่มซ้อมตีสี่ถึงหกโมงเช้า กลับบ้านมาพักผ่อน ซ้อมต่อเก้าโมงถึงสิบเอ็ดโมง และบ่ายสองถึงสี่โมง กลับไปอีกตอนหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม ก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่เขาได้ฝึกซ้อมนั้นมีมากแค่ไหน การตื่นก่อนและได้เริ่มทำอะไรก่อนคนอื่นไม่ว่าจะสายงานใด คุณจะเติบโตเร็วและไม่มีใครสามารถไล่ตามคุณได้ เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย ที่จะมาซ้อมก่อนเข้าเรียนกับโค้ชตอนตีห้า หรือบางทีก็ซ้อมกับภารโรง ถ้าคนอื่นตื่นมาซ้อมตอนหกโมง เขาจะตื่นตีสี่ ถ้าคนอื่นตื่นมาซ้อมตอนตีสี่ เขาจะตื่นตีสอง

 

ไบรอันต์ยังเคยเล่าว่าตอนที่ย้ายมาเลเกอร์สใหม่ๆ เขาไล่คุยกับตำนานทุกคนว่าคิดอะไรตอนเล่น ทำอย่างไรจึงเก่ง ตอนเจอสถานการณ์แบบนั้นแบบนี้ในสนามต้องทำอย่างไร เขาคุยกับทุกคนเพื่อเรียนรู้ อีกบุคคลที่เขาขอความรู้จนกลายเป็นเหมือนพี่ชายที่สนิทกันมากคือ ไมเคิล จอร์แดน 

 

Relentlessness ตอนที่ไบรอันต์อายุ 11 ปี เขาทำไม่ได้สักแต้มเดียวตอนที่เล่นในช่วงซัมเมอร์ เขารู้สึกอับอายมาก เพราะทั้งพ่อและลุงของเขาเป็นถึง Philadelphia Basketball Legend แต่นั่นก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นสู้ เขาปฏิญาณกับตัวเองเลยว่าเขาต้องเก่งขึ้นให้ได้ 

 

เขาใช้วิธีการนั่งวิเคราะห์จุดแข็งและจุดด้อยของตัวเองเป็นส่วนๆ แล้วแก้ไขทีละอย่าง เช่น 6 เดือนนี้ต้องวิ่งเร็วขึ้น 6 เดือนข้างหน้าต้องชู้ตแม่นขึ้น คิดเป็นเมนูอาหารว่าควรเสริมความแข็งแกร่งตรงไหน ผลลัพธ์คือเขาคือคนที่เก่งที่สุดในสนามตอนอายุ 14 ปี 

 

อีกตัวอย่างการพ่ายแพ้ในแมตช์สำคัญให้กับทีมเซลติกในปี 2008 ในช่วงครบรอบ 17 ปีที่เขาได้อยู่ในทีม เขาเจ็บปวดมากในคืนนั้น แต่เช้าวันต่อมาเขาก็คิดได้ว่าจะต้องแก้ไขและทำให้มันดีขึ้นให้ได้ เช่น ที่เขาแพ้เพราะอาจไม่เหนียวพอ แล้วเป็นหน้าที่ของใครที่จะทำให้ทีมเหนียวและแข็งแกร่งขึ้น ก็คือตัวเขาเอง และเขาจะต้องคิดให้ได้ว่าเป็นเขาที่ต้องนำพาทีมไปในทางที่ดีขึ้น และมั่นใจได้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ทีมจะต้องแข็งแกร่งพอและพร้อมที่จะสู้กับความท้าทายนั้นอีกครั้ง ในปี 2010 เขาก็ทำมันได้สำเร็จ และนั่นคือ Relentlessness (ที่เมื่อล้มแล้วจะลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป)

 

Resilience – เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย เขารู้สึกว่าเป็นการบาดเจ็บที่เลวร้ายที่สุดของนักกีฬา โดยพูดเปรียบเทียบไว้ว่า “It’s like a kiss of death.” เมื่อเอ็นร้อยหวายของเขาอักเสบ เขาเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงจนถึงขั้นแอบร้องไห้ในห้องล็อกเกอร์ เพราะคิดถึงการสิ้นสุดอาชีพนักกีฬาของตัวเอง

 

ในช่วงนั้นเขาทุ่มเทหนักมากสำหรับรอบเพลย์ออฟ กลับบ้านมาก็รู้สึกโกรธ เสียใจ และรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ก็บอกกับตัวเองว่าเขาจะนั่งอยู่ที่นี่เฉยๆ แล้วยอมแพ้ไม่ได้ เขาจึงเริ่มคิดถึงวิธีการ สุดท้ายเขาเลือกโฟกัสที่การพักผ่อนก่อน แล้วเรื่องของการผ่าตัดค่อยตามมาเป็นลำดับ 

 

Fearlessness – ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นจากตัวเราเอง พวกเราทุกคนมีความฝัน และมันน่ากลัวในบางครั้ง การยอมรับความฝันของตัวเองและพูดออกไปว่าฉันต้องการมัน มันน่ากลัวตรงที่เมื่อคุณทุ่มเทกายใจไปแล้วมันล้มเหลว คุณจะรู้สึกแย่กับตัวเอง  

 

เขาเล่าว่าความสำเร็จนั้นมาแล้วก็ไป ในสมัยก่อนเขาคิดว่าตัวเองจะต้องดีที่สุด เก่งที่สุด จะต้องเป็นแชมป์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับรู้สึกว่าการที่ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้คนรู้ว่าแพสชันของเขาคืออะไร ได้ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดในแบบของตัวเองออกมาคือความสำเร็จที่ไม่มีสิ้นสุด

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X