×

น้ำปลาแท้ตราปลาหมึก ยอดส่งออกอันดับ 1 ปรับตัวรับยุค Disruption

14.11.2019
  • LOADING...

อุตสาหกรรมน้ำปลาก็โดน Disrupt ได้! น้ำปลาแท้ตราปลาหมึก กับการรีแบรนด์ครั้งแรกในรอบ 75 ปี 

 

ธุรกิจที่ทำมาอย่างยาวนาน กำลังจะส่งต่อไปให้เจเนอเรชันที่ 2 และ 3 จะต้องปรับตัวกับโลกสมัยใหม่อย่างไร ผ่านความท้าทายอะไรบ้าง 

 

กลยุทธ์การส่งออกให้เป็นอันดับ 1 และการรีแบรนด์ในยุคที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

เคน นครินทร์ คุยกับ เอ-ธิติญา นิธิปิติกาญจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของ บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด

 



ในฐานะเจเนอเรชันที่ 3 อยากให้เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตมา เห็นธุรกิจของคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ เรารู้สึกอย่างไร
จริงๆ มันเริ่มต้นจากคุณปู่ ตอนที่อากงมาจากเมืองจีนก็มาอาศัยอยู่กับญาติ ครอบครัวของอากงทำน้ำปลาอยู่แล้ว ทำมายาวนานแล้ว พออากงโตขึ้น ตอนนั้นอากงก็ไปช่วยธุรกิจของญาติ ทำน้ำปลา พอโตขึ้นญาติพี่น้องก็เยอะขึ้นมากๆ เขาก็เลยออกมาทำเอง โดยไปซื้อที่เล็กๆ อยู่ตรงสมุทรสาคร ทำโรงงานเล็กๆ และมีออฟฟิศเล็กๆ อยู่ตรงตลาดน้อย จุดที่เราอยู่ปัจจุบันนี้ สมัยก่อนยังไม่มีรถ ไม่มีถนน การขนส่งน้ำปลาก็จะเป็นทางเรือ สมัยก่อนจะไม่ได้เป็นขวดอย่างที่เราเห็นปัจจุบัน จะเป็นเหมือนไห หมักในไห และขายเป็นไหๆ มีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ขนส่งทางเรือมาขาย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2



ทำไมถึงใช้ชื่อว่าปลาหมึก
ตอนเด็กๆ คิดว่ามันทำมาจากปลาหมึก เชื่อว่าหลายคนก็คิดว่ามันทำมาจากปลาหมึก แต่จริงๆ ไม่ใช่ เคยได้ยินพ่อเล่าให้ฟังว่ามันจำง่าย สัญลักษณ์มันเหมือนปลาหมึกแห้ง แล้วยุคนั้นปลาหมึกแห้งเป็นอะไรที่มีราคา เหมือนเป็นหอยนางรมปัจจุบัน พรีเมียมนิดหนึ่ง และอยากให้คนจำง่าย



สำหรับคนที่อยู่ข้างในเอง ที่เห็นการเติบโตมาตลอด คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้น้ำปลาแท้ตราปลาหมึกยืนอยู่ตรงนี้ได้ ประสบความสำเร็จ และคนไทยรู้จักเกือบทุกคน อะไรคือแก่นของความสำเร็จตรงนี้
ต้องบอกว่าคุณภาพ เพราะว่าเราส่งออกเป็นหลัก เป็นน้ำปลาที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 การที่เราจะส่งออกแล้วต่างชาติยอมรับ มันจะต้องมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และต้องมีความสม่ำเสมอ เพราะว่าการที่เราส่งไปเมืองนอกแล้วถ้าเกิดถูก recall ขึ้นมา น้ำปลามีปัญหา น้ำปลาเน่า จะเป็นเรื่องใหญ่มาก แบรนด์ที่เราสร้างมาตลอด 70 กว่าปีมันแทบจะพัง เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้มากๆ



คุณภาพน้ำปลาวัดกันอย่างไร
เมื่อก่อนเราคิดว่ามันไม่ยาก ทำน้ำปลา แต่พอมาทำจริงๆ มันก็ไม่ได้ง่ายเลย เริ่มจากที่เราเอาปลากะตักมาคลุกเคล้าเกลือ แล้วนำมาหมักในบ่อ เราต้องหมักนานถึง 18 เดือน เพื่อที่จะให้ได้น้ำปลาที่เป็นน้ำหัวออกมา มีค่าโปรตีนสูง มีกลิ่นรสที่ได้มาตรฐาน มันเหมือนการหมักไวน์ ที่มันจะต้องมีระยะเวลาเพาะบ่มของมัน



แต่ละเจ้าต่างกันอย่างไร ทำไมน้ำปลาตราปลาหมึกถึงเป็นแบรนด์ Top of Mind คนไทย
ถ้าเกิดให้มานั่งชิม คนอาจจะแยกไม่ออก ปกติที่รัฐบาลกำหนดจะดูที่ค่าโปรตีน ถ้ายิ่งค่าโปรตีนสูงแปลว่าอันนี้เป็นเกรดที่สูง อันนี้คือหลัก แต่ถ้ามองจากคุณสมบัติภายนอก ต้องได้สีน้ำตาลอมแดง ใส ไม่มีตะกอน ไม่ใช่สีแบบจางๆ เหมือนชาจางๆ เพราะว่าเราหมักนานถึง 18 เดือน



ถ้าพูดถึงตราปลาหมึก คนเขาจะนึกถึงความเข้มข้นของมัน ความถึงรสของมัน คือเหยาะกับอะไรกลิ่นมันจะขึ้นมา แล้วลูกค้าที่เป็นลูกค้าเหนียวแน่นของเราจะเป็นชาววัง หรือคนที่ทำอาหารจริงจัง



ถ้าพูดในแง่ของกระบวนการผลิต อะไรที่นำมาซึ่งคุณภาพที่ดีแบบนั้นได้ ต้องผ่านความเข้มงวดขนาดไหน ต้องเรียนรู้อะไรบ้างกว่าที่จะมาถึงตรงนี้ได้
จุดสำคัญคือคุณภาพของปลา เพราะถ้าเราได้คุณภาพปลาที่ไม่ดี หรือเป็นปลาชนิดอื่นๆ ผสม มีปลาตัวใหญ่ผสมมาเยอะ จะทำให้ได้สีและกลิ่นรสที่ไม่ใช่ และคุณภาพปลาถ้าไม่สด ออกมาค่าฮีสตามีนจะสูง คุณภาพปลาไม่ได้ น้ำที่ออกมาค่าโปรตีนไม่ได้ ในขณะที่เราลงทุนซื้อปลา ต้นทุนในบ่อเท่ากัน แต่ผลที่ได้ออกมา ค่าโปรตีน สมมติ 30 กลับได้แค่ 20 มันก็เอาไปผสมต่อไม่ได้



จริงๆ มีคุยเหมือนกันว่าเงินเราไปจมในบ่อตั้ง 18 เดือน คือ asset ของเราไปอยู่ในบ่อหมดเลย มี 2,000-3,000 บ่อก็ไปจมอยู่ตรงนั้น คุยกันว่ามีวิธีอะไรที่จะทำให้สั้นลงไหม ใส่เอนไซม์อะไรลงไปเพื่อที่จะกระตุ้นให้มันได้ผลที่เร็วขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องถกเถียง แต่ในที่สุดเราก็ตัดสินใจว่าเราอยากจะเก็บความเป็นออริจินัลไว้มากๆ คือเราไม่รู้หรอกว่าเอนไซม์หรืออะไรที่เราตัดสินใจไปผลมันจะเป็นอย่างไร



 


ในเชิงผู้ผลิตก็อยากทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค แต่ในเชิงธุรกิจจริงๆ เราต้องมีเป้าหมาย มีกลยุทธ์ ที่จะพาองค์กรเคลื่อนไปข้างหน้าต่อ เลี้ยงคนได้ด้วย ต้องเติบโต มีกำไร คิดว่าอีกกี่ปีที่จะทำในตลาดที่เราตั้งใจไว้ 50 ปีเลยไหม
เราอยากให้นานที่สุด แต่จะให้ขนาดก้าวกระโดด อย่างที่บอกมันคงต้องมีสินค้าใหม่ๆ กลยุทธ์อะไรใหม่ๆ ออกมา หนึ่งในกลยุทธ์นั้นคือการส่งออกต่างประเทศ



ขอเอาในประเทศก่อน อะไรที่เราต้องเปลี่ยนบ้าง
ในประเทศเอง เรามีการทำวิจัยมาเป็นระยะๆ อย่างตราปลาหมึกเมื่อก่อนเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร Brand Awareness สูงมาก แต่ Top of Mind จะค่อนข้างลดลงช่วงระยะหลังๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ยุคนี้คนทำกับข้าวน้อยลง และให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ มากเพราะมีสื่อเข้ามา ที่มันดึงความสนใจไปเยอะ แล้วก็มีทางเลือกอื่น เช่น ผงปรุงรส ซีอิ๊ว หรืออะไรต่างๆ รวมไปถึงการรณรงค์ของรัฐบาลเองที่ลดเค็ม ลดโรค ทุกคนพุ่งเป้ามาว่าน้ำปลาเป็นตัวร้ายของโซเดียม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย จริงๆ เป็นหน้าที่เราที่ต้องให้ความรู้ผู้บริโภคว่า ในปริมาณที่เท่ากัน เกลือมีปริมาณโซเดียมมากกว่าน้ำปลาถึง 5 เท่าเชียวนะ ก็เป็นการบ้านที่เราจะต้องทำ



เราปรับตัวหรือวางกลยุทธ์อย่างไรต่อ
ถ้าในเชิงการตลาด เราต้องปรับตัวเองให้ดูทันสมัยขึ้น เพราะผลจากการสำรวจมองเราว่าเป็นสรพงศ์ ชาตรี



จริงๆ มันก็ดี แต่ไม่ค่อยทันสมัย เราต้องเป็นณเดชน์อะไรอย่างนั้นให้ได้
ใช่ คนรุ่นใหม่ไม่หยิบแน่นอน เราเลยต้องมาเริ่มจากภาพลักษณ์ของแบรนด์ก่อน แพ็กเกจจิ้ง โลโก้อะไรแบบนี้ ในการที่จะปรับ ทำอย่างไรให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่อย่างที่บอกมันเป็นกงสี บอร์ดเรา 2 เจเนอเรชัน จะทำอะไรทีจะโดนตีว่ามันพลิกเกินไป มันควรจะมีความเป็นออริจินัลอยู่ คือหลายรอบกว่าจะมีการเปลี่ยนแบบที่จะมีใน Q4 นี้



นี่คือการปรับเปลี่ยนครั้งแรกในรอบ 70 ปี จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เคยเปลี่ยนมาก่อนไหม
เคยตอนมีขวด PET สมัยก่อนเป็นขวดแก้ว



แต่โลโก้นี่ไม่เคย
ไม่เคย ก็เป็นปลาหมึกแห้งนั่นแหละ



คอนเซปต์ของการรีแบรนด์ครั้งนี้มีอะไรบ้าง
ปลาหมึกที่เราใช้อาจจะเรียกว่าเป็นบรรพบุรุษปลาหมึก ไม่รู้เอามาจากไหน แห้งๆ แก่ๆ หนวดเยอะๆ รอยเหี่ยวเยอะๆ ยังต้องใช้อยู่ มันเป็นภาพจำ มาทำอย่างไรให้มันดูหนุ่มขึ้น



เรียกว่าศัลยกรรมปลาหมึก
ส่งไปเกาหลี รอยเหี่ยวน้อยลง แล้วก็เอาลูกแก้วคล้ายๆ ลูกโลกเข้ามาอยู่ข้างหลัง เพื่อสื่อถึงว่าเราไปไกลระดับโลก ว่าเราเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศด้วยนะ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย และปรับฉลากให้ทันสมัยมากขึ้น



มีการรีแบรนด์อะไรข้างในด้วยไหม ในองค์กร ในผลิตภัณฑ์เอง หรือว่าในแง่ของการตลาด แคมเปญที่เรารีแบรนด์ การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่น่าจะต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเยอะ
เมื่อก่อนเป็น TVC เป็น Ads เป็นวิทยุ เราก็มีการใช้สื่อโซเชียลมากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น แล้วก็มีโซเชียลมีเดียทุกอย่าง ตอนนี้เราเพิ่งเซ็นสัญญากับเอเจนซีข้างนอกในการทำ Global ให้เขาดูสื่อโซเชียลของ Global ทั้งหมดให้เรา



สิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดจากคนรุ่นใหม่คืออะไร จากการรีแบรนด์ อยากให้เขาใช้น้ำปลาเราทุกบ้านหรือเปล่า มันต้องมี KPI วัดผลนิดหนึ่งใช่ไหม
KPI ที่บริษัทง่ายมากเลย แค่ยอดขายไม่ตก เพราะอย่างที่บอกคู่แข่งเยอะมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามา แค่เราเติบโตขึ้นนิดหน่อย เราก็รู้สึกว่าเราแบบเก่งแล้ว หวังน้อยไปหรือเปล่าไม่รู้



ตัวคุณเอเองอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ถ้าพูดถึงน้ำปลา อยากให้ทุกคนนึกถึงตราปลาหมึก อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้ตราปลาหมึกเป็นกูรูน้ำปลาตัวจริง มีน้ำปลาให้เลือกหลากหลายชนิด หลายคุณภาพ หลายแบบ ศึกษาแบบเจาะลึกว่าขั้นตอนการผลิต ปลาแต่ละชนิด ระยะเวลา อุณหภูมิ ลักษณะการหมักต่างๆ คือเจาะลึกลงไปเลย อยากเห็นภาพตัวเองเป็นแบบนั้น อยากมี Museum น้ำปลา แล้วเราก็ศึกษาหลากหลายชนิด ให้ความรู้ว่าแต่ละชนิดให้ผลอย่างไร วิธีการหมักแต่ละแบบ อุณหภูมิแตกต่างกัน ระบบปิดต่างกับระบบเปิดอย่างไร ภาชนะในการหมักต่างกันอย่างไร ใช้ถังไวน์หมักได้ไหม คืออยากจะลึกไปแบบนั้นมากกว่า และอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของน้ำปลาแต่ละชนิดเพื่อตอบโจทย์ นี่คือสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น

 




เรื่องการส่งออก เริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน แล้วทำอย่างไรให้เราขึ้นมาเป็นอันดับ 1
การส่งออกเริ่มสมัยคุณพ่อไปเรียนที่อเมริกา ประมาณ 40 ปีแล้ว ตอนนั้นคุณพ่อไปเรียนแล้วไปรู้จักกับร้านโชห่วยคนจีนขายของ ขายวัตถุดิบต่างๆ ท่านก็บอกที่บ้านทำอันนี้สนใจเอามาขายไหม คือจุดเริ่มต้นจากตรงนั้น เราเลยถือว่าเป็นน้ำปลาแบรนด์แรกที่เข้าตลาดอเมริกา ก็ทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เราส่งออกไปกว่า 70 ประเทศ ถือว่าเป็นแบรนด์ส่งออกอันดับ 1หลังๆ มีน้ำปลาเวียดนาม น้ำปลาฟิลิปปินส์ หรือของไทยเองก็มีหลากหลายแบรนด์ที่หันมาส่งออกมากขึ้น



ทำอย่างไรให้เราเป็นอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน
มีแต่คนถาม จริงๆ ต้องบอกว่าคุณภาพเป็นหลัก คือเราหวังว่าคนหนึ่งได้ทานแล้วเขาบอกต่อ เอาแบบยุคนั้นนะ มันเกิดการบอกต่อ คุณภาพได้ รสชาติได้ เขาเกิดการใช้ซ้ำ ตลาดหลักของเราคือคนเวียดนามอพยพ



กลยุทธ์หลังจากนี้คืออะไร
เรามีการทำงานกับเอเจนต์แต่ละประเทศค่อนข้างเข้มข้นพอสมควร แต่ละประเทศหลักๆ เราจะมีเอเจนต์อยู่ แล้วเราจะทำงานกับเขาในเชิงการตลาด โดยแต่ละที่จะไม่เท่ากัน อาจจะ 4% 5% ขึ้นอยู่กับยอดขายของเขา เราก็บอกว่าถ้าคุณอยากได้งบเยอะก็ต้องขายเยอะ แล้วเราก็ให้งบการตลาดไป สมมติเขาก็ทำกลยุทธ์มาเสนอว่าแผนปีหน้าเป็นอย่างไร จะไปร่วมงานกับเชฟคนไหน ลงสื่ออะไรบ้าง โดยที่เราเป็นคนคุมภาพและอนุมัติทั้งหมดว่าโอเค



แล้วความท้าทายใหญ่ที่สุดในตลาดต่างประเทศคืออะไร
เรื่อง Regulation ต่างๆ ทั้งเรื่องการกีดกันทางการค้า มาตรฐานแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน มีข้อกำหนดว่าจะต้องมีค่าต่างๆ เท่านี้ๆ มีกฎที่มันโหดร้ายมากกับธุรกิจน้ำปลา เช่น น้ำปลาที่ส่งไปอเมริกาต้องต้ม ขนาดปลาต้องห้ามเกินกี่เซน แต่เราคุมอยู่แล้ว แล้วต้องลงทุนเรื่องผ่านกระบวนการความร้อน พาสเจอร์ไรซ์ แต่ละประเทศจะมีไม่เหมือนกัน



ถ้าให้แนะนำคนทำธุรกิจส่งออก ที่ทำอยู่แล้วตอนนี้แล้วอยากทำให้ดีขึ้น ในฐานะที่เราทำได้ดีมากเป็นอันดับ 1 เรามีอะไรจะแนะนำบ้าง
เรื่องคุณภาพ การที่เราจะไปแข่งกับตลาดต่างประเทศ ไปแข่งกับคนในพื้นที่ของเขา หรือแบรนด์ที่มาจากทั่วโลก ถ้าคุณภาพเราไม่ได้ อย่าไปเลย เราต้องกลับมาทำตัวเองให้ดีก่อน เริ่มต้นเหมือนแรกๆ เราไปออกบูธประเทศต่างๆ ประเทศไหนที่เรายังไม่เคยเข้าไป เราไปลองดู ลองใช้สื่อโซเชียลเข้าไปดู มันไม่มีอะไรการันตีว่าได้หรือไม่ได้ เป็นความโชคดีที่ว่าเราทำได้ดีเหมือนรุ่นคุณพ่อที่ทำได้ดีระดับหนึ่ง คือกระจายไป คนค่อนข้างให้การยอมรับ พอเรามาสานต่อเรื่องส่งออกก็ถือว่าไม่ได้ยากมาก ช่วงแรกที่ไปออกบูธต่างประเทศ บางทีจะมีฝรั่งเดินเข้ามาจับมือบอกว่าขอบคุณมาก ยูทำน้ำปลาได้อร่อยมาก คือมันเหมือนเป็นการบอกต่อมากกว่า คุณภาพเป็นหัวใจสำคัญที่สุด



ในฐานะที่เป็นเจเนอเรชันที่ 3 เรามองธุรกิจน้ำปลาอย่างไร จะทำอย่างไรให้เราดำเนินธุรกิจแล้วเติบโตต่อไปได้
ที่อยากเห็นคือเราสามารถที่จะคงคุณภาพที่เป็นออริจินัลเราไปได้เรื่อยๆ ให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะมันมีความยากอยู่อย่างหนึ่ง คืออยู่ดีๆ ปลาก็เปลี่ยนสปีชีส์ อาจจะด้วยภาวะโลกร้อน ปลากะตักที่เคยจับได้เปลี่ยนสปีชีส์ แล้วเอามาลองหมัก ไม่ได้คุณภาพเท่าเดิม เราต้องทำอย่างไร เรื่องมันจุกจิกเยอะมาก ไม่ใช่แค่ผลิตขาย กว่าจะได้น้ำปลาแต่ละขวดออกมา บางทีก็มีเหมือนกันที่ความผิดพลาดของบุคลากร ของเครื่องจักรเอง ทำให้มีน้ำปลาที่คุณภาพยังไม่ได้ คือโจทย์ตรงนี้ทำอย่างไรที่เจเนอเรชัน 3 จะคงความเป็นออริจินัลที่บรรพบุรุษมีมาให้เรา ทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้มันยืดยาวไปยังอนาคตได้



ส่วนตัวที่ทำมา 10 กว่าปีเราสนุกกับกระบวนการไหนมากที่สุด อะไรที่ทำให้เราอยากจะทำมันทุกวัน
เวลาทำงานหลักๆ จะมุ่งไปที่ตลาดส่งออก 60% แพสชันคืออยากให้คนทั่วโลกรู้จักน้ำปลามากขึ้น และอยากให้เขายอมรับเหมือนซีอิ๊วของญี่ปุ่น คืออยากให้มันเข้าถึงกลุ่มคนที่มันกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่คนไทย คนเวียดนาม คนเอเชีย คนต่างชาติ ฝรั่งเองที่แบบเริ่มทำกับข้าว รู้จักอาหารไทย แล้วให้เขารู้ว่าแบรนด์ปลาหมึกเป็นที่ที่เขาจะต้องเลือก อันนี้คือความฝันของตัวเอง



 



The Secret Sauce ของน้ำปลาแท้ตราปลาหมึก

1. คุณภาพต้องมาก่อน

ด้วยกระบวนการผลิตที่หมักถึง 18 เดือน จะเอาสารเร่งปฏิกิริยาเข้ามาไหม จะใช้หุ่นยนต์ไหม ลดต้นทุนไหม ตรงนี้เขายังไม่อยากสูญเสียความมีคุณภาพไป ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา คำว่าคุณภาพเป็นสิ่งที่บางท่านอาจจะหลงลืมไป ไปดูการตลาด ดูแบรนดิ้งมากเกิน ลืมไปเลยว่าหัวใจสำคัญคือคุณภาพของสินค้าต้องดีที่สุด สดสะอาดปลอดภัย คงเอาไว้ 75 ปี และในอนาคตเชื่อว่าก็ยังเป็นหัวใจสำคัญ


2. หาตลาดใหม่รองรับ
เป็นวิสัยทัศน์ที่เจ๋งมากของผู้บริหาร ตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วที่ไปเห็นตลาดในอเมริกา เห็นว่ามีคนกินน้ำปลาอยู่ คนเอเชียหรือร้านอาหารไทยเอง เลยทำธุรกิจส่งออก ทำให้ตอนนี้กิน Market Share มากที่สุด การหาตลาดรองรับเป็นอีกเกมหนึ่งที่ถ้าในยุคปัจจุบันเป็นไฟต์บังคับแล้วด้วยซ้ำ เพราะตลาดไทยมันไม่พอ มันเหมือนการกระจายความเสี่ยง น มีวิธีการทำที่ส่งออกต่อไปที่ต่างประเทศที่น่าสนใจ ล่าสุดเขาไปทำงานกับเอเยนต์ท้องถิ่นให้ทำเรื่องการตลาด โดยที่ตราปลาหมึกเป็นแค่คนเช็กว่าตรงกับความต้องการของตัวแบรนด์หรือเปล่า โดยให้ท้องถิ่นทำการตลาดด้วยตนเอง เหตุผลนี้ก็เพื่อคำนึงถึง Localization เพราะไม่มีใครที่สามารถจะเชี่ยวชาญ หรือว่ารู้ Insight ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศตัวเองได้เท่ากับคนในท้องถิ่น จุดนี้เลยเป็นจุดเด่นสำคัญมากที่ทำให้น้ำปลาแท้ตราปลาหมึกเป็นผู้นำด้านการส่งออก


3. การรีแบรนด์
อาจจะเริ่มจากการรีแบรนด์ตัวแพ็กเกจจิ้งก่อน ซึ่งต้องไปถกเถียงกับบอร์ดบริหารพอสมควร แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากขึ้น คิดดูขนาดน้ำปลาที่เราไม่คิดว่าจะโดน Disrupt ได้ก็ต้องรีแบรนด์ตัวเองเหมือนกัน แล้วธุรกิจของคุณ หรือว่าอุตสาหกรรมที่คุณอยู่เป็นอย่างไร ต้องลองเอาบทเรียนของน้ำปลาแท้ตราปลาหมึกไปใช้น่าจะดี

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest ธิติญา นิธิปิติกาญจน์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising