R&B Food Supply หรือ RBF บริษัทที่อยู่เบื้องหลังรูป รส กลิ่นของอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ มีห้องสมุดกลิ่นกว่า 5,000 กลิ่น ทำรายได้ปีละเกือบ 3,000 ล้านบาท และกำลังขยายการเติบโตไปยังอีกหลายประเทศ
เรียนรู้วิธีการหาช่องว่างทางธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งกับตลาด การบริหารจัดการ Supply Chain ที่หลายคนมองข้าม แต่เป็นจุดแข็งที่คนทำธุรกิจอาหารต้องใส่ใจ และการทำ R&D อย่างเข้มข้นเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันใจ
เคน นครินทร์ พูดคุยกับ หมอจั่น-พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัท RBF
ทำไมถึงคิดว่า Supply Chain สำคัญกว่า Marketing หรือสำคัญกว่า Branding อาจเป็นมุมของคนทำธุรกิจจริงๆ ที่อยู่มานานแล้วเห็นว่ามันคือหัวใจสำคัญมากๆ
จะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นางสาวเอทำบราวนี นางสาวบีก็ทำบราวนีด้วยราคาที่เท่ากัน เราคงเลือกเจ้าที่อร่อยกว่า แต่ถ้ามันอร่อยเท่ากันล่ะ เอสั่ง 2 วันได้ บีสั่งตอนนี้ได้เลย เพราะบีมีสต๊อก บีทำทุกวัน หรือถ้าเกิดว่าสั่งวันนี้เอส่งมาจากเชียงใหม่ บีก็ลงงานอยู่เชียงใหม่เหมือนกัน แต่ว่าบีมีตัวแทนขายอยู่ที่กรุงเทพฯ สั่งวันนี้ก็ได้เร็วกว่าถูกไหม แล้วทำอย่างไรให้บีมีตัวแทนขายเยอะๆ ล่ะ ถ้าเป็นคนขายของ สิ่งแรกที่คิดถึงคือกำไร สมมติบราวนีชิ้นละ 40 บาท เอมีต้นทุนมา 30 บาท แต่บีต้นทุน 20 บาท ตัดให้ตัวแทนขาย 30 บาท ตัวแทนไปขาย 40 บาท ทุกๆ คนก็อยากจะขายบราวนีจากบีถูกไหม อันนี้แหละเริ่มเข้ามาสู่การบริหาร Supply Chain แล้วในแง่ของราคา
ทีนี้เรามาดูในแง่ของสินค้าบ้าง ถ้ามีตัวแทนขาย กว่าจะส่งจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ใช้เวลา 1 วัน แล้วอยู่กับตัวแทนอีก 2-3 วันกว่าจะระบายของหมด Shelf Life ต้องอย่างน้อย 5 วัน ถูกไหม ไม่อย่างนั้นกว่าจะถึงคนกินก็ละลายแล้ว ดังนั้นสินค้าต้องอยู่ได้อย่างน้อย 5 วัน ในขณะที่บราวนีของเออาจจะบอกว่าทำสดใหม่ทุกวันเลยนะ แต่ Shelf Life แค่ 2 วัน แล้วใครจะอยากขายให้เอ ในเมื่อเก็บได้แค่ 2 วัน แล้วถ้ารับของเอมาราคาสูง แถมต้องรีบระบายออกให้ทัน เพราะว่า 2 วันของก็เสียในมือ อย่างนี้ก็หาตัวแทนขายไม่ได้ ถือว่าบริหาร Supply Chain ไม่ได้แล้ว ดังนั้น Supply Chain จริงๆแล้วเป็นหัวใจ
การบริหาร Supply Chain ที่ดี หรือบทเรียนที่ RBF เรียนรู้มาควรจะเป็นอย่างไร
หนึ่ง การจะบริหาร Supply Chain ได้ต้องมีคู่ค้าที่ดีก่อน หรือในบริษัทใหญ่ๆ จะเรียกว่า Strategic Partner ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่ขายของถูกที่สุด แต่เป็นคนที่ตอบโจทย์และช่วยเราบริหาร Supply Chain ให้ดีที่สุด เช่น เราของหมดแล้วจะต้องได้วัตถุดิบตัวนี้ นึกได้ตอนเที่ยงคืน พรุ่งนี้เขามาส่งให้คุณได้ไหม หรือเราอยากได้ Customize แทนที่จะใช้ส่วนผสม A + B แล้วมันเก็บในคลังยาก พื้นที่ไม่พอ แต่อาจมีใครสักคนที่ทำ A + B มาให้แล้วเราทำงานง่าย แค่หยิบใส่ตัวเดียวแล้วเติมน้ำก็เสร็จ โดยที่ต้นทุนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เราใช้คนทำงานน้อยลง เราไม่ต้องเปิดโอที เพราะทำงานเสร็จเร็วขึ้น ต้องค่อยๆ นั่งดู เอามารีวิวดูเรื่อยๆ ว่าเรายังมีจุดไหนในลูปที่ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบเข้ามา ผลิต เก็บเข้าคลัง ไปจนถึงของไปถึงมือลูกค้า หรือแม้แต่การใช้งบการตลาดที่ถูกต้องก็คือการบริหาร Supply Chain
ความสำคัญของแผนก R&D ในบริษัทที่ทำให้บริษัทสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ
R&D เรามีเกือบ 50 คน ทุกๆ วันเราจะต้องทำอะไรใหม่ๆ มีทีมที่ทำตัวอย่าง Support ลูกค้าและทีมที่แก้ปัญหาให้ลูกค้า มีการวัดผล เช่นว่า ปริมาณผลงานต่อปีของต่อแลป ที่ออกมา ปริมาณผลงานที่ขายได้จริง หรือถูกเอาไปใช้จริงๆ ได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ตั้งเป็นตัวเลขจริงจังว่าปีนี้ต้องได้ 300 ตัวอย่างนะ 400 ตัวอย่างนะ แต่ว่าจริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็มีเป้าในใจอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญมากมันก็มักจะออกมาได้
ทุกคนเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่เชิงนักวิทยาศาสตร์เสียทีเดียวด้วย ต้องมีความศิลปินอยู่ในตัวด้วย ดังนั้นผลงานที่ดีจะออกมาได้ก็ต่อเมื่อทุกคนแฮปปี้ หลักการง่ายๆ คือพยายามทำให้ทุกคนมีความสุขดูเป็นนามธรรม แต่จริงๆ เป็นอย่างนั้น ทุกคนจะมีความสุขเวลาที่ได้เห็นผลงานตัวเองสำเร็จ กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะไม่ต้องการถูกบังคับจนเกินไป ต้องการอิสระทางความคิด ต้องการอุปกรณ์ เช่น จิตรกรต้องพู่กัน 10 เบอร์ เราก็ต้องมี อยากได้สีหลายๆ สีมาให้เลือก ก็ต้องพยายามทำให้เขามีอุปกรณ์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้
อะไรคือ The Secret Sauce ของ RBF
1. Customer-Centric Supply Chain Management
บริหารจัดการ Supply Chain ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดีในความหมายคือต้องตอบโจทย์กับผู้บริโภค ซึ่งในฐานะของบริษัทที่ทำ B2B ก็คือต้องตอบโจทย์คู่ค้าหรือ Enterprise ที่เราทำงานด้วยนั่นเอง
2. R&D (Research and Development)
ต้องให้ความสำคัญกับ R&D ทุกโครงสร้าง ทำอย่างไรให้ R&D สามารถผลิตนวัตกรรมหรือว่ามีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างตลอดเวลา หมอจั่นย้อนกลับมาที่ความสุข ความสุขของนักวิทยาศาสตร์ ความสุขของนักวิจัย และที่สำคัญคือการตั้งเป้าที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตั้งเป้าที่วัดจากยอดขายเพราะว่าคนทำนวัตกรรมมันต้องลองผิดลองถูก แต่ตั้งเป้าให้ถูกต้องที่ให้เขาทำงานได้อย่างมีความสุข
3. การบริหารบุคคล
เป็นสิ่งที่หมอจั่นให้ความสำคัญมากที่สุด คำถามง่ายๆ นอกจากเงินแล้ว อะไรที่ทำให้พนักงานอยากทำงานกับคุณไปนานๆ อะไรที่ทำให้คนเก่งอยากอยู่ในบริษัทของคุณไปนานๆ
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์