×

ดีลประวัติศาสตร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กระทบเราอย่างไร

30.10.2019
  • LOADING...

โครงการรถไฟความเร็วสูง ส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้ประกอบการและนักธุรกิจ

 

เคน นครินทร์ เล่าถึงดีลประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นซูเปอร์เมกะโปรเจกต์ในการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 

 


 

ทำไมดีลนี้ถูกยกให้เป็นประวัติศาสตร์

เนื่องจากเป็นการเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือที่เรียกว่า PPP (Public Private Partnership) มูลค่าโครงการสูงถึง 2.24 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าจะคืนเงินทุนกลับสู่ภาครัฐภายใน 50 ปี เกิดผลตอบแทนเศรษฐกิจถึง 6.5 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่าแสนอัตราในระยะเวลา 5 ปี แถมยังคาดการณ์เพิ่มเติมด้วยว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยสร้าง New S-Curve ร่วมกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) มีการดึงดูดนักลงทุนใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกสบายขึ้น

 

รายละเอียดโครงการ

รถไฟของโครงการนี้เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

 

โครงสร้างทางวิ่งของโครงการประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบันระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดตัวโครงการในปี 2566 ค่าโดยสารจากต้นสายถึงปลายสายประมาณ 500 บาท

 

รายละเอียดดีล

โครงการรถไฟความเร็วสูงเปิดประมูลใน 2 ปีที่แล้ว โดยมี 2 กลุ่มยื่นประมูลแข่งขัน ได้แก่ กลุ่ม BSR (บีทีเอส, ซิโน-ไทย, ราชบุรีโฮลดิ้ง) และกลุ่ม CPH (กิจการร่วมการค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร)

 

โดยผลปรากฏว่ากลุ่ม CPH ชนะการประมูลในวงเงิน 117,227 ล้านบาท ห่างจากกลุ่ม BSR จำนวน 52,707 ล้านบาท จากนั้นใช้เวลาเจรจากันมาจนได้ข้อยุติร่วมกัน

 

CPH ได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจใหม่ เพื่อเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการชื่อ ‘บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด’ โดยมีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้นใหญ่ 70% รองลงมาคือ China Railway Construction Corporation ถือหุ้น 10% บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 10% บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 5% และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 5% มีทุนจดทะเบียนประมาณ 4 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทเมื่อเริ่มต้นเดินรถ จำนวนหุ้นประมาณ 40 ล้านหุ้น และคาดว่าจะมีการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆ นี้ 

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหายืดเยื้อที่ทำให้ CPH ล่าช้าในการลงนามสัญญา เนื่องจากรัฐบาลมี RFP (Request Form Proposal) ระบุไว้ว่า รัฐบาลจะต้องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่ก่อสร้าง ฝ่ายรัฐบาลระบุว่า มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 72% หลังสัญญา แต่ทาง CPH ต้องการการส่งมอบพื้นที่ถึง 100% ก่อนเซ็นสัญญา โดยรายละเอียดการส่งมอบสัญญามี 3 ช่วง ได้แก่

 

  1. สถานีพญาไทถึงสถานีสุวรรณภูมิ หรือระยะทางของ Airport Rail Link มีระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่นี้สามารถส่งมอบได้ทันที 100% แต่ทาง CPH จะต้องชำระค่าเดินรถเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าหาก CPH ชำระเงินส่วนนี้ ก็จะสามารถรับเงินหรือกำไรจาก Airport Rail Link ได้ทันที
  2. ช่วงสถานีสุวรรณภูมิถึงสถานีอู่ตะเภา มีระยะทาง 170 กิโลเมตร มีระบุการส่งมอบภายใน 2 ปี แต่ทาง คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พยายามเร่งรัดให้มีการส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน
  3. ช่วงสถานีพญาไทถึงสถานีดอนเมือง มีระยะทาง 22 กิโลเมตร มีระบุการส่งมอบภายใน 4 ปี เเละมีการเร่งรัดให้มีการส่งมอบภายใน 2 ปี 3 เดือน ระยะนี้เป็นช่วงที่มีปัญหามากที่สุด เพราะต้องมีการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมัน แก๊ส รวมทั้งการย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาโทรเลข เสาไฟลงดิน และอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งส่งผลให้การเปิดใช้บริการล่าช้ากว่าช่วงอื่นๆ ประมาณปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568

 

หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นและควรจับตามองอะไรบ้าง

โดยปกติการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่ได้สร้างกำไรให้ทางภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน ทางรัฐบาลจึงใช้ตัวกระตุ้นจากที่ดินมักกะสันซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ขนาด 140 ไร่ หรือมีขนาดเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของสวนลุมพินี ทางเอกชนจึงคาดหวังพื้นที่ในส่วนนี้มาทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือว่าที่พักอาศัย

 

ในงานวันเซ็นสัญญา (24 ตุลาคม) ศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ตามที่เสนอไป จะมีการสร้างสถานีและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงใช้พื้นที่นั้นเป็นศูนย์กลางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ โดยตั้งเงินลงทุนไว้ 1.4 แสนล้านบาท โดยทางบริษัทเปิดกว้างในการรับพันธมิตรใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมลงทุน

 

อีกเรื่องคือ สนามบินอู่ตะเภา มีมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาท ที่จะถูกยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ โดยในตอนแรกมีการเปิดประมูล ซึ่ง นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จาก Bangkok Airways จับมือกับทาง คีรี กาญจนพาสน์ จากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ชนะการประมูลไป แต่ล่าสุดไม่นานมานี้ทางซีพีซึ่งยื่นซองประมูลล่าช้า ได้มีการฟ้องร้อง จึงทำให้มีการพิจารณาการประมูลอีกครั้ง 

 

โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และนักลงทุนอย่างไร

  1. นักลงทุนควรจับตามองบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล เนื่องจากมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะสูงขึ้น
  2. ผู้ประกอบการควรจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบจำนวนมากและทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ต่างๆ เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะหารายได้จากสิ่งนี้ได้
  3. ธุรกิจท่องเที่ยว โครงการนี้เป็นโอกาสที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น ควรเตรียมพร้อมในการรับมือนักท่องเที่ยวตามพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
  4. ธุรกิจโลจิสติกส์ การส่งสินค้า Modern Trade พัสดุจะมีการเปลี่ยนย้ายหรือเป็นพาร์ตเนอร์กับรถไฟความเร็วสูงในการขนส่ง 

 


 

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising