×

วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริงไหม แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020 เป็นอย่างไร

24.10.2019
  • LOADING...

วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริงไหม เราควรจะรับมืออย่างไร 

 

เคน นครินทร์ คุยกับ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020 วิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิธีรับมือทั้งในแง่ของพนักงาน นักลงทุน และผู้ประกอบการ

 


 

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจคืออะไร

ในปลายปี 2018 เศรษฐกิจเริ่มมีการชะลอตัว สุกิจกล่าวว่าในปี 2020 จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะเป็นการชะลอลดลงเรื่อยๆ จากปี 2019 ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเกินกว่าที่คาดคิด โดยเหตุผลหลักคือ การเข้าสู่ปลายวัฏจักรของการเติบโต (Late Cycle) คือเกิดภาวะชะลอตัวตามวัฏจักร แต่ถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้า ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคตกต่ำ ในปี 2020 โลกยังคงมีความเสี่ยงอีกมากมายที่ต้องเผชิญหน้า ซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2018 และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามค่าเงิน สงครามเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนของ Brexit ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องการเมือง คือจุดเปลี่ยนเมื่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ใกล้เข้ามา 

 

เริ่มต้นตั้งแต่การที่อัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในปี 2017 ที่ 3.8% หลังจากนั้นการขยายตัวก็เริ่มชะลอตัวลงเหลือ 3.6% ในปี 2018 (ข้อมูลจาก IMF) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเช่นกันของภาวะเศรษฐกิจที่จะมีการชะลอตัว หลังจากมีการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในช่วงปี 2007-2009 ทั้งนี้โดยเฉลี่ยวัฏจักรการเติบโตขึ้น-ลงของเศรษฐกิจ 1 รอบใช้เวลาประมาณ 7 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2019 นั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ของสำนักวิจัยหลายๆ แห่ง ส่งผลให้ IMF รวมถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงไทย ได้มีการทยอยปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับโลกและระดับประเทศลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงปัจจุบัน

 

ปัจจัยกดดันที่ทำให้เกิดการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ 

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2018 ต้องยอมรับอีกครั้งว่า ‘รุนแรงเกินคาด’ เช่นกัน จากจุดเริ่มต้นที่ทั้ง 2 ประเทศขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้ากัน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในความเป็นจริงมูลค่าการเก็บภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากทางสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นไปเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยดังกล่าวถือว่ามีแรงกดดันอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศสะท้อนไปที่มูลค่าการส่งออกของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกให้ลดลงอย่างมากในปี 2019 เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงจากปี 2018 ส่งผลลุกลามไปถึงกิจกรรมในภาคการผลิตสินค้าให้ตกต่ำอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสั่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาเตือนแล้วว่าอาจจะลุกลามถึงภาคบริการซึ่งแม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลงมากก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ อาทิ ธุรกิจเชิงท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น Brexit ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป เป็นต้น

 

ภาพรวมของสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าส่งผลกระทบอย่างมากจนทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่น (Confidence Crisis) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดต่อภาคธุรกิจทำให้กิจกรรมการค้า การลงทุนชะลอตัว ตลาดการเงินผันผวนสูง และกระทบต่อการลงทุนในตลาดทุนเช่นกัน

 

นโยบายการเงินผ่อนคลายถูกนำกลับมาใช้เป็นครั้งแรกหลังจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.50% พร้อมประกาศว่าจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์จากระดับ -0.40% เป็น -0.50% พร้อมกับการกลับมาดำเนินนโยบาย QE อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2019 วงเงินซื้อสินทรัพย์ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2019 ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลงอยู่ในระดับ 2.8% หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว และรายได้จากภาคท่องเที่ยวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาท คงเหลือเพียงการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ชัดเจนส่งผลให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.25% ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ในขณะที่ทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศ กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในทางเดียวกันเพื่อให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020

เติบโตต่ำ อาจเห็นสัญญาณฟื้นตัวอ่อนๆ แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2020 คาดว่ายังคงมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวตามวัฏจักรชะลอตัว และผลของสงครามการค้าที่กระทบตลอดทั้งปีหากเทียบกับปี 2019 ที่สหรัฐฯ-จีน ทยอยปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็นการตอบโต้กันเป็นระยะๆ ส่งผลให้ผลกระทบเริ่มรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 โดยประเทศหลักๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ และเยอรมนี เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดต่อกัน 2 ไตรมาส) เนื่องจากภาคการส่งออกและกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า

 

นโยบายการแก้ปัญหาจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปมีความพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงพร้อมกับอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจในปี 2020 จึงทำให้ SCBS ประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 ตามที่ตลาดการเงินกังวลมากในขณะนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ทั้งนี้แม้ SCBS จะประเมินว่าผลบวกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในรอบนี้จะไม่มากเท่ากับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2007-2009 แต่เพียงพอที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจและตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง)

 

สำหรับภูมิภาคที่ยังคงเป็นความหวังที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกคือ ประเทศเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาที่คาดว่าอัตราการเติบโตยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน ที่รวมกันส่งผลให้อัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงกว่า 4%

 

จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในปี 2020 

หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทบทวนมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน (ล่าสุด สหรัฐฯ-จีน กำลังมีการเจรจาการค้าและมีสัญญาณที่ดีขึ้น) เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองมาก เพราะสินค้านำเข้าที่ถูกเก็บภาษีในรายการหลังๆ มีสัดส่วนของสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถที่จะหาแหล่งสินค้าประเทศอื่นมาทดแทนสินค้าของประเทศจีนได้ในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงภาคเกษตรสหรัฐฯ เองที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนหยุดการนำเข้า เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2020 ดังนั้นเชื่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คงต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเช่นกัน นอกเหนือจากการเรียกคะแนนเสียงจากการทำสงครามการค้ากับจีนเพียงอย่างเดียว หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวได้ ซึ่ง SCBS ประเมินว่าน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่เกินไตรมาสที่ 1/2020 เพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวทันเลือกตั้ง

 

การคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP โลกในปี 2020 

ล่าสุด IMF คาดไว้ที่ระดับ 3.6% มีการปรับลดเหลือ 3.4% ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนัก อยู่ที่ 2.1% จีน 5.8% ไทย 3% ด้านยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 1% ญี่ปุ่น 0.2% และเป็นปีแรกที่อัตราการเติบโตต่ำกว่า 6% และมีการเผยการคาดการณ์การเติบโตจากสถาบันการเงินประเทศไทยหลายแห่งในปี 2020 ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.3% ธนาคารทหารไทย 3.3% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 3.5% ธนาคารไทยพาณิชย์ 2.8% ธนาคารกรุงไทย 3.2% และธนาคารกสิกรไทย 2.5-3%

 

ซึ่งหากลุกลามก็จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจรอบใหม่ ประเด็นต่อมาคือ หากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง ในขณะที่ยังคงต้องติดตามมาตรการภาษียานยนต์และชิ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ส่วนญี่ปุ่นต้องติดตามผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภค และความขัดแย้งกับเกาหลีใต้

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2020 คาดว่า GDP จะขยายได้ 2.8% ใกล้เคียงกับปี 2019 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.25% เป็น 1.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่า 1% ส่วนค่าเงินบาท คาดว่าจะยังคงทรงตัวที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

ยังคงเป็นด้านการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการชะลอตัวคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2019 ส่วนที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปี 2019 เนื่องจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นและรัฐบาลมีเวลาทำงานเต็มที่ ส่วนการบริโภคในประเทศยังคงเป็นเสาหลักสำคัญของการเติบโต โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คาดว่าจะมีเป็นระยะๆ

 

SCBS ประเมินว่า การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจในปี 2020 เพราะนโยบายที่สอดคล้องกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสผ่อนคลายนโยบายที่เคยคุมเข้มไว้ก่อนหน้าเพื่อช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่สร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่นกัน

 

ทั้งนี้ต้องติดตามว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะเห็นผลได้มากน้อยแค่ไหน โดยนอกจากสหรัฐฯ จะชะลอการทำสงครามการค้าแล้ว ยังมีอีกความหวังหนึ่งคือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุดได้หันมาให้ความสำคัญกับวิกฤตความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินผ่านการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดการเกิดขึ้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต หากธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถลดความกังวลของตลาดการเงินได้ก็จะสามารถช่วยแก้ไขวิกฤตความเชื่อมั่นได้อย่างมาก

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising