×

เปิดใจ ดร.วิรไท ผู้ว่าแบงก์ชาติ วิวาทะอุ้มหุ้นกู้เอกชน และอนาคตตลาดการเงิน

26.04.2020
  • LOADING...

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะเยียวยาด้านการเงิน จากมาตรการที่ออกมาเพื่อคนช่วยธรรมดาทั่วไป SMEs ขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดทุน 

 

จากมาตรการของฝั่งตลาดทุนนี้เอง นำมาซึ่งวิวาทะจากนักการเงินและอดีตรัฐมนตรี ที่ออกมาบอกว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนบางเจ้า

 

แบงก์ชาติกำลังอุ้มคนจนหรือเอื้อคนรวย อะไรคือบทบาทที่กำลังดำเนินการในตอนนี้ ความปกติใหม่ในภาคการเงินการคลังจะเป็นอย่างไร

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 


 

จุดยืนและบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในตอนนี้ เพราะอย่าง FED หรือธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเองจากผู้ควบคุมกติกาลงมาเป็นผู้เล่นแล้ว จุดยืนของธนาคารแห่งประเทศไทยในตอนนี้คืออะไร

ผมว่าอย่าไปมองว่าคุมกติกาหรือเป็นผู้เล่น ต้องดูที่เป้าหมายใหญ่ เป้าหมายใหญ่ของธนาคารกลางคือทำให้เสถียรภาพระบบการเงินสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ การที่ระบบการเงินมีเสถียรภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะในภาคเศรษฐกิจจริง อย่างที่เราก็ทราบกันว่าก็ถูกกระทบ ได้รับแรงกระแทกจากการเหตุการณ์แพร่ระบาด ถ้าระบบการเงินมีปัญหา สะดุดไปอีก หรือในบางประเทศอาจจะมีความอ่อนไหว อ่อนแอเป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่การเกิดวิกฤตระบบการเงิน จะยิ่งไปซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจจริงไปอีก

 

เพราะฉะนั้นการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกเรื่องที่สำคัญคือการทำนโยบายที่อยู่ใต้ความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริง บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพราะประชาชน ภาคธุรกิจก็คือลูกค้าของสถาบันการเงิน

 

อีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ การดูแล ‘ระบบการชำระเงินของประเทศ’ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ระบบการชำระเงินเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นระบบการชำระเงินจะต้องทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำธุรกรรมของประชาชนรายย่อย พร้อมเพย์ หรือระบบการชำระเงินที่ใหญ่ขึ้นมาอย่าง เช็ค เคลียร์ริง ระบบการโอนเงินขนาดใหญ่บาทเน็ต ทั้งหมดคือพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

ในสภาวะที่ไม่ค่อยปกติ เราก็จะเห็นมาตรการที่ไม่ค่อยปกติออกมาในหลายๆ ประเทศ ในประเทศไทยถ้าแบ่งง่ายๆ ก็จะเห็นว่าเป็นการดูแลวิสาหกิจขนาดเล็ก กลาง คนที่เดือดร้อน ประชาชนทั่วไป อีกด้านคือการดูแลตลาดทุน ซึ่งผมขอคุยเรื่องที่สอง เพราะเป็นวิวาทะที่ค่อนข้างร้อนแรงพอสมควร มีอดีตรัฐมนตรีออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกองทุน BSF เสริมสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้เอกชน หลายคนบอกว่าการออกมาตรการนี้เป็นการเอื้อเอกชนบางเจ้าหรือเปล่า เอกชนเขาก็อยู่ของเขาเองได้หรือเปล่า หุ้นกู้แบบนี้จะเกิดความไม่โปร่งใสหรือเปล่า อยากให้ท่านผู้ว่าอธิบายประเด็นนี้

เวลาที่มองเรื่องนี้ ต้องมองว่าระบบการเงิน ณ ปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ระบบการเงินไม่ใช่แค่ระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น เวลาพูดถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน จะต้องมองมันใน ‘ภาพใหญ่’ แล้วระบบการเงิน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันสูง ถ้ามีจุดเปราะบางเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง มันอาจจะมีผลกระทบไปสู่ระบบการเงินในภาคส่วนอื่นๆ ได้อีก ทำให้มีปัญหากับเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมได้

 

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกรณีประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ เมื่อคนมีความไม่มั่นใจว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบอย่างไร เลวร้ายลงหรือไม่ ทุกคนก็มีแนวโน้มที่จะพยายามถือ ‘เงินสด’ ภาคธุรกิจหลายๆ แห่งที่เคยมีสภาพคล่องส่วนเกิน นำไปลงทุน วันนี้ธุรกิจของเขาได้รับผลกระทบ รายได้ไม่เข้ามา แต่ยังมีรายจ่าย ก็จะกลับมาในด้านการถือเงินสด

 

ความเสี่ยงต่างๆ ทุกคนก็จะมองว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นการปรับตัวของราคาสินทรัพย์หลายประเภทเลยที่ปรับลดลงค่อนข้างแรงมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมีนาคม ในประเทศไทยเองก็เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘กองทุนรวมตราสารหนี้’ และ ‘ตลาดตราสารหนี้’ 

 

ถ้าถอยหลังกลับไปประมาณช่วงวันที่ 10-15 มีนาคม 2563 ก็จะเริ่มมีข่าวในตลาดว่า กองทุนรวมตราสารหนี้มีคนมา ‘ไถ่ถอน’ ค่อนข้างมากในบางกองทุน เวลาที่กองทุนรวมตราสารหนี้มีคนมาไถ่ถอนมาก สิ่งที่เขาต้องทำคือการขายของที่ถืออยู่ ซึ่งเป็นของที่ดี อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ เป็นตราสารที่ถูกออกโดยบริษัทที่ดี แต่เพราะเนื่องจากต้องเร่งขายของเพื่อเอาเงินไปให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนที่มาขาย การที่เร่งขายของแบบนั้นก็จะทำให้ราคาของของพวกนั้นถูกกดลงในภาวะที่ผิดปกติ ตลาดบาง คือไม่มีคนซื้อ มีแต่คนอยากขาย

 

เมื่อราคาตราสารพวกนั้นมันลดลงไปเรื่อยๆ ก็ส่งผลกระทบมาสู่การ ‘Mark to Market’ (การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม) ของตราสารที่ยังถืออยู่ มันก็เห็นว่า NAV (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) เวลาที่ดูมูลค่าที่เหลืออยู่ของกองทุนรวม มันก็จะยิ่งลดลงไปอีก

 

เมื่อมันลดลงไปอีก คนที่ถืออยู่ก็รู้สึกว่าตัวเองขาดทุน เมื่อยิ่งขาดทุนมากขึ้นก็ตัดสินใจว่า ‘ขายดีกว่า’ มันจึงไปสร้างวงจรที่ทำให้คนยิ่งเอาของออกมาขายในภาวะที่ไม่มีคนซื้อ ราคามันลดลง คนที่ถืออยู่ก็ยิ่งออกมาขายอีก เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ากลไกการทำงานของระบบการเงินมันอาจจะนำไปสู่ปัญหา ถ้ายังไม่ได้รับการหยุดอย่างทันท่วงที มันอาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ลามไปทั้งระบบได้อย่างรวดเร็ว

 

เราก็เริ่มเห็น ‘กองทุนรวมตราสารหนี้’ บางแห่งที่อาจจะไปลงทุนในตราสารที่ดี แต่มักจะเป็นตราสารระยะยาว มันก็ไม่สามารถครบกำหนดได้ เวลาที่มีคนมาไถ่ถอน ก็ต้องออกมาขาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาตรการช่วยหยุดปัญหาการไถ่ถอนหุ้นกู้อย่างรวดเร็วของกองทุนรวมตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม หรือ Mutual Fund Liquidity Support Program 

 

มันไม่ได้เป็นหน้าที่หลักของธนาคารกลาง แต่เนื่องจากเราเห็นว่ามันเป็นปัญหา และการที่ธนาคารกลางสามารถเข้าไปช่วย เข้าไปสร้างความมั่นใจให้กับตลาดได้ ให้สภาพคล่องให้ตลาดได้ เพราะของที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นของที่ดี มีคุณภาพ นั่นก็เป็นตัวอย่างที่เราทำ

 

เมื่อดูในภาพใหญ่ขึ้นว่ากองทุนรวมตราสารหนี้พวกนั้นมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังไหลลงไป ในช่วงที่เกิดข่าวเรื่อง Super Spreader มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก พร้อมด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมา มาตรการที่ให้คนอยู่บ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างยุติลง ถ้าคนมีความไม่มั่นใจ มันมีจุดเปราะบางอะไรอีกบ้างที่อยู่ในระบบการเงินไทย ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้

 

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีมูลค่ารวมกันกว่าประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบกับสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ภาคธุรกิจก็มีประมาณ 14 ล้านล้านบาท อันนี้ 3.6 ล้านล้านบาท มากกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ประชาชาตหรือ GDP ของประเทศ 

 

เวลาที่มองว่า ‘ไปช่วยคนรวยหรือเปล่า’ คนมักจะมองด้านผู้ออกตราสาร ว่าผู้ออกตราสารมีจำนวนบริษัทไม่มากเท่าไร และเป็นบริษัทขนาดใหญ่

 

บางคนก็อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมต้องไปช่วยเขาด้วย เขารวยอยู่แล้ว

แต่เวลาดูเสถียรภาพระบบการเงิน ความเชื่อมโยง เราควรจะต้องดู ‘ผู้ถือตราสาร ผู้ที่ไปลงทุน’ มากกว่าผู้ออกตราสาร ถ้าดูผู้ถือตราสารหนี้เอกชน ประเด็นแรกเลยจะพบว่า เกือบทั้งหมดถือโดยคนไทย มีต่างชาติถือน้อยมาก

 

ประเด็นถัดมาคือ ‘ถือโดยตรงโดยประชาชนที่ไปลงทุน’ เพราะเวลาตราสารหนี้มีการเสนอขาย ก็ขายผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ ประชาชนก็ไปซื้อกัน อาจจะเป็นประชาชนที่มีเงินเย็น พอมีเงินออม 

 

อีกกลุ่มหนึ่งคือ ‘การลงทุนทางอ้อมของประชาชน’ ที่ถือผ่านสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม รวมถึงบริษัทประกันชีวิตซึ่งก็รับเงินของประชาชนมาแล้วมาลงทุนต่อ พวกนี้จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ขึ้นไป 

 

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าเป็นเงินของประชาชน เวลาที่ประชาชนไม่มีความมั่นใจ ผู้จัดการกองทุนไม่มีความมั่นใจ หยุดลงทุนในตลาดตราสารหนี้ มันก็จะเกิดผลที่ลามไปสู่ภาคการเงินอื่นๆ ได้ บริษัทที่ประกอบธุรกิจดีมาโดยต่อเนื่อง ก่อนหรือหลังจากเหตุการณ์โควิด-19 เขาก็ยังมีศักยภาพจะทำธุรกิจได้ แต่ไม่สามารถ Roll Over (ขยายเวลาเงินกู้) ตราสารพวกนี้ได้ มันก็จะเกิดผลกระทบทั้งในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงด้วย 

 

นี่คือโจทย์ใหญ่การดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางสมัยใหม่ ซึ่งจะต้องมองระบบการเงินให้กว้างกว่าแค่ธนาคารพาณิชย์ มองความเชื่อมโยงของระบบการเงิน

 

เรามีคำขวัญประจำธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ‘จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม’ เป็นคำขวัญของกลุ่มงานเสถียรภาพระบบการเงินที่เราตั้งเป้าขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะเราให้ความสำคัญการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินมาก

 

ในเชิงเป้าหมายพอเห็นภาพ แต่ในเชิงวิธีการ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า เราทำผ่านธนาคารภาครัฐหรือวิธีการอื่นๆ ได้ไหม มีอะไรที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจได้ว่ามัน ‘โปร่งใสจริง’

ขนาดของตลาดเป็นขนาดที่ใหญ่ ทุกวันนี้สถาบันการเงินของรัฐหรือกึ่งรัฐก็มีภาระอยู่มากในการช่วยทำนโยบายหลายอย่างตามนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น Soft Loan การให้สินเชื่อกับประชาชน ซึ่งเงินและงบดุลของเขาก็มีอยู่อย่างจำกัด

 

แล้วเขาไม่ใช่คนที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจพวกนี้อยู่ ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ดั้งเดิม เวลาที่จะทำเรื่องแบบนี้จะต้องทำได้เร็ว เพราะเวลาที่เราจะทำอะไรก็ตามที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ดับไฟไม่ให้ลาม มันต้องทำด้วยความรวดเร็ว ในขนาดที่ใหญ่พอ สอดคล้องกับตลาดและขนาดของปัญหา 

 

ในรูปแบบที่เราจะทำ เราก็ได้ศึกษาโมเดลมาจากหลายประเทศที่ทำ เราไม่ใช่ธนาคารกลางแรกที่ลุกขึ้นมาช่วยดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ในสหรัฐฯ แคนาดา สวีเดน อังกฤษ ธนาคารกลางสหภาพยุโรป หรือธนาคารเกาหลีก็ทำกัน หลายธนาคารกลางมีโครงการแบบนี้ต่อเนื่องมา และเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ความไม่แน่นอนสูงขึ้น จึงได้ขยายให้กว้างขึ้นไปอีก

 

ของเราอาจจะทำตั้งต้นคล้ายๆ กับสิ่งที่เกาหลีได้ทำ นั่นคือการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาหนึ่งกองทุนช่วยทำหน้าที่เสริมสภาพคล่องให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน นั่นก็เป็นกองทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เงินที่ได้จากการจัดการบริหารสภาพคล่องของเรา ใส่เข้าไปในกองทุนไม่เกิน 400,000 ล้านบาท 

 

โดย 400,000 ล้านบาท มาจากการที่เราดูว่ามีตราสารหนี้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเป็นระดับที่ลงทุนได้หรือ Investment Grade จะครบกำหนดราว 960,000 ล้านบาทในช่วงปีนี้จนถึงสิ้นปีหน้า กองทุนนี้จะทำหน้าที่ไปเติมเต็มในกรณีที่เขาไม่สามารถ Roll Over ได้ในช่องทางปกติ เราจะไปเติมเต็ม 

 

‘เขาจะต้องไประดมทุน ไม่ว่าจากธนาคารพาณิชย์หรือจากตลาตราสารหนี้ปกติไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง’ ถึงจะสามารถขอส่วนที่เติมเต็มตรงนี้ได้ เขาจะต้องไปหาเงินของเขามาก่อนให้ไม่น้อยกว่าสัดส่วนครึ่งหนึ่งของส่วนที่จะครบกำหนด ถึงจะมีสิทธิ์มาขอได้ ถึงเป็นที่มาที่ทำให้เรามองว่า ถ้าจะครบกำหนดราว 960,000 ล้านบาท เราไม่รู้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าเราจะช่วยสักครึ่งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของ 400,000 ล้านบาท 

 

สิ่งที่เราทำ ถ้าอุปมาอุปไมยง่ายๆ กับสภาวะของสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เราทำเปรียบเหมือนการสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ไม่ได้สร้างห้องฉุกเฉิน ไม่เหมือนกัน ห้องฉุกเฉินคือ ถ้าเขาป่วยแล้ววิ่งเข้ามาหาเรา เราจะช่วยดูแล ปั๊มหัวใจ ช่วยให้เขารอดชีวิต แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่

 

ระบบปกติ ‘ระบบการทำงานของตลาดการเงินของธนาคารพาณิชย์’ เป็น ‘ช่องทางหลัก’ เป็นโรงพยาบาลหลักที่เขาต้องทำหน้าที่ดูแล แต่เมื่อไรก็ตามที่การระบาดบานปลายมาก แล้วเราต้องการโรงพยาบาลสนามมาช่วย เพื่อไม่ให้สถานการณ์มันลุกลามบานปลายออกไป กองทุนที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเข้ามาทำหน้าที่คล้ายๆ กับโรงพยาบาลสนาม

 

เพราะฉะนั้นผมถึงเรียนว่า อันดับแรกเขาจะต้องไปหาเงินตามช่องทางปกติ ด้วยกลไกปกติ ซึ่งเราจะยึดหลักว่า คุณต้องไปออกตราสารใหม่ขายในตลาดด้วย สองคือ ต้องไประดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ เพราะลูกค้าพวกนี้ก็จะมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์อยู่ ซึ่งจะต้องทำทั้งสองช่องทางและได้เงินมาในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินที่จะครบกำหนด ถึงจะมีสิทธิ์มาขอ ‘ส่วนที่จะเติมเต็ม’ 

 

โดยบริษัทที่จะมาขอสภาพคล่องในส่วนนี้ได้ ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ขึ้นไป เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ไปช่วยบริษัทในกลุ่ม Below Investment Grade พวกนั้นคนถือตราสารก็จะเป็นกลุ่ม High Network เป็นคนที่ถือในนามบุคคล เป็นคนที่รวย พวกนั้นไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความเชื่อมโยงเสถียรภาพระบบการเงิน เขาไปลงทุน ก็ต้องรับความเสี่ยงของเขาเอง สิ่งที่เราเป็นห่วงคือกลุ่มที่เป็นบริษัทที่ดีในภาวะปกติ เขาก็ทำธุรกิจได้ Roll Over ตราสารได้ แต่ในภาวะที่ตลาดมันบาง เกิดความผิดปกติ มันถึงจำเป็นจะต้องมีกลไกเสริมเพื่อเป็นหลังพิง เป็นโรงพยาบาลสนามที่เข้าไปช่วย

 

ที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยที่เราคิดจะแพงกว่าช่องทางอื่นที่เขาได้มา เป็นเงื่อนไขของการลงทุน เขาไปออกตราสารขายให้กับประชาชน กองทุนรวมในตลาดปกติด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าไร เราก็ดูว่าที่คุณไปได้จากธนาคารมันเท่าไร อันไหนแพงกว่า เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้งต้น แล้วเราบวกเพิ่มไปอีก เพราะนี่เป็นหลักของธนาคารกลาง เงินของธนาคารกลางจะเป็นแหล่งสุดท้าย เขาต้องไปใช้ช่องทางหลักมาก่อน

 

นอกจากนี้เราให้เงินเป็น ‘สภาพคล่อง’ ให้ระยะสั้นไม่เกิน 270 วัน เปรียบเสมือน ‘Bridge Financing’ ในภาวะที่ตลาดอาจจะบาง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง นี่ก็เป็นการออกแบบกลไกเพื่อให้แน่ใจว่าเราได้เข้าไปดูแลปัญหาสภาพคล่องให้กับบริษัทที่ดี มีความสามารถในการทำธุรกิจต่อเนื่อง มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ที่เข้ามารับรองอันดับก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือ

 

และเราก็ยังเป็น ‘ด่านสุดท้าย’ ที่เขาจะต้องไปหาความช่วยเหลือจากที่อื่นมาก่อน ของเราจะแพงที่สุด และเป็นเงินระยะสั้น

 

โรงพยาบาลสนาม 400,000 ล้านบาท มีคนเริ่มเข้ามาขอแล้วหรือยัง คิดว่าจะเริ่มได้ใช้ประมาณช่วงไหน

ผมว่าไม่น่าจะเยอะ ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเราดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ตลาดวันนี้ ตลาดการเงินเมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่แล้วก็มีความนิ่งขึ้นเยอะ ซึ่งเดือนที่แล้วก็มีความกังวลเยอะมาก จากทั้งโควิด-19 และกองทุนรวม

 

แต่ในวันนี้ตลาดการเงินก็นิ่งขึ้น โรงพยาบาลสนามของเราก็มีคอนเซปต์เดียวกันกับโรงพยาบาลสนามที่กระทรวงสาธารณสุข ถ้าไม่มีใครมาใช้ก็ยิ่งดี เรามีเครื่องมือเตรียมไว้พร้อมใช้ ‘ถ้าจำเป็น’ แต่ถ้าไม่มีใครมาใช้ก็แสดงว่ากลไกหลักทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องมาใช้โรงพยาบาลสนาม เลยคิดว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คนที่เขามาขอคงไม่เยอะ

 

แต่ตอนนี้เริ่มมีคนมาใช้หรือยัง

ยังครับ พ.ร.ก. เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่เราเพิ่งประชุมคณะกรรมการกำกับกองทุนกันไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ทั้งในการจำกัดผู้ที่จะเข้ามารับสิทธิ์ เกณฑ์การเข้ารับสิทธิ์ หรือใครจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มาช่วยการบริหารจัดการหลังบ้าน นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์บริหารความเสี่ยงอีกหลายข้อ มีเงื่อนไขอีกหลายอย่างสำหรับผู้ที่จะมาขอ คิดว่าอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อจากนี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนของระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้มากขึ้น

 

คิดว่ามีช่องโหว่ หรือมองว่าเราทำกลไกได้รัดกุมมากพอแล้วหรือยัง เพราะมีหลายคนเสนอเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การจ้างงาน เป็นไปได้ไหมที่บริษัทที่จะเข้ามาขอเงินช่วยเหลือจากโรงพยาบาลสนามโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปได้ไหมที่จะมีเงื่อนไขให้เขาไม่ปลดพนักงานออก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญมาก

เราเป็นห่วงในประเด็นการจ้างงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก เพราะในธุรกิจ เขาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ หรือในทางปกติที่ธุรกิจจะต้องลดขนาดตัวเองในบางอุตสาหกรรม เพราะโควิด-19 อาจจะทำให้เขามี Assess Capacity (การประเมินความสามารถ) อยู่

 

เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องมีการปรับในเชิงการทำธุรกิจ เราจึงอาจจะไม่ได้มีเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่ก็จะมีเงื่อนไขอีกหลายเรื่องที่จะทำให้ประเด็นนี้เป็นวิธีสุดท้ายจริงๆ (Last Resort) เช่น ถ้าใครมาขอความช่วยเหลือจากเรา เราจะห้ามนำเงินที่ได้ไปใช้ในการลดทุน จ่ายคืนเงินกู้กรรมการ ผู้ถือหุ้น บริษัทในเครือ ห้ามไปจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิ์ได้รับปันผลในช่วงที่บริษัทนั้นๆ เข้ามาขอความช่วยเหลือ ห้ามไปจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารระดับสูงสองลำดับแรก นั่นคือซีอีโอและระดับรองลงมา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่คณะกรรมการได้พิจารณาและคิดว่าน่าจะทำให้แน่ใจว่า เราทำโดยไม่ได้ต้องการจะช่วยบริษัทนั้นๆ แต่เพื่อรักษาระบบให้สามารถมีสภาพคล่องเพียงพอและเดินหน้าไปได้

 

คิดว่ามาตรการนี้คือ QE หรือเปล่า (Quantitative Easing คือมาตรการทางการเงินที่รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน)

ไม่ใช่นะครับ QE คือ Quantitative Easing ซึ่งธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008-2009 ซึ่งอาจจะมีเหตุผล 2 ประการ

 

ประการแรกคือการลดอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงศูนย์หรือติดลบในหลายประเทศ ประการที่สองคือ ธนาคารพาณิชย์มีปัญหา เพราะเกิดวิกฤตการเงิน จึงไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองในการปล่อยสินเชื่อให้กับระบบเศรษฐกิจได้ 

 

ธนาคารกลางแทนที่จะคุมอัตราดอกเบี้ย ก็ทำ QE กำหนดเลยว่า จะนำเงินใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจทุกเดือนในจำนวนเท่าไร เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อเข้าไปซื้อหุ้น ตราสาร หุ้นกู้เอกชน หรือไปปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ 

 

เคสนี้เป็นเคสโรงพยาบาลสนาม เราไม่มีเป้าว่าจะนำเงินใส่เข้าไปเท่าไร เราเป็นแค่หลังพิงว่า ถ้าเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง คุณไปจัดการกันด้วยระบบปกติก่อน ถ้าขาดและต้องการเติมเต็ม ก็จะพิจารณาช่วยให้สภาพคล่องเพื่อเติมเต็ม เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์จะต่างจาก QE วัตถุประสงค์ของเราคือการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

 

การช่วยเหลือประชาชน วิสาหกิจขนาดเล็ก กลาง เราได้เห็นหลายๆ มาตรการ ทั้งการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือให้สินเชื่อ Soft Loan ขออนุญาตถามแทนประชาชนหลายๆ คนที่อาจจะสงสัย เช่น เมื่อปล่อยมาตรการออกมาแล้ว เขาก็ไปขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งธนาคารพาณิชย์บางแห่งก็อาจจะไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการที่แบงก์ชาติได้บอกออกมา มีความแตกต่างกันออกไป อยากทราบว่าในเชิงกลไก แบงก์ชาติสามารถเข้าไปขอความร่วมมือหรือสั่งได้หรือไม่

ผมอาจจะถอยหลังย้อนกลับไปสักนิดว่า มาตรการที่เราทำ ทำในมิติใดและมีวัตถุประสงค์ในเรื่องอะไรบ้าง เราเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 มันเกิดผลกระทบกว้างไกลมาก ตอนแรกอาจจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เมื่อมันระบาดไปทั่วโลก มันจึงกระทบกับทุกอุตสาหกรรม รวมถึงลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานของธุรกิจต่างๆ

 

เราให้น้ำหนักอาจจะ 2-3 เรื่อง เรื่องแรก เราคิดว่าระยะยาว ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจหลังโควิด-19 กระแสเงินสดของภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นมาตรการที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ คือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงการออกเกณฑ์ที่จะสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้สามารถเลื่อนชั้นได้เร็วขึ้น สถาบันการเงินไม่ต้องตั้งสำรองมากเหมือนตามเกณฑ์ปกติเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้

 

แต่เมื่อสถานการณ์มันไหลลงไปมากขึ้นไปอีก เราก็มาดูว่ากลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากคือ ‘ประชาชน’ ที่มีสินเชื่อหลากหลายประเภท สินเชื่อเครดิตการ์ด สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ พวกนี้ประชาชนมีความกังวล นอกจากนี้หลายคนที่มีปัญหาการจ้างงาน ถูกหั่นค่าแรง หรือถูกพักงานชั่วคราวก็ไม่สามารถจ่ายได้ 

 

เราถึงออกแนวปฏิบัติเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติในการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ออกไป เพื่อที่ในช่วงเวลานี้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องกังวลประเด็นการชำระหนี้ เดี๋ยวไม่จ่ายแล้วจะติดเครดิตบูโร สามารถเลื่อนออกไปได้โดยไม่ถือว่าเป็นหนี้เสีย 

 

ซึ่งในส่วนนี้จะสอดรับกับนโยบายที่กระทรวงการคลังได้พยายามทำในอีกด้าน นั่นคือการเติมรายได้ให้กับประชาชน แล้วประชาชนที่ต้องการสินเชื่อ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐก็จะเข้ามาช่วยในด้านการให้สินเชื่อ

 

กลุ่มที่ 3 คือ ภาคธุรกิจ จะเห็นว่ามีมาตรการการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ การพักชำระหนี้ของธุรกิจที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ก็สามารถเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ไปได้เลย 6 เดือน ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการปกติในสภาวะที่ไม่ปกติ 

 

รวมทั้งการทำ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยที่มีการออก พ.ร.ก. ไป ซึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเงินเพื่อไปทำ Soft Loan ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 2 ต่อปี ที่สถาบันการเงินจะไปคิดกับภาคธุรกิจ ให้ได้กับกลุ่มธุรกิจที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท เพราะเราเห็นว่าธุรกิจขนาดกลางเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจไทย

 

แต่ละมาตรการจะออกมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน ในช่วงแรกของการช่วยดูแลประชาชน เลื่อนกำหนดการชำระหนี้ อย่างที่เรียนว่า เรากำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เพราะแต่ละสถาบันการเงิน เขามีโครงสร้างการเงินและลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน บางสถาบันการเงินอาจจะมีเครดิตการ์ดเยอะ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็ให้สิทธิ์เขาว่า ส่วนที่เกินจากเกณฑ์ขั้นต่ำ เขาสามารถไปทำเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของสถาบันการเงิน เพราะเวลาพักหนี้ เงินเขาไม่เข้ามา แต่เขายังต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องบริหารกระแสเงินสดของเขาให้สอดคล้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ดังนั้นในช่วงแรกอาจจะขลุกขลักบ้าง 

 

แล้วที่ขลุกขลักอีกด้านคือการติดต่อสถาบันการเงิน ปกติใครอยากติดต่อสถาบันการเงินจะต้องติดต่อผ่าน Call Center แล้วถ้าคนจำนวนหลายล้านคนโทรพร้อมกัน มันก็จะเกิดปัญหา จึงใช้เวลาสักระยะให้สถาบันการเงินพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งก็ประกาศว่าจะให้บริการทั่วไป ไม่จำเป็นต้องติดต่อเข้ามาที่สถาบันการเงิน 

 

ก็จะเห็นว่ายอดประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือดีขึ้นมาก เปรียบเทียบเป็นกราฟก็จะเป็น Exponential วันนี้ตัวเลขที่ผมเห็นล่าสุดก็มีประชาชนกว่า 3.5 ล้านคนที่ได้รับการดูแล ช่วยเหลือจากสถาบันการเงินทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือพักงวดการชำระสินเชื่อบางประเภท ลดอัตราดอกเบี้ย เลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

ส่วนที่อาจจะมาช้าหน่อย และประชาชนจะโทรมาบ่น เล่าให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคือกลุ่ม Non-bank หรือไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ณ วันนี้มี Non-bank จำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตอนที่เราทำมาตรการ เราก็ชวนสมาคมต่างๆ มาช่วยกันออกแบบมาตรการ แล้วเราก็อยากจะให้เขามีวิธีปฏิบัติเหมือนกัน 

 

แต่เงินที่ Non-bank ระดมมันไม่ใช่เงินฝาก เขาต้องไประดมเงินมาด้วยวิธีการที่หลากหลายซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนสูง ต้องบริหารกระแสเงินสดให้เหมาะสม ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็ได้จัด Soft Loan ผ่านธนาคารออมสินจำนวนกว่า 80,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม Non-bank เพื่อให้นำไปลดดอกเบี้ยและยืดเวลาชำระหนี้ให้กับประชาชนต่อ 

 

เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็จะเริ่มเห็น Non-bank ออกมาลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ให้กับประชาชน ตอนนี้เราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง เรามีเว็บไซต์รวบรวมแนวทางการช่วยเหลือของสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแลและกำกับของเรา ว่าเขามีโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านใดบ้างในแต่ละผลิตภัณฑ์ ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้เลย 

 

นอกจากนี้เรายังมีสิ่งที่เรียกว่าทางด่วนแก้หนี้ด้วย ถ้าประชาชนติดต่อไปที่สถาบันการเงินแล้วได้รับคำตอบช้า ก็สามารถแจ้งให้กับระบบธนาคารแห่งประเทศไทยทราบผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในทุกๆ วันเราก็จะส่งข้อมูลต่อให้กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง โดยมีประชาชนหลายคนที่มาใช้ช่องทางนี้แล้วพบว่าได้รับฟีดแบ็กกลับที่เร็ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

 

ที่เล่ามาทั้งหมด อยากให้ทาง ดร.วิรไท ประเมินในเชิงประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือใน 3 ส่วน วิสาหกิจขนาดเล็ก กลาง ประชาชน มันเข้าเป้าและทันท่วงทีหรือไม่ เพราะประชาชนบางส่วนที่เดือดร้อนอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาต้องการมากกว่านี้หรือเปล่า

ก็ต้องเรียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครเตรียมการหรือคาดคิดมาก่อน มีประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นล้านๆ คนที่ได้รับผลกระทบ ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกอาจจะ ‘ช้าไปหน่อย’ เนื่องจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปปรับระบบภายในของเขา ตั้งแต่ระบบคอมพิวเตอร์หลังบ้าน ระบบรับข้อมูล ติดต่อกับประชาชน แล้วสถาบันการเงิน ด้วยการที่เราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ธนาคารสาขาก็ปิด ไม่สามารถให้บริการได้แบบเดิม จึงเป็นปัญหาอยู่บ้าง

 

การดูแลประชาชนเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาอีกเยอะ เราก็ได้กำชับกับสถาบันการเงินผ่านทีมงานแบบวันเว้นวันเพื่อตามข้อมูลพวกนี้ว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง มีแนวนโยบายที่ชัดเจน มีทีมงานที่ดูแลหรือเปล่า โดยเฉพาะกับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนนี้ก็จะ Apply ไปกับกรณี Soft Loan ที่ให้กับลูกหนี้กลุ่ม SMEs เช่นกัน

 

หลายท่านก็ได้แจ้งเข้ามายังธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ‘Soft Loan 5 แสนล้านบาท หมดแล้วเหรอ ทำไมยังไม่ได้เลย’ ต้องเรียนว่ายังไม่หมดนะครับ แต่ยังไม่ได้เริ่มใช้ เพราะตัว พ.ร.ก. เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สัปดาห์หน้าเราจะเริ่มปล่อย Soft Loan ตามคำขอที่สถาบันการเงินได้รับจากลูกหนี้ และผ่านเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงินแล้ว เขาก็จะเริ่มส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสัปดาห์หน้า แล้วเราก็จะเริ่มปล่อยเงินให้ในกรณีที่ลูกหนี้ที่เข้ามาขอ เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ แล้วเราก็ได้กำชับสถาบันการเงินเป็นแนวปฏิบัติชัดเจนว่า

 

  1. ห้ามคิดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากที่ พ.ร.ก. กำหนด ซึ่งก็มีคนมาฟ้องว่า สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ย 2% ต่อปีจริง แต่มาขอค่าธรรมเนียมส่วนหน้า (Front End Fee) ซึ่งเราก็ประกาศชัดเจนเลยว่าเป็นโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย ห้ามสถาบันการเงินไปบวกอะไรเพิ่มเติม

 

  1. ต้องทำให้แน่ใจว่ากระจายทั่วถึง ไม่ใช่ให้แค่เฉพาะลูกหนี้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ หรือลูกหนี้ขนาดใหญ่ ต้องมีแนวนโยบายหรือทีมงานภายในที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าเงินจะสามารถกระจายไปให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ที่สำคัญคือต้องมีทีมงานทำงานดูแลลูกหนี้กลุ่ม SMEs รายย่อยด้วย ไม่ใช่เน้นแต่รายใหญ่ๆ ที่อาจจะมีความคุ้นเคยกัน

 

ทั้งหมดเป็นโครงการที่พิเศษมาก เราเคยทำ Soft Loan ครั้งล่าสุดตอนที่ไทยต้องเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554-2555 ช่วงนั้นใช้เงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในจำนวน 210,000 ล้านบาท และเป็นเงินของสถาบันการเงินเติมเข้ามาอีก 90,000 ล้านบาท รวมแล้วเท่ากับ 300,000 ล้านบาท

 

คราวนี้เป็นเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดสรรสภาพคล่องให้ 500,000 ล้านบาท สถาบันการเงินไม่ต้องมาเพิ่มเป็น Top-up แล้วที่สำคัญ รัฐบาลมาช่วยชดเชยความเสียหายให้ด้วย ถ้าเกิดปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2 ปี เกิดความเสียหายขึ้น เพราะฉะนั้นก็เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ที่จะช่วยกันให้เงินสามารถออกไปได้เร็ว ออกไปให้กับรัฐวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและย่อมที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราก็จะติดตามผลอย่างใกล้ชิด

 

แต่ก็จะมีคำถามที่ว่า ถ้าหากเขาไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์บางเจ้า แต่อยากเริ่มเข้าไปใช้บริการเพราะเดือดร้อนจริงๆ หรือบางคนยอมรับว่าอดีตอาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าชั้นดีที่สามารถกู้ยืมได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขามีความเดือดร้อนจริงๆ ตรงนี้เราได้กำชับกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินว่าอาจจะให้มีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า อย่างไร

แต่ละเครื่องมือก็จะมีวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันออกไป อย่าง Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คิดอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ 0.01% แล้วธนาคารพาณิชย์ไปคิดต่อร้อยละ 2 ต่อปี ความเสี่ยงในกรณีเป็นหนี้เสีย รัฐบาลมาช่วยส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เหลือธนาคารต้องเป็นผู้รับ นี่คือกลไกที่จะช่วยลูกค้าเก่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นลูกค้า NPL ธนาคารรู้จักดีอยู่แล้วก็จะปล่อยได้เร็ว

 

แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติกับธนาคารพาณิชย์เลย กระบวนการขอสินเชื่อก็อาจจะต้องไปเข้าผ่านช่องทางปกติของธนาคารพาณิชย์ เพราะว่าเขาไม่รู้จักความเสี่ยงของลูกค้าที่เข้ามาเลย อีกช่องทางหนึ่งคือการไปธนาคารออมสิน ซึ่งจะมี Soft Loan อีกก้อนที่สามารถปล่อยให้กับลูกค้าใหม่ได้ ไม่ได้มีเกณฑ์เหมือนกับ Soft Loan ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

ส่วนของธนาคารออมสินก็สามารถใช้สิทธิ์การค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ด้วยเพื่อจะลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้กับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อย

 

ทั้งหมดที่กล่าวมา มองว่าเพียงพอหรือไม่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ยังต้องมีการประชุมกันเพิ่มไหมว่าจะออกมาตรการใดมาอีกหลังจากนี้

ผมคิดว่าวิกฤตการการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ และจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ภาคธุรกิจของระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งก็จะมีประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างกว้างไกล มาตรการในชุดที่เราทำเป็นชุดแรกๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเยียวยา บรรเทาผลกระทบที่เกิดจากแรงกระแทก ก็จะมีการประเมินโดยต่อเนื่องว่าจำเป็นต้องทำมาตรการใดเพิ่มเติมหรือเปล่า

 

แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มนิ่ง ผมคิดว่าเราต้องมาคิดกันในลำดับต่อไปว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภูมิทัศน์ Landscape ต่างๆ มันจะเปลี่ยน วิธีการทำธุรกิจก็จะไม่ใช่รูปแบบเดิม ธุรกิจหลายอย่างที่เป็นธุรกิจที่เราคิดว่ามีศักยภาพสูงก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เพราะว่าโลกหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม

 

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกออกมาแล้ว ประเมินหลายที่ก็พบว่ากำไรหดกันเยอะ โดยในช่วงไตรมาสสองนี้น่าจะเป็นของจริงแล้ว มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหายหลายธนาคารก็มักจะได้ยินคำตอบที่ว่า บางครั้งก็ต้องยอมที่จะให้เกิด NPL สูง ตรงนี้มองอย่างไร มีมาตรการใดจะเข้าไปช่วย หรือกังวลกับภาพรวมผลประกอบการที่เกิดขึ้นไหม 

เป็นเรื่องที่ไม่ต่างจากที่เราคาดคิด ต้องเรียนว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องมี ‘กันชนที่มากพอ’ เพราะโลกที่เราอยู่เป็นโลกแบบ VUCA มีความไม่แน่นอนสูง ผันผวนและซับซ้อนสูง ผลที่เกิดขึ้นมันคลุมเครือไม่ชัดเจนเหมือนที่คาดไว้

 

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เราก็มีแนวนโยบายที่จะส่งเสริมให้เขามีเงินกองทุนที่สูง ตั้งสำรองให้มากพอ ซึ่งทุกธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องผ่านการทดสอบภาวะวิกฤตของระบบการเงิน (Macro Stress Test) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสมติฐานที่เราใช้ก็เช่น GDP ติดลบหลายเปอร์เซ็นต์ เขาเพียงพอไหม คิดสถานการณ์ต่างๆ

 

เพราะฉะนั้นสถานการณ์โรคระบาดที่เผชิญในวันนี้ก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เราคิดไว้ ผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับแนวนโยบายที่เราพยายามบอกให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีแนวกันชนที่มากพอ ซึ่งวันนี้ก็เป็นประโยชน์เพราะทำให้เขาสามารถใช้กันชนเหล่านั้นในการดูแลลูกหนี้ ลดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจได้ 

 

ในช่วงสั้นๆ ปีนี้แน่นอนว่าผลกระทบของเขาก็จะต้องด้อยกว่าช่วงที่ผ่านๆ มา NPL ก็ต้องสูงขึ้นเป็นปกติ อีกด้านหนึ่งที่ดูคือการทบทวนกฎเกณฑ์การกำกับการดูแลของเราด้วย บางเรื่องอาจจะมีการผ่อนปรนชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การจัดชั้นหนี้ของหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เราก็มีการผ่อนปรนเพื่อให้หนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถกลับมาเป็นชั้นปกติได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมีภาระสำรอง และให้สถาบันการเงินเร่งไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วย

 

หรือแม้กระทั่งเกณฑ์สภาพคล่อง ถ้าวันนี้เราบอกให้เขาพักเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ออกไป ด้านกระแสเงินสดของเขาก็จะลดลง เพราะฉะนั้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องต่างๆ เราก็ผ่อนคลาย แต่เราก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่เราทำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับระบบธนาคารพาณิชย์

 

ต้องเรียนว่า ณ วันนี้เราโชคดีกว่าหลายๆ ประเทศที่ระบบธนาคารพาณิชย์ของเรามีกันชนและความเข้มแข็งมาก สามารถทำหน้าที่ให้กลไกระบบธนาคารพาณิชย์ยังเดินต่อไปได้ แม้ว่าเราจะได้รับแรงกระแทกรุนแรงจากโควิด-19 เราก็ต้องพยายามรักษาความเข้มแข็งของระบบธนาคารพาณิชย์ต่อไป เพื่อช่วยให้ช่วงเวลาที่เข้าสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เขาจะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็งด้วยเช่นเดียวกัน

 

หลังจากนี้มองอย่างไรต่อ เพราะเห็นแบงก์ชาติได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า GDP ไทยจะติดลบ 5.3% หลังจากนี้จะมีการปรับประมาณการ หรือมองตลอดทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร

ยังเป็นเรื่องที่ตอบชัดเจนได้ยาก เพราะต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแบบใกล้ชิดทั้งในประเทศและระดับโลก เพราะเราเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีขนาดเล็ก ทั้งยังพึ่งพิงกับเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องติดตามสถานการณ์โดยต่อเนื่อง เราก็จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจของเราทุก 3 เดือนหรือทุกไตรมาส

 

อีกด้านที่มีความสำคัญเช่นเดียงกันคือนโยบายภาครัฐ ที่มาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเดือนถึงสองเดือนที่ผ่านมาจะเห็นรัฐบาล กระทรวงการคลัง ทำมาตรการหลายอย่างช่วยอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่เรายังต้องประเมินโดยต่อเนื่อง

 

แต่ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องทบทวนรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง และอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วในช่วงเวลาสั้นๆ คนระมัดระวังการเดินทาง อุตสาหกรรมด้านความบันเทิงที่ต้องอาศัยคนมารวมตัวกันจำนวนมากๆ ในพื้นที่จำกัดก็จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีพัฒนาการวัคซีนหรือวิธีการรักษาได้เร็วแค่ไหนด้วย 

 

ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยโลจิสติกส์ระหว่างประเทศก็อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ได้รับผลกระทบที่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็มีโอกาส เช่น อุตสาหกรรมที่พยายามจะไปใช้ด้านดิจิทัลมากขึ้น และการทรานฟอร์ม Digital Transformation ก็จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาดไว้

 

อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ณ วันนี้ก็ได้ประโยชน์จากการที่ราคาพลังงานในตลาดโลกได้ปรับตัวต่ำลงมาก เช่นกันกับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทย โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่ามีความมั่นคงและสามารถส่งออกอาหารไปให้กับอีกหลายๆ ประเทศที่อุตสาหกรรมของเขาได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

เพราะฉะนั้นมันก็จะมีทั้งวิกฤตและโอกาส ซึ่งเราจะต้องร่วมกันทบทวนภูมิทัศน์ใหม่ หลังจากโควิด-19 รวมทั้งมิติในการทำธุรกิจ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและธุรกิจด้วย

 

มิติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ New Normal ที่จะเกิดขึ้น เมื่อสักครู่ได้พูดในแต่ละเซกเตอร์ไปแล้ว แต่ถ้าเป็นภาพรวมระบบการเงิน การคลังหรือเศรษฐกิจประเทศไทย ผู้ว่าฯ พอจะเห็นมุมไหนที่จะเป็นภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลง อะไรจะเป็น New Normal ที่เราต้องเข้ามาทบทวนอย่างจริงจัง

ผมอาจจะโฟกัสในภาคการเงิน เรื่องแรกเลยคือ ‘อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกคงจะต่ำต่อเนื่อง’ อีกนาน เราก็จะบ่นกันว่าอัตราดอกเบี้ยมันต่ำมาตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลก แล้วมันก็สร้างผลข้างเคียงเยอะมาก ไม่ช่วยสนับสนุนการออม แต่สนับสนุนให้คนเป็นหนี้มากขึ้น ก่อนจะเกิดโควิด-19 หนี้เมื่อเทียบกับ GDP โลกก็สูงเป็นประวัติการณ์ และก็มีจุดที่ไม่ควรได้รับสินเชื่อก็ได้รับ ทั้งในระดับประเทศ ซึ่งวันนี้เราก็จะเห็นข่าวว่าต้องมีโครงการผ่อนปรนหนี้ (Debt Relief Program) ให้กับหลายประเทศ เพราะเขาไปก่อหนี้เยอะเกินความสามารถที่จะจ่ายได้ ยิ่งเจอโควิด-19 ก็ยิ่งมีปัญหาขึ้นไปอีก

 

อัตราดอกเบี้ยจะต่ำต่อเนื่องไปอีกนานเลย เราก็ยังมีเครื่องมือที่จะใช้ได้ และคณะกรรมการนโยบายก็จะมีการทบทวนในทุกๆ ครั้งที่มีการประชุม นี่ก็เป็นภูมิทัศน์ข้อแรก ในขณะที่ตลาดเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง หนี้อยู่ในระดับสูง แล้วเราก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราต้องการจะส่งเสริมให้คนไทยมีเงินออมเพิ่มมากขึ้น แต่แรงจูงใจในการออมโดยเฉพาะในภาวะข้างหน้าก็ดูจะน้อยลง

 

เรื่องที่สองคือ ‘หนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น’ เพราะทุกรัฐบาลต้องมาทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว รัฐบาลก็ต้องมานั่งคิดวิธีที่จะต้องบริหารจัดการรายได้ รายจ่าย ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวเยอะมากหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ‘จะทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว’ รายจ่ายประจำสูงมากๆ ก็ไม่มีทางที่จะมาบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้

 

ทรัพย์สินของรัฐบาลมีอยู่เยอะมาก จะทำอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านั้นให้ได้มากที่สุดเพื่อหารายได้มาจ่ายคืนหนี้สาธารณะ การบริหารภาษีก็เป็นเรื่องสำคัญ อาจจะขึ้นอัตราภาษีไม่ได้ แต่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านภาษีก็จะเป็นหัวใจของภาครัฐบาลทุกประเทศ ผมไม่ได้พูดเฉพาะแค่กรณีของประเทศไทย นี่คือภาพที่ชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นผลมาจากการมีหนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ในระบบการเงินเอง เราก็จะเห็นความผันผวนสูงขึ้น เมื่อสภาวะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มันก็จะเห็นเงินที่ไหลไปมาในโลก ไหลข้ามประเทศเหมือนน้ำ เมื่อมันมีปริมาณมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันมันไหลได้เร็วขึ้น มันก็อาจจะสร้างความผันผวนให้กับระบบการเงินต่างๆ ได้ ซึ่งมันก็จะทำให้เรากลับมาคิดว่า ในภูมิทัศน์ใหม่ เราจะให้น้ำหนักในส่วนไหนกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เราจะให้น้ำหนักการสร้างภูมิคุ้มกันระบบการเงินไทยในมิติไหนบ้าง ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดกันเยอะมาก เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 ก็จะต่างไปจากเดิม

 

แบงก์ชาติพอจะมีคำตอบหรือยังครับกับโจทย์ดังกล่าว ตอนนี้เริ่มคิดถึงเรื่องนี้แล้วหรือยัง

ก็มีหลายทีมที่ได้คิดทั้งในระยะยาว-ปานกลางที่เราต้องทำ

 

หลายคนกังวลในประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่จะถ่างออกไปมากขึ้นกว่านี้ เมื่อดอกเบี้ยต่ำ คนที่มีเงินอยู่ในมือก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ขณะที่คนไม่มีเงินแค่ได้เงินสดมาอยู่กับตัวก็ดีใจแล้ว ช่องว่างระหว่างตรงนี้มันจะถ่างขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ว่าฯ มองประเด็นนี้อย่างไร หรือบทบาทแบงก์ชาติจะเข้ามารักษาเสถียรภาพหรือรักษาช่องว่างไม่ให้ถ่างไปมากกว่านี้ได้ไหม

ประเด็นนี้เป็นความกังวลทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทยและความกังวลส่วนตัว ว่าความเหลื่อมล้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ สินทรัพย์ และที่สำคัญคือ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส’ ในสถานการณ์โควิด-19 มันทำให้กลุ่มประชาชนที่มีรายได้และสินทรัพย์น้อยได้รับผลกระทบที่แรง

 

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต คนที่เป็นฐานล่างพีระมิดของสังคมจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบแรงที่สุด เพราะฉะนั้นก็จะต้องกลับมามองในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านโอกาส โอกาสการได้ความรู้ การพัฒนาตัวเอง การเข้าถึงบริการทางการเงิน การสร้างอาชีพใหม่ๆ เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญ

 

ที่แบงก์ชาติก็จะให้น้ำหนักกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์โควิด-19 เราก็พยายามจะคิดผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเพื่อให้ต้นทุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนถูกลง ทำอย่างไรที่จะทำให้บริการการเงิน สินเชื่อนอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลง

 

คุณเคนคงเห็นว่าเราก็เริ่มทำตั้งแต่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งไม่เคยอยู่ในการกำกับของแบงก์ชาติ แต่ประชาชนใช้เยอะมาก และรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เราก็เข้าไปขอกำกับดูแล สร้างกฎเกณฑ์กติกา เรื่องอัตราดอกเบี้ย เครดิตการ์ด เราก็เข้าไปกำกับดูแลในระดับที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนากลไกด้านการเงินดิจิทัล (Digital Finance) เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราทำสินเชื่อการเงินดิจิทัลหรือสินเชื่อ Factoring บนดิจิทัลได้ (บริการสินเชื่อระยะสั้น) ต้นทุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน ธุรกิจขนาดเล็กก็จะลดลง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลังโควิด-19 เราก็ต้องทำให้เร็วและมากขึ้น ฟินเทคต่างๆ ที่จะต้องเข้ามาช่วย

 

ตอนนี้เริ่มมีผู้ประกอบการหลายคนเริ่มฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง คนทำงานเริ่มปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น อยากให้ผู้ว่าฯ ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจ คนทำงานว่า ‘เราจะใชัชีวิตต่อไปอย่างไร’ หรือควรมี ‘ทัศนคติแบบไหน’

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมมองกลับไปถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับเรามาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่เพียงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่พระราชทานกับคนไทยมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 

 

มีหลักสำคัญๆ ที่เรียกว่าเป็นปรัชญาการดำรงชีวิต นำมาใช้ได้กับชีวิตของเราเอง การบริหารจัดการชีวิต การเงินส่วนตัว ไปจนถึงการทำธุรกิจ การทำหน้าท่ีของเรา หลักของการรู้จักความพอประมาณ​ สมเหตุสมผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของการต้องระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การใช้ชีวิตของเราในลักษณะที่พอประมาณ ใครก็ตามที่ทำอะไรสุดโต่งมันก็เป็นจุดเปราะบาง พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แล้วโลกข้างหน้าจะผันผวน จะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อีกมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะโลกร้อนก็จะมีเหตุการณ์โรคระบาด ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้อีกเยอะ

 

เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรสุดโต่ง รู้จักพอประมาณ ก็จะช่วยทำให้เรามีกันชนที่ดีในระดับหนึ่ง ความสมเหตุสมผลก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ แล้วต้องรู้จริง เข้าใจจริงในส่ิงที่เราทำ ในโลกที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้คือ ‘การสร้างภูมิคุ้มกัน’ ทุกอย่างที่เราทำจะต้องคิดว่า เราจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร เนื่องจากโลกข้างหน้าเป็นโรคที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และเป็นโลกที่จะเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะฉะนั้นใครมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพหรือภูมิคุ้มกันทางการเงิน ภาคธุรกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

 

บทเรียนที่ได้จากวิกฤตโควิด-19 ตลอดเวลาที่เข้ารับตำแหน่ง เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่หนักที่สุด บทเรียนกับตัวเอง คิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตโควิด-19

อาจจะกลับมาสอดคล้องกับงานที่เราทำ นั่นคือต้องพยายามมองให้ไกล อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วไปตามแก้ มันไม่ทัน ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง มันจึงมีความเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเป็นความเปลี่ยนแปลงคร้ังใหญ่ที่เกิดขึ้น เราต้องมองให้ไกล เร่งจัดการปัญหา วางแผนป้องกันปัญหาเสียก่อน เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยมาตามแก้ ต้นทุนมันจะสูงกว่ามาก แก้ยากกว่ามาก แล้วเราจะคอยตอบโต้กับมันตลอดเวลา

 

ผมคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า เราต้องพยายามองให้ไกล พยายามคิดสถานการณ์ต่างๆ วางแผนการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นดีกว่ามาตามแก้ทีหลัง

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Show note ปณชัย อารีเพิ่มพร
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising