×

5 เทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อเราจาก CES 2020 งานนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

21.01.2020
  • LOADING...

Consumer Electronics Show หรือ CES งานแสดงนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดมาหลายปีติดต่อกันที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา อะไรใหม่ อะไรเจ๋งที่สุดในโลก เราจะรู้ได้จากงานนี้ 

 

เคน นครินทร์ คุยกับ นัท-ปณชัย อารีเพิ่มพร Content Creator สายธุรกิจและเทคโนโลยีของ THE STANDARD ที่มีโอกาสไปร่วมงาน CES 2020 ถึงที่ กับประสบการณ์ ภาพรวม สิ่งที่ได้เรียนรู้ และเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบกับเราในไม่ช้า

 


 

1. AI และผู้ช่วยอัจฉริยะกำลังจะมีหน้าตาและลักษณะทางกายภาพเหมือนมนุษย์ 

ถ้าจะมองหานวัตกรรมดาวเด่นประจำงาน CES ในปีนี้สักอย่างที่ไม่ใช่หุ่นยนต์ Ballie หรือรถยนต์ต้นแบบ Vision-S และ Vision AVTR เราขอยกให้ ‘NEON’ โปรเจกต์พัฒนามนุษย์จำลอง (Artificial Human) ภายใต้ Samsung STAR Labs เพราะพวกเขาสามารถโน้มสปอตไลต์ทุกดวงให้หันมาที่ตัวเองได้อยู่หมัดตั้งแต่ช่วงที่งาน CES ยังไม่เริ่มต้นเลยด้วยซ้ำ

 

NEON คือโครงการพัฒนามนุษย์จำลองที่ริเริ่มโดย พรานาฟ มิสทรี (Pranav Mistry) นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอินเดียวัย 38 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงานคิดค้นนวัตกรรมเจ๋งๆ ให้ Samsung มาแล้วมากมาย โดยเฉพาะสมาร์ทวอทช์  Galaxy Gear

 

แนวคิดการพัฒนา NEON คือการสร้างมนุษย์จำลองขึ้นมาสวมทับผู้ช่วยอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์หรือแชตบอต เพราะทีมพัฒนาบอกกับเราว่า ในเชิงจิตวิทยา การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่มนุษย์พูดคุยกับ AI ดังนั้น มนุษย์จำลองก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในวันที่ผู้ช่วยอัจฉริยะเริ่มแพร่หลาย และผูกติดกับไลฟ์สไตล์มนุษย์

 

นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

นวัตกรรมของ NEON ขับเคลื่อนโดยแพลตฟอร์มเทคโนโลยี CORE R3 และ SPECTRA ซึ่งจะช่วยให้เหล่ามนุษย์จำลองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ อาชีพ และบุคลิกภาพ สามารถแสดงออกทางอารมณ์ เคลื่อนไหว และตอบโต้กับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงเหมือนที่มนุษย์คุยกันให้ได้มากที่สุด

 

ปัจจุบัน มนุษย์จำลองของ NEON เวอร์ชันต้นแบบยังจำเป็นต้องพึ่งพาโมเดลและหน้าตาของมนุษย์จริงๆ มาพัฒนาหรือออกแบบต่อ แต่ในอนาคตทางทีมงานตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ให้ได้แบบ 100% และมีท่าทีการโต้ตอบเป็นธรรมชาติไม่ต่างจากมนุษย์

 

CES 2020

 

ส่วนปลายทางของการพัฒนาเทคโนโลยี NEON คือการที่พวกเขาจะร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ภาคองค์กรธุรกิจในกลุ่มบริการ เพื่อนำมนุษย์จำลองไปให้บริการผู้บริโภคในอนาคต หมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นพนักงานต้อนรับที่เคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบิน ผู้ประกาศข่าว หรือแม้แต่เพื่อนคลายเหงาบนโลกดิจิทัลที่มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์จำลองของ NEON 

 

CES 2020

 

2. รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็น ‘เรื่องปกติ’ แต่คอนเซปต์คาร์สุดแหวกแนวและแท็กซี่บินได้คือ ‘อนาคต’

ในเวทีโลก ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบัน ค่ายผู้พัฒนารถยนต์หลายเจ้าก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนา EV กันมากขึ้น ถึงขนาดที่ค่ายรถยนต์หลายแห่งได้ประกาศวิสัยทัศน์ และโรดแมปมุ่งสู่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว เช่น BMW และ Daimler

 

ไม่ต่างจากงาน CES ปีนี้ ที่ค่ายรถยนต์จำนวนไม่น้อยเริ่มหาลูกเล่นใหม่ๆ มาใส่ให้กับยานยนต์ไฟฟ้าของตัวเองแทบทั้งนั้น เริ่มที่ Mercedes-Benz ค่ายผู้ผลิตรถจากเยอรมนีที่นำ Vision AVTR ยานยนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากภาพยนตร์ดังของวงการฮอลลีวูด ‘Avatar’ มาจัดแสดง

 

ความเจ๋งของ Vision AVTR ไม่ได้อยู่แค่นวัตกรรม สมรรถนะด้านการขับขี่ หรือความสามารถในการเคลื่อนตัวไปทางด้านซ้ายหรือขวาได้เหมือนกับลักษณะการเดินของปูเท่านั้น เพราะดีไซน์การออกแบบตัวรถ ซึ่งมีกลิ่นอายของดาวแพนโดราและวัฒนธรรมของชาวนาวีแบบเต็มๆ ก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน โดยเน้นแนวคิดการผสมผสานตัวรถ คนขับ และธรรมชาติให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

 

CES 2020

 

ฝั่ง Sony ก็สร้างความฮือฮาให้กับผู้คนทั่วโลก เพราะเลือกเปิดตัว Vision-S ต้นแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ‘คันแรก’ ของค่าย ที่แม้จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดชัดเจน รวมถึงไทม์ไลน์ในการผลิตจำหน่ายจริง แต่ก็นับว่าเป็นทิศทางที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะการที่เราได้เห็นค่ายผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเบนเข็มหันมาชิมลางเข้าสู่วงการยานยนต์

 

CES 2020

 

ขณะที่อีกบูธที่มีคนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลามคือ Hyundai เพราะงานนี้ยกเอา S-A1 ต้นแบบยานยนต์พลังงานไฟฟ้าบินได้ที่ในอนาคตจะให้บริการร่วมกับ Uber มาโชว์กันแบบตัวเป็นๆ ส่วน Bell Nexus พาร์ตเนอร์อีกรายของ Uber ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเอาต้นแบบแท็กซี่บินได้มาให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสด้วยการทดลองนั่งในตัวห้องโดยสาร

 

อย่างไรก็ดี เรามีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในทีมงานของ Bell และก็ได้ความเห็นที่น่าสนใจว่า บริการแท็กซี่บินได้อาจจะใช้เวลาในการ ‘เทกออฟ’ เปิดตัวให้บริการจริงนานพอสมควร โดยคาดว่าน่าจะเริ่มให้บริการได้เร็วที่สุดในปี 2026-2027 เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย ความปลอดภัย และการสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร

 

อีกประเด็นความท้าทายที่สำคัญคือ การพัฒนาจุดจอดตัวยาน รวมถึงการทำให้ประสบการณ์การใช้งานระบบขนส่งรูปแบบนี้มีความลื่นไหลและยั่งยืนมากที่สุด ก็น่าจะเป็นโจทย์สำคัญลำดับต้นๆ ที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ต้องคำนึงถึง

 

นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

3. ยุคของ Smart Home และ IoT ที่มี ‘ภาษา’ และ ‘ราคา’ เป็นอุปสรรคสำคัญ

ในงาน CES ไม่ว่าคุณจะเดินไปที่โซนจัดแสดงนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของค่ายผู้ผลิตรายใด สิ่งที่คุณจะได้เห็นเหมือนๆ กันคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะกลุ่ม Smart Home และ IoT ที่มีความสามารถในการพูดคุยและทำงานร่วมกันกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็น Smart Home เหมือนกัน และอยู่ในโครงข่ายเดียวกัน

 

ไม่ว่าจะบูธของ Samsung ที่มีทั้งหุ่นยนต์อัจฉริยะ Bot Chef หุ่นยนต์ผู้ช่วยปรุงอาหารชั้นดีที่ทำงานร่วมกับเตาไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่เป็น Smart Home ได้อย่างคล่องแคล่ว หรือหุ่นยนต์ Ballie ที่ในคลิปเปิดตัวก็มีการโชว์ให้เห็นว่ามันสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ Smart Home ได้ฉลาดแค่ไหน

 

ขณะที่บูธของ Google ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในด้านนอกก็ชูคอนเซปต์ ‘Hey Google’ ซึ่งเป็นประโยคเปิดที่ใช้สั่งการผู้ช่วยอัจฉริยะ Google Assistant ที่มีอยู่ในอุปกรณ์และสมาร์ทดีไวซ์ที่รองรับ โดยภายในบูธได้จำลองบรรยากาศบ้านอัจฉริยะ ยูสเคสการใช้งานจริง และนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจากค่ายผู้ผลิตต่างๆ ที่รองรับ Google Assistant มีตั้งแต่ หลอดไฟ, โทรทัศน์, สมาร์ทโฟน ไปจนถึงรถยนต์มาจัดแสดงด้วย

 

นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราจะเปลี่ยนอุปกรณ์ในบ้านให้เป็น Smart Home ทั้งหมด และรองรับเทคโนโลยี Google Assistant ทั้งที เราจะต้องใช้ต้นทุนเท่าไร เพราะอย่าลืมว่าเทคโนโลยีบางอย่างก็ยังมีราคาที่สูงยากที่จะจับต้องได้ 

 

ที่สำคัญข้อจำกัดด้านภาษา (การพัฒนาระบบผู้ช่วยอัจฉริยะให้เข้าใจภาษาไทยได้อย่างถ่องแท้) ก็ยังเป็นหนึ่งในกำแพงอุปสรรคชั้นดีที่ทำให้ในประเทศไทย ความแพร่หลายของ Smart Home ยังกระจุกตัวอยู่กับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้ฟีเจอร์บางอย่างของเครื่องใช้ไฟฟ้า Smart Home ในไทยอาจจะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

4. โทรทัศน์ 8K กับคำถามเรื่องความคุ้มค่าและความพร้อมของผู้บริโภค

ถัดจากความคมชัดระดับ 4K ที่เราเสพกันจนชินตา ในงาน CES ครั้งนี้ เราได้เห็นค่ายผู้ผลิตเทคโนโลยีจอ Display และโทรทัศน์นำนวัตกรรมจอความคมชัดแบบ 8K มาเปิดตัวกันอึกทึกครึกโครม ไม่ว่าจะ Samsung, LG หรือ Sony จนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่ผู้ผลิตทุกเจ้าจะต้องมีไลน์อัพผลิตภัณฑ์ที่รองรับความคมชัดสุดโหดที่ระดับนี้

 

อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมา และชวนให้เราตั้งข้อสังเกตอยู่บ้างคือ คอนเทนต์ 8K ณ วันนี้มีให้เรารับชมมากเพียงพอแล้วหรือยัง ประกอบกับไลน์อัพสินค้าที่มีสเปกหน้าจอในระดับดังกล่าวก็ล้วนแล้วแต่มีราคาที่สูงแทบทั้งสิ้น

 

ในเชิงเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าค่ายผู้ผลิตทุกเจ้าต้องงัดเอานวัตกรรมที่ตัวเองมีมาจัดแสดงเพื่อโชว์ศักยภาพของบริษัท ช่วงชิง ‘ภาพ’ ของการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม แต่ในมุมของผู้บริโภค อดคิดไม่ได้ว่าไลฟ์สไตล์ของผู้คนส่วนใหญ่ ณ วันนี้จำเป็นต้องใช้งานทีวีระดับ 8K จริงไหม

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากผู้ผลิตคอนเทนต์แต่ละรายทั้งในอุตสาหกรรมภาพยนนตร์, แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง, เกมคอนโซลและกีฬา เริ่มให้ความสำคัญในการผลิตคอนเทนต์ที่รองรับความคมชัดระดับ 8K มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต โทรทัศน์จอ 8K ก็น่าจะค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน เหมือนที่ปรากฏการณ์เดียวกันเคยเกิดขึ้นกับทีวี 4K มาแล้ว (PlayStation 5 และ Xbox Series X สองเครื่องเกมคอนโซลเจนล่าสุดที่ทั้ง Sony และ Microsoft จะเปิดตัวปลายปีนี้จะรองรับเทคโนโลยี 8K) 

 

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ เดวิด เมอร์เซอร์ นักวิเคราะห์ในแวดวงที่บอกกับนิตยสาร CES Daily ฉบับประจำปีนี้ไว้ว่า ผู้ผลิตโทรทัศน์แทบทุกเจ้าต่างก็พร้อมจะนำโทรทัศน์ใหม่ๆ ที่รองรับความคมชัดระดับ 8K มาจัดแสดง 

 

แต่เขายังเชื่อว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็น่าจะยังแฮปปี้กับโทรทัศน์ 4K อยู่ โดยโทรทัศน์ 8K จะกลายเป็น ‘การเปลี่ยนผ่านในระยะยาว’ ของยุค 2020’s หรืออีกหลายปีข้างหน้า ยังไม่ใช่อะไรที่พร้อมจะเข้ามาทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างทันทีทันใดในอีก 12 เดือนต่อจากนี้

 

นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

5. ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากพอ’ แล้วหรือยัง?

อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่เลยซะทีเดียว แต่เมื่อได้มีโอกาสไปสัมผัสงาน CES ด้วยตัวเองแล้วก็พบว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ประเทศไทยเรายังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ส่งออกนวัตกรรมได้ด้วยตัวของตัวเองเสียที 

 

ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียอย่าง เกาหลีใต้​ ญี่ปุ่น และจีน ต่างก็สามารถถีบทะยานตัวเองขึ้นมายืนหยัดในแนวหน้าของอุตสาหกรรมได้อย่างสง่างาม จนได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก โดยที่ตลอดทั้งงาน CES เราแอบสังเกตว่ามีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งสามชาติดังกล่าวไม่ว่าจะสื่อมวลชน ตัวแทนจากบริษัท สตาร์ทอัพ หรือคนทั่วไป เดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

 

จริงอยู่ที่ภาครัฐไทยนำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความพยายามในการผลักดันนำผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยมาจัดแสดงที่โซนศาลาไทยของงาน CES ในปีนี้มากถึง 7 ราย แต่ลำพังแค่การสนับสนุนในสเกลนี้อาจจะยังไม่เพียงพอ

 

บางทีรัฐบาลอาจจะต้องเริ่มมองหากลวิธีใหม่ๆ ที่สามารถส่งเสริม และช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคฯ สัญชาติไทย ซึ่งมีศักยภาพมากพอให้ก้าวขึ้นมาแข่งขันกับบริษัทชั้นนำของต่างประเทศอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม เพราะในอนาคต หากไทยสามารถผลิตนวัตกรรมส่งออกได้ด้วยตัวเอง ภาคเศรษฐกิจไทยก็จะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Co-host ปณชัย อารีเพิ่มพร

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising