×

3 เมกะเทรนด์ชี้ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยปี 2020 และอนาคต

02.01.2020
  • LOADING...

อะไรคือเมกะเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

เคน นครินทร์ ชวนคุยเรื่องเมกะเทรนด์ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ในพอดแคสต์ The Secret Sauce: Executive Espresso

 


 

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับมุมมองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจในอนาคต อาจารย์มองว่าช่วงปี 2019-2020 ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของเศรษฐกิจขาลงเท่านั้น โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเป็นความท้าทายใหญ่ที่รัฐบาลและนักธุรกิจต้องระวังเป็นอย่างยิ่งตรงกับคำกล่าวของ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ จีน-เมริกา ว่าถ้าอยากฝึกมองอนาคตให้ขาด จำเป็นต้องเข้าใจ ‘ปัจจัย 3 ประการ’ ที่เป็นตัวเปลี่ยนชะตากรรมของประเทศมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ดังนี้

 

1. การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics)

เรื่องใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องสงครามการค้า การจัดระเบียบโลกที่เปลี่ยนไปเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งทำให้โลกไซเบอร์ที่จับต้องไม่ได้สามารถเชื่อมโยงกับโลกกายภาพที่จับต้องได้ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นหัวใจสำคัญ ส่งผลให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก และสหรัฐอเมริกาเริ่มสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีมาแต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษ 1990-2000 สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะจัดการเรื่องนี้ด้วยการใช้นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน ซึ่งนำมาสู่การเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในที่สุด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้พัฒนาไปสู่สงครามเทคโนโลยีระหว่าง Huawei กับ Google และกำลังจะพัฒนาไปสู่สงครามเย็น 2.0 หรือยุคที่โลกอินเทอร์เน็ตจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แกน นอกจากนี้อาจารย์ปิติได้กล่าวถึงผลกระทบในเรื่องกำแพงภาษีหรือความตึงเครียดในเรื่องการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในอีกหลายแห่ง เช่น ข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดกระแสการค้าแบบปกป้องคุ้มกันที่รุนแรง ญี่ปุ่นเลือกที่จะตอบโต้เกาหลีใต้ด้วยการระงับการส่งออกสินค้าตั้งต้นในอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกาหลีใต้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะขาดแคลนทั้งวัตถุดิบตั้งต้นและวัตถุดิบขั้นกลาง ขณะเดียวกันประเทศในฝั่งยุโรปอย่างฝรั่งเศสก็เริ่มต้นกระบวนการทางกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากบริการดิจิทัลกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Amazon ฯลฯ จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ ผมมองว่าเป็นอะไรที่เข้มข้นมากทีเดียว เพราะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการชะลอตัวทางการค้าและการลงทุน ภาพที่เห็นชัดที่สุดคือเมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง การส่งออกของไทยก็เริ่มแย่ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งทำให้การส่งออกลำบากขึ้นไปอีก ผู้ผลิตไทยจำเป็นต้องรัดเข็มขัดและลดการผลิตลง เจ้าของกิจการเลือกที่จะงดการจ้างงานล่วงเวลาหรือโอที เพราะเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากและช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ง่ายที่สุด หากลดโอทีแล้วต้นทุนยังไม่ลดลง สิ่งที่เจ้าของกิจการจะทำต่อไปคือการขยายวันหยุดหรือปิดโรงงาน ส่งผลให้ลูกจ้างรายวันขาดรายได้ทันที ท้ายที่สุดแล้วหากธุรกิจยังไม่ดีขึ้น เจ้าของกิจการก็จะต้องปลดคนงานออก หรือรุนแรงถึงขั้นปิดโรงงานอย่างที่เห็นในข่าว

 

2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

ความท้าทายของตลาดแรงงานไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นคือสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และมีโอกาสจะไปถึงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) ในปี 2030-2040 ดังนั้นในอนาคตวัยทำงานจะลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ปัญหาคือผู้ผลิตยังไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตที่สามารถลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือได้ จึงนิยมไปใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งคนกลุ่มนี้ทำงานและส่งเงินกลับบ้าน ส่งผลให้เงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยสูงถึง 9 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากผลกระทบด้านแรงงาน คาดว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการจัดการดูแลเรื่องสวัสดิการและการปรับโครงสร้างเงินบำนาญมากพอสมควร เพราะฉะนั้นจึงเป็นความท้าทายของรัฐที่จะต้องจัดการภาษีของประชาชนในประเทศเพื่อมาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

3. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

Digital Disruption เป็นเรื่องที่ผมพูดถึงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในมุมของแรงงาน หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานคนที่ไม่ได้พัฒนาฝีมือตัวเอง แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจจะต้องมองในเรื่องของการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องมองธุรกิจที่จะมา Disrupt ธุรกิจของเราด้วย อีกเรื่องที่ผมมองว่าเราค่อนข้างเสียเปรียบอย่างมากคือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มาอยู่ในประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดคือการซื้อของออนไลน์ โดยเฉพาะในวันคนโสด 11.11 หรือ 12.12 จะเห็นว่าคนไทยใช้จ่ายค่อนข้างเยอะผ่านแพลตฟอร์ม Lazada, Shopee, AliExpress, Amazon, eBay ฯลฯ ซึ่งเงินที่จ่ายไปไม่ได้ไหลเข้าประเทศไทย ที่สำคัญแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐบาลไทยอีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เมกะเทรนด์นี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายและอุปสรรค แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาส เพราะฉะนั้นอยู่ที่ตัวเราว่าจะลงมือจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยทัศนคติแบบไหน และเราเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับ 3 ปัจจัยนี้ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising