สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในฐานะผู้ประกอบการ นักธุรกิจ คนทำงาน อะไรคือโอกาสและความท้าทาย
เคน นครินทร์ เล่าถึง Aging Society สังคมผู้สูงอายุ เมกะเทรนด์ใหญ่ของโลกที่กำลังกระทบกับทุกคนและทุกประเทศในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Demographic Movement, Global Warming, Sharing Economy, Technology และ Geopolitics
ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต (The Future Trend of Aging Society 2020-21) ได้จัดงานวิจัยเทรนด์ประจำปี 2562 ในหัวข้อเกี่ยวกับโอกาสใหม่ทางธุรกิจและคุณภาพชีวิตที่จะงอกเงยและเติบโตไปพร้อมกัน และจัดทำเป็นหนังสือ Mini Trend Book เขียนโดย Baramizi Lab และ รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ ว่าด้วยเรื่องของเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อสังคมเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาพูดถึง ‘Overview of Aging Society in the World’
องค์กรสหประชาชาติเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลกไว้ว่า ปัจจุบัน 1 ใน 9 ของประชากรโลกมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และภายในปี 2050 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ออกมาคาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคน หรือประมาณ 22% เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศทั่วโลกจะเริ่มเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุไม่ช้าก็เร็ว ขึ้นอยู่กับความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ การสุขาภิบาล การโภชนาการ และการศึกษา
หากเจาะลึกไปในรายทวีป ปี 2050 ทวีปแอฟริกาจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10, ทวีปเอเชีย ร้อยละ 24, ทวีปอเมริกาเหนือ ร้อยละ 27 และทวีปยุโรป ร้อยละ 34 นั่นหมายความว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีโอกาสเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศที่กำลังพัฒนานั่นเอง
ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยใช้เวลาสั้นกว่า เร็วกว่า ถึงขั้นมีการคาดการณ์ว่าในปี 2035 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด
ส่วนงานวิจัยที่มีการติดตามดูประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องของการออกแบบและระบบสวัสดิการ พบว่าประเทศอังกฤษ รัฐบาลจัดสวัสดิการสังคมและมีหลักประกันสังคมเพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำของบุคลล (พิจารณาในกรณีที่รายได้ของบุคคลสะดุดลง) ประเทศสวีเดนมีกฎหมายรับรองสิทธิของผู้สูงอายุในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ มีมาตรการเสริมสร้างหรือป้องกันและมาตรการด้านการเยียวยา จัดตั้งระบบการดูแลระยะสุขภาพระยะยาว อีกทั้งยังมีนโยบายด้านที่อยู่อาศัยจากทางเทศบาล และประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังวางแผนการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
จากงานวิจัยโดย รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ และคณะ (สิงหาคม 2562) ได้ทำงานวิจัยเพื่อศึกษาการบริโภค ทัศนคติในการใช้ชีวิตและระดับของทรัพย์สินส่วนตัว เรียกได้ว่าเป็น ‘Thailand Aging Society Segmentation’ ซึ่งแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 5 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 New Age Elder เทียบได้ว่ามีทรัพย์สินถือครองไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท มีขนาดสัดส่วนประมาณร้อยละ 14 เป็นกลุ่มที่รักการเรียนรู้ ชอบลองสิ่งใหม่ ควบคุมชีวิตตัวเองได้ดี บุคลิกนิสัยทั่วไปของกลุ่มนี้จะตระหนักรู้ในตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความสุขด้านการจับจ่ายซื้อของ มั่นใจในการตัดสินใจ คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษและการเดินทางไปต่างประเทศ
กลุ่มที่ 2 Controller Aged มีทรัพย์สินคล้ายกับกลุ่มแรก แต่ทัศนคติค่อนข้างต่าง กลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ดี แต่ไม่ได้สนใจในการปรับตัวเรียนรู้เข้ากับสิ่งใหม่ มีขนาดสัดส่วนประมาณร้อยละ 14.83% บุคลิกนิสัยทั่วไปคือมีศักยภาพในการเข้าถึงวัฒนธรรมสากล แต่งตัวทันสมัย ค่อนข้างที่จะปิดกั้น ไม่ค่อยยอมรับคนรอบข้าง
กลุ่มที่ 3 Senior Aspirer มีสินทรัพย์ถือครองไม่เกิน 1-5 ล้านบาท ขนาดสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.58% มีความสามารถในการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ค่อนข้างดี แต่งตัวทันสมัย แต่ไม่ชอบการเรียนรู้และลองสิ่งใหม่ ไม่ค่อยยอมรับคนรอบข้าง คนกลุ่มนี้ไม่มีความพึงพอใจในการใช้ชีวิต ส่วนใหญ่ปัจจุบันก็ยังคงทำงานอยู่
กลุ่มที่ 4 Life-embraced Elder มีสินทรัพย์ถือครองไม่เกิน 1-5 ล้านบาท ขนาดสัดส่วนประมาณร้อยละ 34.67% กลุ่มนี้จะคล้ายกับกลุ่มที่ 3 ในการซึมซับวัฒนธรรมระดับโลกที่ไม่สูงนัก แต่ชื่นชอบการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ และมีความสนใจที่จะเรียนรู้ทดลองสิ่งใหม่ สนใจการได้พบปะเพื่อนฝูง และได้รับอิทธิพลจากเพื่อน
กลุ่มที่ 5 Unprepared Elder มีมูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ขนาดสัดส่วนประมาณร้อยละ 9.92% กลุ่มนี้มีความต้องการในการเรียนรู้และลองสิ่งใหม่ แต่คิดว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่แน่ใจในการตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง จึงมีการพบปะเพื่อนฝูงอยู่บ้าง กลุ่มนี้มีความพึงพอใจในชีวิตที่ไม่สูงมากนัก มีระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ
ผลวิจัยด้าน Aging Segmentation พบว่ากลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มมีความพึงพอใจในชีวิตไม่เท่ากันและการใช้ชีวิตแตกต่างกัน งานวิจัยจึงพยายามค้นหาเหตุแห่งความพึงพอใจและไม่พึงพอใจในชีวิตของพวกเขา เพื่อหาวิธียกระดับความสุข เข้าใจในวิถีชีวิตและพฤติกรรม ความต้องการ และจุดเจ็บปวด จึงมีการต่อยอดเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 6 มิติ
มิติที่ 1 โอกาสทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้านที่พักอาศัยและอุปกรณ์ ซึ่งงานวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือก
1. Existing Aging-in-Place ตัดสินใจอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิมของตัวเอง
- Senior Hub รูปแบบที่พักอาศัยที่ออกแบบเฉพาะให้เกิดสังคมวัยเก๋า
- Aging-in-Place in Another Land วัยเก๋าที่ตัดสินใจย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นส่วนตัวของตัวเอง
และแบ่งออกเป็น 2 ข้อย่อย ได้แก่
1.1 การยกระดับที่อยู่อาศัยเดิมให้ตอบโจทย์เพื่อรับมือกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เช่น กำลังแรงบีบของมือ กำลังขาที่เริ่มอ่อนแรง ซึ่งบางธุรกิจของต่างประเทศเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อมาตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ เช่น แบรนด์กระเบื้อง Porcelanosa จากประเทศสวีเดน นำเสนอนวัตกรรม Nanoker กระเบื้องเซรามิกกันลื่นที่ทำให้สามารถสร้างผิวกันลื่นได้ในขณะที่พื้นยังคงสม่ำเสมอ
1.2 เมื่อต้องการมองหาที่อยู่อาศัยใหม่กับชีวิตในอุดมคติ ในปี 2019 มีแนวทางการออกแบบ Senior Hub พื้นที่รวมตัวสร้างสังคมใหม่ๆ มีโครงการอย่างหลากหลายและน่าสนใจ ตลอดจนรูปแบบประสบการณ์ที่อยู่อาศัยในแบบ Symbiosis Concept แนวคิดของการนำพาคนสองกลุ่มมาอยู่ร่วมกันให้เกิดสภาวะพึ่งพากันตามแบบฉบับ Sharing Economy
ยกตัวอย่าง ‘CoHaus’ The Maple Avenue Residences โครงการคอนโดมิเนียมแนวคิดใหม่ในสหรัฐอเมริกา นำเสนอที่อยู่อาศัยสำหรับเบบี้บูมเมอร์จับคู่กับมิลเลนเนียล
มิติที่ 2 โอกาสด้านการตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและการพัฒนาของเมืองเปลี่ยนไปจากทัศนียภาพเดิม อาจทำให้เป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิต เช่น การเดินทาง การซื้อของใช้ประจำวัน ทำให้โอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นเพื่อทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ตัวอย่างหนึ่งในประเทศแคนาดามี Angel Food Delivery Volunteers Platform ซึ่งให้อาสาสมัครเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ต รับรายการช้อปปิ้ง และนำส่งให้ถึงประตูหน้าบ้าน
มิติที่ 3 โอกาสด้านงานอดิเรกและการใช้เวลาว่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
3.1 โอกาสด้านงานอดิเรกและการใช้เวลาว่าง เกิดเป็น Smash Park: Boomer-Friendly Entertainment Spaces
3.2 การท่องเที่ยวผจญภัย เมื่อชีวิตมีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ ธุรกิจนี้ช่วยส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยว มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้เกิดการพบปะเพื่อนใหม่ เช่น Freebird Club ในไอร์แลนด์ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อผู้สูงอายุที่มีห้องว่างกับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินทาง โดยโฮสต์ต้องอยู่เสมอเพื่อรับแขกของพวกเขา
มิติที่ 4 โอกาสด้านการดูแลจิตใจ แบ่งได้เป็น 4กลุ่ม
4.1 การสร้างคุณค่าและความหมายของการมีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น BoomersPlus แพลตฟอร์มสัญชาติแคนาดาที่ทำการเชื่อมโยง Boomers วัยเกษียณเข้ากับธุรกิจที่กำลังต้องการ
4.2 การเสริมหลักคิดและกำลังใจ มีวิธีการที่หลากหลายทั้งการสร้างเรื่องราวที่จับใจ สร้างแคมเปญของแบรนด์ชั้นนำ การใช้การปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เข้ามาเยียวยา การสร้างอุปกรณ์ของเล่น ไปจนถึง Internet of Things อย่าง Pedigree Dog Matche Seniors แคมเปญช่วยสังคมของแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพดดีกรี ประเทศอังกฤษ โดยมี Dog Dates แคมเปญการจับคู่สุนัขที่มีนิสัยเป็นมิตร ช่วยบรรเทาความเหงาให้เข้ากับผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
4.3 ประสบการณ์แห่งการย้อนรำลึกถึงความหลังและความทรงจำดีๆ เป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่าทางด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เช่น NanaGram แพลตฟอร์มที่ช่วยวัยเก๋าเปลี่ยนภาพถ่ายในสมาร์ทโฟนให้เป็นภาพพิมพ์
4.4 แฟชั่นและบุคลิกภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยดูแลและเยียวยาทางจิตใจได้เป็นอย่างดี อุตสาหกรรมนางงามจึงมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก เช่น Baddiewinkle คุณยายวัย 90 ปีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้อินสตาแกรมในการสร้างภาพลักษณ์การแต่งตัวจนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
มิติที่ 5 โอกาสด้านสุขภาพร่างกายที่ดี เป็นหนึ่งประเด็นที่มาคู่กับความสูงวัยของมนุษย์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health & Well-being มีแนวโน้มในการเติบโตขึ้นสูงมาก โดยแนวโน้มธุรกิจที่น่าสนใจแบ่งออกได้เป็น 4 หมวด
5.1 การดูแลเพื่อชีวิตที่ยืนยาว แนวโน้มกลุ่มนี้จะออกมาในรูปแบบของอาหารการกินและการออกกำลังกาย ซึ่งผสมผสานกันตั้งแต่สิ่งที่จับต้องได้จนถึงสิ่งที่เป็นนวัตกรรมล้ำสมัย
5.2 มุมมองแห่งการป้องกันระวังภัย โดยเฉพาะการจัดการข้อมูลทำให้อุปกรณ์ต่างๆ เกิดความชาญฉลาดในการเฝ้าระวังและป้องกันภัยรุดหน้ามากขึ้น
5.3 การยกระดับสมรรถนะร่างกาย นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับสมรรถนะทางร่างกายให้กลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
5.4 นวัตกรรมผู้ช่วยในการดูแลรักษา นวัตกรรมในพื้นที่นี้ค่อนข้างใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ เช่น PRIA ตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านการดูแลสุขภาพที่บ้านในสหรัฐอเมริกา
มิติที่ 6 โอกาสด้านการเงิน นอกจากจะมีรูปแบบของสินค้าประกันและการเงินต่างๆ แล้ว เทคโนโลยีก็ยังคงมีบทบาทเข้ามาในการเป็นผู้ช่วยให้บริหารและคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง เช่น SunLife บริษัทประกันภัยของประเทศอังกฤษ ออกแคมเปญ Welcome to Life After 50 โดยเน้นให้วัยเก๋าทำสิ่งที่อยากทำสักครั้งในชีวิต
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note กนกวรรณ ภารยาท
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์