ช่วงเวลานี้คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการทำงานของบอร์ดหรือกรรมการบริษัท
บอร์ดจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากแค่ไหน ทำงานเชิงรุกมากขึ้นใช่หรือไม่ จะต้องทำงานร่วมกับซีอีโอหรือทีม Management อย่างไรเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และ New Normal อีกมากมายที่จะตามมาหลังจากนี้
เคน นครินทร์ คุยกับ บอย-กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
บทบาทและหน้าที่ของบอร์ดที่ดีคืออะไร และเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างไร
บอร์ดทุกวันนี้ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม หลักการคือเป็นสติ เพียงแต่สติทุกวันนี้ต้องไวกว่าเมื่อก่อน เพราะโจทย์มันเปลี่ยนไป ผมขอระบุพฤติกรรมของบอร์ดที่ดี 3 ข้อ
1. Care like a parent
ถ้าเราเป็นผู้ปกครอง เราจะต้องรู้ให้ได้ว่าวันนี้ลูกทำอะไร ดังนั้นทุกวันนี้บอร์ดไม่สามารถที่จะบอกว่าผมไม่รู้ว่าผมไม่รู้ เพราะการถูกดิสรัปชันมันเรียกว่าสุดวิสัย เราต้องดิ้นรนที่จะรู้ให้ได้
2. Curious like a child
บอร์ดสมัยนี้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทุกวันนี้โลกเป็นเรื่องการคิดใหม่ทำใหม่ ต้อง Unlearn และ Relearn ใหม่ บอร์ดทุกวันนี้ต้องหนักแน่นในหลักการ แต่พลิ้วไหวในบริบท ซึ่งไม่ง่ายกับคนที่เคยประสบความสำเร็จ
3. Courage like a startup
การเป็นบอร์ดอาจจะทำให้คิดว่าเราต้องไม่พลาด แต่บอร์ดยุคนี้ต้องมีความกล้าที่จะพลาดและเรียนรู้จากมัน กล้าที่จะคิดอะไรที่นอกกรอบ มันก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมา ความกล้าเป็นสิ่งที่สำคัญ
ในแง่ของรายละเอียดอื่นๆ บทบาทของบอร์ดในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตอย่างไรบ้าง
จะเห็นว่าบอร์ดทุกวันนี้ทำงานเยอะจนต้องมี Sub Committee หลายคนมาช่วย แน่ๆ ที่ต้องมีตามกฎหมายคือ Audit Committee แต่ในยุคนี้มีมากกว่านั้น มี Nomination หรือบอร์ดสรรหาคัดเลือก บอร์ดด้านความเสี่ยง และบางที่มีบอร์ดความยั่งยืน มันแล้วแต่โจทย์ของธุรกิจนั้นๆ ว่าเสาความยั่งยืนของเขามันขึ้นอยู่กับอะไร บอร์ดก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น
ในช่วงที่โควิด-19 เข้ามา บอร์ดมีการเปลี่ยนแปลงเยอะไหม
พี่ว่าเยอะนะ เพราะบอร์ดทำงานเชิงรุกมากขึ้น จะมีบอร์ดบางส่วนที่คุยกับ Management ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตอนนี้ ธุรกิจของเรายังสดและชัดในสายตาของผู้ซื้ออยู่หรือเปล่า เพราะบอร์ดมี 3 โหมดด้วยกันคือ บอร์ดโหมด Leading สองคือบอร์ดโหมด Partner & Management และสามคือบอร์ดโหมด Monitor สิ่งที่บอร์ดต้อง Lead คือเสาของความยั่งยืน พี่เชื่อว่าหลังโควิด-19 ไป คำว่าเราคือใครจะมีการถามกันเยอะมาก และคำตอบจะต้องเปลี่ยน เพราะไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้
บอร์ดมี 3 โหมดด้วยกันคือบอร์ดโหมด Leading สองคือบอร์ดโหมด Partner & Management และสามคือบอร์ดโหมด Monitor
บอร์ดกับ Management ต้องทำงานร่วมกันอย่างไร
ในทั้ง 3 โหมดจะมีคำตอบในตัวมันอยู่แล้ว โหมดแรก บอร์ดต้อง Lead ธุรกิจได้ว่าความยั่งยืนอยู่ที่ไหน สามารถสรรหาซีอีโอที่เหมาะสมและกำหนดวัฒนธรรมในองค์กรที่เหมาะสม โหมดที่สองคือการคุยกับ Management และ Partner ว่าจะไปทำงานอย่างไร ได้ KPI มา และโหมดสุดท้าย บอร์ดปล่อยให้ Management ไปทำ แล้วตัวเองคอย Monitor ทำ 3 บทบาทแบบนี้พลิ้วไหวไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา มันเป็นศิลปะมาก บอร์ดต้องมี Situational Awareness คือรู้จักสังเกตและเติมไปเรื่อยๆ ช่วงนี้อะไรขาด ช่วงนี้อะไรเกิน
เท่าที่คุณบอยได้ใกล้ชิดกับบอร์ดในประเทศไทย ปัญหาในการทำงานของบอร์ดที่เจอบ่อยที่สุดคืออะไร
ความท้าทายที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ดกับ Management ในยุคนี้บอร์ดกับ Management ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น และมีการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้องค์กรมี Performance ที่ดีขึ้น บอร์ดต้องได้รับข้อมูลที่เร็วจาก Management ทุกอย่างต้องเริ่มจากคำถาม ความท้าทายทุกวันนี้คือทำอย่างไรให้บอร์ดเกาะติดสถานการณ์ทัน และอาจต้องใช้การประชุมที่ Agile มากขึ้น ถ้าไปถามลูกค้าก็จะบอกว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินทุกบาทที่จ่ายมาบริษัทจะไปนำไปทำลายโลก ถ้าไปถามผู้ถือหุ้นก็จะบอกว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าการทำงานของบอร์ดมันเต็มที่และสามารถสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้ ตัวชี้วัดคืออะไร ถ้าไปถามพนักงานก็จะบอกว่าเขาลงทุนทำงานในองค์กรนี้แล้วเขาจะได้อะไรนอกจากเงิน เขาได้คุณค่าอะไร คำถามเหล่านี้จะทำให้เราสามารถ Design Thinking บอร์ดรูมในอนาคตได้
ความท้าทายที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ดกับ Management ในยุคนี้บอร์ดกับ Management ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น
ถ้าได้มีโอกาสพูดกับบอร์ดทั้งประเทศไทย อะไรคือสิ่งที่อยากจะเน้นย้ำกับทุกคนมากที่สุดในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้
สงครามโควิด-19 แบบนี้มันเป็นสงครามที่ไม่มีศัตรู จริงๆ ศัตรูมันคือแผลที่ถูกเปิด เช่น แผลของธุรกิจที่รายได้ของเราไปพึ่งกับอะไรบางอย่างมากเกินไป และพฤติกรรมของผู้บริโภคมันเปลี่ยนไป ความจริงมันอาจต้องใช้เวลา 10 ปีถึงจะเปลี่ยน แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนข้ามไตรมาส เหมือนเราถูกดูดไปอยู่ในโลกของอนาคต ดังนั้นเราต้องดึงตัวเองกลับมาอยู่ที่ปัจจุบันแล้วถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เรายังทำอะไรได้ เราจะทำอะไร อย่าปล่อยให้วิกฤตผ่านไปโดยที่เราไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้
ทุกสงครามมีทั้งคนชนะและคนแพ้ ทุกคนตอนนี้อยู่ในสงครามเกมเดียวกัน ถ้าเราไม่ลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ ไม่รีบเปิดโหมดฉุกเฉิน เราก็อาจจะไม่ใช่คนชนะเหมือนที่เราเคยเป็นมาก่อน
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Project Manager ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Channel Manager & Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music westonemusic.com