×

โลกการลงทุนของกูรูภาษี และตอบคำถามยอดฮิต

20.12.2020
  • LOADING...

ไม่บ่อยนักที่กูรูภาษี ถนอม เกตุเอม (TaxBugnoms) จะมาแชร์เรื่องการลงทุน รวมถึงตอบคำถามเน้นๆ เรื่องภาษีที่เกี่ยวพันกับการลงทุนแบบเต็มอิ่ม แบบนี้ต้องยื่น แบบไหนต้องเสีย ครอบคลุมทุกคำถามฮิตจากเคสจริง และคำแนะนำการลงทุนเพื่อช่วยประหยัดภาษีในช่วงปลายปีแบบนี้


ติดตามได้ใน The Money Growth by The Money Coach เอพิโสดนี้

 

สำหรับท่านที่สนใจและกำลังมองหากวิธีการวางแผนภาษี หรือสนใจกองทุนรวม สามารถติดตามข้อมูลทาง Facebook : Thai Mutualfund ให้เงินทำงาน ผ่านกองทุนรวม

 


 

รู้จักโลกการลงทุนตั้งแต่เมื่อไร

ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ปี 2008 ตอนนั้นอายุ 20 กว่าๆ ตัวเราเริ่มมีรายได้เยอะขึ้น จนมีความรู้สึกว่าอยากให้เงินเพิ่มขึ้น เพราะเงินเดือนตอนนั้นน่าจะไม่เพียงพอ เริ่มต้นด้วยการค้นหาเรื่องการลงทุนในกูเกิลเหมือนคนทั่วไป โดยเริ่มจากหุ้นก่อน เรามีเพื่อนเป็นโบรกเกอร์ ก็เลยถามเพื่อนว่าเปิดพอร์ตต้องทำอย่างไรบ้าง ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตซับไพร์มพอดี ทำให้ซื้อหุ้นอะไรก็กำไรดี หุ้นตัวแรกที่ซื้อคือหุ้นสื่อสาร เพราะเรามองว่าเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอะไรที่เป็นเทรนด์และมีความสำคัญ กำไรที่ได้ในตอนนั้นเยอะมาก เรียกได้ว่าสองเท่าของเงินเดือน เป็นช่วงที่พีกสุดๆ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เกิดวิกฤตต่างๆ จากที่เราลงทุนแบบกระจายในหุ้นหลายตัว ก็เปลี่ยนมาโฟกัสหุ้นแค่ตัวเดียว เป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งตอนนั้นสถานการณ์พลิก ทำให้กำไรที่ได้มาก่อนหน้านี้หายเกลี้ยง แต่โชคดีที่ตอนนั้นเราไม่ได้ลงทุนในหุ้นอย่างเดียว เราก็เริ่มไปศึกษากองทุนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม จุดนั้นทำให้เราเข้าใจตลาดและการลงทุนมากขึ้น

  

ก่อนจะถึงช่วงที่ดิ่งลงมา ช่วงนั้นยอมรับความเสี่ยงของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

ก่อนลงทุน อย่างที่รู้กันดีว่าจะมีการให้ประเมินการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง ตอนนั้นเราก็เข้าใจว่าอายุเรายังน้อยอยู่ ยอมรับความเสี่ยงได้เยอะ เราก็เลยลงทุนแบบทุ่มสุดตัว พอมาถึงวันที่มันดิ่งลงมาจริงๆ เราเข้าใจทันทีว่าเราไม่ได้ยอมรับความเสี่ยงได้อย่างที่เราคิด 

 

การทำแบบประเมินยอมรับความเสี่ยงสำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเข้าใจตัวเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณอายุน้อย แต่คุณไม่พร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยง เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือต้องเช็กตัวเองให้ดี และมั่นใจจริงๆ ก่อนลงทุน

 

อะไรเป็นสาเหตุให้เริ่มเปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นมาเป็นกองทุน

เราอยากลองอะไรหลายๆ แบบ เพื่อที่จะรู้ว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ตอนแรกเราเริ่มจากหุ้นซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่สุดก่อน แต่พอผ่านมาเรื่อยๆ เราเริ่มรู้ว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องศึกษาอย่างอื่นเพิ่มด้วย ก็ค่อยๆ เติมสิ่งที่เราขาด เริ่มกระจายความเสี่ยงของตัวเองมากขึ้น ทำให้เข้าใจว่า คนที่ลงทุนในหุ้นถ้าได้กำไรเขาจะมีความภูมิใจมาก ต่างจากคนที่ลงทุนในกองทุน แม้ว่าจะได้กำไรแต่เขาจะไม่ได้รู้สึกภูมิใจขนาดนั้น เพราะเขาจะรู้สึกว่ามันคือฝีมือของผู้จัดการกองทุน แต่ส่วนตัวมองว่ามันมีข้อดีตรงที่ การลงทุนในกองทุนเป็นเหมือนการแบ่งหน้าที่ให้คนอื่นทำให้ ความภูมิใจอาจจะไม่มากเท่ากับหุ้นที่เราเลือกด้วยตัวของเราเอง แต่อย่าลืมว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องการเงินทุกเรื่อง แต่เราจำเป็นต้องบริหารจัดการการเงินของเราให้อยู่รอดให้ได้ ดังนั้นวิธีการไหนก็ได้ ขอแค่เราโอเคกับมันก็พอ สำหรับตัวเองเลยรู้สึกว่ากองทุนเหมาะกับเรามากกว่า เพราะมันช่วยประหยัดเวลา เพียงแค่เราหาเงินมาลงทุน และทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น ก็จัดการการเงินของตัวเองได้แล้ว

 

เราไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องการเงินทุกเรื่อง แต่เราจำเป็นต้องบริหารจัดการการเงินของเราให้อยู่รอดให้ได้

 

การจัดพอร์ตสไตล์ ถนอม เกตุเอม

ตอนนี้ในพอร์ตยังมีหุ้นไทยเยอะอยู่ ถ้าเทียบสัดส่วนกองทุนกับหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 60:40 โดยถ้าเทียบจากทั้งหมด สินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 60% ที่เหลือจะเป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก และอื่นๆ

 

จากปี 2008 จนถึงตอนนี้ ปี 2020 คิดว่าโลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

มายเซ็ตของเราแบ่งได้เป็น 2 ช่วงหลักๆ ช่วงแรกเราอยากเป็นนักลงทุนที่เก่ง แต่พอผ่านไปช่วงหนึ่ง เราเจอความผิดหวัง เจออะไรมากมายเข้ามาในชีวิต ทำให้เราเริ่มอยากเป็นนักลงทุนที่สบาย คือหาเงินมาเติมแล้วมีคนช่วยบ้างหรือลงทุนเองบ้าง เป็นการบาลานซ์ที่มากขึ้น พอถึงตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า ไม่ว่าอะไรที่เป็นการลงทุนก็มีความเสี่ยงหมด เพียงแต่เราต้องเข้าใจมันเท่านั้นเอง 

 

ถ้าคุณจะเป็นนักลงทุนที่เก่ง คุณต้องยอมเสียเวลาศึกษา ต้องยอมทุ่มเทกับมัน ถ้าคุณจะให้คนอื่นช่วยจัดการให้ โดยที่คุณหาเงินมาเติม คุณก็ต้องหาเงินได้เรื่อยๆ เช่นกัน 

 

กระแสเงินสดของคุณต้องสม่ำเสมอ ดังนั้นการลงทุนแต่ละอย่างก็จะมีวิธีการคิดคนละแบบ ในแต่ละช่วงวัยเราอาจจะถนัดไม่เหมือนกัน และคิดไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ท้ายที่สุด การเงินของเราดี และได้ผลตอบแทนที่ตัวเองพอใจ อย่าเปรียบเทียบกับใครจนเป็นทุกข์ ผ่านมา 10 กว่าปี มองว่าเทรนด์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คนเริ่มหันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นด้วย ทำให้คนมีตัวช่วยเยอะ ดังนั้นอยู่ที่เราว่าจะเลือกอย่างไรต่างหาก ทางเลือกมีมากขึ้น สำคัญคือเลือกทางที่เหมาะกับเราให้ได้ในแต่ละช่วง

 

ถ้าขายกองทุนลดหย่อนภาษีก่อนกำหนด จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

การขายกองทุนลดหย่อนภาษีก่อนเป็นการทำผิดเงื่อนไขอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทไหนก็ตาม เงื่อนไขคือต้องถือให้ครบตามกำหนด ถ้าถือครบกำหนด กำไรจากการขายถึงจะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งแตกต่างจากกองทุนเปิดทั่วไปที่ขายเมื่อไรก็ได้ และถ้ามีการปฏิบัติผิดเงื่อนไข คุณจะต้องคืนภาษีที่คุณใช้สิทธิ์ลดหย่อนไป

 

รายได้จากการขาย RMF เมื่อถือครบกำหนด ต้องยื่นภาษีหรือไม่

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยื่นกับเสียคนละเรื่องกัน ยื่นคือการแจ้งว่ามี อาจจะไม่เสียก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องยื่น ยื่นจะไม่เสียเพราะมันเป็นข้อยกเว้น ดังนั้นขอตอบว่าต้องยื่น แต่ไม่เสียภาษี แล้วจะมีคนถามอีกว่าถ้าไม่เสียภาษีก็ไม่ต้องยื่นได้ไหม ทำได้แต่มันจะเกิดข้อสงสัยตามมา ทางสรรพากรอาจจะติดต่อมาเพื่อถามว่าทำไมไม่ยื่น เกิดอะไรขึ้น อีกประเด็นคือ การซื้อ RMF เราอาจจะไม่ได้ซื้อกองเดิมตลอด พอคุณมีการเปลี่ยนไปซื้อกองอื่นของอีก บลจ. กรมสรรพากรอาจจะสงสัยว่าคุณถือครบ 5 ปีหรือยัง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงควรยื่นทุกครั้ง แม้ว่าจะไม่เสียภาษีก็ตาม

 

ช่วยแนะนำเกี่ยวกับกองทุนลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่สนใจ

ก่อนอื่นไม่ควรตั้งคำถามว่า ซื้ออะไรดีกว่า แต่ควรถามว่า ซื้อแล้วดีสำหรับใคร เป้าหมายของตัวเองเป็นแบบไหน เรื่องอายุเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ควรถามต่อไปว่า อีก 10 ปีข้างหน้าเราจะใช้เงินกับอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของมุมมองในการบริหารจัดการเงินของแต่ละคนมากกว่า อย่าไปยึดว่าอะไรสำคัญ ประเด็นที่สองคือ จะซื้ออะไรดีกว่า ต้องถามตัวเองว่ามีเงินพอไหม มีรายได้แน่นอนหรือไม่ ถ้าเป็น RMF คุณต้องมีเงินลงต่อเนื่อง ในวันนี้คุณอาจจะมองว่าแบบนี้ดีกว่า แต่ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ก็ได้ สำหรับผมเป้าหมายอายุ 55 ปี วางแผนไว้เรื่องเกษียณ ลูกโตพอดี ก็มีเงินจาก RMF ให้ลูก ซึ่งจัดพอร์ตแยกกันไว้เรียบร้อย

 

กำไรจากการขายหุ้นต้องเสียภาษีอย่างไร

ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าหุ้นอะไร ถ้าเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กำไรจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กำไรต้องเสียภาษี

 

หุ้นต่างประเทศต้องเสียภาษีไหม

ต้องถามก่อนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายทรัพย์สินในต่างประเทศไหม เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะมีเงื่อนไขว่า ข้อแรก ต้องนำกำไรโยกเข้ามาในประเทศไทยในปีที่มีรายได้นั้นๆ และข้อสอง ในปีนั้นๆ ตัวเราต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ถ้าเข้าสองเงื่อนไขนี้ถึงจะต้องเสียภาษีในประเทศไทย

 

เงินปันผลที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%

เงินปันผล ไม่ว่าในหรือนอกตลาดใช้หลักการเดียวกัน เมื่อเราได้เงินปันผลมา เราต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% โดยภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีอยู่ 2 ประเภท แบบแรก Final Tax คือการหักภาษีแล้วมีสิทธิ์เลือกว่าจะจบ หัก 10% แล้วไม่ต้องยุ่งกับมันอีก แบบที่สอง ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษี ซึ่งเงินปันผลเป็น Final Tax ได้ แต่เราก็สามารถนำไปรวมเพื่อคำนวณภาษีได้ ถ้าเป็นหุ้นจะมีเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผลเข้ามาเกี่ยวด้วย โดยภาษีนิติบุคคลกับภาษีบุคคลธรรมดาคือภาษีประเภทเดียวกัน คือภาษีเงินได้ ซึ่งจะมีหลักการว่าห้ามซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นถ้าเป็นแบบนี้จะเป็นการคิดภาษีสองครั้งจากเงินก้อนเดียว เรื่องของเครดิตภาษีเงินปันผลจะมาช่วยให้เราคิดกลับไปว่า ควรจะเป็นรายได้ทั้งหมดเท่าไรก่อนจะเสียภาษีรายได้นิติบุคคล เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน แนะนำว่าให้ลองนำไปรวมดูก่อนว่าได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ถ้าได้คืนน้อยลงก็ไม่ต้องรวม ให้ใช้แบบ Final Tax ข้อสังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นคนที่มีรายได้เยอะ นำมารวมจะไม่ค่อยคุ้ม แต่ถ้าเป็นนักลงทุนอยากให้ลอง เพราะน่าจะมีโอกาสได้ภาษีคืน

 

การเสียภาษีเงินปันผลของกองทุนกับหุ้น

ตามกฎหมายกองทุนรวมไม่ใช่เงินปันผล ชื่อจริงๆ ของกองทุนรวมคือ ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม เมื่อก่อนทั้งสองอย่างนี้เป็นเงินได้คนละประเภท ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมเป็นประเภทที่ 8 เงินปันผลจากหุ้นเป็นประเภทที่ 4 แต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา กฎหมายระบุใหม่ว่ากองทุนรวมมีสถานะเป็นนิติบุคคลเทียบเท่ากับบริษัท ดังนั้นเมื่อกองทุนรวมมีการจ่ายปันผล จึงเรียกได้ว่าเป็นปันผลและเป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะนำมาคิดต้องนำมาหมดทุกกอง ถ้ามีทั้งหุ้นและกองทุนรวมต้องนำมาทั้งคู่

 

แนวทางการขอคืนภาษี

สิ่งสำคัญคือหลักฐานการหักภาษี ถ้าเป็นหุ้นจะมีส่งมาที่บ้านเรา หรือถ้าสมัคร Investor Portal ไว้ สามารถนำไฟล์ไปอัปโหลดตอนยื่นภาษีได้ จะมีข้อมูลที่เราได้รับเงินปันผลทั้งหมดในนั้น ถ้าใครเป็นนักลงทุนแนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะมันง่ายและได้ข้อมูลครบ ไม่ต้องกังวลกับการเก็บเอกสาร

 

เล่นหุ้นแล้วได้กำไรเยอะ สรรพากรสามารถตรวจสอบได้หรือไม่

การตรวจสอบจะมาจากการนำเงินที่ได้ไปทำอะไร เช่น ไม่เคยยื่นภาษี แต่มีเงินไปซื้อบ้าน 20 ล้าน อาจจะถูกสงสัยได้ แต่ถ้าเป็นการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กำไรที่ได้จะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไปหมดอยู่แล้ว

 

การลงทุนกับการวางแผนภาษี สามารถดำเนินไปด้วยกันอย่างไรได้บ้าง

กรณีที่เราต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีด้วย แสดงว่าเรามีรายได้เยอะ สิ่งที่เราต้องถามตัวเองคือ กองทุนลดหย่อนภาษีที่เราเลือกสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของเราได้หรือเปล่า ถ้าเรามีช่องทางลดหย่อนภาษีที่ถูกต้อง เราสามารถทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดได้ทั้งหมด และมันตรงกับเป้าหมายของเราด้วย เราก็สามารถใช้ตรงนี้เป็นทางเลือกในการวางแผนการเงินไปด้วยได้เช่นกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Growth by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

 

The Hosts จักรพงษ์ เมษพันธุ์, โอมศิริ วีระกุล

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Executive Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล

Show Producer โอมศิริ วีระกุล

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Videographer ศศิพิมพ์ อนันตกรณีวัฒน์
Graphic Designer นิสากร ฤทธาภัย
Shownote หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster ณฐพร  โรจน์อนุสรณ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล 
Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X