×

ไขความลับของแนวคิด ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน Feat. เฟิร์น ศิรัถยา

13.12.2020
  • LOADING...

กลับมาแล้ว! The Money Growth ซีซัน 2 โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ และ โอมศิริ วีระกุล ชวน เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี โฮสต์รายการ Morning Wealth ที่คลุกคลีด้านสื่อการเงินการลงทุนกว่า 10 ปี 

 

ย้อนเส้นทางชีวิต บทเรียนการทำงาน สไตล์การลงทุน คอนเซปต์ ‘ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน’ จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ในโลกการลงทุนอะไรเปลี่ยนไปแล้วบ้าง รวมถึงคำแนะนำให้ลงทุนสำเร็จตามเป้า และวิธีเริ่มง่ายๆ ผ่านกองทุนรวม

 

สามารถแนะนำ ติชมรายการ ส่งคำถาม หรือเสนอประเด็นที่อยากฟังมาได้ที่ [email protected] 

 


 

ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน

ด้วยความที่เรารู้จักตัวเองว่าเราชอบเรื่องเงินและชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการพูด เราเลยไปลองทำงานแต่ละอย่าง แล้วค่อยๆ ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไป เพราะส่วนใหญ่คนปกติไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไรจนกว่าจะทำไปถึงจุดหนึ่งแล้วรู้ว่ามันไม่ใช่ จึงจะถอยออกไปทำสิ่งใหม่ โชคดีที่เราศึกษาเรื่องการเงินมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย เริ่มลงทุนเร็วกว่าคนอื่นๆ ยิ่งในวัยเรียนเป็นวัยที่สำคัญ เพราะยิ่งได้เรียนรู้และมีเวลาลองผิดลองถูกมากเท่าไร เรายิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญเราเป็นคนทำงานเยอะ เพราะชอบทำ ไม่ได้ทำเพราะอยากจะได้เงิน จริงอยู่ว่าทุกคนในช่วงแรกต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพก่อน ปากท้องอิ่ม เราถึงจะไปคิดถึงความสุขด้านอื่นๆ ได้ การที่เราทำงานที่เรารักและใช้เวลากับมันนานพอ มันจะกลายเป็นแพสชันไปเอง มีงานที่ได้เงินและมีความสุขไปพร้อมกัน

 

ประโยคที่ว่า ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน เกิดขึ้นจริงๆ จังๆ ในช่วงที่เราทำงานมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว ที่ใช้คำนี้ก็มาจากชีวิตตัวเอง เราจะไม่สามารถให้เงินทำงานได้เลยถ้าเราไม่ใช้แรงทำเงินก่อน อย่าหวังว่าจะออมก่อนถ้ายังไม่มีกิน ตามหลักของทฤษฎีมาสโลว์ ความต้องการ 5 ขั้นของมนุษย์ เราอย่าเพิ่งไปหวังความสำเร็จหรือการยอมรับจากสังคม ถ้าเรายังไม่มีความต้องการพื้นฐานที่เพียงพอในเรื่องการกินหรือที่อยู่อาศัย ในเรื่องการเงินก็เช่นกัน พื้นฐานที่สำคัญที่สุด เราต้องมั่นใจว่าเรามีกินและต้องไม่เบียดเบียนใคร ไม่เป็นหนี้ หรือถ้าเป็นหนี้ก็เป็นหนี้ที่จัดการได้ จากนั้นค่อยเก็บเงินเพื่อมาลงทุน ข้อดีของเราคือความสามารถในการใช้แรงทำเงินได้จำนวนมาก บวกกับโชคดีที่รู้เรื่องการเงินเร็ว ก็เลยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาใช้เงินทำงานตั้งแต่เรียนปี 3 ทำให้เราเริ่มต้นได้เร็วมาก ถ้าย้อนกลับไปได้อยากเริ่มเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ เด็กสมัยนี้ยิ่งได้เปรียบ เพราะยิ่งเริ่มเร็ว เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี ดอกเบี้ยที่เราจะได้มันจะยิ่งทบต้นกลายเป็น 2 เท่า 4 เท่าได้เลย

 

เราจะไม่สามารถให้เงินทำงานได้เลย ถ้าเราไม่ใช้แรงทำเงินก่อน อย่าหวังว่าจะออมก่อนถ้ายังไม่มีกิน

 

ครั้งแรกที่ลงทุนในตลาดหุ้น ลงทุนในอุตสาหกรรมไหน 

เริ่มลงทุนในกองทุนรวมก่อน ลงทุน SET50 ตั้งแต่ปี 2008 เป็นช่วงที่เราซื้อได้ถูกและไม่คิดเยอะ เพราะตอนนั้นเงินน้อย สิ่งแรกที่ลงทุนคือกองทุนดัชนี เพราะว่าต้นทุนต่ำ ส่วนหุ้นรายตัวก็เริ่มลงทุนในหุ้นปันผล เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อสาร แต่ตอนนี้ไม่ได้ถือแล้ว ช่วงแรกเราเน้นปันผล แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว เลยอยากจะบอกว่าสิ่งที่เราทำในตอนแรกอาจจะไม่ใช่ตัวเราในอนาคตก็ได้ เราสามารถเปลี่ยนได้เสมอ ตอนนี้ที่ไม่ได้ลงหุ้นปันผลเลย เพราะว่าเราไม่ได้ต้องการกระแสเงินสดระหว่างทาง เราต้องการเงินก้อนใหญ่ปลายทาง แนะนำว่าใครที่อยากได้เงินก้อน ให้ลงทุนในหุ้นที่มีอนาคตหรือกองทุนที่ไม่ปันผล

 

สิ่งที่เราทำในตอนแรกอาจจะไม่ใช่ตัวเราในอนาคตก็ได้ เราสามารถเปลี่ยนได้เสมอ

 

การจัดพอร์ตหุ้นสไตล์ เฟิร์น ศิรัถยา

โดยส่วนตัวมี 2 หลักที่ใช้คือ 1. กล้าเสี่ยง ไม่กลัวรวย กล้าเสี่ยง หมายถึงการลงทุนในหุ้นเกือบ 100% เพราะเราอายุยังน้อย มีเวลาอีกเยอะให้เงินทำงาน และกล้าเสี่ยงกับเทรนด์ในอนาคตใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก สิ่งที่อยากแนะนำคือหุ้นที่เกี่ยวกับ Security เพราะเทคโนโลยีมาพร้อมกับการรักษาความปลอดภัย รวมถึงกลุ่ม Healthcare กลุ่ม AI หรือ Machine Learning ต่างๆ สังคมผู้สูงอายุที่จะต้องใช้บริการบางอย่าง อย่ายึดติดกับของเก่า ส่วนคำว่า ไม่กลัวรวย หมายถึงให้อดทนที่จะรวย ความรวยต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่ว่าซื้อวันนี้ พรุ่งนี้ได้ 10 ล้าน จะรวยในตลาดทุนต้องใช้เวลาและรู้จักอดทน กลัวรวยคือการซื้อปุ๊บขายปั๊บ แต่ถ้าเราอดทนรวย เราจะปล่อยให้เงินทำงานจนท้ายที่สุดมันจะสร้างผลกำไรให้เราได้ดีมาก ตัวเราเองช่วงเริ่มลงทุนก็มีสมุดอยู่เล่มหนึ่งที่จดด้วยปากกา เขียนว่าเราลงทุนอะไรเท่าไรบ้าง ทำอย่างนี้ทุกเดือน ตั้งแต่เงินหลักพัน หลักหมื่น จนกลายมาเป็น 6 หลัก เราเลยรู้ว่ามันคือผลของความอดทนที่ต้องใช้เวลา เหมือนกับการปลูกต้นไม้ กว่ามันจะให้ดอกผลและร่มเงากับเราได้ก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี การลงทุนก็เหมือนกัน ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะเห็นชัด สิ่งสำคัญคือความสม่ำเสมอในการดูสิ่งที่เราลงทุนไป ถ้าเราดูเป็นประจำ พอมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละปีเราจะรู้สึกดี และเห็นการเติบโตของเงินชัดเจน 

 

สิ่งสำคัญคือต้องลงมือทำ ไม่ทำไม่รู้ เพราะคนที่มีเงินเดือนน้อยแต่มีวินัยมากกว่า สามารถเก็บเงินได้เยอะกว่าคนที่มีเงินเดือนเยอะ แต่ไม่เคยเริ่มเก็บแน่นอน 

 

ในวันแรกที่เริ่มลงทุน วางเป้าหมายเกี่ยวกับชีวิตและการเงินของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

เราเคยเป็นหนี้ กยศ. มาก่อน และที่บ้านสร้างวินัยการเงินให้เราด้วยการให้เราไปซื้อบ้าน เพราะเขาอยากให้เรามีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ดังนั้นเราจึงต้องทำงานเพื่อเอาเงินเดือนไปผ่อนบ้านและหนี้ กยศ. เป้าหมายแรกของเราคือการปลดหนี้ พอเรามีเงินเดือนก็เลยเอาไปโปะหนี้ก่อนเลย ทำให้ไม่กี่ปีก็ใช้หนี้หมด ระหว่างนั้นก็ลงทุนไปด้วย โดยตั้งเป้าหมายล้านแรกในชีวิตก่อน ไม่ได้ตั้งเป้าหมายใหญ่มากมาย เพราะเราเริ่มต้นด้วยเงินเดือน 12,000 บาท วันที่มีล้านแรกรู้สึกมันเร็วกว่าที่คิด ด้วยความที่เราใช้แรงทำเงินไปด้วย และเราไม่ได้ทำงานอย่างเดียว ทำงานประจำแล้วก็ทำงานพิเศษอื่นๆ อีก ทำให้เรามีรายได้ 2 ทางมาตลอด พอมีล้านแรกก็อยากก็ขยับเป้าหมายไปที่ 10 ล้าน แน่นอนว่าเราต้องใช้แรงทำเงินหนักๆ เพื่อที่จะสามารถแบ่งเงินไปทำงานได้เยอะขึ้น สิ่งสำคัญคืออย่าพยายามยกฐานรายจ่ายตัวเองขึ้นไปเยอะ เพื่อที่จะได้แบ่งเงินไปทำงานได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือใช้แรงทำเงินให้ดีก่อน โฟกัสกับงานของตัวเอง ทำให้คนรู้สึกว่าต้องเป็นเรา สิ่งสำคัญคือต้องมีวินัย อย่าหยุดลงทุน ล้านแรกสำหรับบางคนยาก เพราะมีกิเลสเยอะ แต่โชคดีที่เรามีความต้องการไม่ค่อยสูง มันเลยทำได้ง่ายและเร็ว

 

คิดว่าพอถึงช่วงอายุ 40-50 ปี เป้าหมายทางการเงินของตัวเองจะยังเหมือนเดิมไหม 

ตอนนี้เป้าหมายก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขแล้ว เพราะเรารู้สึกว่าตัวเลขสำหรับเราโอเคแล้ว ใช้ชีวิตอยู่ได้และมีอิสรภาพทางการเงินระดับหนึ่ง เรามีทุกวันนี้ได้เพราะเรามีความรู้เรื่องการเงิน เราเลยอยากบอกเรื่องนี้กับคนอื่นๆ 

 

การแบ่งปันในเรื่องที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีก่อนค่อยแบ่ง มันคือการสอนเขาตกปลา มากกว่าให้ปลา เป็นความสุขที่ได้ช่วยคนอื่น และเป็นความสุขทางใจ 

 

คำนิยามของคำว่าเกษียณสำหรับเราคืออะไร

พอเราใช้แรงทำเงิน ใช้เงินทำงาน สุดท้ายคือ ใช้ชีวิต หลายคนลืมไปว่าชีวิตเรามีลิมิต ทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจ จริงๆ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนเกษียณแล้ว เราปฏิเสธงานบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่ไหว อาจจะไม่ไหวด้วยร่างกาย ไม่ถนัด หรือไม่ใช่โฟกัสของเรา เราเลือกทำในสิ่งที่ลงทุนเท่ากันแต่ได้ผลที่มากกว่า และถามความรู้สึกตัวเองเสมอว่าไหวไหม งานบางอย่างแม้ว่าเงินจะดีแต่สุขภาพไม่ไหวก็จะปฏิเสธ เราเลยรู้สึกว่า คำว่าเกษียณสำหรับเราคือการใช้ชีวิตให้มีความสุขทั้งกาย ใจ และมีเงิน คนสมัยนี้เรื่องกายกับใจน่าเป็นห่วงมาก เพราะเขาไปโฟกัสเรื่องเงินมากเกินไป ยิ่งในโลกโซเชียลทุกคนต่างมองเห็นความดูดีภายนอกของกันและกัน เราควรกลับมาดูแลตัวเอง ใช้ชีวิตในแบบที่รักตัวเอง เพราะชีวิตเรามีชีวิตเดียว ควรที่จะใช้ให้ดีที่สุด 

 

พอเราใช้แรงทำเงิน ใช้เงินทำงาน สุดท้ายคือใช้ชีวิต

 

อยากให้กำลังใจหรือฝากข้อคิดอะไรสำหรับคนอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเงินการลงทุน

วิกฤตทำให้เราเห็นว่าอะไรสำคัญในชีวิต สุขภาพสำคัญมากในตอนนี้ การที่เราไม่แข็งแรงจะทำให้เราติดเชื้อได้เร็ว และมีโอกาสแพร่เชื้อได้ด้วย ต่อมาคือเรื่องการเงินที่ต้องมีสภาพคล่อง Cash is King มาสำคัญในช่วงที่มันเกิดวิกฤต กำไรขาดทุนไม่สำคัญเท่ากระแสเงินสด เพราะเราต้องจ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน ถ้าจ่ายไม่ไหว แม้ว่าจะมีกำไรบริษัทก็ไปต่อไม่ได้ ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน แม้ว่าจะมีทรัพย์สิน แต่ไม่มีสภาพคล่อง ก็ไม่สามารถขายออกมาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเงินสด แต่เงินสดที่มากไปก็ไม่ดี โควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าเราต้องมีรายได้เพียงพอสำหรับ 3-6 เดือนที่อาจไม่มีงานทำ ยิ่งถ้าเราอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว เราจำเป็นต้องมีสภาพคล่องที่มากกว่า 6 เดือน 

 

รายได้ทางเดียวไม่ตอบโจทย์ เราเป็นคนที่มีรายได้ 2 ทางมาตลอดคือ Active และ Passive ทั้งฝั่งของการใช้แรงทำเงินและให้เงินทำงาน ถ้าทำแบบนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ไหนเราก็พร้อมลุย เพราะวันไหนที่รู้สึกว่า Active ไม่เวิร์ก Passive ก็ยังช่วยเราได้

 

อยากบอกอะไรกับคนที่ติดตามผลงาน

อยากขอบคุณ เพราะการที่เราทำงานและมีคนได้ประโยชน์จากงานที่เราทำ เรายิ่งมีความสุขแบบทวีคูณ เวลาได้ข้อความที่คนส่งมาบอกว่า เริ่มลงทุนมาตั้งแต่ที่ฟังเรา จนตอนนี้ปลดหนี้ได้แล้ว เราก็รู้สึกหัวใจมันเต็ม และอยากขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาส ตั้งแต่ที่ทำงานที่แรก รวมถึง THE STANDARD ด้วยที่ชวนมาทำสิ่งดีๆ ตรงนี้ เฟิร์นไม่ใช่คนเก่ง แต่เราขยันและชอบหาอะไรทำเพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้นไม่ต้องเกิดมาเก่งก็ทำได้ เราเชื่อว่าเราสามารถเป็นตัวเราที่ดีขึ้นได้ถ้าอยากจะเป็น 

 

การลงทุนควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี และในสมัยนี้เราต้องมีโฟกัส ต้องทำอะไรที่ต้องเป็นเราเท่านั้นถึงจะได้งานนี้ เพราะตอนนี้คนที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้มีเยอะมาก แต่มันจะมีบางอย่างที่ต้องเป็นคุณเท่านั้น หาจุดนั้นให้เจอว่าคืออะไร และปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ มันคือศิลปะ The Art of Saying No 

 

สุดท้าย จงเป็นตัวของตัวเอง เพราะคำว่าประสบความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นโค้ชหรือเป็นเบื้องหลังที่คนไม่รู้จักเลย แต่ทุกคนรักเขาเพราะเขาช่วยเหลือสังคมเยอะมาก อย่านิยามความสำเร็จว่าเป็นแค่ตัวเลข ลองนิยามความสำเร็จในแบบของคุณเอง แล้วคุณจะรู้ว่ามันมีความสุขได้ง่ายกว่านั้น ตัวเลขเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราปากท้องอิ่มก็จริง แต่ท้ายที่สุดมันอยู่ที่ว่าเราตอบโจทย์ในชีวิตเราได้ไหม หาคุณและค่าของเราให้เจอ เพราะเราต้องมีคุณประโยชน์ก่อน จึงจะสามารถสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้

 


 

 

เดือนธันวาคมแล้ว ผู้ที่สนใจและกำลังมองหาวิธีการวางแผนภาษีปีนี้ มีกิจกรรมดีๆ มาให้ติดตาม กับ ‘Mutual Fund Fair: Facebook LIVE! เปิดร้านออนไลน์ขายกองทุนประหยัดภาษี’ พบกับการรีวิวกองทุน SSF/RMF จากกูรูกองทุนรวม เรียกได้ว่าจัดมาครบ ดูจบ เลือกลงทุนได้เลย วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30-16.00 น. กดติดตามทาง Facebook: Thai Mutualfund: ให้เงินทำงาน ผ่านกองทุนรวม

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Growth by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Hosts จักรพงษ์ เมษพันธุ์, โอมศิริ วีระกุล

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Executive Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล

Show Producer โอมศิริ วีระกุล

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Videographer ศศิพิมพ์ อนันตกรณีวัฒน์
Graphic Designer นิสากร ฤทธาภัย
Shownote หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล  

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising