จากกรณีดังของคุณครูวิภา ผู้ค้ำประกันให้ลูกศิษย์จำนวน 60 คนกู้ยืมเงิน กยศ. แต่ปรากฏว่าลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ไปเกินครึ่ง ทำให้เดือดร้อนแก่คนค้ำที่กำลังโดนกฎหมายมาถึงขั้นบังคับคดี
The Money Case by The Money Coach เอพิโสดนี้เชิญ คุณพิเชษฐ์ มหันต์สุคนธ์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานทนายความ บริษัท Bangkok Law Office and Associates จำกัด
ไขข้อข้องใจทุกเรื่องเกี่ยวกับคดีหนี้ กยศ. ผู้กู้-ผู้ค้ำควรรู้และระวังอะไรบ้าง ดอกเบี้ยหนี้โหดจริงไหม กฎหมายที่ไปถึงขั้นบังคับคดีเป็นอย่างไร ผ่อนไปเท่าไรแต่เงินต้นก็ไม่ลดเลยเพราะอะไร และถ้าเบี้ยวหนี้ไปแล้วควรทำอย่างไรให้จบสวยงาม
02:08
ปีหนึ่งมีคดีเกี่ยว กยศ. เยอะไหม
เฉพาะสำนักงานเรารับอยู่ประมาณ 600-700 คดีต่อปี ถ้าทั่วประเทศประมาณ 1 แสนกว่าคดีขึ้นไปต่อปี
วัตถุประสงค์ของ กยศ. คือให้กู้ยืมกับนักศึกษาสำหรับค่าเล่าเรียน แล้วก็ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ตำรา รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำรงชีพอย่างค่าที่พักและค่าอาหาร
จริงๆ ดอกเบี้ย กยศ. ถือว่าต่ำมากคือ 1% ต่อปี ค่าเรียนของแต่ละคนก็แล้วแต่สถาบัน ของรัฐก็ประมาณ 1 แสนกว่าบาท ถ้าเอกชนก็สูงขึ้นประมาณ 2-3 แสนบาท
05:07
ถ้าเบี้ยวจ่ายจะโดนอะไรบ้าง
เกณฑ์ของ กยศ. คือหลังจากเรียนจบ 2 ปีค่อยมาผ่อนชำระ แต่ถ้าเบี้ยวจ่ายต้องเสียเบี้ยปรับ 1.5% ต่อเดือน เท่ากับ 18% ต่อปี บวกดอกเบี้ยปกติอีก 1% เป็น 19% ซึ่งเท่ากับดอกเบี้ยบัตรเครดิตแล้ว แต่ถ้าทำถูกต้อง ทำตามเกณฑ์ หลังเรียนจบ 2 ปีแล้วผ่อนชำระจะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1% ต่อปี
เวลานักศึกษากู้จะถามแค่ดอกเบี้ย พอเห็นว่าแค่ 1% จากเงินกู้เรียนประมาณ 1 แสนบาท 1% ก็ 1 พันบาทต่อปี ชิลๆ แต่ลืมถามดอกเบี้ยปรับซึ่งแพงมาก จากดอกเบี้ย 1 พันกว่าบาทจะกลายเป็น 1 หมื่นกว่าบาท ตรงนี้เป็นเหมือนบทลงโทษเพื่อบังคับให้นักศึกษาจ่ายดอกเบี้ยให้ตรง
ดอกเบี้ย 18% ต่อปีจะคิดย้อนหลังไปตั้งแต่งวดแรกที่ได้ สมมติได้งวดละ 3 หมื่นบาท ก็จะคิดดอกเบี้ยปกติ 1% บวกกับดอกเบี้ยปรับ 1.5% ต่อเดือนตั้งแต่งวดแรกทบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัญหาคือนักศึกษาไม่ค่อยรู้เรื่องดอกเบี้ยปรับ รู้แค่ว่าน่าจะ 1% ไปตลอด แต่คนที่ทำถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาอะไร 1% ต่อปีไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็เคลียร์หมด
09:07
ทางกฎหมายมีกระบวนการอย่างไรกับคนที่เบี้ยวหนี้ กยศ.
จริงๆ กยศ. ให้โอกาสมาก อันดับแรกเขาจะมีหนังสือทวงถามไปก่อนเพื่อเตือนคนที่ถึงกำหนดชำระ ก็จะเตือนให้มาจ่าย แจ้งเงินต้น แจ้งดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ถ้าแจ้งไปแล้วเงียบ กยศ. ก็จะส่งหนังสือเชิญมาไกล่เกลี่ยเพื่อสอบถามปัญหาว่าติดขัดอะไร แต่ถ้าถึงตรงนี้ยังเงียบอีก ไม่ยอมเข้ามา คราวนี้ กยศ. ไม่มีทางเลือกแล้ว เพราะเงินนี้เป็นเงินหลวง ก็ต้องส่งให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการฟ้องศาล การฟ้องก็จะรวมยอดไปเลยทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยคงค้าง เบี้ยปรับ จาก 1 แสนบาทก็อาจจะกลายเป็น 160,000 บาท หรือ 180,000 บาท แล้วแต่ระยะเวลา ถ้าฟ้องก็จะแจ้งไปยังลูกหนี้คือตัวนักศึกษาและผู้ค้ำประกัน ตรงนี้ กยศ. ก็ยังให้โอกาสมาไกล่เกลี่ย มาคุยกัน ไหวไม่ไหวอย่างไร แต่จะมีเกณฑ์ให้ผ่อนชำระ ถ้าเงินต้นประมาณ 1 แสนบาทก็ผ่อนเดือนละประมาณ 1,100 บาท ซึ่งถ้าตั้งใจจะจ่ายก็จ่ายได้ แต่ถ้ายังเงียบ ไม่มาอีกในขั้นตอนศาลครั้งนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการขึ้นศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษาตัดสินให้นักศึกษาและผู้ค้ำประกันชำระหนี้ กยศ. ฟ้องพร้อมกัน ผู้กู้คือจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำคือจำเลยที่ 2
12:37
เวลาเข้าไปไกล่เกลี่ยเรื่องดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ทำไมจึงลดให้ไม่ได้
มันเป็นเกณฑ์ตามสัญญาและผ่านการอนุมัติมาแล้ว เงินหนี้เป็นเงินหลวง ถ้าเป็นเอกชน เช่น ธนาคารต่างๆ จะคุยกันได้ แต่ของหลวงไม่มีเกณฑ์ลดให้ ที่ลดไม่ได้เพราะถูกออกมาเป็น พ.ร.บ. เป็นกฎหมายที่หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ไม่มีใครมีสิทธิ์ลดให้ได้ เพราะจะขัดกับกฎหมาย แต่การเข้าไปไกลเกลี่ยจะสามารถพูดคุยเพื่อลดเรื่องยอดที่ต้องผ่อนชำระต่องวดได้
14:56
พอเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้วผู้กู้และผู้ค้ำก็ยังไม่มา จะเกิดอะไรต่อ
ศาลก็จะมีคำพิพากษา เพราะดูแล้วมีการกู้เงินจริง มีหลักฐานในการจ่ายเงิน เพราะ กยศ. จะโอนเงินเข้าบัญชีให้โดยตรง ศาลก็จะตัดสินรวมยอดหนี้ทั้งหมด บวกกับค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็จะเป็นหนี้อีกก้อนขึ้นมา พอมีคำพิพากษาแล้วลูกหนี้ก็ยังไม่มาจ่าย คราวนี้จะเข้าสู่กระบวนการสำคัญคือการบังคับคดี มีการยึดทรัพย์ สืบหาว่าผู้กู้มีทรัพย์สินหรือไม่ เผื่อยึดเอามาขายทอดตลาด กรณีนี้ผู้กู้กับผู้ค้ำจะรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้จะเลือกบังคับคดีกับใครก็ได้ ส่วนใหญ่ผู้ค้ำก็จะมีหลักทรัพย์ มีหน้าที่การงานอยู่แล้ว ก็จะหาเจอได้ง่ายกว่า
แต่ปัจจุบันกฎหมายค้ำประกันได้แก้ไขใหม่เมื่อปี 2557 ว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้ต้องไปหาผู้กู้ก่อน แต่คดีที่ฟ้อง กยศ. กันอยู่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงกฎหมายเก่า เพราะกู้กันมาก่อนปี 2557
ผู้ค้ำก่อนจะเซ็นค้ำให้ใครคิดให้ดีก่อน เพราะสัญญามีรายละเอียดทุกอย่าง ต้องอ่านสัญญาให้ดี อย่าไปคิดว่ายังไงก็ต้องเซ็นอยู่แล้ว เพราะจะเป็นภาระติดตัวในระยะยาว
21:38
เคสผ่อนเท่าไร เงินต้นก็ไม่ลดสักที
เคสนี้เรียนจบมาไม่เคยผ่อนชำระเลย 5 ปี เพราะเขาคิดว่าดอกเบี้ยถูกแค่ 1% พอกลับเข้าไปจ่ายก็ผ่อนตามเกณฑ์เดือนละประมาณ 1 พันบาท ผ่อนไปหลายเดือนก็เห็นบิลที่ส่งมาเงินต้นไม่ลดลงเลย แล้วก็มีดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับค้างชำระ ซึ่งจริงๆ เงิน 1 พันบาทที่จ่ายไปต่อเดือน กยศ. จะเอาไปหักเบี้ยปรับค้างชำระก่อน เงินต้นยังอยู่ ดอกเบี้ยยังวิ่ง แล้วเบี้ยปรับคือ 1.5% ต่อเดือน มากกว่าเงิน 1 พันบาท ก็กลายเป็นว่ายังมีเบี้ยปรับค้างชำระตลอดเวลา
วิธีแก้คือ หนึ่ง ต้องหาเงินก้อนมาจ่ายดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้หมดไปก่อน รายนี้ค้างประมาณ 6 หมื่นบาท ก็ไปยืมพี่น้องมาจ่ายก่อนเพื่อจะให้เข้าสู่ภาวะปกติ คือเสียดอกเบี้ย 1% ต่อปี สองคือพยายามหาทางผ่อนต่อเดือนให้มากกว่าปกติ เหมือนโปะเพื่อจะได้มีเงินไปตัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
25:04
เริ่มเบี้ยวไปแล้วต้องทำอย่างไร
ถ้าไม่มีจริงๆ ผ่อนไม่ไหว รีบกลับไปคุยกับ กยศ. เพื่อทำเรื่องขอผ่อนผันการชำระหนี้ เขาก็จะตรวจสอบว่าที่คุณผ่อนไม่ได้เพราะอะไร คณะกรรมการก็จะดูว่าสมควรให้ผ่อนผันไหม ถ้าสมควรเขาก็เลื่อนวันออกไปให้ตามความเหมาะสม เบี้ยปรับก็ไม่ต้องเสีย แต่ดอกเบี้ยยังมีอยู่
หรืออย่างกรณีลูกหนี้ที่พบว่าเป็นบุคคลพิการ มีหลักฐาน มีใบรับรองชัดเจน กยศ. ก็จะยกหนี้ให้เลย
30:26
เคสเรื่องการบังคับคดี ยึดทรัพย์
ถ้าตามหาคนกู้ไม่ได้แล้วมาตกที่ผู้ค้ำ เขาก็จะดูว่าผู้ค้ำมีทรัพย์สินอะไรบ้างที่พอชำระหนี้ สมมติมีหนี้ 2 แสนบาท ส่วนใหญ่ก็จะไม่ยึดทรัพย์เกินกว่าหนี้ เว้นแต่ว่าผู้ค้ำมีทรัพย์ชิ้นเดียว เช่น ที่ดินแปลงเดียว แล้วสมมติแปลงนั้นมีมูลค่า 1 ล้านบาท กฎหมายบังคับคดีไม่สามารถยึดเฉพาะส่วนได้ก็ต้องยึดทั้งแปลง ถ้าผู้ค้ำหาเงิน 2 แสนบาทมาชำระก็ถอนการยึดให้ แต่ถ้าไม่มาเคลียร์ก็จะบังคับขายทอดตลาด สมมติมีคนมาซื้อ 1 ล้านบาทก็จะถูกหัก 2 แสนบาทบวกดอกเบี้ยนิดหน่อยเข้า กยศ. ส่วนที่เหลือคืนเจ้าของ
ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android)
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest พิเชษฐ์ มหันต์สุคนธ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับกรณีหนี้ กยศ. ใน THE STANDARD
• กรมบังคับคดี เผยกฎหมายใหม่บังคับใช้แล้ว ให้ กยศ. ทวงหนี้ผู้กู้ถึงที่สุดก่อนทวงกับผู้ค้ำ
• ออกประกาศหักเงินเดือนข้าราชการ-ลูกจ้างประจำรัฐใช้หนี้ กยศ. แล้ว คาดเริ่มตุลาคมนี้