×

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติคืออะไร ต่อไปทุกบริษัทจะต้องมีกองทุนตัวนี้จริงหรือ

06.08.2018
  • LOADING...

The Money Case by The Money Coach เอพิโสดนี้โฟกัสไปที่คนทำงานประจำ ซึ่งอาจจะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัททั่วไป บางบริษัทจะมีการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ เช่น เงินบำนาญชราภาพ หรือบางบริษัทก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่บางบริษัทก็ยังไม่มี

 

ตอนนี้มีร่างพรบ. ออกมาแล้วว่าบริษัทเอกชนทั้งหมดจะต้องมีสิ่งที่คล้ายๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในโครงการที่ชื่อว่า ‘กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ’ หรือ กบช.

 

มันนี่โค้ช ชวน หมอนัท คลินิกกองทุน มาชำแหละกองทุนตัวนี้ว่ามันคืออะไร ดีงามหรือไม่ รูปแบบการเก็บเงินและคอนเซปต์ที่จะเอาไปลงทุนเป็นอย่างไร พร้อมแนวทางการออมและลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ต้องการมีเงินพอใช้ตอนเกษียณ

 


กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) คืออะไร

เป็นร่างพรบ. ที่จะให้ทุกบริษัทมี คล้ายๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือการเก็บเงินในระหว่างทำงานเพื่อการเกษียณ ตอนนี้รัฐให้เวลาเตรียมตัว 1 ปี จะเริ่มบังคับใช้จริงปี 2562 โมเดลจะเหมือนกับประกันสังคมที่คนทำงานบริษัททุกคนต้องมี และจะถูกหักอัตโนมัติตอนได้เงินเดือน

 

ที่รัฐบังคับใช้ตัวนี้เพราะว่าคนเก็บเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ และ กบช. จะทำให้อย่างน้อยมีเงินใช้หลังเกษียณเกินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 20,000 บาท หลังเกษียณจะมีใช้อย่างน้อยๆ 10,000 บาท หรืออาจถึง 70% ของเงินเดือนเดิมเลยด้วยซ้ำ ซึ่งน่าจะพอใช้ เพราะตอนเกษียณเราจะหมดภาระต่างๆ ไปเยอะ เช่น ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องสังสรรค์ และอาจจะหมดหนี้ที่ต้องผ่อนชำระไปแล้ว

 

กบช. จะครอบคลุมพนักงานประจำของบริษัท ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่อายุ 15-60 ปี คาดว่าเงินจะเข้ามาใน กบช. ปีแรกถึง 60,000 ล้านบาท

 

ปี 2562 จะเป็นเฟสแรก บริษัทที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปจะต้องมี กบช. พอปี 2565 จะบังคับบริษัทมีลูกจ้างเกิน 10 คน ปี 2567 มีลูกจ้างแค่ 1 คนก็โดน พูดง่ายๆ คือครบ ต่อไปทุกบริษัทจะต้องมี กบช. แน่นอน

 

รูปแบบการเก็บเงินของ กบช.

เหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือลูกจ้างโดนหัก แล้วนายจ้างก็จะสบทบให้อีก แล้วเขาก็เอาเงินกองนี้ไปลงทุนต่อ แต่อัตราสมทบจะแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของ กบช. ช่วง 3 ปีแรกต้องส่งฝั่งละอย่างน้อย 3% พอปีที่ 4-6 ปรับขึ้นเป็นฝั่งละอย่างน้อย 5% พอปีที่ 7-9 ก็ขึ้นเป็นฝั่งละ 7% และปีที่ 10 ขึ้นไป ทั้งฝั่งนายจ้าง-ลูกจ้างคนละ 10%

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่มีเพดานของเงินเดือน แต่ กบช. มีเพดานอยู่ที่เงินเดือน 60,000 บาท สมมติคนที่มีเงินเดือน 100,000 บาท ก็จะหักได้แค่ 10% ของ 60,000 คือ 6,000 บาทเท่านั้นไปตลอด

 

ซึ่งจริงๆ การเก็บไปถึง 10% ของเงินเดือน รวมกับฝั่งนายจ้างคือ 10% เป็น 20% เป็นเรตการเก็บเงินที่เยอะมาก แล้วเงินก้อนนี้ยังเอาไปลงทุนต่อให้งอกเงยอีก ผมเคยไปบรรยายที่หนึ่งแล้วเจอคุณป้าแม่บ้านที่ทำงานกับบริษัทมาอย่างยาวนาน แล้วแกมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ล้านบาท เพราะว่าบริษัทเขาสมทบให้ 10% บวกกับระยะเวลาเก็บที่ยาวเลยได้เป็นเงินจำนวนนี้

 

กบช. จะแตกต่างกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกอย่างตรงที่สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ บำเหน็จคือเงินก้อนเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่บำนาญจะแบ่งจ่ายให้เป็นรายเดือน แต่ภายในเวลาไม่เกิน 20 ปี ซึ่งการได้เงินเป็นรายได้ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่า ป้องกันมิจฉาชีพ คนใกล้ตัว และการใช้เงินก้อนจนหมด

 

การเอาเงินไปลงทุนของ กบช.

เป็นประเด็นที่คนถามกันเข้ามาเยอะ ปกติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีคณะกรรมการภายในบริษัทร่วมกับคณะกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นพาร์ตเนอร์กัน คนกลุ่มนี้ก็จะมาบริหารกองทุนของบริษัทเรา แต่ กบช. ภาครัฐจะเป็นคนดูแลให้ เลยมีคำถามเยอะจากฝั่ง บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ว่าบริษัทที่จะเข้าบริหารคือใครบ้าง ภาครัฐก็บอกว่าเดี๋ยวคงมีการจัดซื้อจัดจ้างให้หลาย บลจ. เข้ามาดูแล คนเลยกังวลเรื่องฝีมือการจัดการกองทุนของภาครัฐ เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมา คนก็เลยไปเทียบต่อว่าจะเหมือนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือประกันสังคมไหมที่มีข่าวมาว่าในอนาคตเงินจะไม่พอจ่าย

 

ซึ่งจริงๆ รัฐน่าจะเป็นคนคุมกฎเหมือนเดิม แต่น่าจะปล่อยอิสระเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือจัดซื้อจัดจ้างอย่างอิสระ ไปหาคนที่มีฝีมือเข้ามาบริหาร หรือเปิดอิสระกว่านั้นคือบริษัทสามารถเลือกที่จะไปลงทุนกับใครก็ได้คล้ายระบบ Fund Supermart จะซื้อของแบงก์ไหนก็ได้ เช่น กองทุนตราสารหนี้แบงก์หนึ่ง กองทุนหุ้นอีกแบงก์หนึ่ง กองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็อีกแบงก์หนึ่ง ผสมๆ กันให้เจ้าของเงินมีสิทธิ์เลือกเอง ถ้าเปิดอิสระแบบนี้ ทุก บลจ. จะต้องวิ่งเข้าหาบริษัทและไปให้ความรู้เรื่องการเงินการลงทุน เกิดการแข่งขัน ศักยภาพก็จะดี ค่าธรรมเนียมจะถูกลง ประโยชน์จะได้กับลูกจ้างเต็มๆ แต่ถ้าโดนคุม โดนเลือกโดยรัฐ สิทธิ์ต่างๆ ค่าธรรมเนียมที่ลดลงไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน กองทุนตัวนี้ศักยภาพไม่ดีทำไมยังเลือก มันจะเกิดคำถามขึ้นเยอะมาก

 

มีเคสหนึ่งบริษัทใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงในตราสารหนี้อย่างเดียว ลูกจ้างหัก 5% นายจ้างสมทบ 5% พบว่าผลตอบแทนที่ได้คือ 25 สตางค์ น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แพ้เงินเฟ้อกระจุยอีกต่างหาก เงินเก็บที่ได้ก็จะไม่พอใช้ นี่คือตัวอย่างของการล็อกและเลือกเพียง บลจ. เดียว ซึ่งอาจเป็นการที่ลงทุนที่เพลย์เซฟเกินไป เพราะกลัวเงินหาย เงินลด แต่คนลงทุนไม่ได้ประโยชน์     

 

สำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วและบริษัทให้เลือกลงทุนเองได้ แต่ละช่วงควรลงทุนอย่างไร

เนื่องจากกองทุนพวกนี้เน้นเรื่องของอายุ ระยะเวลา ซึ่งจะสะสมจนกว่าเราจะเกษียณ ถ้าอายุ 25 ปี หรือเริ่มทำงานใหม่ๆ ลงในหุ้น 100% ก็ยังไหว หรือ 60% ขึ้นไปถือว่าโอเค ลงหุ้นไปได้ถึงอายุ 35 ปี แต่พอ 35 ปีขึ้นไป หุ้นน่าจะลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 30% ที่เหลือก็เป็นตราสารหนี้ หรือทองคำนิดหน่อย พออายุ 50 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงต้องต่ำ หุ้นเหลือ 10-30% ก็พอ หลังเกษียณก็ลงทุนได้ แต่หุ้นไม่ควรเกิน 20% เอาให้มันชนะเงินเฟ้อได้ ถ้าโชคดีมีปีของหุ้น เราจะได้มีเงินเกษียณเพิ่มขึ้น

 

คนรุ่นใหม่ถ้าจะเกษียณควรเก็บอย่างไร ควรมีเท่าไร

เทียบจากค่าครองชีพปัจจุบันที่อยู่สบายๆ 30,000-50,000 บาท ต้องมีอย่างน้อย 10 ล้านตอนอายุ 60 ปี ถ้าเก็บดีๆ มันถึงนะ เริ่มตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ 20 ต้นๆ เก็บคงที่เดือนละ 2,000 กว่าบาท ลงทุนในที่ที่ผลตอบแทน 8-10% พออายุ 60 ปี 8-10 ล้านบาทมีโอกาสถึง นี่คือแค่เก็บแบบคงที่ แต่ถ้ามีโบนัสแล้วใส่เข้าไปลงทุนเงินก็จะงอกขึ้น อาจจะได้เจอสัก 15 ล้านก็เป็นไปได้

 

การเก็บเงิน 10 ล้านจริงๆ ไม่ต้องใช้อภินิหาร สามารถลงทุนใน LTF/RMF เลือกกองทุนที่ดีๆ หน่อย ตัดทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน ที่เรียกกันว่า DCA (Dollar-Cost Averaging) ถือกันยาวๆ ก็มีโอกาสถึง 10 ล้านได้ ถ้าอายุน้อยๆ ก็ยิ่งทำได้ง่าย แต่ถ้าอายุเยอะขึ้น 35 ปีขึ้นไปแล้วยังไม่เริ่ม ต้องเก็บเงินให้ได้ 25% ของเงินเดือนก็ยังมีโอกาส

มีอบายมุข มีทางเลือกให้ใช้เงินเยอะมาก แต่เราก็มีทางเลือกในฝั่งการออมเยอะเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะแบ่งเงินมาออม มาลงทุนแค่ไหน อยากให้ศึกษาโปรดักต์ทางการเงิน การลงทุน เรื่องลดหย่อนภาษี ถ้าทำได้แล้วหลังเกษียณจะสบายกว่ากันเยอะ


ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) 


 

Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guests ธนัฐ ศิริวรางกูร


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music Westonemusic

FYI
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising