×

ล้วงวิชาแก้วิกฤต ชุบชีวิตสนามบิน ของ นิตินัย AOT

06.10.2020
  • LOADING...

จากองค์กรรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรสูงสุด 5 ปีติดต่อกัน สู่วันที่ทั้งสนามบินมีผู้โดยสารเพียงสองคน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ปรับตัวอย่างไรหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สุทธิชัย หยุ่น คุยกับ ดร. นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถึงการรับมือกับโควิด-19 การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการปลุกชีวิตของสนามบินด้วยการทำ Digital Transformation ในรายการ The Alpha

 


 

รับชมในรูปแบบวีดีโอสัมภาษณ์

 


 

ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่รายงานตลาดหลักทรัพย์นี่หนักเลยนะครับ หนักขนาดไหนถ้าเทียบกับที่เราประมาณการเอาไว้ครับ

จริงๆ ก็ต้องเรียนว่าเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนหน้าแล้ว ทอท. เรา ประกอบการเป็นปีงบประมาณ ก็หมายความว่าเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึง 30 กันยายนปีนี้ ช่วง 4 เดือนแรกก็คือ ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม เราเรียกว่าเป็น 4 เดือนทองคำก็ว่าได้ เพราะว่าตุลาคมก็ Golden Week ของจีน พฤศจิกายนจะมี Thanksgiving ธันวาคมไม่ต้องพูดถึง มีทั้งคริสต์มาส ทั้งปีใหม่ มกราคมก็เป็นตรุษจีน 4 เดือนนี้เราได้รายได้มากพอที่จะพยุง 8 เดือนที่เหลือให้ไม่ขาดทุน นี่คือข่าวดีสำหรับงบประมาณนี้ เราคิดว่าอาจจะไม่ขาดทุน แต่ข่าวดีฉันใด ข่าวร้ายก็ฉันนั้น ถ้าวัคซีนไม่ออกภายใน 4 เดือนดังกล่าวของปีนี้ ต่อให้ไปออกมีนาคม เมษายน ก็คิดว่าคงจะเอากลับมาเป็นกำไรในปีหน้าค่อนข้างลำบาก เพราะเราจะพลาด 4 เดือนทองคำไปสำหรับปี 2563 นั่นหมายความว่าต่อให้ Q On Q เราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนเมษายน พฤษภาคม แต่ Year On Year สิ้นปี ก็น่าจะติดลบหนักหน่วง เพราะปีที่แล้วฐานค่อนข้างสูงมาก

 

ตัวเลขของไตรมาสสุดท้ายที่แจ้งตลาด มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้มันแย่ขนาดนั้น แน่นอนเรารู้ว่าทราฟฟิกหายไป เรารู้ว่าการบินถูกกระทบ แต่ลงรายละเอียดแล้วอะไรที่กระทบหนัก

ต้องเรียนฉายภาพตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วกับไตรมาสที่จะถึงนี้ต่อไปเลย ทอท. บริหาร 6 สนามบิน มีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 86% โดยคร่าวๆ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้โดยสารต่างประเทศ อีกครึ่งหนึ่งเป็น Domestic ใน Domestic ครึ่งหนึ่ง คร่าวๆ มาจากผู้โดยสารต่างประเทศที่มาสุวรรณภูมิ ดอนเมือง แล้วต่อเครื่องไปต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นผมจะเรียนคุณสุทธิชัยว่า เดือนเดือนหนึ่ง ปกติแล้วก่อนโควิด-19 วันหนึ่งเรารับผู้โดยสารประมาณ 400,000 กว่าคน เป็นอินเตอร์ 200,000 เศษ  ใน Domestic 200,000 เศษ เป็นขับเคลื่อนโดยคนไทยจริงประมาณ 100,000 กว่าคน ต้องเรียนว่าไตรมาสที่แล้ว เดือนเมษายนมาหลักร้อยคน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เดือนเมษายนต้องประมาณสัก 400,000 กว่าคน ก็มาหลักแค่ร้อยกว่าคน 

มีอยู่วันหนึ่ง ท่าน ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง ถ่ายรูปมาให้ผมดู เป็นรูปผู้โดยสารคนหนึ่งเดินอยู่ ผมถามว่าใครเหรอ ท่านบอกว่าวันนี้มีมา 2 คน ถ่ายรูปเจอคนเดียว คุณเคยเห็นไหมดอนเมืองที่ทั้งวันมีผู้โดยสารอยู่ 2 คน นั่นคือช่วงที่เลวร้ายที่สุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ผู้โดยสารกลับมาวันละประมาณ 90,000 คน เราก็คาดหวังได้ว่าใน 400,000  200,000 เป็นอินเตอร์ ตอนนี้เรายังไม่เปิดน่านฟ้าเสรี อีก 200,000 เป็น Domestic Flight แต่ใน Domestic กว่าครึ่งหนึ่งเป็นฝรั่งบิน เราก็มองว่าเป็นที่เพดานเราช่วงก่อนเปิดน่านฟ้าก็น่าจะไปได้สัก 120,000 ตอนนี้มา 90,000 ก็คิดว่าน่าจะเป็น New Normal ที่เราอาจจะเห็นว่า ช่วงวันหยุดไม่ค่อยบินเที่ยวกันแล้ว เป็นการเที่ยวในระยะขับรถ ประมาณ 20,000-30,000 คือพรีเมียมของความกลัวใน New Normal ที่เราคาดหวังว่าถ้ามีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสัก 20,000 คนต่อวัน ถ้ามองตัวเลขนี้เป็นบรรทัดฐาน ตราบใดยังไม่มีการเปิดน่านฟ้า ก็คิดว่าผลประกอบการหรือจำนวนผู้โดยสารก็ขึ้นมากกว่านี้ไม่ได้มาก

 

นอกเหนือจากเรื่องสายการบิน รายได้ที่เราเคยได้จากร้านรวง จากสัมปทานต่างๆ นานาเป็นอย่างไร

ก็อย่างที่ทราบ ไม่มีผู้โดยสารก็น่าจะไม่มีร้านค้าเข้ามาด้วย ตอนนี้ที่เรามุ่งหวังจริงๆ เรามีสัญญาประมาณ 1,000 กว่าสัญญา รายเล็กรายใหญ่รวมกันหมดนะครับ ครั้งนี้ก็อย่างที่เราคุยก่อนหน้ารายการว่ามันเป็นวิกฤตที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ว่าผู้ประกอบการมองเห็นเลยว่าจนถึงกลางปีหน้าก็น่าจะไม่กลับมาเป็นระยะปกติ ก็ไม่แปลกใจที่มีผู้ประกอบการหลักร้อยรายที่อยากจะยกเลิกการประกอบการ คือยกเลิกไปก่อน เดี๋ยวปีหน้าฟ้าใหม่ก็ค่อยมาประกอบการใหม่ ผู้ประกอบการรายเล็ก เราให้ยกเลิกได้ภายใน 45 วัน รายใหญ่ 90 วัน

 

รายได้หลักในเรื่องของห้างร้านในสนามบินก็คือ Duty Free อย่างกับคิง เพาเวอร์ เห็นว่ามีข้อตกลงอะไรกันพิเศษไหมครับ

โดยหลักการของเรามี 3 สเตปที่ช่วยผู้ประกอบการ สเตปที่ 1 คือถึงเมษายน 2565 ตรงนี้เรายกเลิก Minimum Guarantee หลังจากเมษายน 2565 ไป เราจะต้องเริ่มเก็บ Minimum Guarantee แล้ว แต่เก็บเท่ากับปีก่อนวิกฤต ก็คือก่อนวิกฤตอย่างไรก็เก็บเท่านั้น เราประมาณการผู้โดยสาร เป็นกว่าผู้โดยสารจะกลับมาในช่วงก่อนวิกฤต ตุลาคม 2565 แต่เราคิดว่าก็ช่วย ทอท. ด้วยแล้วกัน ตั้งแต่เมษายนขออนุญาตเก็บ Minimum Guarantee แต่เก็บแล้วยังไม่ขึ้น จะขึ้นก็ต่อเมื่อผู้โดยสารกลับไปก่อนวิกฤตแล้วก็จะเริ่มมีการขึ้นตาม Growth ของผู้โดยสาร อันนี้ของ 2,000 ราย 1,000 กว่าราย 1,000 กว่าสัญญาทั่วไป เราใช้เกณฑ์นี้ แต่ปรากฏว่าคิง เพาเวอร์แปลกประหลาดกว่าคนอื่นเขา เพราะว่าสัญญาเขาหมด 28 กันยายน 2563 เพราะฉะนั้น Minimum Guarantee ปี 2562 ที่ใช้อ้างอิงเหมือนรายอื่นไม่มี ไม่มี Minimum Guarantee ปี 2562 ใช้อ้างอิง อันนี้คือประเด็น เราก็แอบไปดู Minimum Guarantee ปี 2562 ก็พบว่า ถ้าใช้ Minimum Guarantee ปี 2562 เราได้น้อยมาก ก็เลยคิดว่า แต่จริงๆ มันใช้ไม่ได้ เพราะว่าคนละนิติกรรมสัญญากัน 

 

คราวนี้ต้องเรียน หลายท่านก็บอกว่าออกมาตรการนี้แล้วทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยอย่างไร ผมต้องเรียนว่าอย่างที่เมื่อกี้พูดกันไปว่าทุกราย ถ้าเป็นรายเล็กมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาก่อน 45 วัน รายใหญ่มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาก่อน 90 วัน ทางของคิง เพาเวอร์เขาก็มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาเช่นเดียวกัน เพราะว่าหลายรายก็มองว่าปี 2565 คิดว่าผู้โดยสารไม่น่ากลับ ตอนนี้ทางเลือกคู่ชกไม่ใช่ว่ามาตรการนี้กับสัญญาเดิม คู่ชกกลับกลายเป็นมาตรการนี้กับการยกเลิกสัญญา รอบที่แล้วนี่เขาใส่ซองมามากกว่ารายที่ 2 ประมาณ 1 เท่าตัว คุณสุทธิชัยลองนึกภาพว่ารายที่ 2 ประมูลวันนั้น ประมูลวันฟ้าใส เห็นแต่ผู้โดยสารจำนวนเยอะ ถ้าวันนี้เรามาเปิดประมูลใหม่ ก็ไม่แน่ใจว่าราคาขนาดนั้นจะได้หรือเปล่า

 

ผมเห็นบางประเทศ สนามบินเขาก็นั่งคิดว่า ต้องคิดแบบใหม่ว่าการบริหารสนามบินจะต้องหารายได้อย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นรายได้ดั้งเดิมหรือว่าที่เป็นของเก่ามา ต้องกล้าคิดว่าสนามบินจะสร้างรายได้รูปแบบอื่นอะไรไหม กล้าคิดไหม

ต้องเรียนว่าตัวนี้จะเรียกว่าเป็นโชคดีของ ทอท. ก็ว่าได้ ถ้าคุณสุทธิชัยย้อนนึกถึงตั้งแต่ปี 2558 ตอนช่วงนั้นความสงบทางการเมืองเริ่มเกิด บวกกับเราเริ่มมี Low Cost ทอท. โกยกำไรมหาศาล ทำ Record High สถิติสูงสุดของกำไร 4-5 ปีติดต่อ ตั้งแต่ 12,000 มา 16,000 มา 19,000 มา 20,000 มา 25,000 แต่หลังๆ เราเริ่มรู้แล้วว่าเราไปต่อไม่ได้ สลอตเต็ม มันถึงจุดที่อิ่มตัวของมัน เพราะ Space เพราะ Capacity ของเรา เต็มทั้งบนพื้น เต็มทั้งบนอากาศ ช่วง 2 ปีหลังต้องถือว่า ทอท. กำไร ก็เรียกว่าดวงก็ว่าได้ กำไรจากความเดือดร้อนของสายการบิน สายการบินไม่มีสลอตลงครับ เขาใช้วิธีการเปลี่ยนเอาลำเล็กมาเป็นลำใหญ่ โดยลงสลอตของเดิม ทีนี้พอลำใหญ่ เพราะเวลาให้ลงไม่มีแล้ว ปีสุดท้ายไฟลต์โตประมาณ 0-1% แต่ผู้โดยสารโตประมาณ 1-2% หมายความว่าเขาเปลี่ยนจากลำเล็กมาเป็นลำใหญ่ อันนั้นอันที่ 1 ที่ทำให้เราไปต่อได้ ส่วนที่ 2 พอเป็นลำใหญ่แล้ว จุดคุ้มทุนก็หนีออกไปอีก เขาก็ไปบินต่างประเทศ ทอท. ค่า PSC หรือภาษีสนามบินต่างประเทศเราหัวละ 700 ในประเทศหัวละ 100 หมายความว่าปีสุดท้าย ปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 เรากำไรได้คือเกิดจากสายการบินเขาดิ้นรน เปลี่ยนจากบินในประเทศไปเป็นต่างประเทศ เปลี่ยนจากลำเล็กไปเป็นลำใหญ่ ทอท. ก็เลยรับผู้โดยสาร รับเงินหัวละ 700 จากการที่ตัวเอง Full Capacity ผมต้องเรียนว่า S-Curve ลูกที่ 1 ต่อให้ไม่มีวิกฤต ได้จบลงตั้งแต่ปี 2561 ข้าม 2562 แล้ว

 

คือมันเป็นขั้นถึง Saturation Point

ครับ ก็มองไว้ว่าแผนการขยายสนามบินต่างๆ กว่าจะกลับมาศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้อีกทีปี 2568 คำถามคือว่าช่วง 5 ปีนี้ ทอท. จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราก็ได้พยายามสร้าง S-Curve ลูกที่ 2 คือตอบคำถามคุณสุทธิชัยเมื่อกี้ ตั้งแต่ปี 2559 ปี 2560 ที่เราพอมองเห็นภาพนี้ ก็เป็นการ Diversify รายได้ไปในทางอื่น แต่ด้วยความที่เราเหมือนยักษ์ใหญ่ มีโซ่ตรวนพันธนาการเต็มไปหมด ขยับยาก แล้วเป็นรัฐ ก็มีระเบียบสำนักนายก มี พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง รัฐพาณิชย์เราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ICAO ก็มีเกณฑ์ของ ICAO

 

มีโซ่ตรวนพันธนาการครบทุกด้านเลย รัฐบาล ผู้ถือหุ้น และก็สากลด้วย

ใช่ครับ ผมเคยยกตัวอย่างอยู่ตัวอย่างหนึ่งนะครับ คุณสุทธิชัยฟังแล้วอาจจะตลก ที่ในสนามบิน Airport City คุณสุทธิชัยอาจจะได้ยินมานาน เป็นตำนานว่าอยากทำมานาน ฝั่งดีมานด์ไม่ต้องพูดถึง มีแต่คนอยากมาทำมาหากินอยู่ที่สนามบิน สุวรรณภูมิก่อนเจอโควิด-19 ผู้โดยสาร 65 ล้าน คุณสุทธิชัยนึกภาพออกไหมว่า ถ้าใครมาทำห้างที่นี่ มีห้างที่ไหนที่มีคนมาเดินเท่ากับประชากรของประเทศไทยทั้งประเทศ แล้วไปตามห้างต่างๆ บางทีไปกินกาแฟ นั่งติวหนังสือกัน 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง ร้อยกว่าบาท ที่สนามบินเรามาอยู่ประมาณ 19-20 นาที จ่ายหัวละเกิน 1,000 บาท ลองนึกภาพห้าง เป็นห้างที่คนมาเดินทั้งประเทศ แล้วเดินแค่ 10 กว่านาที ยอมใช้จ่ายเป็นพันบาท เพราะฉะนั้นฝั่งดีมานด์ แต่โซ่ตรวนคืออะไร ผมยกตัวอย่างคือโรงแรม โรงแรม Novotel ที่สุวรรณภูมิ อยู่ในสนามบิน ก็ตีว่าอันนี้เป็น Aero Related เป็นธุรกรรมที่เกี่ยวกับการบิน โรงแรมอมารีดอนเมือง จริงๆ จำนวนก้าวที่เดิน ผมว่าก็แค่ข้ามสะพานลอยคนข้าม แต่พอดีมีถนนวิภาวดีคั่น ตีความว่าไม่เกี่ยวกับการบิน เพราะว่าไม่ได้อยู่ในสนามบิน

ผมเลยเรียนว่า เห็นไหมครับว่ากฎเกณฑ์โซ่ตรวนมันมีมากมาย ตอนนี้เกณฑ์ต่างๆ เราได้ปลดพันธนาการไปแล้ว ตอนนี้ก็สามารถทำได้มากมาย คือ 3-4 ปีที่แล้วเราจ้างที่ปรึกษามา แล้วก็ดูว่าสนามบิน 1 สนามบิน 65 ล้านคนต้องมีโรงแรมสักกี่ห้อง ไม่ให้คนมานอนตามพื้น ไม่ให้คนมานอนตามโซฟา ก็จะมีทั้งเจ้าของที่ดินคือกรมธนารักษ์ ทหารอากาศ แล้วก็กรมท่าอากาศยาน อยู่ในคณะกรรมการตรวจรับของที่ปรึกษานี้ด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ศึกษาไปพร้อมกัน แล้วก็พบว่า ธุรกิจนี้ยังไงมันจะต้องมีไซส์ประมาณนี้ สำหรับสนามบินขนาดนี้ ที่สุวรรณภูมิจะเห็นว่า ผู้โดยสารก็จะมีที่กินข้าวอยู่ข้างล่าง ชั้น B1 จริงๆ ตัวนั้นเป็นร้านค้าของคนทำงานในสนามบินประมาณ 40,000-50,000 คน ต้องอยู่ในตึกกับอยู่ตรงโรงจอดรถ อยู่ที่อื่นถือว่าไม่เกี่ยวกับการบิน เพราะฉะนั้นพนักงานเราก็มีที่กินข้าวเฉพาะตรงใต้ตึกอาคารผู้โดยสารกับใต้โรงจอดรถ นอกนั้นก็ต้องออกไปกินบริเวณใกล้เคียง อันนี้ทุกอย่างมันอาจจะดูแปลกประหลาด แต่ว่ามันมีสตอรี


ผมอ่านเจอในเกาหลี ถามว่าสายการบินสายการบินหนึ่งในเกาหลีทำไมถึงไม่โดนหนักเหมือนกับสายการบินอื่นๆ เขาบอกเขาปรับตัวเป็น Cargo มากขึ้น

ของเราบางสายการบินก็เอา Cargo ไว้เบาะผู้โดยสารไปก่อน แต่พอไว้แล้วเริ่มขายออกก็เริ่มมีการปรับ ตอนนี้มันก็เลยทำให้มีการ Transform มากขึ้น จากที่ไม่เคยมี Cargo Route จริงๆ ตอนเรื่องของ Pre-inspection ผมอยากให้มีสินค้าเกษตรเป็นตัวนำร่อง Volume มันสูง ต่อให้ Value หรือมูลค่าไม่สูงก็ตาม แต่เราอยากให้สร้าง Permanent Route พอมี Permanent Route แล้วเรามีที่ดูไบ เราคุยกับที่จีน จีนก็ยินดีที่ให้เอาสินค้า E-Commerce มา Centralized ที่เราลง แต่ตอนนี้เริ่มมีการขอเข้ามา 200,000 ตารางเมตรที่สุวรรณภูมิ

นี่คือที่เราเตรียมไว้ ที่เรามองว่า S-Curve ลูกแรกมันจะหมด ปรากฏว่า S-Curve ลูกที่ 2 มันจะเริ่มประมาณสักปี 2563 ข้าม 2564 โควิด-19 แทรกเข้ามาตรงกลาง S-Curve ลูก 2 ก็ยังไม่ได้เริ่ม

 

เรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่คิดว่าจะทำให้เป็นทางออก Diversified ความเสี่ยงของเราเพิ่มขึ้น หรือว่ามองไปในอนาคตแล้ว ทำอะไรบ้าง

จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าหลายธุรกิจมีการผลัดใบ หรือ Aging Society ตั้งแต่ปี 2560 2561 2562 ของ ทอท. ก็เช่นเดียวกัน ปี 2561 2562 ผู้บริหารที่มีความรู้ ทั้งที่เคยย้ายสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ ความรู้มหาศาลนะครับ ที่เคยมีความรู้บริหารวิกฤตตอนการเมืองไม่สงบ ท่านต่างๆ เหล่านี้เริ่มออกไป เริ่มเกษียณ เด็กยุคใหม่เข้ามา ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ อันนี้ต้องถือว่าวิกฤตเมื่อ 2 ปีก่อน แต่โอกาสก็คือว่าเด็กยุคใหม่เขามากับยุคดิจิทัล เขาเข้าใจวิธีการทำงานแบบดิจิทัล เพราะฉะนั้นช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าที่จะถึงปีนี้ ทอท. มีการเตรียมการในการผลัดใบในยุคดิจิทัลอยู่แล้ว

คัลเจอร์ของบริษัทต้องมาก่อน เราอยากเห็นคน ทอท. ทำดี ใครเดินแล้วเห็นขยะ ใครวิ่งไปเก็บแล้วอีกคนไม่วิ่งไปเก็บต้องอาย ผมเซ็ตทีมขึ้นมาเรียกว่า แรบบิททีม พยายามสะกดจิตให้มีค่านิยมองค์กร เป็นเรื่องของ ถ้าเจอแมวในสนามบินต้องวิ่งไล่จับกันเลยทีเดียว ถ้าเจอโทรศัพท์ตก ต้องกระโดดลงไป ผมอยากให้ใครเห็นแล้วบอกว่าคนอย่างนี้คือคน ทอท.

สนามบินมีชีวิต

ตอนนี้เราติด Beacon เรารู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน เราเอาไปเชื่อมกับ Flight Information แทนที่ผู้โดยสารยุคเก่าจะต้องเดินไปดูจอว่า Boarding หรือยัง ผู้โดยสารยุคใหม่ช้อปปิ้งอยู่ ก็จะมี Notification ขึ้นมาบอกว่าท่านจะบอร์ดในอีก 20 นาที เวลาที่ท่านเดินจากตรงนี้ไป Gate 15 นาที เพราะฉะนั้นเช็กบิลได้แล้ว ทำอะไรอยู่เริ่มเช็กบิลได้แล้ว เราไม่ต้องทำอะไร เราแค่เอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นโซลูชัน ที่เรียกว่าสนามบินที่มีชีวิต คือมือถือเราจะคุยกับทุกเทคโนโลยีในสนามบิน

 

ตอนนี้เราช่วยรัฐบาลในการกรอกใบ ต.8 ของสาธารณสุขอยู่ บางฟังก์ชันที่ Heavy Weight เราก็เก็บไว้ก่อน ฟังก์ชัน Heavy Weight เช่น ห้องน้ำอยู่ไหน แล้วกด Take Me There ให้พาไป คนอายุมากอาจจะตามแผนที่ไม่เป็น ก็ให้ส่อง แล้วจะมีตัวการ์ตูน ทอท. เดินนำ อันนี้มีแล้ว แต่ว่าเราเก็บไว้ก่อน เพราะว่าจริงๆ เราใช้ก่อนหน้า เพียงแต่ว่ามันกิน Bandwidth สูง แล้วตอนนี้คนลงมาจะต้องโหลดใบ ต.8 ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ช้า อันนี้เป็นร้อยเมกะไบต์ ตอนนี้ฟังก์ชันมีครบเกือบหมด เชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ เราลงมาแทนที่บางวันผมวิ่งลงไปแล้วรถไฟเพิ่งออก ผมก็อาจจะคิดว่าเมื่อกี้ไม่น่าเข้าห้องน้ำเลย เราก็อยากเห็นจอที่บอกว่ากี่นาทีออกอยู่บนมือถือ คนยุคเก่าก็อยู่บนโลกดิจิทัลของสนามบินที่มีชีวิตเราได้ ไปที่คิวแท็กซี่แล้วกดบัตรคิวขึ้นแท็กซี่ก็ได้ แล้วแต่คุณสุทธิชัยยุคใหม่ ลงมาจากงวงช้างกดบัตรคิวแท็กซี่ตั้งแต่งวงช้าง แล้วมี QR Code ไปติ๊ดแล้วขึ้นแท็กซี่เลย คนยุคเก่าอาจจะงงๆ ว่า โอ้โฮ มารอคิวตั้งนาน ทำไมท่านเดินขึ้นไปเลย ก็สามารถอยู่ได้ในสนามบินทั้งสองเจเนอเรชัน ตอนนี้ทำแล้วครับ เพียงแต่ว่าฟังก์ชันที่ Heavy Weight เราก็เอาวางไว้ก่อน

ถ้าสนามบินมีชีวิต คนก็อยากสื่อสารกับสนามบิน เรื่องพาณิชย์มันจะตามมาเอง ตอนนี้เราคุยกับต่างประเทศ คุณอาจจองร้านวากิวที่ญี่ปุ่น โดยใช้แอปฯ ของเราจองตอนก่อนไป จองทุ่มหนึ่งไปถึงมีอาหารทานเลย ถ้าไปถึงทุ่มครึ่งก็ใส่กล่องกลับบ้าน แบ่งรายได้กับ ทอท. เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะขายร้านวากิวที่ญี่ปุ่นได้ด้วย

โควิด-19 จำนวนผู้โดยสาร เรามองไปในอนาคตว่า New Normal คนอาจจะเดินทางน้อยลงไหมครับ หรือมองว่าคนไม่ต้องมาประชุมกันเห็นหน้าเห็นตา สายการบินก็ยังจะต้องฟื้น ใช้เวลาอีกนาน ทั้งหมดที่เราพูดมันอยู่ที่ปัจจัยตัวนี้เลย จำนวนผู้โดยสารจะกลับฟื้นคืนมาหรือไม่อย่างไร Scenario ที่วางเอาไว้เป็นอย่างไร 

ลงรายละเอียดนิดหนึ่งนะครับ คือการจัดการตารางการบิน ปีหนึ่งมีแค่ 2 ช่วง ช่วงเมษายนเรียกว่า Summer Schedule กับช่วงตุลาคมเรียกว่า Winter Schedule ถ้าวัคซีนหรืออะไรต่างๆ ปัญหาเลยหลุดเมษายนไปพฤษภาคม มิถุนายน ตารางการบินฤดูกาลนั้นถูกทำลายไปหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าวัคซีนออกมาเดือนกรกฎาคมแล้วเดือนสิงหาคมการบินจะกลับมาเหมือนเดิม ไม่ใช่ ก็จะมีแค่ Charter Flight มา คราวนี้เรามองว่า ก็ทราบจากข่าวนะครับว่าวัคซีนกว่าจะออกกลางปีหน้า

 

ถ้ารัสเซียลุยออกมาได้สักเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม แล้วฉีดได้หมดทันมีนาคม อันนี้มีนัยสำหรับ ทอท. เพราะตารางการบินเดือนตุลาคมเขาเริ่มจัดสรรกันตอนเดือนเมษายน แต่ถ้ารัสเซียออกมาช้ากว่าพฤศจิกายน แล้วฉีดทั่วโลกเลยเมษายน หมายความว่าตารางการบินฤดูหนาวของปี 2564 ก็ยังจัดสรรได้พิกลพิการอยู่ ทอท. ก็เลยมองว่ามีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่ตารางการบินกว่าจะจัดสรรได้สมบูรณ์แบบคือเมษายน 2565 นั่นคือเป็นเหตุผลว่าทำไม ทอท. ถึงเวฟพวกเรื่อง Minimum Guarantee ไปถึงเมษายน 2565 เพราะว่าเราทราบตารางการบินอยู่ แล้วตอนนี้เราคิดว่าหลังจากเมษายน 2565 ก็จะ Back to Normal แต่สายการบินบอกว่าไม่แน่ใจ เพราะว่าซัพพลายเชนอาจจะถูกทำลายไปแล้ว เช่น เครื่องบินถูกยึด บางสายการบินเครื่องบินกราวน์อยู่ แล้ว ทอท. ไม่สามารถบริหาร Airside แต่ตอนนี้บนสมมติฐานเรา ตารางการบินฤดูร้อนเมษายน 2565 เริ่มกลับมาจัดปกติ แล้วก็ Recover ตามดีมานด์ เพราะฉะนั้นตุลาคม 2565 เป็นอะไรที่เราคิดว่าจะกลับมาเหมือนเดิม แต่สายการบินบอกว่าไม่น่าใช่ บอกว่ากลับมาสัก 70%

 

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีมันก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ มองอย่างไรกับเรื่องบุคลากรของเรา ทักษะที่เราต้องปรับปรุง หรือจำนวนคนที่เราต้องใช้ทุกวันนี้มันจะลดลงอย่างไร ปรับตัวอย่างไร

ก็เป็นโชคดีของ ทอท. อีกนะครับ ที่ 4-5 ปีข้างหน้า จริงๆ ปีหน้า 2565 ก็จะมีการเปิด 2565 อีก 2 ปีเศษๆ ก็จะมีการเปิด Satellite Terminal อาคารรองเทียบเครื่องบิน ซึ่งพื้นที่ 250,000 ตารางเมตร อาคารปัจจุบันนี้ 500,000 หมายความว่าเรามีพื้นที่อีก 50% เพราะฉะนั้นคนเราต้องเพิ่มอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราไม่ต้องเพิ่มคนมาก เอาเทคโนโลยีลงไป เพราะว่าถ้าไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่ เราก็จะ Dilute คนไม่ได้ เราก็จะไม่ไล่คนออก พอดีว่าเป็นช่วงที่เราเปิด Satellite ใหม่ แล้วคนเราสร้างสำหรับรองรับดิจิทัลอยู่แล้ว ตอนนี้เขาสามารถปรับตัว สามารถทำงานในโลกดิจิทัล

 

ทักษะของคนของเรา คิดว่าพร้อมไหมครับกับเทคโนโลยีจากนี้ไปอีก 5 ปี วิธีการทำงานวิธีคิดทั้งหลายแหล่

เวลาอาจจะเหลือน้อย ผมขออนุญาตใช้สั้นๆ เมื่อกี้ที่ผมเรียกว่า Digital Airport ในส่วนบริการลูกค้า เราก็มีโมดูลที่เรียกว่า Digital Operation ก่อนเครื่องบินจะบินลงมา เรารู้เลยว่ามีกี่คนที่ไม่ได้ทำวีซ่า เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่ามีกี่คนที่คนติดอยู่ที่วีซ่า On Arrival แล้วกระเป๋าไปถึงสายพานก่อน เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนี้ปุ๊บกระเป๋าจะล้นสายพาน เราใช้ข้อมูลเหล่านี้ ในการสื่อสารกับ ตม. แล้วเราก็จะรู้ว่า กระเป๋ามันจะล้นสายพานแน่ๆ เพราะจะต้องมีคนมาทำวีซ่า ตัวนี้ก็จะติ๊ดๆ Notification ไปให้คน ทอท. มายกกระเป๋า เพราะฉะนั้นวิธีการทำงานแบบนี้ก็เป็นอีกโลกเลย เรียกว่าโลก Digital Operation เราต้องปรับ SOP เรียกว่า Standard Operating Procedure จากเดิมใช้โทรศัพท์คุยกันเมื่อกระเป๋าล้น SOP ก็จะเป็นแบบใหม่ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณ การกดยอมรับให้ไปยกกระเป๋าอะไรต่างๆ 

 

ถึงขั้น Individualized ได้เลย ผู้โดยสารแต่ละคน กระเป๋าคุณ ขณะนี้คุณรออยู่ที่ไหน จุดไหน กระเป๋าคุณกำลังอยู่จุดไหน คุณเดินมาปั๊บคุณจะได้ Just in Time เลยไหม

ใช่ครับ อันนั้นอยู่ในส่วนของ Digital Airport ซึ่งอันนี้ขาไปบอกชื่อคนได้ ขากลับได้แค่ First Bag ขาไปรู้เพราะเขาต้อง Source ว่าไปที่ไหน ขากลับจะรู้ว่า First Bag มาแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังจะติดตัวเซนเซอร์เพิ่มก็จะรู้จากสายพาน อันนั้นอยู่ในส่วนของ Digital Operation เมื่อกี้คุณสุทธิชัยถามเรื่องของการทำงาน เมื่อกี้อยู่ในส่วนของ Digital Airport ในเรื่องการทำงานที่เป็น Digital Operation เราต้องปรับกระบวนการทำงานก่อน แล้วค่อยลิงก์สัญญาณต่างๆ ที่เป็นดิจิทัล ซึ่งปลายปีนี้ก็จะเริ่มเวอร์ชันแรก ก็จะทันตอนที่เปิด Satellite พอดี เรื่องการทำงานเราก็จะเป็นโลกดิจิทัลค่อนข้างมากสอดรับกับเด็กซึ่งเป็นเด็กยุคดิจิทัล

 

ใช่ กำลังจะถามว่าศักยภาพหรือว่าทักษะของคนรุ่นใหม่ เขาพร้อมจะรับสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนรุ่นเก่าแน่นอน เขามีแนวทางนำเสนอความคิดใหม่ๆ ให้กับเราไหม

เป็นคำถามที่ดีมากเลยนะครับ หน้าที่ผู้บริหารคือทำแพลตฟอร์ม ผมเคยเปรียบเปรยอยู่เรื่อยๆ ว่าถ้าเราอยากได้หอยแมลงภู่เราก็เอาไม้ไผ่ไปปัก แล้วเดี๋ยวหอยแมลงภู่ก็มาเกาะ ถ้าเราอยากได้หอยนางรมเราก็เอาหินไปโยน แล้วเดี๋ยวหอยนางรมก็มาเกาะ หน้าที่ผมคือทำแพลตฟอร์ม แล้วฟังก์ชันต่างๆ เด็กๆ เขาคิดหมดเลย

 

โควิด-19 ช่วยเป็นข่าวดีอะไรสำหรับเราบ้าง ข่าวร้ายเรารู้แล้ว มันช่วยอะไรเราบ้าง

ก็โชคดีนะครับที่เราเตรียมตัวที่ S-Curve ลูกแรกจะหมดลง โควิด-19 เป็นอะไรที่ไม่มีใครเตรียมตัวมาก่อน และถ้าถามว่า ทอท. ทำไมเตรียมตัวขนาดนี้ บอกว่าเราไม่ได้เตรียมตัวเพราะมีโควิด-19 สารภาพว่าเราไม่ได้เตรียมตัวเพราะมีโควิด-19 แต่พอดีว่าเราเตรียมตัวที่จะก้าวผ่านเจเนอเรชันใหม่ในช่วงนี้พอดี ก็แน่นอนครับข่าวร้ายคือรายได้ที่หดหาย แต่ผมเชื่อว่าหลังจากโควิด-19 กลับมา เราจะก้าวกระโดดอย่างใครคาดไม่ถึง เพราะทุกอย่างอยู่บนโลกดิจิทัล ทุกอย่างมี Cargo ไม่ใช่เฉพาะผู้โดยสาร

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Alpha ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 

 


 

Credits

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-producer อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Account Executive ภัทรลดา พุ่มเจริญ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า, ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ณฐพร  โรจน์อนุสรณ์

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising