×

Global Policies Shaping Thai SME นโยบายความยั่งยืนโลก กำหนดทิศทาง SME ไทย

18.12.2024
  • LOADING...

ในยุคที่ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจ SME มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำแนวคิดความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ การมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายความยั่งยืนและแนวคิด ESG ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

 

THE SME HANDBOOK by UOB ซีซันที่ 8 เอพิโสดที่ 1 นี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาร่วมพูดคุยถึงนโยบายความยั่งยืนในระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญและผลกระทบต่อธุรกิจ SME ในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปรับตัวของ SME ไทย เพื่อให้สามารถสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 


 

นโยบายสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ SME ไทยต้องรู้ 

 

ความยั่งยืนในสมัยก่อนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของการทำความดี แต่จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปพร้อมๆ กับโลกและสังคม ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเราเรียกว่า ‘โลกรวน’ หรือ ‘โลกเดือด’ ทำให้เกิดการสร้างข้อตกลงกันในระดับโลกมากมาย จุดตั้งต้นที่เริ่มทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องนี้ขึ้นคือ Paris Agreement โดยเฉพาะในการประชุมประเทศอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP 21) ปี 2015 ที่มีการตั้งเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศา ทำให้มีข้อตกลงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งเป็นการกระตุ้นว่าความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการมองในกรอบของสังคมและการพัฒนา

 

สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่จริงจังมากในเรื่องนี้ ในปี 2019 ทางยุโรปออกสิ่งที่เรียกว่า European Green Deal ซึ่งกระทบชีวิตของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย มีการตั้งเป้าที่เรียกว่า Fit For 55 ตั้งเป้าในการลดก๊าซเรือนกระจก 55% ภายในปี 2030 เทียบกับปี 1990 การตั้งเป้านี้ทำให้เกิดกฎหมาย กฎระเบียบ กติกาต่างๆ ที่เรารู้จักกัน เช่น CBAM คือการตั้งเป้าว่าถ้ามีการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ตามมา เช่นเรื่องของบรรจุภัณฑ์ บริษัท SME ที่อยู่ในสหภาพยุโรปต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องของการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ซึ่งก็จะกระทบผู้ที่ส่งออกของประเทศไทยหรือว่ากระทบบริษัทของไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ที่ยุโรป 

 

ในส่วนของประเทศไทยเอง ในปี 2021 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties) หรือ COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยก็ประกาศว่าจะมีเป้าหมายบรรลุเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2050 และ NET ZERO ปี 2065 หมายความว่าทั้งประเทศต้องลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ภายในประเทศเพิ่มเติมขึ้น เช่น พ.ร.บ.ลดโลกร้อน น่าจะออกมาในช่วงปี 2025 สิ่งสำคัญหนึ่งใน พ.ร.บ.ลดโลกร้อน คือการเปิดเผยข้อมูลหรือวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ตอนนี้จะมีเพียงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เริ่มตื่นตัว แต่ต่อไปผู้ประกอบการ SME ก็ต้องเริ่มคิดเรื่องการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งข้อดีคือถ้าบริษัทยังเล็กอยู่ก็ยังเก็บข้อมูลง่าย เพราะข้อมูลยังไม่เยอะ 

 

นอกจาก พ.ร.บ. ลดโลกร้อน ก็มีร่าง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ร.บ. เรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์ ประมาณปี 2570 ก็น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

 

ถ้าถามถึงการที่ทุกธุรกิจจะเริ่มนับหนึ่งในการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกนั้น ควรทำอย่างไร

 

ตัวช่วยหนึ่งของ SME คือ องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่มีเครื่องมือให้หน่วยงานต่างๆ ลองใช้เพื่อการเก็บข้อมูล แต่เครื่องมืออื่นๆ ที่เกิดจากความร่วมมือภาคเอกชนก็มี เช่น การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Carbon Accounting) ให้ลองใช้ พอเราไปลองกรอกตรงนี้แล้วจะเห็นว่าแหล่งที่มาในการคำนวณการก๊าซเรือนกระจกมีอะไรบ้าง และรู้ว่าข้อมูลไหนที่ยังต้องเก็บเพิ่มเติม นอกจากนี้ทาง TGO ยังทำอีกแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลหรือว่าให้ผู้ประกอบการเข้าไปประเมินสินค้า CBAM ได้ด้วย เพราะ CBAM ต้องรายงานก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ นี่จะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่ทำให้ผู้ประกอบการได้ลองประเมินข้อมูล 

 

นอกจากนี้อีกเรื่องท้าทายของ SME คือเรื่องการเงิน ตอนนี้ทางธนาคารต่างๆ ก็มีโซลูชันให้กับทาง SME เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้สินเชื่อในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สินเชื่อโซลาร์ และยังมีเครื่องมือ มีแพลตฟอร์มอื่นๆ ช่วยเหลือ SME อีก ทางธนาคารยูโอบีก็มี UOB Sustainability Compass เป็นเครื่องมือที่จะช่วยประเมินสถานะของการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนของธุรกิจ SME วัดระดับความพร้อมว่าธุรกิจอยู่ตรงไหนหรือยังคงขาดอะไรในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

 

หากถามถึงความสำคัญในการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ในอนาคตข้อมูลนี้จะมีความสำคัญเทียบเท่ากับข้อมูลการเงิน เหมือนการทำบัญชีบริษัท ดังนั้นทุกธุรกิจต้องรู้ว่าบริษัทเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร บริษัทเล็กใหญ่อาจต่างกันในเรื่องของปริมาณข้อมูลที่ต้องเก็บ บริษัทใหญ่อาจต้องเก็บทั้งข้อมูลของตนเองและคู่ค้า แต่ SME อาจเริ่มจากบริษัทตัวเองก่อน ปกติแล้วถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ จะมีการเตรียมพร้อมประมาณ 1-2 ปี พอเราเก็บข้อมูลจะรู้ว่ายังต้องการความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ถ้าต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลอาจจะลองไปดูว่าผู้สอบทานภายนอกเข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูล ถ้าผู้สอบทานมาตรวจและเห็นว่าเราเก็บข้อมูลถูกทางแล้ว ปีต่อไปก็ใช้วิธีการเดิมในการเก็บข้อมูล พอมีข้อมูลเปรียบเทียบ เราถึงจะเห็นว่าข้อมูลตรงนี้เราจะต้องทำอะไรต่อได้อย่างไร

 

คำถามต่อมาคือ จากนโยบายความยั่งยืนหรือ practice ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ SME ไทยสามารถนำมาปรับใช้อย่างไร อาจจะเล่าย้อนไปว่าความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ความยั่งยืนขององค์กรจะนิยมใช้คำว่า ESG คำนี้เกิดขึ้นมาหลังจากคำว่า Sustainable Environment เกิดมาพร้อมกับเทรนด์เรื่องลงทุนการเงิน เป็นการมองการดำเนินธุรกิจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล ในบริบทไทยอาจเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ในสหภาพยุโรปจะมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย การใช้ของต่างๆ ต้องมาจาก แรงงานถูกกฎหมายหรือมีความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน และเรื่องของการลงทุนและการเงินเพื่อความยั่งยืน ดังนั้นความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ต้องมองในหลายๆ ประเด็น SME อาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรในเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วค่อยๆ มองประเด็นอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพราะแต่ละบริษัทอาจมีปัญหาหรือสิ่งที่ต้องเน้นไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ก็จะถูกจับตามองว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ แต่หากเราเป็นธุรกิจเล็กลงมา อาจมีปัญหาเรื่องการจ้างคน ฝึกคน เราอาจจะเน้นเรื่องการพัฒนาคนก่อน ซึ่งก็ถือเป็นมิติเรื่องความยั่งยืนเหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของธุรกิจตนเองและเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียว่ามีมากน้อยแค่ไหน

 

ในมุมของ SME ที่เริ่มนับหนึ่งในการเก็บข้อมูลจากกิจกรรมที่มีผลกระทบ ควรจะติดตามข้อมูลเหล่านี้หรือเปรียบเทียบข้อมูลอย่างไรกับใคร ข้อมูลตรงนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้น ขั้นแรกเลยคือเราต้องรู้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับเรามีอะไรบ้างและดูว่ากฎหมายเหล่านั้นกระทบธุรกิจเรามากน้อยแค่ไหน แล้วเราก็ปรับตัวให้อยู่รอด ขั้นต่อมาคือเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนและสร้างโอกาส อาจเป็นการลดต้นทุนในการใช้พลังงานหรือด้านอื่นๆ สิ่งที่คนพูดถึงกันในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานคือการติดโซลาร์ หรือการใช้รถ EV แต่จริงๆ การเพิ่มประสิทธิภาพยังมีแง่มุมอื่นๆ เช่น บริษัท Retail ขายสินค้ากิฟต์ชอปแห่งหนึ่ง ปกติบริษัทที่ขายสินค้าประเภทนี้จะมีปัญหาเรื่องขยะบรรจุภัณฑ์ ผู้บริหารบริษัทนี้ก็มีการนำแนวคิดความยั่งยืนมาใช้ด้วยการขายสินค้าตัวหนึ่งเป็นรายชิ้น ไม่มีบรรจุภัณฑ์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมความยั่งยืน ต่อมากลับกลายเป็นว่ายอดขายมากขึ้นอีกเพราะลูกค้าสามารถซื้อกี่อันก็ได้ แถมลูกค้ายังได้ประสบการณ์ที่ดีจากการสัมผัสสินค้าจริง กลายเป็นทั้งช่วยโลกและลดต้นทุนไปพร้อมกัน

 

อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจคือ สบู่ Lush ก็ไม่มีบรรจุภัณฑ์เหมือนกัน ก็ช่วยลดต้นทุนตรงนี้ และหากอนาคตมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ต้องลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ต้องรีไซเคิลมากขึ้นก็ทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับสิ่งที่บริษัทเราเป็นอยู่ อีกเคสในบริษัทใหญ่อย่าง Homepro ก็มีการใช้หลังคาโซลาร์ช่วยลดค่าไฟ ปรับเปลี่ยนระบบในการส่งออกเป็น EV มากขึ้น ทำให้ประหยัดต้นทุนมากขึ้น 

 

ขั้นสุดท้ายก็คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อการเติบโต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อ Grace ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก พัฒนาสินค้าจากแนวคิดต้องการขายบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนสร้างนวัตกรรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากชานอ้อย เยื่อปาล์ม จนได้รับความนิยมและขยายไป 33 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน หากดูจากบทสัมภาษณ์ในช่วงแรก ต้นทุนสินค้าเหล่านี้จะมีราคาสูงมาก เจ้าของต้องยอมขายขาดทุนเพื่อสร้างการรับรู้ จนคนใช้เยอะขึ้นและทำให้ต้นทุนถูกลงจาก Economy of Scale พอราคารับได้ คนก็หันมาใช้กันมากขึ้น 

 

ตัวอย่างข้างต้นอาจเป็นการยอมขาดทุนไปก่อนแล้วจึงค่อยเติบโตจาก Economy of Scale แต่หาก SME ที่วันนี้ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสูง คำแนะนำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและขยายไปต่างประเทศได้ด้วย อาจเริ่มจากการทำให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายเพราะทุกคนมักคิดว่าสินค้ายั่งยืนคือสินค้าราคาแพง แต่จริงๆ อยากให้มองว่าราคาเหล่านั้นอาจไม่ได้แพง แต่เป็นราคาที่สมเหตุสมผล เป็นราคาที่มองเรื่องผลกระทบกับโลกมารวมเป็นต้นทุน หรือในประเด็นสังคม ราคานี้คือราคาที่คนในห่วงโซ่คุณค่าได้รับค่าแรงที่เหมาะสม เช่น สินค้าแฟชั่นยั่งยืน ที่กำลังเป็นเทรนด์และเป็นโอกาส ปัจจุบันมีเทรนด์ในเรื่องของการเช่าเสื้อผ้ามากขึ้น อย่างแบรนด์ Moreloop ธุรกิจผ้าที่นำผ้าชั้นดีที่เหลือจากโรงงานมาตัดเป็นเครื่องแบบให้บริษัทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันคนยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากนี้ในงานวิจัยของ Alibaba ยังพูดถึงโอกาสของธุรกิจความยั่งยืนว่า ปัจจุบันในมุมของผู้บริโภคสินค้ายั่งยืนยังถูกมองว่าแพง แต่หากเรามีราคาที่ยอมรับได้ แข่งขันได้ ไม่สูงมาก จะทำให้ลูกค้าหันมาซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น อีกอย่างคือทุกวันนี้ยังมีตัวเลือกของสินค้าความยั่งยืนน้อย ถ้ามีตัวเลือกเยอะขึ้นก็ถือเป็นโอกาส

 

มี 2 ตัวอย่างน่าสนใจ ที่สามารถใช้ความยั่งยืนผสานธุรกิจ จนเกิดนวัตกรรมและการเติบโต หนึ่งคือบริษัทนอนนอน เป็นบริษัทให้เช่าฟูกที่นอน ถ้ามองในเรื่องของขยะที่นอน วันนี้เราอาจไม่รู้ว่าจะไปทิ้งที่ไหน อีกอย่างวัสดุที่ใช้ทำที่นอนก็มีทั้งสปริง พลาสติก ทำให้เป็นขยะแยกยาก นอนนอนจึงมาตอบโจทย์เรื่องนี้ เป็นการประหยัดการลงทุนด้านการนอน ให้เช่าที่นอนและสินค้าเกี่ยวกับการนอน ซึ่งไม่ได้มีการบริการเพียงแค่ในประเทศไทย ยังขยายไปที่ลาวและอินโดนีเซียด้วย นอกจากนี้นอนนอนยังออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ green bond ออกมาด้วย ทำให้เห็นว่าแม้ไม่ใช่บริษัทใหญ่ เป็นบริษัทเล็กก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวได้ ตัวอย่างที่สองคือแบรนด์แฟชั่น Pipatchara ที่นำพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นชุด ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยโลกและสร้างงานให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันดาราไทยและดาราระดับโลกก็สวมใส่กัน

 

นอกจากส่วนของ E และ S ส่วนของ G หรือ Governance ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน

 

จริงๆ ธุรกิจควรเริ่มจาก Governance เพราะเป็นพื้นฐานของการจัดการกิจการ หรืออาจเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุดของ SME เลยก็ว่าได้ หากเป็นบริษัทใหญ่จะมีคณะกรรมการ ผู้บริหารแบ่งแยกชัดเจน แต่ SME การแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจนอาจเป็นเรื่องยาก การทำบัญชีให้ชัดเจน แยกกระเป๋าเจ้าของและธุรกิจคือจุดเริ่มต้นของ G ที่ SME สามารถเริ่มต้นได้เลย และอีกเรื่องที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญมากๆ คือประเด็น Data Privacy บริษัทใหญ่ๆ อาจจะมี Personal Data Protection Act (PDPA) ฝั่งยุโรปก็มี General Data Protection Regulation (GDPR) ครอบอยู่ว่าข้อมูลลูกค้าต้องมีการเก็บอย่างไร ธุรกิจที่มีการค้าขายในบางครั้งอาจมองข้ามจุดนี้ไป เราต้องให้ความสำคัญ

 

สิ่งที่อยากบอกกับ SME ที่อยากเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน

 

ข้อมูลในเรื่องของความยั่งยืนมี 2 ส่วน คือส่วนที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมาย คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กใหญ่ ก๊าซน้อยหรือมากก็ต้องเปิดเผย เพราะฉะนั้นควรเก็บข้อมูลไว้ก่อน และที่มากกว่านี้อาจหันมาดูว่าธุรกิจตัวเองมีจุดไหนที่ต้องเสริม ดูว่าใน Value Chain หรือกิจกรรมในธุรกิจมีอะไรบ้าง เราซื้อของจากใคร ผลิตอย่างไร ให้บริการอย่างไร ลูกค้าเป็นลูกค้าประเภทไหน แล้วผู้มีส่วนได้เสียคือใครบ้างและเขาต้องการอะไรจากเรา พอเราเห็นตรงนี้แล้วเราจะรู้ว่าประเด็นไหนที่สำคัญต่อธุรกิจ และเมื่อเรารู้แล้วว่าประเด็นไหนที่สำคัญ เราจะสามารถติดตามวัดผลได้อย่างไร เพราะถ้าเราไม่ติดตามวัดผล เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

 

สุดท้ายสิ่งที่เราทำไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางลบทางบวก ก็อยากจะให้สื่อสารออกไป ถ้าจุดไหนเรายังทำได้ไม่ดีอย่าไปกล่าวอ้างเกินจริง เพราะตอนนี้มีความเสี่ยงเรื่องการฟอกเขียวทำให้คนตั้งคำถามว่าทำจริงหรือไม่ คิดว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรที่อยากจะนำความยั่งยืนมาผนวกกับธุรกิจตัวเองต้องให้ความสำคัญ

 


 

Credits

 

The Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer พิชญ์สินี ยงประพัฒน์

Co-Producer กรรญารัตน์ สุทธิสน

Creative ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Editor มุกริน ลิ่มประธานกุล

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer  ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์, ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer ธิดามาศ เขียวเหลือ

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising