ในวันที่ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุค Metaverse ผ่านแคมเปญและ Business Model ที่แปลกใหม่ กระตุ้นความน่าสนใจและทำให้ผู้บริโภครู้สึกใกล้ชิดแบรนด์มากขึ้นอีกขั้น นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคิดต่อว่า ธุรกิจของคุณจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนฤมิตได้อย่างไร โอกาสอยู่ตรงไหน มีอะไรที่ต้องรู้ก่อนเริ่มอีกบ้าง
เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน ณัฐเศรษฐ์ ไตรทิพย์เจริญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจโนไซส์ ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เจาะลึกคำตอบเรื่อง Metaverse สำหรับคนทำธุรกิจ ใน THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ที่เดียว
Metaverse จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ
Metaverse ถูกประกอบร่างมาจากสองคำ นั่นคือ Meta แปลว่า เหนือกว่า และ Verse มาจาก Universe ที่แปลว่าจักรวาล เมื่อสองคำนี้รวมกันก็ได้ออกมาเป็นความหมายใหม่ว่า ‘จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ’ โดยคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิยายไซไฟที่ชื่อว่า Snow Crash ซึ่งใช้สื่อถึงโลกใบใหม่ที่ตัวละครเข้ามาเจอและมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านตัวละครจำลอง หรือที่เราเรียกกันว่า Avatar
ต่อมาคอนเซปต์ของ Metaverse ได้ถูกนำมาใช้ในโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นในบริบทของการสื่อสารและทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกเสมือน เป็นการเชื่อมต่อคนจากโลกความเป็นจริงเข้าสู่โลกดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถเข้าไปสร้างตัวตนใหม่ในแบบที่เราอยากจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร อายุเท่าไร คาแรกเตอร์แบบไหน แล้วยังสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับเพื่อน ประชุมงาน ช้อปปิ้ง หรือเล่นเกมร่วมกันกับผู้คนทั่วโลกได้
ระบบนิเวศของ Metaverse
โลกของ Metaverse ไม่ต่างอะไรจากโลกจริงที่เราอาศัยอยู่ ลองนึกง่ายๆ ก็ได้ว่าถ้าเรากำลังจะสร้างโลกเสมือนที่มีผู้คนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น เราจะต้องเห็นอะไรบ้าง ข้อแรกคือ ชีวิต (Identity) จากตัวตนสองมิติที่เคยอยู่ใน Facebook หรือ Instagram ในโลกเสมือนจะเป็นการสร้างตัวตนแบบ 3D Avatar ขึ้นมาในรูปแบบที่เราอยากจะเป็น แล้วหลังจากนั้นก็เป็นสเตปของการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนผ่านกิจกรรมต่างๆ
สอง ความปลอดภัย (Security) จะต้องมีระบบยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสอบว่าคนที่เข้ามาคือคนจริงๆ เพราะในแต่ละกิจกรรมอาจต้องมีการให้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง เช่น การเรียน การกู้เงิน หรือการเล่นเกม ซึ่งจะต้องมีเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ชีวิตว่าเราจะไม่ถูกคุกคามหรือแฮกข้อมูล
สาม ระบบเศรษฐกิจและการเงิน (Economy) ทุกคนในโลกเสมือนจะมีกระเป๋าเงินไว้จับจ่ายใช้สอย อีกด้านหนึ่งก็ต้องมีผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นธุรกิจหรือแบรนด์ที่อยากจะขายก็ต้องมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อมาตอบโจทย์ชีวิตบนโลกเสมือนด้วย
สี่ ธุรกิจ (Business) ตรงนี้เป็นสิ่งที่ครีเอเตอร์หรือผู้ประกอบการที่อยากจะเข้ามาควรให้ความสำคัญ เพราะเราสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ มีตั้งแต่สินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน การให้บริการ การออกแบบประสบการณ์ หรืออาจจะเป็นคอนเทนต์ก็ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า NFT (Non-fungible Tokens)
จริงๆ แล้วมีหลายโมเดลทางธุรกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้จาก 4 ข้อนี้ แต่ส่วนที่ง่ายที่สุดที่ธุรกิจจะต้องโฟกัสคือการสร้างสรรค์สินค้าบนโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง คือจะทำสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร จะสร้างสรรค์ประสบการณ์อะไรให้กับลูกค้าในโลกเสมือน ทำคอนเทนต์แบบไหนให้ลูกค้าเข้ามาแล้วเกิดคอมมูนิตี้ หรือสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้สามารถใช้งานได้จริงๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ที่เรา E-learning กันบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน แต่ในอนาคตมันจะเกิดขึ้นใน Metaverse แน่นอน การเรียนรู้จะบียอนด์ไปไกลกว่าแค่หน้าจอโทรศัพท์ได้ไหม เราอาจจะเห็นระบบสุริยะลอยขึ้นมาตรงหน้าเลยก็ได้ นี่คืออินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่เราเรียกว่า Metaverse
โลก Metaverse ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนจากยุคปัจจุบัน
เทคโนโลยีสมัยนี้พัฒนาเร็วมากๆ ใครจะไปคิดว่าเมื่อ 14 ปีที่แล้วตั้งแต่ สตีฟ จ็อบส์ ถือ iPhone เครื่องแรก ทุกวันนี้พวกเราหลายคนแทบจะฝากชีวิตไว้บนระบบนิเวศของ iOS กันหมดแล้ว แล้วแต่ละแอปพลิเคชันที่ให้บริการก็มีมูลค่าอันดับต้นๆ ของโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Alibaba หรือ Facebook
มองกลับมาที่ Metaverse ตอนนี้ก็เหมือนกับยุคเริ่มต้นของ iPhone ตอนนั้นเลย ตอนนี้เรามี Metaverse แต่ยังไม่มีประสบการณ์หรือแอปพลิเคชันในนั้น ฉะนั้นถ้าเราสามารถก้าวเข้ามาในโลกเสมือนและสร้างบริการต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เราสามารถมีตัวตนทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ออกแบบตัวตนในแบบที่เราอยากจะเป็น ทำกิจกรรมได้ทุกอย่างผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือในอนาคตอาจจะมีแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ทำได้ทุกอย่างเหมือนมือถือตอนนี้ และวันหนึ่งมันอาจจะพัฒนาได้อย่างไร้รอยต่อจนเราไม่ต้องมาเจอกันบนโลกจริงอีกต่อไปเลยก็ได้
เฟรมเวิร์กสำหรับ SMEs ที่อยากหาโอกาสจากโลก Metaverse ต้องเริ่มต้นอย่างไร
- Business Objective ค้นหาจุดประสงค์ทางธุรกิจที่ต้องการให้เจอ
- หาช่องทางที่เหมาะสมในการสร้าง Metaverse อาจเป็นการเช่าพื้นที่ หรือสร้างโลกเสมือนเป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ทางธุรกิจ
- การออกแบบทุกองค์ประกอบ ทั้งพื้นที่ โปรดักต์ บริการ และประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ
- พัฒนาโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อระบบและให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่เข้ามาในโลก Metaverse ของเรา เช่น ระบบสมาชิก, CIM หรือ E-commerce
- เริ่มดำเนินการพร้อมกับแผนทางการตลาดที่ชัดเจน
โอกาสของภาคธุรกิจในโลก Metaverse
จริงๆ แล้วทุกภาคธุรกิจมีโอกาสทั้งหมด แต่ที่เห็นได้ชัดและใกล้ตัวที่สุดตอนนี้คือภาคการศึกษา จากแต่ก่อนที่เด็กๆ ต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน พอมาถึงยุคโควิด เด็กบางคนไม่เคยไปโรงเรียนเลย 2 ปี ข้อดีคือสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่เสี่ยงติดโรค แต่ปัญหาคือขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ฉะนั้นโลก Metaverse จะเป็นการเอาข้อดีของโลกจริงกับโลกดิจิทัลมารวมกัน ถ้าเราสามารถมี Avatar เข้าไปนั่งในห้องเรียนได้โดยไม่ต้องเดินทาง หรือคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่กำลังขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ ในอนาคตอาจจะสามารถใส่แว่นแล้วมีร่างเสมือนมาให้ศึกษาตรงหน้าเลยก็ได้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นการทลายทุกขีดจำกัดของการศึกษาได้เลย
หรือธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง 7-Eleven จากที่เคยเน้นสาขาเยอะๆ เพื่อให้ไปอยู่ใกล้บ้านทุกคน แต่พอมีดิจิทัลเข้ามา กลายเป็นว่าสิ่งที่ใกล้กว่าสาขาคือมือถือ เราสามารถเปิดแอปพลิเคชันแล้วสั่งเดลิเวอรีได้เลย ซึ่งพอเป็นยุคของ Metaverse เราก็ต้องอาศัยจุดแข็งของมันมาสร้างสรรค์ Retail Experience ยุคใหม่ ทำอย่างไรที่จะเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับแบรนด์สินค้าต่างๆ ในร้าน ชวนเพื่อนมาช้อปปิ้งได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับ SMEs ที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมใน Metaverse ในแง่โอกาสทางธุรกิจ
Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่มีโอกาสมากมาย แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในช่วง Early Adoption ดังนั้นในมุมมองธุรกิจ เราต้องตัดสินใจว่าจะเข้าสู่ Metaverse ด้วยจุดประสงค์อะไร ช่วงเวลาไหน และบริหารความเสี่ยงอย่างไร ในฐานะผู้ประกอบการ เมื่อมีโอกาสเข้ามาก็ต้องตัดสินใจว่าเราจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด ทั้งในแง่การพัฒนาองค์กร บุคลากร นวัตกรรม และธุรกิจ
อย่างน้อยๆ Metaverse คือ Future Innovation Sandbox อย่างหนึ่งที่ทดสอบศักยภาพธุรกิจของคุณว่าสามารถก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่างๆ ทั้งองค์ความรู้ การพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กร การคิดโมเดลทางธุรกิจ และการทำการตลาดบนโลกใหม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ สำหรับธุรกิจในการก้าวเข้าสู่ Metaverse
Credits
Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Editor เสาวภา โตสวัสดิ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster อารยา ปานศรี
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน