×

Understanding Carbon Tax ทำความรู้จักภาษีคาร์บอน

18.12.2024
  • LOADING...

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใช้มาตรการทางการค้าหลายรูปแบบ เพื่อกดดันให้ประเทศคู่ค้าดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประเทศไทยเองก็กำลังจะนำมาตรการเหล่านี้มาปรับใช้ในประเทศ การเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอน จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้ประกอบการ SME ไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออก และกลุ่มที่กำลังหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดที่ 2 ของซีซัน 8 นี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน บุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ผู้มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมมากว่า 20 ปี มาร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน รวมถึงความท้าทายที่ SME ต้องรู้และต้องรีบทำ 

 

Carbon tax คืออะไร และทำไมถึงช่วยสิ่งแวดล้อม 

อาจจะเริ่มจากการปูพื้นฐานก่อนเรื่องก๊าซเรือนกระจก ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 70% ทำให้หลายคนติดปากว่า ก๊าซคาร์บอน ซึ่งจริงๆ ก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป โลกเรามีชั้นบรรยากาศและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมได้เพราะเรามีก๊าซเรือนกระจกที่สมดุล ที่ผ่านมาโชคดีที่โลกเราก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลมาตลอด ดังนั้นในหลายประเทศเลยไม่เคยออกกฎหมายมากำกับดูแล ต่างจากมลพิษอื่นๆ แต่วันนี้ก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไปจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม วันนี้จึงมีการควบคุมให้ก๊าซเรือนกระจกกลับมาสมดุล เกิดเครื่องมือในการกำกับดูแลเป็นระบบภาษีหรือการจ่ายค่าใช้จ่ายแทน คือคุณมีสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซแต่ก็เป็นไปตามกลไกราคาคาร์บอน 

 

ดังนั้นราคาภาษีคาร์บอน คือการ Put a Price on Carbon ใครปล่อยคนนั้นเป็นคนจ่าย ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจก 80% ปล่อยฟรีอยู่ไม่มีใครเป็นคนจ่าย แต่จริงๆ ถ้ามาคิดดูแล้วคนที่จ่ายก็คือสังคม เพราะมีเลขสถิติออกมาว่าก๊าซที่เราปล่อยอย่างประเทศไทยเราปล่อย 370 ล้านตัน ทั่วโลกปล่อย 50,000 ล้านตัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราประสบ เมื่อมาคำนวณต้นทุนความเสียหายต่อหน่วยหนึ่งตันที่ปล่อย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าทุกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประชาชนหรือสังคมเป็นคนจ่ายเงิน แต่คนที่ปล่อยก๊าซยังไม่ได้จ่าย ภาษีคาร์บอนจึงเป็นการดึงกลับมาว่าให้คนที่เป็นคนปล่อยเริ่มเป็นคนจ่าย

 

จากแนวคิดนี้ทำให้เกิดคำจำกัดความทั้งภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต สิ่งเหล่านี้สร้างความรับผิดชอบให้ผู้ที่ปล่อยด้วยกลไกราคาคาร์บอน จริงๆ มีเครื่องมือ 2 เครื่องมือหลักที่ใช้ในการควบคุม อย่างแรกคือใครปล่อยคนนั้นจ่าย ภาษีคาร์บอนคือหนึ่งในเครื่องมือนี้ จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือเก็บภาษีคาร์บอนบนสินค้าและเก็บภาษีบนนิติบุคคล วิธีที่นิยมมากที่สุดและไทยกำลังจะทำคือการเก็บคาร์บอนบนสินค้า วิธีที่สองมีแค่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ โคลัมเบีย เป็นต้น ที่ใช้วิธีนี้

 

อีกระบบหนึ่งที่ต่างประเทศใช้ในการออกมาตรการลดคาร์บอนก็คือ Cap-and-Trade การซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกแล้วได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีเส้นที่เรียกว่าเบสไลน์ไว้เทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าเราปล่อยน้อยเมื่อเทียบกับเบสไลน์ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม เราก็มีแนวโน้มจะได้เครดิต หลายคนจะคิดว่าลดแล้วเราจะได้เครดิตเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมาเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันก่อน นอกจากนี้ยังมีการเทียบเป็นโครงการ ถ้าเราปรับปรุงพลังงานในโรงงานแล้วเทียบก่อนหลัง พลังงานลดลงเท่าไรและคำนวณออกมา ก็นับว่าเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก

 

สิ่งที่ SME จำเป็นต้องรู้เพื่อ ‘นับหนึ่ง’ สู่การเปลี่ยนผ่าน

ทุกบริษัท SME อาจจะไม่จำเป็นต้องคำนวณว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แต่สิ่งที่ต้องรู้คือตอนนี้มีรายได้และรายจ่ายด้านพลังงานคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะการใช้พลังงานกับก๊าซเรือนกระจกมักไปด้วยกัน ทั้งนี้แต่ละธุรกิจจะมีต้นทุนพลังงานไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำโรงงานน้ำแข็งอาจมีค่าใช้จ่ายพลังงานเป็น 70% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจบริการอาจมีค่าใช้จ่ายพลังงานเพียง 5% กลุ่มที่มีการใช้พลังงานต่อค่าใช้จ่ายเยอะก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็ต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น 

 

ดังนั้นกลุ่มที่ต้องเริ่มก่อนคือ กลุ่ม SME ที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกิน 30% ขึ้นไปของต้นทุน แปลว่าพลังงานมีผลต่อกำไรของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายพลังงานหลักๆ ในที่นี้จะคำนวณจาก การใช้น้ำมัน เชื้อเพลิง โลจิสติกส์ แก๊สธรรมชาติและค่าไฟฟ้า ตัวอย่างการคำนวณง่ายๆ อย่างน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2.7 กิโลกรัม ถ้ารัฐบาลประกาศว่าจะมีภาษีคาร์บอน 200 บาทต่อตันคาร์บอน แปลว่า น้ำมันที่เติม 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.7 เราก็เอา 2.7 x 200 บาท ดังนั้นก็ได้คร่าวๆ ว่า ทุกๆ 1 ลิตรของการเติมน้ำมัน จะมีค่าภาษีคาร์บอนเกือบ 50 สตางค์ เราสามารถคำนวณเองได้หากเรารู้ปริมาณที่เราใช้ในแต่ละเดือน 

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โครงสร้างน้ำมันในไทยเบื้องต้น เรามีการเก็บภาษีสรรพสามิตซึ่งรวมค่าใช้จ่ายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ดังนั้นในเฟสแรกที่ประเทศไทยกำลังจะทำแม้มีการประกาศจะใช้ภาษีคาร์บอน แต่โครงสร้างราคาหน้าปั๊มน้ำมันเราก็ยังจ่ายเหมือนเดิม แต่ภาครัฐอาจมีการให้ความรู้เพิ่มเติมว่าภาษีที่เราจ่ายนั้นมีการจ่ายค่าก๊าซเรือนกระจกร่วมด้วย เมื่อถามว่าทำไมคนทั่วไปต้องรู้ว่าเงินที่จ่ายตรงนี้รวมค่าก๊าซเรือนกระจก ก็เพราะน้ำมันมีหลายตัวเลือก 95, 91, E10, E20 ยิ่ง E ตัวเลขเยอะ แปลว่ามีก๊าซเอทานอลผสมอยู่มาก โดยทั่วไปน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเบนซิน

 

เฟสแรกที่จะเกิดขึ้นในไทยคือรัฐสร้าง Awareness ให้ทุกคนรับรู้เรื่องภาษีคาร์บอน แล้วเฟสต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไรและ SME ต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

ผลกระทบภาษีคาร์บอนในเฟสแรกเป็นภาพของการมองระยะสั้น แต่ SME อาจจะต้องมองผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว ที่สำคัญที่สุดคือ ดูว่าสินค้าที่เราขายในปัจจุบันยังสามารถขายได้ในโลกอนาคตหรือไม่ ส่วนใหญ่ SME ไทยจะเป็นการขายสินค้าไปให้ธุรกิจด้วยกัน ไม่ได้ขายโดยตรงผู้บริโภค ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าลูกค้าของเราอยู่ในตลาดที่น่าจะเป็นกรีนหรือไม่ เราอาจต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไป 

 

ข้อที่ 2 ต้องดูแนวโน้มของโลก อนาคตพลังงานจะสะอาดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นระยะกลางและยาว จะสามารถแข่งขันได้ต้องหาพลังงานสะอาดมาช่วยให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งจริงๆ การลดการใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็สามารถทำให้กำไรเราเพิ่มขึ้นด้วย แต่ SME ส่วนมากยังเข้าใจว่าลงทุนกรีนต้องจ่ายเงินอย่างเดียว รวมถึงทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีมาช่วยและต้นทุนเทคโนโลยีลดลงเร็วมาก ทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น โดยภาพรวมสุดท้ายลูกค้าอาจมองว่าสินค้าเราถูกลงและเราอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสินค้าเรามันสะอาดขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องเริ่มจากรู้ตัวเราก่อนแล้วค่อยๆ เริ่มทำไปเรื่อยๆ 

 

SME ที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกิน 30% อาจเป็นกลุ่มที่ต้องเริ่มก่อน แต่ SME ที่มีค่าใช้จ่ายพลังงานไม่ถึง 30% เอง ก็ต้องทำเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล บางที SME จะเน้นไปที่รายเป็นหลักไม่ได้ดูค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ เขาต้องดูว่าค่าใช้จ่าย มีอะไรที่ลดได้อีกหรือไม่ และควรไปลดต้นทุนส่วนอื่นๆ ก่อน แล้วค่อยมาจัดการเรื่องการลดการใช้พลังงาน

 

เมื่อถามถึงภาครัฐ ตอนนี้ภาษีคาร์บอนอยู่ในส่วนไหนของกระบวนจะเริ่มเก็บเมื่อไร

เฟสแรกน่าจะเริ่มต้นปีหน้า (2025) วัตถุประสงค์ของเฟสนี้คือสร้าง Awareness ดังนั้นอาจจะทั้งประกาศใช้และบังคับใช้ใน พ.ร.บ.สรรพสามิต น่าจะเริ่มในกลุ่มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ในระยะสั้นอาจไม่ได้กระทบมากนัก แต่ในระยะยาวนั้นไทยมีการตั้งเป้าว่าปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจก 30% เทียบกับกรณีปกติ เกิดคำถามว่าถ้าราคาคาร์บอนไม่เพิ่มและไม่มีกลไกอื่นมาเราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหรือไม่ ในหลายสิบประเทศที่ทำภาษีคาร์บอน เฟสหนึ่งก็เริ่มจากสร้างการรับรู้ 2-3 ปี และเฟสต่อมา 2-3 ปี จะเริ่มปรับราคา ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าแต่ละเฟสจะเกิดขึ้นปีไหน แต่หากเราจะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ก็ต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดภายใน 5 ปีนี้ 

 

ตัวอย่างของ SME ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ มีการปรับตัวอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ 

SME ที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มจากรู้จักธุรกิจตนเองก่อน มีคำที่เรียกกันว่า Energy Audit คือเช็กว่าเรามีการใช้พลังงานในธุรกิจของเราทั้งหมดเท่าไร จากการนับอุปกรณ์ใช้พลังงานทุกชิ้น ตรวจว่าแต่ละชิ้นใช้พลังงานเท่าไร และจำนวนชั่วโมงที่เราใช้ คำนวณออกมาก็เป็นหน่วยพลังงานและค่าไฟฟ้า จะทำให้เราเห็นว่าเราจ่ายเงินไปกับอุปกรณ์ไหนมาก สามารถลดการใช้งานได้หรือไม่ หลังจากรู้ตัวเองแล้ว ก็จะมาลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพจากอุปกรณ์ที่ลงทุนแล้วได้ต้นทุนคืน เช่นพวกหลอดไฟ ถ้าเปลี่ยนเป็น LED จะคุ้ม เครื่องปรับอากาศถ้าเป็นอินเวอร์เตอร์จะช่วยประหยัดพลังงาน โดยทั่วไปถ้าเราไม่เคยทำเรื่องพวกนี้เลยจะสามารถลดได้ 5-10 % ในปีถัดไป 

 

ในทางทฤษฎีจะมีการลดพลังงาน 3 วิธี 1) Avoid หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไม่จำเป็น เช่นการปิดไฟ ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีมาช่วย ถ้าเราไม่เคยทำตรงนี้จะลดได้ 5-10% 2) Efficiency เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรเก่าที่ใช้มา 5 ปี เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยประหยัดพลังงานมากกว่า ก็ลดได้อีก 5-10% 3) เปลี่ยนไปใช้กระบวนการอื่นเลย อันนี้อาจจะยากที่สุดเพราะเป็นการเปลี่ยนทั้งกระบวนการ แต่ถ้าเราอยากไปสู่ Net Zero ก็ต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด ตรงนี้อาจจะใช้ต้นทุนมาก แต่ข้อ 1-2 สามารถทำได้เลยทันที

 

หาก SME อยากได้ส่วนของคาร์บอนเครดิตด้วย ธุรกิจประเภทไหนสามารถต่อยอดได้ 

คาร์บอนเครดิตเกิดจากกลไกจูงใจให้การลดก๊าซเรือนกระจก และได้สิ่งตอบแทนในรูปแบบของเครดิต ทางยุโรปพอเขามีเป้าหมายต้องการลดก๊าซเรือนกระจก เลยซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการบรรลุเป้าของเขา ส่วนในประเทศไทย ตอนนี้เป้าที่เน้นคือการลดก๊าซเรือนกระจก เราต้องลดก๊าซซกระจกให้ถึงเบสไลน์ก่อน คาร์บอนเครดิตถึงจะตามมา ไม่ใช่ว่าทุกครั้งเราจะได้คาร์บอนเครดิต คาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ปัจจุบันจะเกิดในกลุ่มธุรกิจ Nature Base เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ หรือป่าไม้ ไม่ใช่ภาคธุรกิจแนว SME ที่มักเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และบริการ ดังนั้น SME ลดคาร์บอนของตนเองเพื่อให้เสียภาษีคาร์บอนน้อยที่สุดดีกว่า 

 

อย่างไรก็ตามถ้ามองในมุม Incentive อื่นๆ ประเทศไทยตอนนี้เรามีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากกระทรวงพลังงาน แต่ละปีจะเปิดเป็นเฟสออกมา ถ้ามีโรงงาน SME ต้องการจะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะมีโปรแกรมช่วยเหลือ ดังนั้นถ้าเราเข้าข่ายการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงงาน เราก็สามารถขอเข้าโครงการได้ ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่จะมีสูตรคือ 80:20 โรงงานออก 80% รัฐออก 20% ถ้าเป็น SME จะเป็น 70:30 ธุรกิจออกเอง 70% รัฐออก 30% นอกจากนี้ก็มีแพ็คเกจเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากหลายๆ ธนาคาร ดังนั้นคาร์บอนเครดิตมันก็คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่มาเสริม แต่ปัจจุบันสำหรับ SME ยังเป็นไปได้ยากที่จะได้เครดิตนี้ 

 

ฝากถึง SME ที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน 

การสนใจเรื่องลดคาร์บอนหรือสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือการทำให้ธุรกิจเรายั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำให้ธุรกิจยั่งยืนต้องเน้นก่อนว่าเรื่องนี้มาช่วยให้เราใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าของเรามีคุณค่าและแตกต่าง ความกรีนหรือความรักษ์โลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าเราแตกต่างได้ ดังนั้นการลงทุนเรื่องความยั่งยืนในวันนี้เป็นจุดเริ่มที่จะทำให้สินค้าเราทั้งแตกต่างและลดต้นทุน เป็นการทำให้รายได้เราเพิ่มและรายจ่ายเราลด อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมกับภาษีคาร์บอนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ SME ควรเริ่มตอนนี้เพื่อให้ธุรกิจเราเติบโตอย่างยั่งยืน

 


 

Credits

 

The Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer พิชญ์สินี ยงประพัฒน์

Co-Producer กรรญารัตน์ สุทธิสน

Creative ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Editor มุกริน ลิ่มประธานกุล

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer  ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์,ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer ธิดามาศ เขียวเหลือ

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising