×

พี่นะ นฤพนธ์ จากคนอ้วนร้อยกิโลฯ สู่คนไทยคนที่ 3 ที่พิชิต 6 มาราธอนโลกได้ในเวลาเพียง 7 ปี

08.11.2018
  • LOADING...

STEP LIFE: Running Story อีกหนึ่งซีรีส์จากพอดแคสต์ STEP LIFE ที่นอกจากจะมีรันนิ่งไกด์ให้คุณไปวิ่ง 10 กิโลเมตรแรกแล้ว ยังมีเรื่องราวจากนักวิ่งตัวอย่างที่เราคัดเลือกมาแล้วว่าสามารถให้แรงบันดาลใจในการวิ่งได้อย่างเต็มเปี่ยม

 

นฤพนธ์ ประธานทิพย์ หรือ พี่นะ คือชื่อนักวิ่งคนแรกๆ ที่คนในวงการวิ่งต้องรู้จัก เพราะเรื่องของเขาเข้าขั้นคำว่ามหัศจรรย์

 

จากคนอ้วนน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ที่วันหนึ่งล้มป่วยจนอยากดูแลสุขภาพ เขาเริ่มวิ่งได้เพียงแค่ 400 เมตร แต่เขาไม่เคยหยุด จนสุดท้ายการวิ่งทำให้น้ำหนักหายไปถึงครึ่ง

 

นี่คือชายที่สามารถวิ่งได้แล้วถึง 100 กิโลเมตร สะสมระยะวิ่งใน 1 ปี ได้ถึง 10,000 กิโลเมตร และเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่คว้ารางวัลสูงสุดของวงการมาราธอนคือ การพิชิต 6 มาราธอนโลกได้สำเร็จ

 

 

น้ำหนักครึ่งหนึ่งที่หายไป

ผมเริ่มวิ่งตอนอายุ 40 ปี ก่อนหน้านี้ไม่เคยวิ่งมาก่อน เป็นคนที่เกลียดการออกกำลังกายด้วยซ้ำ วันๆ แค่ทำงานหาเงิน แต่มีอยู่วันหนึ่งที่หกล้มในห้องน้ำเลยต้องไปตรวจสุขภาพ แล้วปรากฏว่ามันแย่ทุกอย่าง มาหมดทั้งแพ็กเกจ ทั้งความดัน ไขมัน เบาหวาน ไต ตับ และด้วยความที่ตัวเองอยากอยู่นานๆ หรือพูดง่ายๆ ว่ากลัวตาย ก็เลยบอกกับตัวเองว่า ต้องทำอะไรสักอย่างกับร่างกายหลังออกจากโรงพยาบาล

 

ตอนนั้นน้ำหนักที่ชั่งบนตราชั่งคือ 102 กิโลกรัม เห็นคาตาเลยครับ ตอนนั้นไม่ได้กลัวอะไรนะครับ เพราะกินอิ่มนอนหลับ มีความสุขดี แต่หลังจากล้มก็ตัดสินใจมาวิ่ง เพราะเล่นกีฬาอย่างอื่นไม่เป็น มองแค่ว่าถ้าเราเดินได้ เราก็น่าจะวิ่งได้ ก็เอาชุดที่มีอยู่ที่บ้านอย่างกางเกงขาสั้น รองเท้าลำลอง ออกวิ่งที่สวนรถไฟ วันแรกวิ่งได้ประมาณ 1 หัวโค้งสวนรถไฟ ประมาณ 400 เมตร ตอนนั้นมันหายใจไม่ทัน เพราะไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ไม่ได้เดิน ก่อนวิ่งวันนั้นเราเห็นผู้สูงอายุกับเด็กวิ่งได้ ก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ น้ำตาซึมๆ เลยนะ มันเป็นการบอกว่าสุขภาพเราแย่มาก เพราะวิ่งแค่นี้ก็เหนื่อย เลยเดินร้องไห้กลับไปที่รถ บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้มาใหม่

 

วันถัดไปตื่นเช้ามาปวดมากเลยครับ เพราะเส้นมันยึดไปหมด วันนั้นเลยฝืนมาอีกวันแล้วก็วิ่งไม่ได้ไกลไปกว่าเดิม หายใจไม่ได้เหมือนเดิม แต่บอกตัวเองว่าให้มาใหม่อีก ก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน เปลี่ยนสถานที่จากสวนรถไฟเป็นแถวบ้านบ้าง แต่บอกตัวเองว่าจะวิ่งทุกวัน พอเวลาผ่านไปวิ่งได้ระยะเท่าเดิมแต่หายใจคล่องขึ้น มันเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้เราเพิ่มระยะไปถึงจุดที่มันเหนื่อย มันก็ไปได้เรื่อยๆ จาก 400 เป็น 500 600 เมตร และจนถึง 1 กิโลเมตรในที่สุด

 

ตอนนั้นผมวิ่งทุกวัน ระยะเท่าไรไม่เป็นไร แต่ต้องวิ่งจนเหนื่อย มันเลยค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อที่เคยตื่นเช้ามาแล้วปวดก็ปวดน้อยลง จนกระทั่งในที่สุดวิ่งได้ 1 รอบสวนรถไฟ 2.5 กิโลเมตร วิ่งได้ต่อเนื่อง ผมดีใจมากจนร้องไห้เลย ทั้งหมดใช้เวลาเกือบเดือน มันเป็นอะไรที่คนน้ำหนัก 100 กิโลกรัมสามารถจ๊อกกิ้งผ่านระยะทางขนาดนี้ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตผมมาก เพราะเราอยากทำให้ได้ แล้วเราก็ทำได้จริงๆ

 

ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นที่ผมทำ มันไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ผมวิ่งได้ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาปีกว่า แต่ผมวิ่งทุกวัน ไม่ว่าจะมากจะน้อย แต่จะบังคับให้ตัวเองวิ่งทุกวัน มันคือความค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ใช้สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เราทำให้ได้

บอกตรงๆ ว่าเบื่อครับ การต้องออกมาวิ่งทุกวัน แต่เป้าหมายของเราใหญ่กว่านั้น คือสุขภาพเราต้องดีและต้องอยู่กับครอบครัวให้นานที่สุด การเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องแข็งแรงก่อน ก่อนจะดูแลคนอื่นให้ได้

ผมเอาเป้าหมายเป็นหลัก ถ้าเป้าหมายมันใหญ่กว่าสิ่งที่ผมทำเยอะผมก็ต้องฝืนให้ตัวเองวิ่งไป เพราะพอทำไปเรื่อยๆ มันก็จะพัฒนาขึ้น อีกอย่างผมใช้วิธีการเพิ่มกำลังใจให้ตัวเองด้วยการชั่งน้ำหนัก พอเห็นน้ำหนักลงเรื่อยๆ มันจะส่งกำลังใจให้ผมเยอะมาก วิ่งเสร็จชั่งเลย นอกจากนั้นผมซื้อเครื่องวัดความดันและเครื่องวัดน้ำตาล วัดทุกวันมันก็ลงทุกวัน มันส่งพลังบวกให้กับผมมาก เพราะตอนนั้นผมไม่รู้จักใครเลย ไม่มีใครมาเชียร์ให้ผมวิ่ง เลยต้องให้กำลังใจตัวเองด้วยวิธีการพวกนี้และทำให้ตัวเองอยากวิ่งต่อ

 

อุปสรรคของคนน้ำหนักเยอะ

การที่เราน้ำหนักตัวเยอะ การขยับเขยื้อนตัวก็ลำบาก มันต้องค่อยๆ ไป ผมก็พยายามจ๊อกกิ้งไปเรื่อยๆ แรกๆ น้ำหนักก็ลง แต่ลงไม่เยอะเพราะไม่ได้ควบคุมอาหาร มีอยู่วันหนึ่งที่ไปวิ่งแล้วเหนื่อยมากแบบสุดใจ เลยบอกตัวเองว่าลงทุนเหนื่อยขนาดนี้แล้ว ยังจะกลับไปกินข้าวขาหมู ข้าวมันไก่อีกหรือ สุดท้ายมันก็เท่าเดิม เลยตัดสินใจควบคุมอาหาร หลังจากนั้นสิ่งแรกที่เห็นชัดคือน้ำหนักจะลงเร็วมาก ค่าต่างๆ ก็จะขึ้นดีมาก

 

นอกจากนั้นแล้วคนน้ำหนักเยอะต้องเจอเรื่องปัญหาขาและเข่า พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเสาเข็มที่เคยรับน้ำหนัก 100 กิโลกรัม แต่ถ้าเราน้ำหนักหายไปครึ่งหนึ่ง เสาเข็มต้นเดิมมันก็น้ำหนักเบาลง และจะทำให้เราวิ่งได้เร็วขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย และทำให้เราแข็งแรงขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

จุดที่ยากที่สุดคือ 5 กิโลเมตรแรกในชีวิต

มันคือ 2 รอบสวนรถไฟครับ มันคือวันเดียวกับที่ผมคิดเรื่องอาหารนั่นแหละ คือเวลาเราเหนื่อยมากๆ เราจะ enjoy eating แต่อย่างที่บอกถ้าเอาเข้าไปอีกมันก็ไม่คุ้มกับที่เราลงแรงลงไป ผมก็เลยเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเลยครับ การวิ่ง 5 กิโลเมตรแรกนี้จึงมีความหมายกับผมมากในแง่ของการเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

 

จากรายการแรกที่ลงวิ่งสู่อีกหลายรายการในชีวิต

งานวิ่งแรกคือ นนทบุรีมินิมาราธอน เป็นงานเปิดสะพานข้ามแยกพระนั่งเกล้า อันที่ 2 วิ่งจากศาลากลางจังหวัดนนทบุรีไปถึงท่าอิฐจน ถึงสะพานอันใหม่ แล้วก็ยูเทิร์นกลับ ตอนนั้นน้ำหนักเหลือ 80 กิโลกรัม แต่ก็เหนื่อยมากครับ กัดฟันสู้เลย ช่วงนั้นมีคนวิ่งแซงเยอะมาก ตอนนั้นบอกตัวเองว่าขออย่าเป็นที่โหล่ คนที่สุขภาพไม่ดีหรือคนอ้วนอย่างผมจะกลัวมากเรื่องการเป็นคนสุดท้าย เลยพยายามวิ่งจนจบ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที เวลาไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ถ้าเทียบกับน้ำหนักตอนนั้นก็ถือว่าโอเคแล้ว เข้าเส้นชัยแล้วร้องไห้เลย กลับบ้านเอาเหรียญไปโชว์แฟนแล้วบอกว่า ในชีวิตนี้ได้เหรียญแรกในชีวิตก็เพียงพอแล้ว

 

แต่หลังจากนั้นผ่านไป 1-2 วัน เราจำความรู้สึกของการเข้าเส้นชัยได้ เลยค่อยๆ ลองดูงานวิ่งงานอื่นไปเรื่อยๆ เริ่มลงวิ่งฮาล์ฟมาราธอน ซ้อมอย่างต่อเนื่องและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จนทำสำเร็จที่งานวันแม่ ตรงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มันคือการวิ่งวนเส้นเดิม 2 รอบ จบรอบแรกผมอยากกลับบ้านมาก แต่ก็เดินๆ วิ่งๆ ไปจนจบ หัวใจพองโตมาก รู้สึกว่าตัวเองทำได้ เลยวิ่งฮาล์ฟมาราธอนไปเรื่อยๆ และก็เริ่มเล็งการวิ่งมาราธอน คิดว่าถ้าตัวเองวิ่งมาราธอนได้สำเร็จคงปลื้มใจมาก อยากทำให้ได้ รู้สึกว่าการได้เหรียญมาราธอนมันเท่ เลยพยายามไปฝึกซ้อมจนกระทั่งได้สมัครที่ระยองมาราธอน ซึ่งเป็นครั้งแรก วิ่งไปก็มีคนแจกไฟฉายเพราะสตาร์ทตี 3 ตี 4 มันมืดมาก รถสิบล้อก็เยอะ เหนื่อย ท้อ จนตอนวนกลับก็รู้สึกอยากกลับบ้านอีกแล้ว พอดีว่าเขามีกองเชียร์ เราเลยเดินๆ วิ่งๆ ไปต่อ จนในที่สุดจบด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 45 นาที ตอนนั้นน้ำหนักเหลือประมาณ 70 กิโลกรัม ตอนกลับบ้านผมลงจากรถไม่ได้เพราะขามันเกร็งมากแฟนต้องให้คนข้างบ้านช่วยยกลง แต่ก็ไม่เคยหยุด เวลาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะซ้อมอย่างต่อเนื่อง

 

เนื่องจากผมต้องไปทำงานต่างประเทศบ่อย เลยได้ไปเห็นงานวิ่งที่สิงคโปร์ เลยหาโอกาสไปร่วม จากนั้นก็มีไปวิ่งที่เยอรมนี วิ่งขึ้นภูเขากลางป่าสน สวยมาก ส่วนงานที่ประทับใจที่สุดของการวิ่งมาราธอนคือ ลอนดอนมาราธอน เป็นงานที่ให้เกียรตินักวิ่งมาก รถไฟก็ขึ้นฟรี ไปที่ไหนคนก็ยินดีต้อนรับถ้ามี BIB ทั้งที่ไม่รู้จักกัน ทุกคนให้กำลังใจ แม้แต่ตอนวิ่งเสร็จ หลังจากเข้าเส้นชัยแล้วกลับบ้าน ก็มีคนแสดงความยินดีด้วยตลอดทาง ทั้งบนรถไฟ ร้านค้า หรือเดินไปไหนมาไหน หรือแม้กระทั่งกลับบ้านอาบน้ำถอดชุด ถอด BIB ออก เหลือแค่ชิปที่รองเท้าก็มีคนมากอดแสดงความดีใจ

 

จริงๆ ถอดใจสำหรับลอนดอนมาราธอนไปแล้ว แต่บังเอิญว่าผมไปเจอฝรั่งคนหนึ่ง เขารู้ว่าโปรไฟล์ผมเป็นคนมีปัญหาสุขภาพ เคยอ้วน จนผ่านบอสตันมาราธอนได้ จึงแนะนำให้ผมเขียนจดหมายไปถึงลอนดอนมาราธอน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นปิดหมดทุกช่องทางแล้ว แต่เขาก็อยากให้ส่งไป เพราะไม่ได้เสียเงินอะไร ผมก็ร่างเขียนทุกอย่างไปเพื่อให้แรงบันดาลใจคนอื่นต่อ ผมส่งจดหมายไปกว่า 30 องค์กรที่อยู่ภายใต้ลอนดอนมาราธอน ทุกคนตอบกลับมาว่าโปรไฟล์ผมโอเค แต่โควตาเต็มทั้งหมดและจะให้ในปีถัดไป จนกระทั่งมีคนที่ตอบกลับมาว่ามีโควตาเหลือ แล้วเขาจะเอาโปรไฟล์ผมขึ้นหน้าเว็บเดี๋ยวนั้นเผื่อให้ฝรั่งมาบริจาค

 

สู่งานวิ่งระดับโลก

งานวิ่งมาราธอนระดับโลกมีที่โตเกียว เบอร์ลิน ลอนดอน บอสตัน ชิคาโก และนิวยอร์ก มีทั้งหมด 6 ที่ ทั้งหมดลอตโต้ด้วยการใช้ดวงได้ ยกเว้นที่บอสตัน นอกจากนั้นก็สามารถใช้การกุศลได้อย่างที่เล่าไป

 

งานวิ่งที่ประทับใจที่สุดคือลอนดอนมาราธอน บอสตันมาราธอนเป็นงานที่วิ่งยากที่สุดเพราะปีที่ผมแข่งถือว่าอากาศเลวร้ายที่สุดในรอบ 122 ปี ตอนเช้ามา 0 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกจริงๆ คือ -4 องศาเซลเซียส ขณะวิ่งก็ฝนตก มันเหมือนการวิ่งในถังน้ำแข็งแล้วมีคนเปิดฝักบัว แล้วเราวิ่งชน ส่วนลอนดอนมาราธอนนอกจากประทับใจแล้ว ยังเป็นงานวิ่งที่เส้นทางสวยที่สุด เพราะผ่านจุดสำคัญทั้งบิ๊กเบน จนสุดท้ายไปจบที่พระราชวังบักกิงแฮม

 

ซ้อมอย่างไรให้ได้ถึง 100 กิโลเมตร

จริงๆ ผมไม่ได้มีโค้ช แค่อาศัยความเพียร ซ้อมมันทุกวันไปเรื่อยๆ ปัญหาของผมคือ 3 กิโลเมตรแรกผมจะรู้สึกไม่ค่อยอยากวิ่ง แต่หลังจากนั้นจะเข้าสู่โซนปกติ ผมทนแค่ 3 กิโลเมตร มันจะไปของมันเอง แล้วมันก็จะมีความสุข การซ้อมไปเรื่อยๆ ทำให้ระยะเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพอเรารู้ตัวเองว่าจะลงมาราธอน ผมก็เริ่มเพิ่มการซ้อมเช้าเย็น 20-30 กิโลเมตร

ผมเชื่ออยู่ 3 คำครับ วินัย ความเพียร ความอดทน ทั้ง 3 คำสำคัญมากแล้วก็ใช้ได้กับทุกเรื่อง

อดทนไปก่อนครับ เพราะผลลัพธ์มันยังไม่ออก แต่มันจะออกสักวันหนึ่งถ้าเราสม่ำเสมอกับมัน แล้วถ้าใครท้อ ลองนึกถึงตัวผมครับ ผมอ้วนขนาดนี้ผมยังทำได้ ขอให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง มีเป้าหมายชัดเจน การที่ผมมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะพรสวรรค์แต่แสวงล้วนๆ การวิ่งคือการที่เราได้อยู่คนเดียวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นใจมันต้องแข็งแรงมาก จริงๆ ผมวิ่งไปร้องไห้ไปก็มีเหมือนกันนะครับ ไม่มีใครรู้ สุดท้ายตอนผมไปรับเหรียญที่เขาเรียกกันเล่นๆ ว่า พอนเดอริง (ได้จากการพิชิตครบ 6 มาราธอนโลก) ที่ชิคาโก ผมร้องไห้เหมือนเด็กเลย เวลาผมไปพูดที่ไหนผมจะเอาเหรียญทั้ง 6 รายการไปด้วย ให้ทุกคนจับ ได้ชื่นชม เป็นเหมือนการส่งพลังบวก

 

 

ผมอยากบอกว่า ผมเป็นมาหลายโรค แต่ทุกวันนี้โรคพวกนี้มันหายไปโดยผมไม่ได้ทานยา ผมเลยรู้สึกว่าการวิ่งเป็นอายุวัฒนะอย่างหนึ่ง ต่อให้เทียบกับเงินที่ลงแข่งวิ่ง ผมว่ามันคุ้มนะ การวิ่งให้อะไรผมเยอะมาก

 

 


สามารถฟังพอดแคสต์ STEP LIFE: Running Guide For Your First 10K
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 
 


 

Credits

The Hosts พิภู พุ่มแก้วกล้า, อิทธิพล สมุทรทอง

The Guest นฤพนธ์ ประธานทิพย์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Photographer วรรษมน ไตรยศักดา

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising