×

เล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ก็พบจิตแพทย์ได้ และควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อคนรอบข้างกำลังรักษาอาการทางใจ

16.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:50 สัญญาณเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ไปหาจิตแพทย์ได้

08:02 ถ้าคนรอบตัวอยู่ระหว่างการพบจิตแพทย์ เราควรปฏิบัติอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ย้ำอยู่เสมอในพอดแคสต์ R U OK คือ หากเราสงสัยในพฤติกรรมของตัวเองและอยากแก้ไขก็สามารถพบจิตแพทย์ได้ โดยไม่ถึงกับต้องอาการหนักหรือถึงขั้นป่วยเป็นโรค แต่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างก็สามารถพบผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน

 

R U OK เอพิโสดนี้จึงมารวมพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรพบจิตแพทย์ ต่อเนื่องไปจนถึงว่าหากคนรอบตัวไปพบจิตแพทย์มาแล้ว เราควรปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสม จะให้กำลังใจอย่างไรให้ถูกวิธี               

 


 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าควรพบจิตแพทย์

 

1. มีอารมณ์รุนแรงมากๆ ไม่ว่าจะโกรธมากๆ เศร้ามากๆ เหงามากๆ กังวลมากๆ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้หากเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากกว่าปกติก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของความผิดปกติทางจิตใจได้

 

2. ไม่สามารถลืมเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นได้ และภาพนั้นวนเวียนซ้ำบ่อยครั้งจนกระทบกับชีวิตประจำวันก็สามารถไปพบผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่สำคัญ เพราะการที่ภาพอดีตวนมาซ้ำๆ แสดงว่าความรู้สึกของเรากำลังเรียกร้องให้เราใส่ใจ แม้เหตุการณ์นั้นจะไม่ใหญ่โต แต่เรารู้สึกกับมันมากๆ อย่าเพิ่งรีบตัดสิน เพราะเหตุการณ์นั้นเป็นได้ทั้งอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำท่วม โดนชิงทรัพย์ ความรุนแรงที่เข้ามากระทบชีวิต การสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง ฯลฯ

 

3. ใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อให้ลืมอะไรบางอย่างหรือให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน และสังเกตว่าต้องใช้มันติดต่อกันเป็นระยะเวลานานในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถพบผู้เชี่ยวชาญได้ ในกรณีนี้ไม่ใช่เฉพาะยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาเสพติด แต่รวมถึงแอลกอฮอล์ด้วย

 

4. มีความผิดปกติกับร่างกายเกิดขึ้นซ้ำๆ แล้วยังหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดหัวซ้ำๆ ปวดท้องซ้ำๆ ภูมิคุ้มกันลดลงเป็นลำดับ ป่วยง่ายทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แพ้อาหาร ยา อากาศ ผื่นขึ้นตามร่างกายโดยไม่หายขาด สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุภายในใจที่ส่งผลกระทบกับร่างกายก็ได้

 

5. ประสิทธิภาพของตัวเองลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ ทั้งประสิทธิภาพทางกายและประสิทธิภาพการทำงาน เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเราทำงานผิดซ้ำๆ ที่เดิม ทั้งที่ตั้งใจแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้สาเหตุว่าพลาดไปได้อย่างไร การพบนักจิตบำบัดอาจช่วยให้เราพบสาเหตุที่คิดไม่ถึงก็ได้

 

6. เบื่อในสิ่งที่ชอบอย่างไม่มีเหตุผล เช่น ค่อยๆ ลดงานอดิเรกที่เคยทำ ไม่ออกไปดูหนัง ไม่ออกกำลังกาย เพราะรู้สึกเบื่อขึ้นมาอย่างไม่รู้สาเหตุ รู้สึกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ดีกว่า หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างไม่ออกไปแฮงเอาต์กับเพื่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจอกันจนเป็นกิจวัตร ถ้าเริ่มสังเกตว่าตัวเองมีพฤติกรรมแบบนี้แล้วก็สามารถพบผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยค้นหาสาเหตุได้

 

7. ไม่สามารถจัดการความสัมพันธ์ได้ ทั้งคู่รัก เพื่อน เพื่อนที่ทำงาน เริ่มตึงเครียดเมื่อต้องสื่อสารกับใคร หรือใครพูดอะไรนิดหน่อยก็ฟังไม่เข้าหู ขึ้นเสียงใส่อย่างห้ามตัวเองไม่ได้แล้วมารู้สึกผิดทีหลัง ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถลดพฤติกรรมแบบนี้ได้

 

8. ถ้าเรายังคิดว่าตัวเองสบายดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่เอะใจว่าคนรอบข้างเริ่มทักบ่อยขึ้น แสดงความเป็นห่วงเป็นใยมากเป็นพิเศษ สิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่ตัวเราเองอาจไม่รู้ แต่แสดงออกให้คนรอบข้างรู้สึกได้

 

ถ้าคนรอบตัวอยู่ในระหว่างการพบจิตแพทย์ เราควรทำอย่างไร

หลายครั้งที่เราพบว่ามีคนในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน ตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และกำลังเยียวยารักษาอาการป่วย เราเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ก็อยากจะให้กำลังใจและปฏิบัติตัวไม่มากหรือน้อยไป แต่ก็มีหลายคนเกร็งและกลายเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา และเราเองก็สามารถปฏิบัติกับคนคนนั้นด้วยวิธีที่ธรรมดาได้ด้วยเช่นกัน

 

เมื่อพ่อแม่พาลูกไปพบจิตแพทย์

จำเป็นอย่างยิ่งที่หลังจากที่ลูกเข้าพบแพทย์แล้ว พ่อแม่ต้องหาโอกาสเข้าพบแพทย์หลังจากนั้น แล้วสอบถามอย่างตรงไปตรงมาว่ามีสิ่งไหนที่ควรปฏิบัติเป็นพิเศษเพื่อช่วยสร้างวินัยหรือทักษะใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็อาจขอความรู้ที่ถูกต้องจากแพทย์เกี่ยวกับอาการหรือโรคนั้นๆ

 

นอกจากนั้นแล้วพึงระลึกอยู่เสมอว่าอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เพราะพ่อแม่ไม่ใช่คนที่รู้ทุกอย่างและอาจไม่ได้ทำถูกเสมอ ที่สำคัญที่สุด อย่าตัดสินลูกด้วยความคิดของตัวเองว่าน่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

 

เมื่อเพื่อนไปพบจิตแพทย์

ในฐานะเพื่อนก็เช่นเดียวกัน คือควรเลี่ยงความคิดเห็นหากเพื่อนไม่ได้ขอความคิดเห็น และเลี่ยงการตัดสินให้ได้มากที่สุด อย่าคิดว่าเราจะรู้ดีกว่าเพื่อนหรือให้คำตอบที่ดีที่สุดแก่เพื่อนได้ เพราะตัวเราเองไม่ได้เผชิญสภาวะที่เพื่อนเป็นอยู่ เราไม่มีทางเข้าใจ ที่สำคัญคืออย่าพยายามเอาความคิดตัวเองไปใส่เพื่อน อย่าคิดว่าจะต้องเอ็นเตอร์เทนหรือพากันไปเที่ยวทะเลเหมือนที่เห็นในมิวสิกวิดีโอ อย่าลืมว่าความต้องการเหล่านั้นคือ ‘ความต้องการของเรา’ ที่เราอยากเห็นเพื่อนดีขึ้น แต่ไม่ใช่ ‘ความต้องการที่แท้จริง’ ของเพื่อน ลองสอบถามความต้องการของเพื่อนสักนิด เพราะสมการชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน

 

เมื่อคู่ชีวิตไปพบจิตแพทย์

จะไปพบแพทย์หรือไม่ก็ตาม คู่ชีวิตควรถามไถ่กิจวัตรประจำวันให้เป็นนิสัย แต่ถ้าเมื่อไรที่คู่ชีวิตต้องไปพบจิตแพทย์ก็ให้การพบแพทย์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาในชีวิตคู่ ถามด้วยความห่วงใยเป็นคำถามปลายเปิด เพราะเมื่อไรที่อีกฝ่ายอยากเล่า เขาจะเล่าเอง และถ้าเขารู้สึกไม่โอเค เขาจะหยุด หรืออาจออกตัวไปตั้งแต่ต้นว่าหากไม่เล่าก็ไม่เป็นไร อย่าใช้อารมณ์หรือสร้างดราม่าว่าชีวิตคู่ต้องบอกกันทุกเรื่อง เพราะนั่นไม่ได้ส่งผลดีต่ออาการป่วยและความสัมพันธ์เลยแม้แต่น้อย

 

หลักใหญ่ใจความที่สำคัญที่สุดของการมีคนรอบตัวไปพบจิตแพทย์คือต้องมอง ‘เขา’ อย่างเป็น ‘เขา’ มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ทั้งปัญหาการเรียน ปัญหาในที่ทำงาน จัดการความเหน็ดเหนื่อย เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการเป็นของตัวเอง ยังอยากกินอะไรอร่อยๆ อยากเที่ยวในที่ที่ไม่เคยไป เพียงแค่มีเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มมาอีกเรื่องหนึ่งที่เขาต้องดีลด้วยเพียงเท่านั้น  

ทัศนคติที่สำคัญคือควรปฏิบัติกับเขาโดยที่มี ‘เขา’ คนนั้นเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ ‘โรค’ หรืออาการของโรคเป็นศูนย์กลาง


 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X