×

ใช้มือถือ ≠ เล่นมือถือ สร้างความเข้าใจอย่างไรถ้ารู้สึกว่าลูกใช้เวลากับมือถือมากเกินไป

25.08.2020
  • LOADING...

“เล่นมือถืออีกแล้ว”

 

เด็กๆ หลายคนอาจเคยถูกผู้ปกครองดุ ทั้งๆ ที่เพิ่งหยิบมือถือขึ้นมา หรือไม่ก็รู้สึกว่าไม่ได้เล่น แต่คุยกับเพื่อนเรื่องงานอยู่ต่างหาก

 

R U OK เอพิโสดนี้ชวนตัวแทนคุณพ่อมาแชร์ปัญหาที่หลายครอบครัวพบเจอ เรื่องความไม่เข้าใจกันในการใช้เวลาในการเล่นมือถือ พ่อแม่จะเข้าไปสอดส่องแค่ไหน จะเว้นระยะและให้เกียรติลูกอย่างไร ความหวังดีจะไม่เป็นการทำร้ายกัน

 


 

ปัจจุบันพบปัญหาลูกเล่นมือถือในลักษณะใดบ้าง

ด้วยความที่มีลูกเป็นวัยรุ่นทั้งคู่ แล้วก็เป็นลูกสาวด้วย ผมจึงเป็นห่วงเรื่องนี้มาตลอดในฐานะพ่อ แต่ก็เข้าใจได้ว่าทุกวันนี้เด็กๆ ใช้มือถือในหลายเรื่องจนเป็นเหมือนเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนตัวผมมองว่ามือถือมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการชีวิตให้ง่ายขึ้น แต่ในเวลาที่เด็กๆ ใช้ คนเป็นพ่อแม่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดก็อดห่วงไม่ได้ เพราะถ้าสิ่งที่เขาใช้ในมือถือเป็นการใช้ในทางที่ดี เราก็สบายใจ แต่ถ้าใช้ไปในทางที่เพลิดเพลินเกินไป หรือเป็นอย่างที่เห็นในข่าวว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีหวังจะเข้ามาทำร้ายเด็กๆ ซึ่งอาจเป็นลูกของเราก็ได้ เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกเป็นห่วงลูก ผมเลือกใช้วิธีสังเกตการใช้มือถือของลูกโดยต้องให้เกียรติเขาด้วยส่วนหนึ่ง ไม่ล่วงเกินความเป็นส่วนตัว คือทั้งสังเกตพฤติกรรมการใช้ รวมถึงสังเกตด้วยว่ามีลักษณะนิสัยอะไรของเขาที่เปลี่ยนแปลงไปไหม ส่วนเรื่องการใช้งานเราก็พยายามเข้าใจเขา เพราะจริงๆ เขาอาจจะใช้มือถือเพื่อการเรียนก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้อย่างที่รู้ว่าทุกคนก็เรียนผ่านออนไลน์กันหมดแล้ว มันจึงสำคัญที่เราต้องสังเกตให้เข้าใจ เพราะหากด่วนตัดสินหรือตำหนิลูกไปก่อน เรากับลูกอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อกันจนกลายเป็นว่าต่อไปลูกจะตีตัวออกหาก ไม่ไว้ใจที่จะบอกอะไรเราอีก เพราะกลัวโดนเราตำหนิ

 

มีวิธีพูดคุยกับลูกอย่างไร เมื่อสัมผัสได้ว่าเวลาในการใช้มือถือของเขานานเกินไปแล้ว 

ผมมองว่ามันแล้วแต่สไตล์ของแต่ละครอบครัวด้วย แต่สำหรับผมไม่ได้ว่าอะไรลูก เพียงแค่ถามเขาก่อนว่ามีอะไรติดค้างอยู่หรือเปล่า ตอนนี้ดึกมากแล้ว พรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียน นอนได้แล้วนะ ประมาณนี้ สำหรับลูกสาวคนโตที่เริ่มวุฒิภาวะแล้วผมจะไม่ได้ไปยุ่งอะไรมาก เพียงแต่จะคอยสังเกตกลุ่มเพื่อนที่เขาคบ และคอยสนับสนุนให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เวลามีอะไรเขาก็จะคอยบอกเราตลอด ส่วนคนเล็กที่อยู่ในช่วงกำลังโต เราก็ให้ความรักความอบอุ่น คอยสนับสนุนในสิ่งที่เขาสนใจ ใช้ความอยู่ใกล้ชิดเป็นหลัก โดยเลือกใช้วิธีการสื่อสาร การตั้งคำถามเพื่อประคับประคองเขาไปเรื่อยๆ หรือในหลายๆ บ้านที่เคยเห็น เขาจะใช้การสร้างข้อตกลงร่วมกันขึ้นมา เพราะพ่อแม่บางคนอาจจะไม่แน่ใจในวิธีการสื่อสารของตนเอง ก็พูดคุยกับลูกไปเลยว่าจะใช้มือถือได้ตอนไหนหรือใช้กี่ชั่วโมง วิธีนี้ก็ช่วยเลี่ยงการปะทะได้เช่นกัน

 

ที่ผ่านมามีวิธีไหนที่รู้สึกว่าทำแล้วไม่เวิร์กหรือไม่ และมีวิธีจัดการอย่างไร

เมื่อก่อนผมเป็นคนที่เสียงดุและแข็งมากจนภรรยาทักว่าเราเสียงแข็งเกินไป มันอาจจะดูเหมือนเป็นการดุลูก ยิ่งลูกเป็นลูกสาวด้วย เราเคยดุจนเขาหงอและกลัวเรา สุดท้ายเราเองที่รู้สึกไม่ดี จึงตัดสินใจปรับโทนเสียงตนเองให้เบาลงและดูอ่อนโยนมากขึ้น สิ่งที่เราถูกเลี้ยงดูมามันนำมาใช้กับลูกไม่ได้แล้ว เพราะมันคนละยุคคนละสมัยกัน สำหรับยุคก่อนการดุอาจจะเวิร์ก แต่สำหรับยุคนี้ ถ้าเราดุเขามากเกินไป เขาจะไปหาที่พึ่งทางอื่นที่ไม่ใช่เรา เพราะเด็กยุคนี้มีการสื่อสารหลายช่องทางมาก ดังนั้นเราต้องทำให้เขาไว้ใจเราและพร้อมจะพูดคุยกับเรา ดีกว่าเขาไม่พอใจและหายไปเลย ถ้าถึงขั้นนั้นมันก็ยากที่จะกลับมาเชื่อมความสัมพันธ์ให้เหมือนเดิม วิธีการวัดก็ง่ายๆ เวลามีปัญหาให้ดูว่าลูกเลือกที่จะเดินมาหาเราหรือเก็บปัญหาไปแก้เองคนเดียว ผมมองว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ตัวผมเองก็เคยผิดพลาดมาเหมือนกัน สิ่งที่เราปรับปรุงได้คือเวลาที่เห็นเขาเล่นมือถือก็อย่าเพิ่งพูดอะไร ดูให้แน่ชัดก่อน แล้วค่อยคุยกับเขาดีๆ ผมมองว่าไม่มีใครทำสิ่งที่ถูกต้องได้ตลอดเวลา หลายๆ ครั้งที่เราทำผิด เราก็ขอโทษลูก เพื่อให้เขารู้ว่าเราเองก็ผิดพลาดได้ มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เราจะไม่ใช้สิทธิ์ของความเป็นผู้ใหญ่ในการตำหนิและให้ความแฟร์กับเขา การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย คนรอบข้างก็มีส่วนช่วยทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ผมกับภรรยาก็ช่วยเหลือกัน เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เราจะไม่ปล่อยลูกไปไหนตามลำพัง ต้องมีคนใดคนหนึ่งที่คอยสังเกตลูก หรือเวลาไปทำกิจกรรมก็จะไปกันทั้งครอบครัว ผมมองว่าแต่ละครอบครัวอาจจะต้องหาวิธีที่เหมาะสมของตนเอง แต่สำหรับผมเราจะพยายามดูแลและควบคุมการใช้มือถือของลูกให้อยู่ในระดับที่เรารับได้และทุกคนก็มีความสุขไปพร้อมกัน

 

ความเข้าใจในธรรมชาติในช่วงวัยของลูกเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่เอาลูกเป็นตัวตั้ง เป็นหลักการที่หลายบ้านน่าจะลองนำไปปรับใช้กัน เพราะการสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ในครอบครัว

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK

ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 

Marriage Story

Marriage Story

Marriage Story

Marriage Story

joox

 


Credits

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising