หยอก เหยียด แซว ด่าทอ ตัดต่อรูปภาพ
ทุกวันเราเผชิญหน้ากับการกระทบกระเทือนจิตใจหลากหลายรูปแบบ หลายครั้งเราเป็นเหยื่อ หลายครั้งเรากลายเป็นผู้กระทำโดยไม่ตั้งใจ ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่าแล้วเส้นบางๆ ที่เรียกว่าการบูลลี่ คือตรงไหนกันแน่
R U OK และ นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น มาหาคำจำกัดความของการบูลลี่ว่ามีส่วนประกอบอะไร การบูลลี่ในเด็กและวัยรุ่นทุกวันนี้พัฒนารูปแบบไปถึงไหน อย่างน้อยเราจะได้ระมัดระวังในการสื่อสารเพื่อไม่เป็นการทำร้ายจิตใจกัน
#ฝึกใจให้เห็นหัวใจ
#dtacSafeInternet
การกระทำแค่ไหนที่เรียกว่าบูลลี่
บูลลี่ เป็นวงจรแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่กระทำต่อกัน โดยมี 3 ลักษณะที่เกิดขึ้นได้ คือ
- ลักษณะของความรุนแรง ไม่ว่าจะทางกายหรือวาจา ที่ไปกระทบจิตใจของอีกฝ่าย ความรุนแรงทางวาจาอาจไม่ชัดเจนเท่ากับความรุนแรงทางกาย เพราะมันขึ้นอยู่กับการรับรู้ของอีกฝ่ายด้วยว่า คำคำนั้นมันรุนแรงอย่างไร เช่น คำพูดเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพภายนอก สถานะทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดหรือสมรรถนะของอีกฝ่าย ถ้าเรื่องนั้นไปกระทบกับความรู้สึกของคนฟัง การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการบูลลี่ที่ส่งผลต่อความรุนแรง และทำให้คนคนนั้นได้รับผลกระทบทางจิตใจ
- ลักษณะที่ผู้กระทำตั้งใจหรือเจตนาที่จะทำสิ่งนั้นออกไปให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวด เรื่องนี้พูดยาก เพราะมันมีเส้นตรงกลางของการตีความว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องคอยสังเกตว่า อีกฝ่ายมีการตอบสนองกับสิ่งที่เราพูดไปอย่างไร ถ้าเขาแสดงสีหน้าที่ไม่โอเค หรือพูดปฏิเสธออกมา เราก็ควรเข้าใจได้ว่าเขาไม่ชอบ นั่นเป็นการล้ำเส้นเขา ซึ่งถ้าเรายังทำแบบเดิมซ้ำๆ นั่นคือการบูลลี่
- ลักษณะที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงอำนาจที่เหนือกว่า อาจจะเป็นการใช้น้ำเสียงที่ดังกว่า ใช้จำนวนคนที่มากกว่า พอเห็นอีกฝ่ายหงอหรือจนมุมยิ่งทำมากขึ้น ลักษณะนี้ก็คือการบูลลี่
การบูลลี่ไม่ใช่แค่เรื่องบุคคลต่อบุคคล
หลายครั้งการบูลลี่อาจเกิดจากการถูกทับซ้อนกันมาจากเรื่องราวของคนหลายๆ คน นำไปสู่คนที่ถูกกระทำจนเกิดเป็นความเคยชิน โดยอาจจะเคยใช้วิธีนี้แล้วได้ผล เช่น การพูดเสียงดังของบางคนเกิดจากการที่เขาถูกเพื่อนบูลลี่ เลยตะโกนเสียงดังกลับไป ซึ่งตอนนั้นมันได้ผล เขาเลยติดการกระทำนั้นมา จนลืมไปว่าสิ่งที่เขาทำอาจแปลว่าไม่เคารพหรือล้ำเส้นคนอื่น ดังนั้น ตัวกลางที่จะป้องกันได้ดีที่สุดคือ การฝึกฝนสกิลในการ Empathy คนอื่น เมื่อเราพูดอะไรออกไปแล้ว อย่าลืมที่จะสังเกตด้วยว่าอีกฝ่ายรู้สึกหรือมีอาการอย่างไร เพราะธรรมชาติของการบูลลี่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว เมื่อไรก็ตามที่เกิดการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือเราสื่อสารออกไปพร้อมฝึกการสังเกตด้วย มันจะช่วยป้องกันการเกิดบูลลี่ได้ แน่นอนว่าในช่วงแรกเราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันล้ำเส้นอีกฝ่ายหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่รีบโทษตัวเอง เพราะในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ประสบการณ์ที่หล่อหลอมเรามาก็คือธรรมชาติของเรา แนวทางที่เหมาะสมคือ เราต้องพร้อมยืดหยุ่นและเคารพตัวเองก่อน จากนั้นค่อยหาวิธีปรับเปลี่ยนการกระทำของเรา
ความหวังดี ไม่ใช่ข้ออ้างของการบูลลี่
บางครั้งการบูลลี่อาจเกิดจากความคุ้นชินที่มาจากรูปแบบการเรียนรู้ทางสังคม ที่คนคนหนึ่งเห็นและเชื่อว่าใครๆ เขาก็ทำแบบนี้กัน ดังนั้นสังคมแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ล้วนมีผลต่อการกระทำของคนคนหนึ่งที่เรียนรู้และทำตามต่อเนื่องกันมา ที่น่าสนใจคือมันไม่ใช่แค่ประสบการณ์ในเชิงลบ แต่ในเชิงบวกก็เกิดการบูลลี่ได้ เช่น คนที่เคยลดน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง เขาจะคอยโฟกัสคนรอบข้างของเขาที่อ้วน และคอยไปบอกว่าให้ลดความอ้วนได้แล้ว ถ้าการกระทำนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ แน่นอนว่ามันจะไปกระทบความรู้สึกของคนอื่นได้ ดังนั้น Empathy จึงเป็นตัวกลางสำคัญที่จะช่วยบล็อกเอาไว้ เพื่อฝึกให้เรามองเห็นทั้งความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เพราะแต่ละคนมีความเซนสิทีฟที่ไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งการสอน ที่ใครหลายๆ คนมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีหลายครั้งที่การสอนไปกระทบจิตใจคนอื่น ดังนั้นการใช้แค่ความปรารถนาดีมาอ้างในการกระทำของตัวเองมันไม่เพียงพอ เพราะความรู้สึกของคนฟังก็สำคัญไม่แพ้กัน
ในเด็กวัยรุ่น มีรูปแบบการบูลลี่อย่างไรบ้าง
โครงสร้างของการเกิดบูลลี่ในเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมฯ จะชัดเจนตรงที่ลักษณะทางสังคม เด็กจะออกไปตามหาตัวเองจากการถูกมองจากคนอื่น ดังนั้นรูปแบบทางสังคมไม่ว่าจะถูกต้องหรือบิดเบี้ยว มักจะเกิดขึ้นเป็นไดนามิกที่ชัดเจนมากในช่วงนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การบูลลี่จะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วง ม.2 เพราะช่วง ม.1 ทุกคนล้วนมาจากต่างที่ จึงยังไม่รู้ว่าใครเป็นอย่างไร เพราะใหม่ด้วยกันทั้งหมด แต่พอเริ่มเข้า ม.2 เด็กทุกคนจะเริ่มฟอร์มตัวเองออกมาได้ว่า ฉันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นี่พวกของฉัน นั่นพวกของเธอ เกิดการกีดกันและแบ่งแยกคนที่ไม่เหมือนกับเราออกไป โดยอีกรูปแบบหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ การบ่อนทำลายเพื่อนด้วยการนินทาหรือใส่ร้ายลับหลัง ซึ่งคนที่เป็นผู้ฟังจะถูกชักจูงให้เป็นเครื่องมือของการบูลลี่โดยไม่รู้ตัว วิธีการรับมือที่เหมาะสม หากเราไม่เต็มใจจะรับฟังคือ การบอกกับคนเล่าออกไปตรงๆ ว่าเราไม่สะดวกใจที่จะฟัง หรือเราไม่สนใจเรื่องนี้ นั่นจะทำให้เรากลายเป็นฮีโร่ของตัวเอง และเมื่อเราเติบโตขึ้นมา พอมองย้อนกลับไป เราจะไม่รู้สึกเสียดายในสิ่งที่ตัวเองยืนหยัดในตอนนั้น
ช้าลงหน่อย ช่วยป้องกัน Cyberbullying
ปฏิเสธไม่ได้ว่าดิจิทัลเข้ามาเป็นอวัยวะหนึ่งของเด็กยุคนี้ และมันทรงพลังอำนาจมากเพราะโลกดิจิทัลทำงานได้ 24 ชั่วโมง รวมถึงทำงานได้ทั้งตัวตนจริงๆ และตัวตนที่หลายคนเรียกว่า อวตาร ไซเบอร์ทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน มันจึงมีพลังอย่างมากทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในเชิงทำลาย ข้อจำกัดในโลกไซเบอร์คือเรามองไม่เห็นสีหน้าหรือการกระทำของอีกฝ่าย ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดบูลลี่ในไซเบอร์คือ การคิดว่าถ้าเราเป็นเขา เมื่อเราอ่านข้อความนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จังหวะของการยับยั้งตัวเองก่อนตัดสินใจสื่อสารจึงสำคัญ ในทางตรงกันข้าม ข้อดีของโลกไซเบอร์คือ เราสามารถไตร่ตรองก่อนสื่อสารออกไปได้ ต่างจากโลกจริงที่การสื่อสารเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้น ก่อนที่เราจะกดส่งหรืออัปโหลดอะไรบางอย่างลงไปในโลกไซเบอร์ เราควรพิจารณาถึงสิ่งที่จะตามมาให้ดีก่อน ช้าลงหน่อยเพื่อประเมินสิ่งที่เราพิมพ์ลงไป เพราะตัวหนังสือหรือประโยคประโยคหนึ่งสามารถถูกตีความไปได้ทั้งหลายน้ำเสียงและหลายความหมาย ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ หากเข้าใจกันผิด การกู้ความรู้สึกกลับมาอาจเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา
เราสามารถลดการโดนบูลลี่ได้ด้วยวิธีใดบ้าง
มีสถิติที่บอกว่า เด็กที่โดนบูลลี่มีเพียง 34% เท่านั้นที่จะกล้าบอกคนอื่นว่าตัวเองโดนบูลลี่ และคนแรกที่เขาจะกล้าบอกมากที่สุดคือ เพื่อน รองลงมาคือ พี่น้อง ครู และพ่อแม่ ตามลำดับ ประเด็นสำคัญคือ เพราะอะไรเด็กจึงไม่กล้าเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่เขาสนใจ นั่นเป็นเพราะเขาอาจจะกลัวถูกตีความว่าเป็นคนขี้แย ขี้ฟ้อง ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่โดนบูลลี่ล้วนต้องการคนรับฟัง ดังนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ การเล่าให้คนอื่นฟังนั่นคือการยอมรับตัวเอง ไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ การหาใครสักคนที่คอยซัพพอร์ตและยอมรับในตัวเราจึงเป็นการเยียวยาที่ดี ส่วนในกรณีที่โดนบูลลี่ตรงๆ ต่อหน้า สิ่งแรกที่ควรทำคือ หาพื้นที่ระบาย เมื่อไรที่ความรู้สึกยังไม่ถูกเอาออก ความเศร้าที่อยู่ข้างในจะเปลี่ยนเป็นความโกรธ และวงจรที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่การบูลลี่อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการทะเลาะกันแทน ต่อมาเราควรกั้นรั้วด้วยการใช้ทักษะการปฏิเสธ เพื่อบอกว่าเราไม่ชอบสิ่งนี้ พื้นที่ของเราคือเท่านี้ แต่หากใครที่กั้นรั้วแล้วแต่ยังกั้นไม่ได้ในช่วงแรกๆ ก็อย่าเพิ่งท้อใจหรือยอมแพ้ไปก่อน เพราะมันเป็นสกิลที่เราต้องทำเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เพื่อที่เราจะโต้ตอบโดยไม่ใช้วิธีเดียวกับที่คนอื่นทำกับเรานั่นเอง อย่างที่บอกว่าบูลลี่เป็นวงจร นั่นหมายความว่ากั้นรั้วแล้วจะจบ เราจำเป็นต้องทำถึงขั้นที่ 3 ด้วยคือ การนำเรื่องที่เกิดขึ้นและหลักฐานที่มีไปบอกผู้ดูแลกฎ เพราะตามธรรมชาติการบูลลี่จะมีฟังก์ชันบางอย่างซ่อนอยู่ข้างใต้ ดังนั้นการกั้นรั้วที่ไม่ได้ผล สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือพฤติกรรมที่มากขึ้น จนมันนำไปสู่การเอาชนะกันว่า ฝั่งไหนจะทนได้มากกว่า การบูลลี่จึงเป็นเรื่องของระบบ หากเราโดนบูลลี่ในโลกไซเบอร์ซึ่งเป็นภาพกว้าง เราก็ควรไปหาผู้คุมกฎคือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ในเชิงกฎหมาย หรือหากเป็นโลกไซเบอร์เสมือนจริง เช่น ไลน์กลุ่มที่มีเฉพาะเพื่อนๆ ด้วยกัน เด็กที่โดนบูลลี่ก็อาจจะบอกหัวหน้าห้องว่า เราไม่โอเคตรงไหน ซึ่งกฎที่ว่านี้ไม่ใช่กฎของตัวผู้คุมกฎ แต่เป็นกฎที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน โดยแนวทางที่ผมอยากแนะนำจากประสบการณ์คือ แม้เราจะเป็นคนเก็บตัวแค่ไหน แต่การมีเพื่อนจะช่วยป้องกันการโดนบูลลี่ได้ รวมถึงเราจะมีคนที่คอยรับฟังและทำให้เรามีกำลังใจกลับมาสู้ในพื้นที่ของตัวเอง และในวันที่เราโดนบูลลี่ เพื่อนที่อยู่ข้างเรานี่แหละที่จะคอยเป็นแรงใจและลุกขึ้นมายืนหยัดไปกับเรา
สิ่งที่เรียนรู้ได้จากปัญหา Cyberbullying มี 4 ข้อหลักๆ ดังนี้
- ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร เคยบูลลี่ใคร ทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ขอให้ฝึกมองให้เห็นถึงหัวใจของอีกฝ่ายว่า เจตนาดีของเราส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของอีกฝ่ายหรือเปล่า
- เมื่อเราโดนบูลลี่ เราควรลุกขึ้นมากั้นรั้วหรือกั้นขอบเขตให้ตัวเอง โดยการสื่อสารกลับไปให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า ฉันไม่โอเค นี่คือการล้ำเส้นของฉัน
- หากสื่อสารออกไปแล้ว แต่ยังโดนกระทำเหมือนเดิมซ้ำๆ ให้เราเดินไปหาผู้คุมกฎในเรื่องนั้น
- แม้เราจะไม่เคยบูลลี่ใคร และไม่เคยถูกบูลลี่ด้วย แต่เราก็สามารถลุกขึ้นมายืนหยัดได้ว่า สิ่งนี้ฉันไม่ยอมรับและมันไม่ควรเกิดขึ้น เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ผืนใหญ่ที่ทำให้ทุกคนในสังคมมองเห็น และกล้าลุกขึ้นมาทำตาม
สามารถฟังพอดแคสต์ R U OK
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Guest Host นรพันธ์ ทองเชื่อม
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Podcast Interns วชิรวิทย์ พิสุทธิ์วณิชย์
- ทุก 1 นาที ในโซเชียลมีเดียจะมีข้อความสร้างความเกลียดชังหรือ Hate Speech เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 39 ข้อความ เราล้อเลียนและทำร้ายกันจากความแตกต่างทางเพศ รูปร่างหน้าตา หรือแม้แต่ทัศนคติ
- dtac Safe Internet มุ่งสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัว ให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์ รวมถึงตระหนักรู้ต่อวัฒนธรรมการบูลลี่ในสังคมไทยผ่านแคมเปญ Why We Bully เราด่ากันทำไม เนื่องในวัน Stop Cyberbullying Day ของโลก ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://dtac.co.th/s/whywebully