×

จิตตกไม่มีสาเหตุ รู้สึกดาวน์ง่าย จะสังเกตตัวเองอย่างไรก่อนใจป่วย

10.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:20 อารมณ์ของเราขึ้นลงได้ตลอดเวลา

02:57 อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าจิตตกอย่างไม่มีสาเหตุ

06:14 จิตตกอาจเริ่มเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้

09:38 ท้องฟ้า บรรยากาศ​ บ้านเมืองก็เป็นสาเหตุของการจิตตกได้

13:41 วิธีการเยียวยาตัวเองเบื้องต้น

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์การจิตตกแบบไม่มีสาเหตุ รู้ตัวอีกทีใจก็ดิ่งลึกเหมือนหล่นลงไปอยู่ก้นหลุมแถมใช้เวลานานกว่าจะกู้คืนให้ปกติ

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น ชวน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จะมาหาสาเหตุว่าอาการจิตตก หรืออยู่ๆ ก็ดาวน์อย่างไม่มีสาเหตุนั้นมีจริงไหม เป็นสัญญาณบ่งบอกความป่วยไข้อะไร และจะเยียวยาตัวเองเบื้องต้นอย่างไรก่อนจะไปพบจิตแพทย์

 


 

ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นของมนุษย์ล้วนมีสาเหตุ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่มีสุขภาพจิตดีไม่ได้หมายถึงภาพของคนที่ยิ้ม หัวเราะ มีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติของมนุษย์แล้วอารมณ์ความรู้สึกสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลง เหวี่ยงไปมาได้เสมอ หากมีบางจังหวะที่ความรู้สึกเราดิ่งวูบ หรือที่พูดกันติดปากว่าจิตตก จึงไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ และที่สำคัญอาการจิตตกที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมีสาเหตุ

 

อย่าเพิ่งแย้งว่ามีหลายครั้งที่รู้สึกจิตตกอย่างไม่มีสาเหตุ สาเหตุและความเป็นไปได้ในโลกใบนี้มันหลากหลายกว่าที่เราคิด เพราะแม้แต่ตัวเราเองอาจยังไม่รู้ว่าขณะนี้เรากำลังรับรู้อะไรอยู่ สิ่งที่เรากำลังรับรู้ อาจเป็นสาเหตุให้เราเกิดอารมณ์ต่างๆ เพียงแต่เราไม่สามารถเชื่อมโยง หรืออาจดูเล็กน้อยกว่าที่เราจะใส่ใจ

 

ลองนึกภาพว่าเรากำลังอยู่ในงานปาร์ตี้ที่กำลังสนุกสนานและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง แต่เมื่อผับเลิกและเช็กบิลออกมา ตัวเลขที่ปรากฏในบิลนั้นทำให้เรารู้สึกไม่มีความสุขเพราะสูงกว่าที่เราคาดเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันที่เพื่อนอีกคนหยิบบิลมาดูด้วยสีหน้าเรียบเฉยไม่ยี่หระ พร้อมยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูด แม้ว่าเพื่อนจะไม่ได้ทำผิดแต่สีหน้าช่วงสั้นๆ ที่แสดงอาการไม่แคร์ยอดเงินที่สูงลิบในบิลนั้น อาจสั่นสะเทือนความรู้สึกเรา ที่ย้อนไปกระทบสถานะทางการเงินที่ไม่เท่ากันระหว่างเงินกับเพื่อนก็เป็นได้

 

หรือบางครั้งที่นั่งดูพระอาทิตย์ตกแล้วมีแสงเหลือบทองรำไร บางคนอาจรู้สึกว่านี่คือช่วงเวลาที่สวยงาม แต่สำหรับบางคนอาจรู้สึกจิตตกขึ้นมา เพราะกำลังเชื่อมโยงว่าพระอาทิตย์คือศูนย์กลาง การเห็นต้นกำเนิดแสงสว่างค่อยๆ ดับสูญไปนั้นอาจมีผลให้ใจที่กำลังพองฟูรู้สึกห่อเหี่ยวขึ้นมาก็เป็นได้

 

จากตัวอย่างที่เล่าไปจะเห็นว่าทุกอย่างที่เรารับรู้นั้น ล้วนเป็นสาเหตุให้เราเกิดอารมณ์ต่างๆ เพียงแค่เราไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่านั่นคือสาเหตุของความรู้สึก เพราะฉะนั้นหากมีเวลาว่างเราสามารถนั่งทบทวนกับตัวเองว่าอาการจิตตกของเรานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ค่อยๆ ไล่ย้อนกลับไปดูเหมือนกับการกรอดูหนังซ้ำ เราอาจเชื่อมโยงอาการจิตตกของตัวเองได้

 

นอกจากสาเหตุภายนอกอย่างการรับรู้ของเราแล้ว บางครั้งสาเหตุของการจิตตกอาจเกิดขึ้นจาก กายภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่สารเคมีในสมองเกิดความไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดอารมณ์หดหู่ หม่นหมองได้ ฉะนั้นไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นจากอะไร การสังเกตตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

จิตตกง่าย ดาวน์บ่อย เป็นสัญญาณของอะไร

แม้อาการจิตตกจะเป็นเรื่องปกติของความรู้สึก แต่เราไม่ควรละเลยความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล ฉะนั้นลองสำรวจดูว่า เราจิตตกบ่อยแค่ไหน จิตตกระหว่างนั่งทำงาน เดินกลับจากพักกลางวัน ทำกิจวัตรประจำวัน ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรมาปะทะ เริ่มมาถี่และแรนดอม แต่ละครั้งที่จิตร่วงก็ลึกและนานกว่าที่เราจะเยียวยาตัวเองขึ้นมาใหม่ แถมทบทวนตัวเองอย่างไรก็หาจุดเชื่อมโยงไม่เจอ การขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ก็เป็นทางออกที่ดี เพราะผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเชื่อมโยงสาเหตุให้เราเห็นและช่วยกันรักษาอย่างถูกวิธี อย่าเพิ่งทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยตัวเองแม้ว่าเราจะเป็นคนที่รู้จักตัวเราดีที่สุดก็ตาม

 

เยียวยาจิตใจด้วยตัวเองอย่างไรในกรณีที่เพิ่งเริ่มจิตตก

ความเป็นจริงมันไม่มีสูตรสำเร็จของการที่ทำให้ใจพองฟู รู้สึกกลับมาดีได้เหมือนเดิม แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใจหล่นและจิตตกยังไม่ลึก สิ่งสำคัญคือต้องรับรู้ตัวเองก่อนว่ากำลังจิตตก อย่าเพิ่งไปคิดถึงวิธีการรักษา แค่กำลังรับรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญความรู้สึกอะไรอยู่ก็เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่มีสุขภาพจิตดีแล้ว จากนั้นค่อยๆ คุยกับตัวเองไปทีละขั้นว่า อยากจิตตกอยู่อย่างนี้อีกนานไหม ทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น จากนั้นก็ลองทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการเปิดไฟไม่ให้หดหู่ หาอาหารอร่อยๆ กิน ออกไปเจอเพื่อนที่ไว้ใจก็ได้

 

เพราะสุดท้ายมนุษย์สามารถเยียวยาและตอบคำตอบที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้เสมอ จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเพียงตัวช่วยที่ทำให้เราเชื่อมโยงและทำให้เราหาคำตอบให้กับตัวเองได้เร็วขึ้น เพียงแต่ถ้าเยียวยาด้วยตัวเองไม่ไหวการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็ทำให้เราไม่ต้องปล่อยใจดิ่งไว้นานก้นหลุมอย่างเกินความจำเป็น

 


 

Credits

 

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising