×

กลัวรู กลัวตัวตลก กลัวผลไม้ กลัวอะไรแปลกๆ เป็นโรคไหม แล้วรักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า

22.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:27 ทำไมคนเราถึงกลัว

06:37 ความกลัวตามธรรมชาติที่พบได้ทั่วไป

10:26 ความกลัว (Fear) กับโรคกลัว (Phobia) ต่างกันอย่างไร

12:19 ทำไมคนเราถึงกลัวอะไรแปลกๆ

19:10 วิธีการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้าอย่างเป็นระบบ

29:03 กลัวอะไรลองตั้งใจฟังเสียงตัวเอง

กลัวฟ้าร้อง กลัวฟองน้ำ กลัวตัวตลก กลัวผลไม้ กลัวอะไรยุ่บยั่บ ทำไมคนเราถึง กลัวอะไรแปลกๆ บางคนกลัวแมว กลัวหมา กลัวอะไรในสิ่งที่คนอื่นไม่กลัว

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวจะมาหาคำตอบว่าความกลัวคนเรามาจากไหน ทำไมเราถึงกลัวอะไรแปลกๆ มันเป็นโรคที่ต้องรักษาไหม และจะทำอย่างไรให้ความกลัวที่คนอื่นไม่เข้าใจ ให้มันค่อยๆ น้อยลง

 


 

ความกลัวและโรคกลัว

ใครๆ ก็กลัวกันทั้งนั้น เพราะ ความกลัว (Fear) เป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกไม่มั่นคงหรือถูกคุกคามจากสถานการณ์บางอย่าง หรือเมื่อต้องเผชิญวัตถุบางสิ่งแล้วรู้สึกว่าสิ่งนั้นให้คุณให้โทษกับเราได้ เช่น การกลัวภัยธรรมชาติ กลัวสัตว์มีพิษ กลัวการถูกทำร้าย ฯลฯ อาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเป็นกับมนุษย์ทุกคน แต่ถ้าเมื่อไรที่เรากลัวบางสิ่งมากจนเกินปกติ เราเรียกความกลัวนั้นว่า โรคกลัว (Phobia)

 

โรคกลัวจะแตกต่างจากความกลัวตรงที่ ผู้ที่กลัวจะมีอาการกลัวมากเกินปกติ แสดงการต่อต้านต่อสิ่งที่ทำให้กลัวอย่างรุนแรง บางคนจะมีอาการทางกายแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น ใจสั่น หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ อาเจียน เหงื่อออก มือสั่น หรือถึงกับเป็นลม คนที่กลัวจะไม่เข้าใจตัวเอง รู้สึกไม่สมเหตุสมผลที่ต้องกลัวขนาดนั้น แต่ก็ไม่สามารถห้ามตัวเองได้ โดยสถานการณ์หรือสิ่งที่ทำให้กลัวนั้นเป็นไปได้หลายร้อยแบบ แต่ในทางจิตวิทยาสามารถแบ่งโรคเหล่านี้ได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

 

1. กลุ่มโรคกลัวสถานที่สาธารณะ (Agoraphobia) คนกลุ่มนี้จะกลัวการติดอยู่ในสถานที่สาธารณะ เช่น สะพาน คอนเสิร์ตที่มีคนจำนวนมาก คนที่ต่อคิวยาวๆ เมื่อต้องเผชิญหน้าผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นตระหนกและเป็นกังวลอย่างมากว่าจะไม่สามารถหลบหนีออกไปจากสถานที่หรือสถานการณ์นั้นๆ ได้

 

2. กลุ่มโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) ความกลัวนี้จะไม่ใช่แค่ระดับขี้อาย แต่เมื่อไรที่ต้องเข้าสังคมจะมีความวิตกกังวล กลัวไปต่างๆ นานาว่าตัวเองจะแสดงออกเหมาะสมไหม กลัวว่าคนอื่นจะรู้ไหมว่าตัวเองกังวลอยู่ เราจะต้องพูดหรือวางตัวอย่างไร สุดท้ายจึงหาทางออกด้วยการเลือกที่จะไม่เข้าสังคมและโดดเดี่ยว

 

3. กลุ่มโรคกลัวแบบเฉพาะ (Specific Phobia) เป็นอาการที่คนเป็นกันมาก เทียบให้เห็นภาพที่สุดคืออาการที่ศิลปินดารากลัวอะไรมากๆ หรือกลัวอะไรประหลาดๆ อย่างที่คนอื่นไม่กลัวกัน คนกลุ่มนี้จะแสดงอาการกลัวอย่างหาสาเหตุไม่ได้และดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล

 

โรคกลัวแบบเฉพาะที่พบเห็นได้ทั่วไป

1. โรคกลัวความสูง (Acrophobia) คือการกลัวไปอยู่บนที่สูงทุกชนิด เช่น ดาดฟ้า ลิฟต์แก้ว ตึกหรือสะพานที่พื้นกระจกโปร่งใส หรือสำหรับบางคนแม้แต่การขึ้นสะพานลอยหรือยืนบนเก้าอี้ก็ยังมีอาการรู้สึกใจสั่นและรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา หน้ามืด วิงเวียน ทำให้ไม่กล้าและหลีกเลี่ยงที่จะพาตัวเองไปเจอสถานการณ์นั้นๆ

 

2. โรคกลัวสัตว์ (Zoophobia) คืออาการกลัวสัตว์โดยเฉพาะสัตว์มีพิษ เพราะเชื่อว่าสัตว์เหล่านั้นมีอันตราย ประกอบกับรูปร่างของสัตว์เหล่านั้นดูสกปรกและไม่เป็นมิตรจึงยิ่งส่งเสริมให้โรคกลัวนั้นมีอาการรุนแรงขึ้น บางคนแค่เห็นรูปสัตว์เหล่านั้นในเฟซบุ๊กก็โยนมือถือทิ้ง เปิดเจอในช่องสารคดีก็ใจสั่นจะเป็นลม ที่พบเจอได้บ่อยๆ เช่น การกลัว งู แมลงสาบ จระเข้ ตะขาบ จิ้งจก ตุ๊กแก ตัวเงินตัวทอง เป็นต้น

 

3. โรคกลัวที่แคบ (Stenophobia) เช่น การกลัวลิฟต์ อุโมงค์ ต้องนอนอยู่ในที่จำกัดอย่างตู้รถไฟ ก็อาจเกิดการแน่นหน้าอก ตาลาย หรือหายใจไม่ออกขึ้นมาก็ได้

 

4. โรคกลัวเลือด (Hemophobia) ไม่ว่าเป็นเลือดตัวเองหรือเลือดคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือว่าแม้แต่ในภาพยนตร์ คนที่มีอาการกลัวเลือดก็จะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน จนบางคนแม้แต่เห็นเลือดเพียงนิดเดียวก็สามารถช็อกหมดสติได้

 

5. โรคกลัวความมืด (Achluophobia) บางคนไม่สามารถอยู่ในที่มืดเลยไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ใจสั่น ตัวสั่น ร้องไห้ ต้องเปิดไฟนอนทุกคืน เพราะเชื่อว่าในความมืดนั้นอาจมีสิ่งเร้นลับที่สามารถให้คุณให้โทษกับเราถึงแก่ชีวิตได้

 

ทั้งหมดข้างต้นเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ร่างกายและจิตสำนึกจะแสดงอาการต่อต้านสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แม้สิ่งที่กลัวอาจดูสมเหตุสมผลอยู่บ้างแต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็จะมีการแสดงออกทางด้านร่างกายที่รุนแรงและมากกว่าความกลัวธรรมดาที่คนส่วนใหญ่เป็น

 

ทำไมคนเราถึงกลัวอะไรแปลกๆ

นอกจากโรคกลัวเฉพาะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีโรคกลัวอีกกลุ่มที่น่าสงสัยและไม่สามารถเข้าใจได้ในสายตาคนทั่วไปคือ การกลัวอะไรแปลกๆ เช่น กลัวผลไม้ (Fruit Phobia) คนกลุ่มนี้จะกลัวผลไม้ทุกชนิด ไม่กิน ไม่สัมผัส ไม่แม้แต่จะเข้าใกล้เพราะรู้สึกว่ามันเจือปนอยู่รอบๆ กลัวฟ้าร้อง (Brontophobia) แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าฟ้าร้องไม่สามารถทำอะไรเราได้ แต่ทุกครั้งที่ฝนตกฟ้าร้องบางคนจะหลบอยู่ภายใต้อาคาร ใจสั่น เหงื่อแตก บางครั้งก็ร้องไห้ออกมา กลัวรู (Trypophobia) ไม่ได้หมายถึงโพรงใหญ่ๆ แต่บางคนจะกลัวรูเล็กๆ ที่เรียงต่อกันจนรู้สึกยุบยับ เช่น ฝักบัว รังผึ้ง ทุกครั้งที่เห็นจะรู้สึกขนลุกหรือพอดูไปนานๆ เข้าอาจหน้ามืดเป็นลมไปเลยก็มี กลัวคนหัวล้าน (Peladophobia) เห็นคนหัวล้านเมื่อไรจะรู้สึกไม่สบายใจและจะตกใจทุกครั้งที่ต้องเข้าใกล้ กลัวตัวตลกหรือคนสวมชุดมาสคอต (Coulrophobia) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเด็กและจะหายไปเมื่อโตขึ้น แต่ก็พบว่าผู้ใหญ่บางคนที่กลัวตัวตลกก็ยังมีอยู่

 

วัตถุหรือสถานการณ์แปลกๆ ที่บางคนกลัวนั้นอาจมากมายกว่าที่ยกตัวอย่างมา และเอาเข้าจริงๆ แล้วคนเราสามารถกลัวได้แทบทุกอย่างเลยก็ว่าได้ อาการของผู้ที่กลัวจะใกล้เคียงกันคือเหงื่อแตก ใจสั่น หัวใจเต้นแรงเร็ว ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ วิงเวียน ตาลาย หรือบางคนอาจเป็นลมหมดสติ

ในสายตาของคนไม่ได้กลัวอาจคิดว่าเป็นการเสแสร้งแกล้งทำหรือบางครั้งก็ดูเกินกว่าเหตุ แต่สำหรับคนที่กลัวมันคือเรื่องใหญ่และหนักหนามากจนไม่อยากบอกใคร

เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นจุดอ่อน ที่อาจโดนเพื่อนล้อและแกล้งได้ง่ายๆ ความกลัวนั้นจึงถูกเก็บเป็นความลับและไม่ได้จัดการรักษาให้ถูกวิธี ได้แต่ใช้การเลี่ยงไปเรื่อยๆ เพื่อหาทางรอดในสถานการณ์นั้นๆ

 

โดยในทางจิตวิทยาเองนั้นก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุของอาการกลัวอะไรแปลกๆ ได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ส่วนใหญ่ต้นตอของอาการเหล่านี้จะมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งคนที่กลัวก็จะนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเหตุการณ์ไหนที่เป็นต้นกำเนิด อาจเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตอนเด็กๆ โดนบังคับให้กินผลไม้ด้วยความรุนแรง ทำให้ทุกวันนี้เกลียดและกลัวผลไม้ หรือเป็นผลทางอ้อม เช่น คนที่กลัวตัวตลกบางคนร่างกายมีความอ่อนไหวต่อคนที่มีร่างกายแบบพ่อหรือแม่ของเขา ประจวบเหมาะกับไปเจอตัวตลกที่มีบางอย่างเชื่อมโยงกับพ่อหรือแม่ แล้วโดนตัวตลกพุ่งเข้าชาร์จที่สวนสนุก เด็กคนนั้นก็จะรู้สึกถูกคุกคาม ไม่สบายใจ และกลายเป็นโรคกลัวในที่สุด

สาเหตุของความกลัวอะไรแปลกๆ หรือกลัวเฉพาะอย่าง แต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์วัยเด็กที่เจอ ฉะนั้นแล้วการหานักจิตบำบัดเพื่อค้นหาต้นตอของความกลัว จะทำให้เข้าใจและรักษาได้ง่ายขึ้น

วิธีการรักษาผู้ที่เป็นโรคกลัว (Phobia)

ก่อนจะถึงวิธีการรักษา สิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้ป่วยมากๆ คือ คนรอบข้าง เพราะเขาเหล่านั้นแทบนึกไม่ออกและไม่มีทางเข้าใจเลยว่าความกลัวที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญนั้นมากมายขนาดไหน เราเองบางครั้งยังไม่เข้าใจเพื่อนว่าทำไมถึงกลัวแมลงสาบขนาดนั้น หรือทำไมถึงกลัวผลไม้แค่อยู่ใกล้ๆ ยังไม่ได้ เราจึงทดสอบความกลัวนั้นด้วยการบังคับให้เพื่อนเผชิญหน้า เอาผลไม้ป้ายปากเพื่อนบ้าง หรือขังเพื่อนที่กลัวที่แคบไว้ในห้องบ้าง การกระทำเหล่านี้ถือเป็น สิ่งต้องห้าม เพราะนอกจากจะไม่เป็นการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังสร้างบาดแผลให้กับผู้ป่วยให้กลัวสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น แถมยังส่งผลไปถึงเรื่องความสัมพันธ์และความไว้ใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าแม้แต่คนที่ไว้ใจยังทำร้ายกันได้ สร้างความซับซ้อนให้กับอาการและอาจทำให้รักษาได้ยากยิ่งขึ้น

 

เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันคือ การให้เกียรติ กัน แม้ว่าเราจะไม่มีทางเข้าใจว่าเขากลัวสิ่งเหล่านั้นเพราะอะไร แต่ให้ ยอมรับ ว่านั่นคือข้อจำกัดของเขา รู้ว่ามนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ถ้านึกความรู้สึกนั้นไม่ออก ให้ลองเทียบจากสิ่งที่กลัวของตัวเอง เพื่อนเราที่เป็นโรคกลัวจะมีความกลัวมากกว่าเราหลายเท่าชนิดที่เราคาดไม่ถึง

 

สำหรับวิธีการรักษา โรคกลัวก็เป็นเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องย้อนกลับไปถามผู้ป่วยก่อนว่าอยากรักษาให้หายขาดหรือเปล่า เพราะการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้สามารถทำได้ทั้ง

 

1. การปรับสภาพแวดล้อม

เป็นทางเลือกต้นๆ คือผู้ป่วยเลือกวิธีการหลีกหนีสิ่งที่ตัวเองกลัว ซึ่งวิธีนี้แม้ว่าจะไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุแต่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่เมื่อไรที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นความกลัวก็จะกลับมาอีก เช่น ถ้าเรามีเพื่อนที่กลัวตัวตลก เพื่อนในกลุ่มที่เหลือก็จะไม่ชวนกันไปสวนสนุกเพื่อจะได้ไม่ต้องเจอ แต่ความกลัวตัวตลกนั้นก็คงอยู่ ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนต้องเผชิญหน้ากับตัวตลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจเพราะหน้าที่การงานบังคับจึงทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะฉะนั้นแล้วจึงต้องไปสู่วิธีการรักษามากกว่าการหลีกหนี

 

2. การปรับที่ตัวเอง

วิธีนี้คือการรักษาที่ยั่งยืนกว่าการหลีกหนี เพราะในทางจิตวิทยาแล้ววิธีการรักษาความกลัวคือ การทดลองให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอย่างเป็นระบบ (Fear Ladder) เราค่อยๆ เผชิญหน้ากับสิ่งที่เรากลัวทีละนิด โดยสิ่งที่ต้องตระหนักเมื่อเลือกวิธีนี้คือ ต้องให้เวลา เพราะเราไม่สามารถเลิกกลัวสิ่งที่เรากลัวมาทั้งชีวิตได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อไรที่ลองเผชิญหน้าแล้วรู้สึกว่าไม่ไหวให้หยุด และกลับไปในระดับที่ไหว กระบวนการนี้อาจกลับไปกลับมาตามสภาพความรู้สึกและอาจใช้เวลานานเป็นปี เพราะฉะนั้นแล้วคนรอบข้างแม้จะไม่เข้าใจ แต่ก็สามารถร่วมมือร่วมใจช่วยให้อาการของเพื่อนค่อยๆ ดีขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนเรากลัวส้ม เราอาจไม่เข้าใจแต่เราต้องยอมรับความกลัวของเพื่อนว่าส้มคือสิ่งที่เพื่อนกลัวมาก วิธีการช่วยเหลือเพื่อนจึงไม่ใช่การแหย่ แต่ค่อยๆ ให้เพื่อนเผชิญหน้า อาจเริ่มต้นด้วยการ ‘พูด’ ถึงส้มบ่อยๆ เพิ่มเรื่องส้มเข้าไปในบทสนทนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นลองดู ‘ภาพวาด’ ส้ม 1 ผล แล้วค่อยขยับเป็น ‘ภาพถ่าย’ ส้ม 1 ผล ค่อยเพิ่มภาพถ่ายส้มหลายผลมากขึ้น และเมื่อพร้อมอาจให้มอง ‘ผลส้มจริง’ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนผลส้มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความใกล้ผลส้มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจแกะให้เห็นเห็นกลีบส้มถ้าไหว ลองให้ค่อยๆ สัมผัส จากนั้นค่อยๆ ให้ลองดื่มน้ำส้มทีละน้อย หรือสุดท้ายให้กินส้มทีละกลีบจนสามารถเผชิญหน้ากับอาการกลัวส้มได้สำเร็จ อย่าลืมว่ากระบวนการนี้อาจใช้เวลายาวนานเป็นปี และพร้อมจะถอยหลังกลับไปกลับมาได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นต้องให้เวลาและอย่าเร่งรัด นอกจากนั้นแล้วทุกขั้นตอนที่ทำ เพื่อนเราที่กลัวส้มต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่าแกล้งเนียนด้วยการเอาส้มเข้าใกล้ หรือผสมส้มในอาหารโดยที่เพื่อนไม่รู้ตัว

 

ถ้าผู้ป่วยคิดว่าวิธีการดังกล่าวอาจไม่ได้ผลเพราะไม่ไว้ใจกลัวเพื่อนจะแกล้ง การเข้าหาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางออกที่ดี นักจิตวิทยาอาจใช้วิธีการโน้มน้าวความรู้สึกให้ผู้ป่วยเกิดความคลายกังวล และค่อยๆ เผชิญความกลัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ร่วมกับการเข้าบำบัดกับนักจิตบำบัด เพื่อค้นหาว่าสาเหตุที่ทำให้กลัวสิ่งนั้นๆ เกิดจากอะไร สถานการณ์ใดที่เป็นจุดแตกหัก ซึ่งเมื่อค้นหาจุดเริ่มต้นของความกลัวเจอแล้ว การรักษาจะง่ายและได้ผลมากขึ้น

 


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


Credits

 

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising