×

เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเหมือนตัวอิจฉาแบบนี้เป็น ไบโพลาร์ หรือเปล่า

24.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:59 โรคไบโพลาร์คืออะไร

03:39 อารมณ์ทั้ง 2 ขั้วมีอาการอย่างไร

11:24 สาเหตุของโรคไบโพลาร์

11:45 วิธีการเช็กตัวเองเบื้องต้นว่าเป็นไบโพลาร์หรือไม่

16:15 ไบโพลาร์คือโรคที่รักษาได้ไหม

18:25 รับมืออย่างไรถ้าคนรอบตัวเป็นไบโพลาร์

ไม่นานมานี้มีศัพท์ทางจิตวิทยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือคำว่า ไบโพลาร์ โดยเฉพาะเวลาที่ดูละครแล้วเห็นตัวอิจฉาที่แสดงอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย โกรธเป็นฟืนเป็นไฟกับคนหนึ่ง แล้วฉับพลันทันทีก็อารมณ์ดีใส่ใครอีกคน และเหมาเอาว่าคนที่มีอาการแบบนี้เป็นโรคไบโพลาร์ แถมบางคนก็เอาคำว่าไบโพลาร์ไปแซวเพื่อนที่มีอารมณ์ไม่อยู่กับร่องกับรอยว่าเป็นโรคนี้

 

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่ได้มีอาการแบบนั้นแม้แต่น้อย

 

R U OK พอดแคสต์ เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จึงชวนกันมาหาคำตอบว่า จริงๆ แล้วคนที่เป็นไบโพลาร์มีอาการอย่างไร เราสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างไร โรคนี้เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ขึ้นลงช่วงมีประจำเดือนหรือไม่ และสุดท้ายถ้าเป็นไบโพลาร์ขึ้นมาจริงๆ มีโอกาสหายได้ไหม

 


ไบโพลาร์คืออะไร

ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว คือความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมา โดยมีช่วงภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode) สลับภาวะคึกคักพลุ่งพล่าน (Manic Episode) จุดสังเกตสำคัญของคนที่เป็นโรคนี้คือ แต่ละภาวะที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นยาวนานต่อกัน 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกแบบหนึ่ง และเปลี่ยนสลับกันไปมาอย่างนี้ติดต่อกันยาวนานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น ผู้ป่วยไบโพลาร์บางคนอาจไม่มีช่วงซึมเศร้า แต่จะเป็นการสลับกันไปมาระหว่างความเป็นปกติกับช่วง Mania ก็ได้

 

ฉะนั้นแล้ว อาการนางร้ายที่เห็นกันในละคร แล้วเหมาเอาว่านั่นคืออาการของคนเป็นไบโพลาร์จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และที่สำคัญอาการของคนที่เป็นโรคนี้มักจะทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกคนที่ไม่ใช่คนเดิม จนเกิดผลกระทบกับชีวิตประจำวัน การทำงาน และสังคมรอบข้าง

 

ภาวะอารมณ์ทั้งสองมีรายละเอียดดังนี้

1. ภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode)

ผู้ป่วยไบโพลาร์ที่อยู่ในภาวะนี้จะมีอาการใกล้เคียงกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า กล่าวคือ   จะรู้สึกซึมเศร้าแทบทั้งวัน ว่างเปล่า อารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้ได้ง่ายๆ หรือเห็นอะไรก็รู้สึกขวางหูขวางตาไปหมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่ค่อยอยากให้ใครมาวุ่นวายกับตัวเอง เริ่มเพิกเฉยต่อกิจกรรมที่เคยสนใจ เช่น เมื่อก่อนเคยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อยู่ๆ ก็ไม่มีกะจิตกะใจจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอีกต่อไป

เริ่มไม่มีแรงจูงใจที่จะทำอะไรที่เคยเป็นความสุข ขนาดที่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ อย่างไม่มีจุดหมายได้เป็นชั่วโมง

ถ้าอาการหนักขึ้นจะนอนไม่หลับ หรือนอนกระสับกระส่าย รู้สึกเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง จนถึงขั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า เป็นภาระของคนอื่น เริ่มคิดถึงความตาย และเริ่มหาวิธีการตายในรูปแบบต่างๆ

 

อาการนี้จะเป็นติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เพราะอาการใกล้เคียงกันมาก ทั้งนี้คนรอบข้างจะเป็นผู้ช่วยสังเกตที่ดีว่าหลังจากมีภาวะซึมเศร้าแล้ว เขาสลับไปเป็นภาวะพลุ่งพล่านร่วมด้วยหรือเปล่า

 

2. ภาวะคึกคักพลุ่งพล่าน (Manic Episode)

เมื่อผู้ที่เป็นไบโพลาร์อยู่ในภาวะนี้ก็จะมีอาการ เยอะ และ ล้น มากจนผิดปกติ โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ มีความสุขร่าเริงล้นหลาม อยู่ๆ ก็มีไอเดียในการทำงานเพิ่มขึ้นมากมาย

มีการวางแผนจะทำนู่นทำนี่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แถมโทรไปหาเพื่อนกลางดึกเพราะตัวเองเริ่มนอนไม่หลับ และคิดว่าการนอนแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เพียงพอ

เวลาพูดก็จะพูดด้วยอาการรัวเร็ว ลิ้นพันกัน พูดแบบไม่ปะติดปะต่อเหมือนความคิดตัวเองแล่นเร็วมากและพูดตามไม่ทัน บางครั้งก็เกิดความมุ่งมั่นในกิจกรรมที่ทำสูงขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทั้งการทำงาน การเข้าสังคม เรื่องเพศ นอกจากนั้นแล้วยังกระเจิดกระเจิงด้วยการใช้จ่ายแบบไม่ยับยั้ง ลงทุนในสิ่งที่มีมูลค่ามากโดยที่ห้ามตัวเองไม่ได้ บางคนไปดาวน์รถ ดาวน์บ้าน จนเป็นภาระติดตามมาทีหลัง

 

และเมื่ออาการ Mania พุ่งถึงขั้นสูง บางคนอาจมี ภาวะหลงผิด (Delusion) คิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง ทำอะไรก็จะสำเร็จไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนสำคัญ บางคนถึงกับคิดว่าตัวเองมีพลังอำนาจพิเศษเลยก็มี

 

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

ปัจจุบันมีแนวคิดว่าโรคไบโพลาร์นั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น

 

1. เกิดจากสารเคมีในสมอง และฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมภาวะอารมณ์

 

2. เกิดจากกรรมพันธุ์ แม้ปัจจุบันยังไม่ค้นพบยีนส์ที่เป็นตัวถ่ายทอดไบโพลาร์ทางพันธุกรรม แต่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์มักมีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย นอกจากนั้นแล้วปัจจัยด้านสังคมและสภาพแวดล้อมก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้โรคนี้แสดงออกมาในภายหลัง ไม่จำเป็นว่าถ้ามีเชื้อแล้วจะต้องแสดงอาการตั้งแต่เกิดก็ได้

 

วิธีเช็กตัวเองเบื้องต้นว่ามีอาการไบโพลาร์หรือเปล่า

อย่างที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นว่าโรคไบโพลาร์เป็นโรคที่วินิจฉัยยาก เพราะมีการแสดงออกทั้ง 2 ภาวะ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า พอเช็กตัวเองเบื้องต้นก็อาจคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือเมื่ออยู่ในภาวะ Mania ก็อาจคิดว่าตัวเองอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ จากปัจจัยอื่น เช่น คิดว่าเป็นเพราะฮอร์โมนจากการมีประจำเดือน แถมโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราก็ไม่มีใครที่อารมณ์เสถียรอยู่ตลอดเวลา ถ้าสงสัย ให้ลองถามตัวเองว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเราสามารถควบคุมมันได้หรือเปล่า ถ้าเป็นอารมณ์หรือพฤติกรรมที่สามารถควบคุมได้อาจไม่ได้เป็นโรค แต่ถ้าเมื่อไรที่เริ่มควบคุมไม่ได้อาจเป็นได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่การที่เราไม่มีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง หรือมีสาเหตุมาจากโรคไบโพลาร์

 

ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวินิจฉัยโรค แต่ถ้าหากอยากกรองอาการตัวเองในเบื้องต้น สามารถหาแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ได้รับรองจากหน่วยงานทางการแพทย์มาสำรวจตัวเองเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ก็ได้

 

ตัวอย่างแบบคัดกรองเบื้องต้น

อ้างอิงจาก www.gotoknow.org/posts/87619

ลองสำรวจตัวเองว่าช่วงนี้มีอาการเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีอาการให้ตอบว่า ‘ใช่’ แต่ถ้าไม่มีอาการให้ตอบว่า ‘ไม่ใช่’

 

1. รู้สึกดีสุดๆ และคึกคัก จนคนอื่นคิดว่าเราเปลี่ยนไป หรือคึกคักเสียจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน

 

2. หงุดหงิดมากจนตะคอกใส่คนอื่น หรือมีเรื่องทะเลาะวิวาท ลงไม้ลงมือกัน

 

3. รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากกว่าปกติ

 

4. นอนน้อยกว่าปกติมาก และไม่รู้สึกว่าอยากจะนอนสักเท่าไร

 

5. ช่างพูดช่างคุยกว่าเดิม หรือพูดเร็วกว่าปกติมาก

 

6. มีความคิดแล่นเร็วและไม่สามารถทำให้ตัวเองคิดช้าลงได้

 

7. วอกแวกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนไม่มีสมาธิ หรือไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้

 

8. มีพลังมากกว่าปกติมาก

 

9. กระตือรือร้นหรือทำอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะกว่าเดิมมาก

 

10. เข้าสังคมหรือพบปะผู้คนมากกว่าปกติมาก เช่น โทรหาเพื่อนกลางดึก

 

11. สนใจเรื่องเพศเยอะกว่าปกติ

 

12. ทำอะไรที่ปกติไม่ทำ หรือทำสิ่งที่คนอื่นอาจจะคิดว่ามากเกินไป ไม่ฉลาด หรือเสี่ยงเกินไป

 

13. ใช้จ่ายเงินจนทำให้ตัวเองหรือครอบครัวต้องเดือดร้อน

 

ถ้าตอบ ‘ใช่’ มากกว่า 1 ข้อ ให้ลองดูว่าอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ถ้า ‘ใช่’ อาจเริ่มหาทางปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในทันที

 

โดยวิธีการรักษา จิตแพทย์จะซักประวัติอาการ ถ้าพบว่าเป็นโรคไบโพลาร์แล้ว อาจให้ยาเพื่อปรับอารมณ์ให้คงที่ (Mood stabilizer) เมื่อกินยาเป็นประจำอารมณ์จะค่อยๆ คงที่ขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องกินยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่กำลัง Mania หลายคนอาจคิดว่าตัวเองไม่ป่วย เริ่มไม่อยากกินยา ตั้งคำถามในการกินยา และหยุดยาไปเสียดื้อๆ เพราะฉะนั้นคนรอบตัวจะมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยในการกินยาและประคับประคองความรู้สึกกันไปได้

 

ไบโพลาร์รักษาให้หายได้ไหม

ไบโพลาร์ก็เช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ สำคัญคือต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง ซึ่งการพบจิตแพทย์ไม่ต่างกับตอนที่เราปวดหัว เจ็บคอ แล้วไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการทางกายที่เรามองเห็น เพียงแต่โรคเกี่ยวกับจิตใจเป็นโรคที่เราไม่สามารถมองเห็นได้เท่านั้นเอง

 

และเช่นเดียวกับโรคทางกายอื่นๆ เมื่อเราไปพบจิตแพทย์แล้วรู้สึกว่าแพทย์คนนี้ไม่เข้าใจ ไม่คลิกกับเรา หรือพูดจาให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราก็สามารถเปลี่ยนไปหาแพทย์ที่คิดว่าเข้ากับตัวเราได้เช่นกัน

 

ที่สำคัญอีกอย่าง อคติที่ว่าคนที่พบจิตแพทย์คือคนบ้าเท่านั้น ควรเลิกความคิดนี้ เพราะอย่างโรคไบโพลาร์ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองหรือกรรมพันธุ์ ซึ่งไม่มีใครอยากเป็นโรคนี้ ฉะนั้นแล้วเมื่อสงสัยว่าตัวเองมีอาการทางจิตใจบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง การพบแพทย์ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

เมื่อพบว่าคนรอบตัวมีอาการไบโพลาร์ควรปฏิบัติอย่างไร

เมื่อเราเริ่มสังเกตคนรอบตัวแล้วพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนหดหู่ แต่อยู่ๆ ก็เป็น แถมมีอาการต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน ตามมาด้วยการที่กลางดึกก็โทรมาปรึกษาเรื่องงาน เพราะมีไอเดียพลุ่งพล่านมากมายติดต่อกัน 10 วัน สิ่งสำคัญคือเราควรเริ่มต้นด้วยการบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตนของเขา พฤติกรรมพวกนี้เกิดจากโรค ไม่ใช่ลักษณะนิสัยของเขาจริงๆ

 

แต่ถ้าเขายังไม่รู้ตัวหรือปฏิเสธ ให้ใช้วิธีการถาม อย่าเริ่มด้วยคำแนะนำ อาจลองถามว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้นอนนิ่งๆ มาหลายวัน ทั้งที่สัปดาห์ก่อนยังมีไอเดียจะทำสิ่งต่างๆ มากมาย ไอเดียเหล่านั้นหายไปไหน หรือมีปัญหาอะไรไม่สบายใจ แล้วจากนั้นปล่อยให้เขาเล่าหรือระบายในสิ่งที่เขากำลังคิดและรู้สึก จากนั้นอาจอธิบายสิ่งที่เรามองเห็นว่าเขาเป็นอย่างไร เขารู้สึกเหมือนกันไหม แล้วรู้สึกโอเคหรือเปล่าที่เป็นแบบนี้

 

ถ้าความเห็นตรงกันว่ามีสิทธิ์ที่จะเป็นไบโพลาร์ ก็จูงมือกันไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี

 


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 

 


Credits

 

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.co m

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X