×

สรุป Executive Espresso EP.327 โลกหลังสงครามยูเครน-รัสเซีย Yuval Noah Harari ผู้เขียน Sapiens ตอนที่ 2/2

15.03.2022
  • LOADING...

ย้อนอ่าน สรุป โลกหลังสงครามยูเครน-รัสเซีย Yuval Noah Harari ผู้เขียน Sapiens ตอน 1/2

 

5. งบทหารเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง

คลื่นความตื่นตระหนกที่สั่นคลอนโลกทั้งใบจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน เริ่มจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘งบประมาณ’ ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราอยู่ในยุคที่มีสันติภาพอย่างไม่น่าเชื่อ เห็นได้จากตัวเลขงบประมาณของกลาโหมโดยเฉลี่ยของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จากอดีตที่งบประมาณของกษัตริย์ จักรพรรดิ และสุลต่าน ประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ลงไปที่การสงครามและกองทัพ แต่ก่อนหน้าเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยุโรปใช้เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

 

ภายหลังเกิดสงครามเพียงไม่กี่วัน เยอรมนีเพิ่มงบประมาณกลาโหมของพวกเขาเป็น 2 เท่าภายใน 1 วัน Yuval ไม่ได้ต่อต้านสิ่งนี้ มันสมเหตุสมผลสำหรับชาวเยอรมัน โปแลนด์ และประเทศสมาชิกในยุโรป ที่จะเพิ่มงบประมาณพวกเขาเป็น 2 เท่า เมื่อพิจารณาสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ และคุณก็จะเห็นประเทศอื่นทั่วโลกก็กำลังทำแบบเดียวกัน 

 

นี่คือการแข่งขันที่มีแต่คนแพ้ (Race to the Bottom) เมื่อประเทศหนึ่งเพิ่มงบประมาณเป็น 2 เท่า ประเทศอื่นๆ จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณเป็น 2 เท่าตาม ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า และ 3 เท่าไปเรื่อยๆ

 

“เม็ดเงินที่ควรใช้เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปลงที่รถถัง ขีปนาวุธ สงครามแทน แม้ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย บราซิล คุณจะรู้สึกถึงผลกระทบของสงครามครั้งนี้จากการดูแลด้านสาธารณสุขที่ลดน้อยลง หรือวิกฤตทางนิเวศวิทยาที่ทวีความรุนแรงขึ้น”

 

6. ถึงเวลาสิ้นสุด Culture War?

หลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยมมีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกตะวันตก แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจเป็นโอกาสที่จะยุติเรื่องนี้ เพราะทุกคนได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการถกเถียงกันไปมา เสมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่าทุกคนจำเป็นต้องรวมใจหนึ่งเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของประเทศเสรีนิยมตะวันตก

 

เพราะการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งระหว่างลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยม แต่ยูเครนเป็นเครื่องเตือนใจว่ามันไม่จริง ทั้งสองฝ่ายไปด้วยกันได้ เพราะตามประวัติศาสตร์ ลัทธิชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยมไม่ได้อยู่ขั้วตรงกันข้าม พวกเขายึดถือค่านิยมของความมีเสรีภาพและอิสรภาพเหมือนกัน 

 

เมื่อมองเรื่องความสมดุลของอำนาจที่แท้จริง ถ้าชาวยุโรปผนึกกำลังกันและผนึกกำลังกับอเมริกา ยุติการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน พวกเขาก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอย่างแน่นอน

 

7. EU เลือก ‘พลังงานสะอาด’ แทนที่ ‘น้ำมัน’ จากรัสเซีย

หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลให้ยุโรปหันมาสนใจพลังงานสะอาดมากขึ้นไหม

 

Yuval ก็หวังว่ายุโรปจะเข้าใจความเสี่ยงนี้ และเริ่มต้น ‘โปรเจกต์แมนฮัตตันสีเขียว’ โปรเจกต์คลับในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเร่งเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ดีกว่านี้ ยุโรปจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน

 

ซึ่งหากทำสำเร็จ ย่อมลดอำนาจของระบอบบปูตินและกองทัพของเขา เพราะรัสเซียมีน้ำมันกับก๊าซเป็นทรัพยากรหลัก

 

ทุกคนก็รู้ว่าน้ำมันนั้นเหมือนมีคำสาป มันคือขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง แต่มันก็มักจะถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะได้ประโยชน์จากน้ำมัน คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งอะไรให้ประชาชน คุณไม่จำเป็นต้องมีสังคมที่เปิดกว้าง คุณไม่ต้องให้การศึกษา คุณก็แค่ต้องขุดเจาะน้ำมันเท่านั้น

 

หากน้ำมันและก๊าซราคาตก นอกจากจะทำให้การเงินและการทหารของรัสเซียสั่นคลอนแล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียต้องผลัดใบระบอบการเมืองด้วย

 

ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) เตรียมออกร่างแถลงการณ์ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ในการที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน จากรัสเซีย โดยทาง EU มีแผนที่จะเปิดเผยร่างดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านนโยบายพลังงานของ EU เลยทีเดียว

 

8. ภัยคุกคามนิวเคลียร์

ในแง่หนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์คอยรักษาความสงบสุขของโลกไว้จนถึงตอนนี้ Yuval ยึดมั่นในสำนึกคิดที่ว่า หากไม่ใช่เพราะอาวุธนิวเคลียร์ เราคงจะมีสงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาและ NATO ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ไปแล้ว ดังนั้นอาวุธนิวเคลียร์จริงๆ แล้วทำหน้าที่ได้ดีและเป็นประโยชน์ และเพราะอาวุธนิวเคลียร์นั่นเองที่ทำให้เราไม่มีการปะทะกันโดยตรงระหว่างมหาอำนาจอีกต่อไป เพราะชัดเจนว่ามันคือการฆ่าตัวตายหมู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม อันตรายยังคงมีอยู่เสมอ ไม่เคยหายไป หากมีการคำนวณผิดพลาด แน่นอนว่าผลลัพธ์อาจเป็นหายนะต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ได้

 

ในยุค 70 เริ่มมีองค์การระดับนานาชาติที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเผชิญหน้าทางการทหารด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เราทำทุกอย่างตั้งแต่การลงนามข้อตกลงควบคุมอาวุธ มาตรการสร้างความไว้วางใจ แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ถูกละเลยไป ตอนนี้เรากำลังรับผลเสียของการละเลยที่เกิดขึ้นมาหลายปี 

 

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เราได้สร้างบ้านสำหรับมนุษยชาติโดยอาศัยความร่วมมือบนพื้นฐานของการปรองดอง โดยมีความเข้าใจว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการร่วมมือกัน มิฉะนั้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็จะฆ่าล้างกันจนสูญพันธ์ุไป แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราละเลยมัน เราหยุดซ่อมแซมมัน เราปล่อยให้มันทรุดโทรมมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุด มันกำลังพังทลายลง ฉันหวังว่าผู้คนจะรู้ตัวก่อนที่มันจะสายเกินไป ไม่ใช่แค่หยุดสงครามอันเลวร้าย แต่เรายังต้องสร้างองค์การต่างๆ ขึ้นมาใหม่ด้วย 

 

9. สงครามในยุค TikTok

เราไม่รู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันน่าแปลกใจที่เรามี TikTok และเครื่องมืออื่นๆ แต่ยังคงมีอีกหลายสิ่งมากที่ไม่มีใครรู้ หมอกแห่งสงครามไม่เคยหายไปไหน แม้มีชุดข้อมูลอยู่มากมาย แต่ข้อมูลไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะยังมีข้อมูลอีกจำนวนมากถูกบิดเบือนและเป็นข่าวปลอม 

 

ตอนนี้ทุกคนกำลังสร้างกำแพงหินในยุคของโซเชียลมีเดีย ดังนั้นเทคโนโลยีทั้งแบบเก่าและใหม่มันจึงไปด้วยกัน มันคือสงครามรูปแบบใหม่ ผู้คนนั่งอยู่ที่บ้านในแคลิฟอร์เนียหรือออสเตรเลีย มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสงคราม ไม่ใช่แค่ผ่านการเขียนลง Twitter แต่ผ่านการโจมตีหรือปกป้องเว็บไซต์ต่างๆ 

 

10. บทบาทของจีนในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

Yuval ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน การอ่านข่าวไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจวิธีคิดและความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำในจีนได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือจีนใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงน่าจะโน้มน้าวรัสเซียได้ไม่น้อย Yuval หวังว่าจีนจะเหมือนผู้ใหญ่ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและช่วยรดน้ำเพื่อดับไฟสงครามครั้งนี้ เพราะจีนเองก็จะสูญเสียประโยชน์ไม่น้อยหากระเบียบโลกพังทลายลง และถ้าสันติภาพกลับคืนมา จีนก็จะได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณจากนานาชาติด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising