×
SCB Omnibus Fund 2024

สรุป 6 สิ่งที่ธุรกิจ OEM ต้องทำเพื่อปรับตัวก่อนสาย จาก Strategy Clinic EP.25

09.05.2022
  • LOADING...
OEM

ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ธุรกิจรับจ้างผลิต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งเป็นธุรกิจยอดนิยมของผู้ประกอบการชาวไทยหลายๆ ราย แม้ว่าในปัจจุบันที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้หันเหไปในทิศทางของอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น จนทำหลายคนเริ่มมองว่าธุรกิจ OEM กำลังอยู่ในช่วงขาลง มนตร์เสน่ห์ที่มีเริ่มเสื่อมคลายลงไป ไม่เซ็กซี่เทียบเท่าธุรกิจที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ได้พูดถึง ‘6 เคล็ดลับ’ ที่คนทำธุรกิจ OEM ‘ต้องทำ’ เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจรับจ้างผลิตที่ยังอยากจะมีที่ยืนอย่างแข็งแกร่งในอนาคต สามารถปรับตัวได้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

1. บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ (Cost-Effectiveness) 

ธุรกิจ OEM เป็นธุรกิจที่อยู่ในฝั่งต้นธารของสายการผลิต โดยจะส่งต่อให้กับแบรนด์หรือธุรกิจปลายทางที่จะส่งมอบสินค้าแก่ผู้บริโภค (End Consumer) นั่นหมายความว่าอำนาจในการควบคุมลูกค้าจะอยู่ที่ธุรกิจปลายน้ำ ธุรกิจ OEM จึงต้องควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เรียกได้ว่า ‘ต้องเก็บทุกเม็ด’ เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้ได้สูงที่สุด

 

ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจ OEM หลายๆ ราย ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ อย่างเช่น การใช้เครื่องจักรทดแทนการจ้างคนงานเพื่อลดต้นทุน หรือการใช้ระบบ Automation ตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสายการผลิต เพื่อให้ใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด แต่สร้างผลกำไรให้มากที่สุดแก่ธุรกิจ

 

2. มุ่งเน้นการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) 

ธุรกิจ OEM มักจะมีช่องทางรายได้จากลูกค้าเพียงแค่ไม่กี่ราย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อให้สามารถที่จะเป็นคู่ค้าในการทำธุรกิจกันต่อไปได้ในอนาคต การออกแบบระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relationship Management) จึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่ธุรกิจในรูปแบบ B2B อย่าง OEM ก็มีความจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจ B2B มีต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ในระดับที่สูงกว่าธุรกิจ B2C อยู่มาก

 

เพราะธุรกิจ OEM เป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชน การสร้างความสัมพันธ์จึงต้องอยู่ในระดับที่ลึกซึ้งถึงขั้น ‘ขาดกันไม่ได้’ หรือการเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่รู้ใจ และสำคัญที่สุดสำหรับลูกค้า ผ่านการมอบคุณค่าส่วนเพิ่ม เนื่องจากเข้าใจกลยุทธ์ซึ่งกันและกัน จนพร้อมที่จะจับมือทำธุรกิจร่วมกันในระยะยาว

 

3. การขยายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย (Economy of Scale)

กฎเหล็กของธุรกิจรับจ้างผลิตที่ผู้ประกอบการหลายๆ คนมักมองข้ามคือ การขยายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย (Economy of Scale) เพราะหากเราจะควบคุมต้นทุนของเราให้อยู่ในระดับที่ต่ำและมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นที่จะต้องมีกำลังการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลงนั่นเอง 

 

แต่หากธุรกิจรับจ้างผลิตไม่ยอมขยายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในระยะยาว เพราะหากมีคู่แข่งรายใหญ่ที่มีเงินทุนมากกว่าเข้ามาร่วมแข่งขัน นั่นหมายความว่าเขาจะสามารถสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตได้มากกว่า มีต้นทุนต่อหน่วยที่น้อยกว่า และอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่าในการทำธุรกิจรับจ้างผลิตนั้นต้นทุนเป็นปัจจัยสำคัญ อาจทำให้ลูกค้าบางส่วนของเราหันไปอยู่กับคู่แข่งที่สามารถทำต้นทุนได้น้อยกว่า การขยายฐานการผลิตอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจ OEM ‘ไม่ทำไม่ได้’ หากต้องการที่จะให้ธุรกิจรับจ้างผลิตให้เติบโตในระยะยาว

 

4. เพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ (Value Added)

แม้ว่าคุณค่าของธุรกิจ OEM จะอยู่ที่การส่งสินค้าได้ตรงเวลา หรือผลิตให้สินค้ามีคุณภาพดี แต่ในมุมมองของคู่ค้า ‘คุณค่าเหล่านี้จะลดลงตามกาลเวลา’ เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือมาตรฐานของธุรกิจรับจ้างผลิตและพยายามที่จะมองหาคุณค่าใหม่ๆ ดังนั้นธุรกิจ OEM ต้องพยายามสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากขึ้น

 

คุณค่าที่ธุรกิจ OEM ต้องมอบให้กับคู่ค้าคือผลประโยชน์ที่จับต้องได้ ดังนั้นต้องมีความเข้าใจถึงปัญหาทางธุรกิจ (Pain Point) ที่คู่ค้าของเรากำลังประสบพบเจออยู่ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ OEM เจ้าหนึ่งมีลูกค้าเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ต้องการชิ้นส่วนในปริมาณที่พอดีกับการผลิตหนึ่งครั้ง เพราะมองว่าการมีชิ้นส่วนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตคงค้างมากเกินไป จะเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่เขาต้องแบกรับ หากว่าโรงงานของ OEM ดังกล่าวตั้งอยู่ไกลจากลูกค้า การขนส่งหนึ่งครั้งจำเป็นที่จะต้องขนทีละเยอะๆ เพื่อให้คุ้มค่าการขนส่ง OEM เจ้านี้จึงตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานให้อยู่ใกล้ๆ กับโรงงานของลูกค้า เพื่อที่จะสามารถส่งชิ้นส่วนได้ทีละน้อย แต่ในปริมาณที่ถี่ขึ้น เพื่อตอบสนองสิ่งที่คู่ค้าต้องการและมองหาอยู่

 

5. สร้างระบบควบคุมความเสี่ยงให้ดี (Risk Management)

ธุรกิจ OEM เป็นส่วนหนึ่งในสายการผลิตที่สำคัญ หากเกิดความผิดพลาดแม้แต่เพียงเล็กน้อย จะก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลแก่คู่ค้าปลายทาง และอาจส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อธุรกิจ OEM ต้นทางของเราลดน้อยถอยลง ดังนั้นเรื่องความรัดกุมและความปลอดภัยของระบบโรงงาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำไปควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อโรงงานและคู่ค้าของธุรกิจ

 

6. ยกระดับบริษัทให้มีความเป็นมืออาชีพ (Professional)

ธรรมชาติของธุรกิจ OEM เป็นธุรกิจที่ต้องเหนื่อยหน่ายกับการควบคุมการผลิตที่มีความซ้ำซากจำเจ และทำให้เจ้าของกิจการเกิดอาการเบื่อและไม่ทุ่มเทในการทำธุรกิจอีกต่อไป คำแนะนำสุดท้ายจาก ดร.ธนัย จึงบอกว่า หากรู้สึกว่าธุรกิจ OEM เป็นธุรกิจที่ทำแล้วไม่มีความตื่นเต้นอีกต่อไป ‘จงยกระดับโครงสร้างองค์กรให้มีความเป็นมืออาชีพ’ เนื่องจากมีธุรกิจ OEM จำนวนที่มีลักษณะเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ จึงทำให้ขยับขยายกิจการได้ค่อนข้างลำบาก

 

การวางโครงสร้างบริษัทให้มีระบบงานให้ดี จ้างบุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน จะทำให้ในระยะยาวเจ้าของกิจการไม่ต้องมาเหนื่อยกับการดูแลทุกกระบวนการเอง และยังมีความสุขกับการดูแลธุรกิจ OEM เพื่อที่จะสามารถหาไอเดียใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตต่อไปได้ในอนาคต

 

และนี่คือทั้ง 6 แนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจ OEM สามารถนำไปปรับใช้เพื่อยกระดับธุรกิจรับจ้างผลิตให้มีความสามารถแข่งขันต่อไปได้ในอนาคต เพราะแม้ว่าธุรกิจ OEM จะไม่มีความหวือหวา น่าตื่นเต้น หรือบางครั้งอาจดูไม่เซ็กซี่ แต่ยังนับเป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง ใครที่อยากรับชมเนื้อหาฉบับเต็มของ Strategy Clinic EP.25 OEM รับจ้างผลิตยังมีทางโตอยู่ไหม 6 สิ่งต้องปรับก่อนสาย สามารถรับชมต่อได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising