เฟิร์น-อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง มีครอบครัวทำกิจการร้านแว่นมานานหลายรุ่น แต่ตัวเธอเองกลับไม่รู้ว่าแว่นทำขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อคิดดังนี้ เธอจึงไปสมัครเรียนคอร์สการทำแว่นที่ M.O.F. (Meilleurs Ouvriers de France Lunetiers) โรงเรียนช่างฝีมือทำแว่นตาที่เมืองมอเรซ เมืองเล็กๆ แสนสงบในประเทศฝรั่งเศส และกลับมาเปิดร้านแว่น custom-made ชื่อ Arty&Fern
ต้นเหตุที่ทำให้ไปเรียนทำแว่น
เกิดจากตอนที่อาร์ต (ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Arty&Fern) ถามเฟิร์นซึ่งมีครอบครัวทำกิจการร้านขายแว่นมาหลายรุ่น ว่าแว่นทำขึ้นมาอย่างไร แต่เฟิร์นกลับตอบไม่ได้ ก็เลยคิดว่าอยากทำแว่นดู
เริ่มจากการลองทำเลนส์แว่น แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่สามารถสร้างแว่นตั้งแต่ต้นของกระบวนการได้ เลยตัดสินใจไปเรียน
เลือกโรงเรียน
เสิร์ชกูเกิลง่ายๆ เลยว่า eyewear school ก็ไปเจอโรงเรียนชื่อ M.O.F. ที่เมืองมอเรซ ซึ่งในกูเกิลบอกเลยว่าเมืองนี้มีชื่อเสียงเรื่องแว่นตา
ที่นี่เป็นโรงเรียนช่าง ซึ่งครูที่มาสอนเป็นครูช่างทำแว่นหมดเลย เคยทำงานโปรโตไทป์แว่นของแบรนด์ดังๆ หลายแห่ง
โรงเรียนนี้ก็เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีคอร์สเรียนสั้นๆ 3-4 เดือน หรือบางคอร์สสั้นระดับชั่วโมงก็มี คอร์สที่เฟิร์นกับอาร์ตไปเรียนก็มีนักเรียน 4-6 คน ครูอีกประมาณ 6 คน ในห้องก็จะมีโต๊ะช่างสำหรับประกอบแว่น
“เราพบว่าการทำแว่นตาคู่หนึ่งมันใช้อะไรมากกว่าแค่ความสวยงาม
มันมีเรื่องเทคนิคเข้ามาด้วย”
นักเรียนที่นี่ส่วนมากเป็นออปติเชียน เจ้าของร้านแว่นที่ต้องการมาเพิ่มพูนความรู้ ปีนั้นเป็นปีแรกเลยที่มีนักศึกษาต่างทวีปไปเรียน ยิ่งเป็นเอเชีย โรงเรียนยิ่งแปลกใจ
บรรยากาศการเรียน
วันแรกที่ไปเรียน ครึ่งเช้าเป็นการสเกตช์แบบแว่น ส่วนครึ่งบ่ายเป็นทฤษฎี พอดูสไลด์ที่อาจารย์เปิดก็เลยเข้าใจว่าความสวยงามในสเกตช์ของเรามันไม่ใช่ที่สุดของการออกแบบแว่น เพราะในสไลด์คือการออกแบบเพื่อช่วยคนที่ไม่สามารถสวมแว่นปกติได้ เป็นการแก้ปัญหา เช่น คนที่ตาสองข้างไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน หรือคนที่กะโหลกเล็กมาก หรือคนที่ไม่มีใบหู การดีไซน์ก็จะเข้ามาช่วยเขาให้สวมแว่นสายตาได้ เป็นงาน custom-made เลย
จากนั้นพอลงปฏิบัติก็ต้องเริ่มตั้งแต่เลื่อยฉลุเลย ตั้งแต่ตั้งต้นของการสร้างกรอบแว่นสักอันหนึ่ง
“แว่นอันแรกของทุกคนจะมีความเป็นตัวเองอย่างชัดเจนมาก”
ที่นี่ไม่มีการให้คะแนน เน้นการปฏิบัติ ทำตามสเตปไปตามอาจารย์ จะมีแต่การบอกว่าอันนี้ที่เราทำมันดีแล้วหรือเปล่า
ที่ตลกคือด้วยความที่เราเป็นคนต่างชาติ แล้วที่นี่สอนเป็นภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนก็เลยเตรียมนักแปลมาให้คนหนึ่ง มีหน้าที่แปลทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษให้เราแบบเรียลไทม์
การทำแว่นสักอันหนึ่ง
มันมีกระบวนการสัก 200 ขั้นตอนได้ และมีทั้งเครื่องมือที่เหมือนเครื่องจักร ฉะนั้นทุกวันทุกคนจะต้องได้แผลจากการทำแว่นกันหมด มือก็จะทั้งด้านด้วยเลือดออกด้วย มีอาจารย์คนหนึ่งมีซิกเนเจอร์เป็นการสลักลายลงบนส่วนประกอบแว่น เขามาสอนการสลัก แต่เครื่องมือวาดสลักก็ใช้ยาก มันสั่น บวกกับมือตัวเราก็ช้ำแล้ว เลยเจ็บมาก
“อาจารย์ก็ชูมือให้ดู แล้วบอกว่า experience is on your hands
ประสบการณ์จะอยู่บนมือเรา”
พอมองดูมืออาจารย์ก็พบว่าแผลเยอะมาก บางนิ้วไม่มีเล็บ มีแผลขีดข่วน โดนสารเคมี เยอะมาก ไม่มีจุดไหนบนมือที่ไม่มีรอยแผลเลย เราก็รู้สึกว่าเราเพิ่งทำแว่นไป 2 อันเอง ทำไมมันทรมานขนาดนี้
การไปเรียนทำให้จินตนาการในการทำแว่นของเรามันไปอีกไกลเลย มันมากกว่าแค่ความสวยงาม บางคนถ้าไม่ได้ช่างแว่นช่วยเขาก็ไม่สามารถใส่แว่นได้เลย คอร์สแค่สั้นๆ แต่ได้อะไรมากกว่าที่อยากรู้อีก
คิดจะเปิดร้าน
พอรู้เรื่องคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากช่างแว่น เราก็เสิร์ชว่าที่ไทยมีมูลนิธิที่รวบรวมคนที่ผิดปกติด้านกะโหลกหรือใบหน้าหรือเปล่า ก็พบว่ามี ก็เลยตั้งเป้าหมายว่านี่จะเป็นความตั้งใจของเรา คือช่วยคนเหล่านี้ให้มีแว่นที่ใส่ได้
“แว่นที่ดีคือแว่นที่เป็นหนึ่งเดียวกับคนใส่ ไม่ใช่แค่ชอบทรงไหนแล้วได้ทรงนั้น
หรือชอบสีไหนแล้วได้สีนั้น แต่มันคือความสบาย ใส่แล้วเหมือนไม่ได้ใส่
ใส่จนเหมือนตัวเราไปแล้ว”
Credits
The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี
The Guest อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข
นทธัญ แสงไชย
อธิษฐาน กาญจนพงศ์
ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Music Westonemusic.com