×

เรียนต่อสวีเดน ประเทศแห่งความสุขที่อุณหภูมิ -10 องศา

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01.42 บรรยากาศโดยรวมของสวีเดน

06.05 บรรยากาศการเรียนที่มหาวิทยาลัยลุนด์

09.11 ชีวิตของนักศึกษาในสวีเดน

14.09 ดื่มกันอย่างอิสระ แต่ปัญหาจากแอลกอฮอล์กลับไม่มากเท่าไหร่

15.47 การใช้ชีวิตในหอพัก

19.30 ใช้ชีวิตกันสบายๆ แต่เวลาสอบก็หนักอยู่

21.15 วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ประเทศไทยคร่าวๆ

23.56 การใช้ชีวิตในสวีเดนดีสมกับที่เป็นประเทศน่าอยู่อันดับต้นของโลก

25.44 เรื่องที่สนใจและคิดว่าน่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยบ้าง

30.20 ด้านไม่ดีของสวีเดน

32.00 คำแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อที่สวีเดน

37.07 ฝากผลงาน

     ฐณฐ จินดานนท์ ไป เรียนต่อสวีเดน โดยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการคลัง เศรษฐศาสตร์การคลัง รวมถึงเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่ประเทศสวีเดน ที่ใครหลายคนคงคุ้นชื่อในฐานะเป็นถิ่นกำเนิดของอิเกียมากกว่า

     แต่อีกสถานะหนึ่งของสวีเดนคือเป็นประเทศต้นแบบของรัฐสวัสดิการอันดับต้นๆ ของโลก “เร็วๆ นี้ก็มีการประกาศว่าสวีเดนเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกครับ ถ้าดูในด้านสวัสดิการ” ฐณฐบอก

     ซึ่งความสนใจในด้านรัฐสวัสดิการนี้ ขับให้เมนต้องเดินทางไปเห็นต้นแบบด้วยตาตัวเองที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ในเมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน

 


 

01.42

บรรยากาศโดยรวมของสวีเดน

     “คนที่นั่นดูไม่ค่อยเป็นทุกข์กับชีวิตมากครับ” เมนกล่าว

     แต่ช่วงแรกที่ไปแลกเปลี่ยนกลับมีปัญหาให้ผจญเมื่อห้องพักนักศึกษาในเมืองลุนด์ที่ราคาถูกเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนมีไม่พอให้นักศึกษาพัก ทำให้ในวันแรกที่ไปถึงประเทศสวีเดน ฐณฐต้องนั่งรอถึงเกือบสามทุ่มกว่าจะได้กุญแจห้อง ซึ่งไม่ใช่ห้องที่อยู่ในเมืองลุนด์ ทำให้ต้องเดินทางไปอยู่อีกเมืองหนึ่งแทน

     แต่สิ่งที่ดีคือแม้จะต้องเดินทางไปพักอีกเมืองหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง ระบบการคมนาคมที่นั่นก็สะดวกสบายมากสำหรับผู้มาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟหรือรถเมล์ ผู้คนก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เรียกได้ว่าคนอายุต่ำว่า 50-60 ลงมาจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน ขนาดฐณฐที่พูดภาษาสวีเดนไม่ได้ยังสามารถเรียนที่นี่ได้ตลอดระยะเวลาที่แลกเปลี่ยน

 

06.05

บรรยากาศการเรียนที่มหาวิทยาลัยลุนด์

     เมนเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการเรียนที่นั่นค่อนข้างหนัก ด้วยความที่มี assignment ให้อ่านเยอะ มี paper work ให้ทำ แต่บรรยากาศการเรียนที่นั่นจะเหมือนการพูดคุยกันมากกว่า มีการตั้งประเด็นถก อย่างเช่น อาจารย์ก็จะถามว่า “ทำไมคิดว่ารายได้เพิ่มขึ้นแล้วความเหลื่อมล้ำมากขึ้น” ก็จะให้นักเรียนถกกันในห้องเรียน โดยอาจารย์ก็จะไม่ได้ตัดสินมาก ไม่มีการบอกว่านักเรียนผิด มีแต่ถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยจะบอกสิ่งที่ได้ศึกษามาให้นักเรียนฟัง ทำให้นักเรียนกล้าแสดงออกมากขึ้น

     ซึ่งบรรยากาศการเรียนแบบนี้เป็นของใหม่สำหรับนักเรียนไทยอย่างเมนพอสมควร ที่สุดทางมากคือบางวิชาสอบเป็น discussion ไปเลย เก็บคะแนน (เต็ม 50 คะแนน) ด้วยการให้ไปจับกลุ่มมากลุ่มละ 5 คน แต่ละคนทำเปเปอร์มาคนละชิ้น (20 คะแนน) และสอบปากเปล่าอีก 30 คะแนน ทำให้นักศึกษาต้องทำการบ้านมาหนักมากๆ ไปถกเถียงกับเพื่อนให้อาจารย์ฟัง

     แม้บางครั้งจะมีนักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่งมาก แต่อาจารย์ก็จะพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อ

 

09.11

ชีวิตของนักศึกษาในสวีเดน

     “ไปเรียนสิบโมง เที่ยงก็เลิกแล้ว” เมนบอก ถึงแม้จะดูเหมือนสบาย แต่ก็ต้องกลับมาทำการบ้านและอ่านหนังสือเยอะอยู่ เน้นต้องอ่านเองเยอะ

     ส่วนกิจกรรมของนักศึกษาก็มีให้ทำหลากหลาย บางครั้งเพื่อนก็พาไปดูแข่งกีฬาต่างคณะ

     กิจกรรมที่เด็ดมากๆ ของที่สวีเดนคือวัน Valborg (วาลบอย) คือวันต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากฤดูหนาวที่นั่นเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก หนาวทรมานยาวนานประมาณ 3 เดือน ถ้าเทียบเป็นที่กรุงเทพฯ ก็อาจเหมือนเราเจอแต่พายุฝนเป็นเวลา 3-4 เดือนโดยไม่ได้เห็นพระอาทิตย์เลย เป็นช่วงที่อัตราการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

     ในช่วงนั้นกว่าจะสว่างก็ 8 โมง สามสี่โมงก็มืดแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้คนไม่อยากออกจากบ้าน ขนาดเมนบอกว่าอาหารในตู้เย็นหมดก็ยังไม่อยากออกจากบ้าน ความหนาวมันเหมือนเข็มทิ่มแทง

     ทีนี้พอแสงอาทิตย์แรกออกมา ผู้คนก็เหมือนออกมามีชีวิตกัน ดอกไม้ผลิบาน แก้ผ้าใส่ชุดว่ายน้ำวิ่งออกมาอาบแดดกัน ตรงหน้าหอพักมีสนามหญ้า คนก็ออกมานอนอาบแดดกัน

     ซึ่งวันวาลบอยคือวันที่ผู้คนจะปิดเมืองกินเหล้ากันตั้งแต่เช้ายันเช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยความที่ที่นี่เป็นเมืองนักศึกษา คนก็จะไปรวมตัวกันที่สวนสาธารณะกลางเมือง มีดนตรีสด มีปิกนิก มีอาหารกิน ร่ำสุรา ซึ่งที่นี่ก็ไม่ซีเรียสเรื่องแอลกอฮอล์ในสถานศึกษาขนาดนั้น สามารถนำเข้าไปกินในมหาวิทยาลัยได้ อย่างช่วงที่ Openhouse ก็ยังมีบริษัทไวน์มาเปิดบูธ บางทีเวลาเย็นๆ ช่วงเทศกาล ชั้นล่างของตึกเรียนก็เปิดเป็นผับบาร์ มีแดนซ์ฟลอร์ ก็มี

     ระบบนักศึกษาที่นี่จะแบ่งเป็นเนชั่น เป็นคล้ายๆ สมาคมนักเรียน มีอยู่ 12 เนชั่น ซึ่งนักศึกษาจะเข้าได้ก็ต้องเป็นสมาชิก สมัครด้วยการใช้บัตรนักศึกษา เมื่อได้บัตรเนชั่นมาแล้วจะสามารถใช้เข้าเนชั่นไหนก็ได้ คลับของแต่ละเนชั่นก็จะมีวันเปิดต่างกันไป

 

14.09

ดื่มกันอย่างอิสระ แต่ว่าปัญหาจากแอลกอฮอล์กลับไม่มากเท่าไหร่

     ที่สวีเดนมีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาน้อยมาก เพราะแม้จะไม่ได้เก็บภาษีสรรพสามิตหรือห้ามโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมา แต่การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์มากกว่า 3.5% ต้องขายผ่านรัฐเท่านั้น ในร้านของรัฐที่เรียกว่า ซิสเท็มบูลาเก็ต (Systembolaget) เป็นการผูกขาดแอลกอฮอล์โดยรัฐ ซึ่งก็ไม่ได้ห้ามคนบ่มเหล้าเอง แต่เวลาขายต้องขายผ่านร้านค้าของรัฐ เพื่อจะได้ควบคุมได้อย่างเคร่งครัด

     กฎเกณฑ์การขายก็คือสามารถซื้อได้ถึงเวลาหนึ่งทุ่ม วันเสาร์ซื้อได้ถึงสี่โมงเย็น ส่วนวันอาทิตย์ร้านปิด แปลว่าถ้าจะกินเหล้าวันอาทิตย์ต้องวางแผนซื้อตั้งแต่วันเสาร์ ไม่มีการออกไปซื้อที่เซเว่นฯ ได้ตลอด อีกอย่างคือในเมืองลุนด์ก็มีร้านซิสเท็มบูลาเก็ตแค่ 1-2 ร้านเท่านั้น

 

15.47

การอยู่อาศัยในหอพัก

     เมนอยู่ในหอพักประเภทที่เรียกว่าคอร์ริดอร์ คือหอพักแบบที่แต่ละคนจะมีห้องนอนห้องน้ำเป็นของตัวเอง แต่ต้องใช้ห้องครัวร่วมกัน facility ค่อนข้างดี มีเตาอบ 1 เตา มีเตาแก๊ส 4-5 เตา และเป็นห้องนั่งเล่นไปในตัว เวลาจะปาร์ตี้ก็ใช้ส่วนนี้จัดงานได้เลย

     ส่วนอุปนิสัยคนสวีเดนค่อนข้างเก็บตัว ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือเยอะมาก เมนสังเกตจากเพื่อนรอบตัวก็เห็นว่าถ้าวันไหนแดดออกดีๆ เพื่อนก็จะหยิบเก้าอี้ชายหาดออกไปนั่งอ่านหนังสือนอกระเบียง ไม่ค่อยรวมตัวพูดคุยกันมากนัก เฟซบุ๊กก็ไม่ค่อยเล่น ไม่ค่อยได้อัพเดตอะไรเท่าไร แต่ถ้ามีกิจกรรมทางสังคมก็จะออกไปพบปะกัน ซึ่งค่อนข้างดี

     กิจกรรมที่น่าสนใจคือฟิก้า (Fika) ความหมายทั่วๆ ไปคือการจิบกาแฟ แต่ในความหมายของชาวหอพักคือเวลาที่ทุกคนจะได้มาจิบชาด้วยกัน 9 คน และจะมีคนหนึ่งที่รับผิดชอบทำขนมให้ทุกคนทาน ซึ่งจะหมุนเวียนตำแหน่งทำขนมนี้กันไป ซึ่งน่าจะเป็นธรรมเนียมของหอพักที่เมนอยู่นี้เท่านั้น หอพักอื่นๆ ก็มีกิจกรรมต่างกันไปแล้วแต่ facility ของที่นั่น บางหอมีจอโปรเจกเตอร์ก็จัดฉายหนังหลังเสร็จจากฟิก้า ซึ่งคนที่เก็บกวาดจานชามในวันนั้นก็จะได้เลือกหนังว่าจะดูเรื่องอะไร

 

19.30

ใช้ชีวิตสบายๆ แต่ถึงเวลาสอบก็หนักอยู่

     ด้วยความที่เป็นข้อสอบแบบที่นักเรียนไทยอย่างเมนไม่เคยพบเจอมาก่อน ทำให้รู้สึกยากจนน้ำตาแทบเล็ดทีเดียว อย่างเช่นวิชาเศรษฐศาสตร์ภาษี ก็จะมีโมเดลเศรษฐกิจมาให้ แล้ววิเคราะห์ว่าภาระภาษีจะไปอยู่ที่ใครบ้าง

     หรือเป็นแนววิพากษ์ก็มี เช่น ค่าที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรืออ่านข่าวนี้แล้วมีความคิดเห็นอย่างไร โดยเอาความรู้ที่เราเรียนมาวิเคราะห์อธิบาย

 

21.15

วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ประเทศไทยคร่าวๆ

     ถ้ามองว่าพื้นฐานของประเทศคือแรงงาน แต่สวัสดิการแรงงานในไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร ค่าแรงขั้นต่ำไม่มาก สิทธิต่อรองก็น้อย ทั้งที่ไทยเป็นประเทศร่วมก่อตั้ง ILO หรือ International Labor Organization ที่ดูแลสิทธิแรงงานทั่วโลก แต่ไทยกลับไม่ยอมให้สัตยาบันสิทธิเรื่องการต่อรองของแรงงาน แต่สิ่งนี้เป็นการปฏิรูปการเมืองของสวีเดนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

     ในสวีเดน พรรคการเมืองที่มีบทบาทมาอย่างยาวนานชื่อว่า Social Democrat ซึ่งมีสายสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสหภาพแรงงานที่มีบทบาทมากในสังคม แรงงานกว่า 90% เป็นสมาชิกสหภาพนี้

     ที่สวีเดนพัฒนาเศรษฐกิจจนเป็นสังคมชนชั้นกลาง ไม่ค่อยมีสิ่งที่เรียกว่าชนชั้นล่างจริงๆ มาก รายได้ขั้นต่ำก็มีชีวิตได้อย่างสบาย ไม่ว่าคุณทำงานอะไร จะเป็นเด็กเสิร์ฟก็สามารถให้ลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยได้

 

23.56

การใช้ชีวิตในสวีเดนดีสมกับที่เป็นเป็นประเทศน่าอยู่อันดับต้นของโลก

     อย่างที่ชัดๆ คือสิทธิคนเดินถนน ที่คนค่อนข้างเคารพกฎจราจร ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายแรงหรืออะไรก็ตาม อย่างเช่นถ้าเราจะข้ามทางม้าลาย ตอนเดินไปยังไม่ถึงทางม้าลายเลย ถ้ารถเห็นว่าเราจะเดินข้ามถนนเขาจะเบรกทันทีเลย

 

25.44

เรื่องที่สนใจและคิดว่าน่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยบ้าง

     หลายเรื่อง เรื่องแรกคือการเก็บภาษี

     ไม่ใช่ว่าประเทศสวีเดนไม่เคยมีปัญหาเรื่องภาษี ช่วงประมาณปี 1990 สวีเดนประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ช่วงนั้นสวีเดนมีภาษีรายได้บุคคลธรรมดาประมาณ 5 ขั้น มากสุดประมาณ 80% สูงมาก ทางสวีเดนก็วิเคราะห์กันว่าต้องปฏิรูปภาษี จึงเริ่มนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาถกกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อาจารย์ที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ก็เคยอยู่ในกรรมการชุดนี้ ซึ่งอาจารย์ก็เล่าให้ฟังว่าใช้เวลา 2-3 ปีศึกษาว่าปัญหาภาษีมีจริงๆ รวมทั้งคุยกับประชาชนทุกกลุ่ม

     จนสรุปได้ภาษีเป็น 3 ขั้น ขั้นแรก 35% ขั้นสอง 45% ขั้นสุดท้ายประมาณ 55%

     ที่น่าสนใจคือในประเทศไทยเมื่อจ่ายภาษี เงินจะเข้ามาที่ส่วนกลางก่อนแล้วค่อยกระจายออกไปยังต่างจังหวัด แต่ที่สวีเดน 35% เสียปุ๊บจะเข้าองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่า commune ก่อน เพื่อนำมาใช้สอยในท้องที่ ผู้คนจะได้รู้สึกว่านี่เป็นเงินของเราเอง ส่วนที่เกินมาจากนั้นค่อยเข้าไปที่รัฐบาลกลาง

 

30.20

ด้านไม่ดีของสวีเดน

     ค่อนข้างน้อย ปัญหาก็มีคล้ายๆ 30 บาทรักษาทุกโรคบ้านเรา คือไปเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วต่อคิวนาน ถือเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ของที่นั่น อีกปัญหาคือเรื่องผู้อพยพ ที่ชาวสวีเดนรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขาได้ ก็เกิดความตึงเครียดขึ้นมา

     ผู้อพยพที่นั่นส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง ไม่ได้แค่เข้ามาในช่วงสงครามเท่านั้น แต่เข้ามาตั้งนานแล้ว บางคนเป็นรุ่นสองแล้วที่อาศัยอยู่ในสวีเดน ปรับตัวได้ มีการงานที่ดีก็มี

     ส่วนเรื่องการเหยียดเชื้อชาติก็น้อย ยิ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งไม่มีประเด็นนี้เลย แถมคนสวีเดนส่วนมากก็ชอบแต่งงานกับผู้หญิงเอเชีย โดยเฉพาะผู้หญิงไทย

 

32.00

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อที่สวีเดน

     แนะนำให้ฝึกทำอาหารไว้ เพราะจะสามารถประหยัดค่าอาหารได้เยอะ และรสชาติอาหารสวีเดนก็ไม่ถูกปากคนไทย เนื่องจากมีอยู่แค่ 2 รส คือเค็มกับพริกไทย อาหารไทยที่นั่นก็มี ฮิต แต่แพง ด้วยความที่ค่าแรงแพง เก็บภาษี VAT แพง คือ 25% ตอนหลังปรับมาเป็น 26%

     ที่นั่นมีร้านขายของเอเชีย วัตถุดิบอย่างกะเพรา น้ำพริกแกงเขียวหวาน น้ำพริกเผา สามารถหาซื้อได้ แต่ราคาก็ค่อนข้างสูง

     ส่วนเรื่องเรียน เมนเรียนโปรแกรมแลกเปลี่ยนทำให้ต้องออกค่ากินอยู่เอง แต่ที่สวีเดนก็มีทุนรัฐบาลสวีเดนให้ไปเรียนได้

     จริงๆ ก่อนหน้านี้มีทุนให้คนไทยไปเรียนที่สวีเดนฟรีด้วย แต่ยกเลิกไปแล้ว ปรับเป็นให้ขอทุนง่ายแทน เพราะทางมหาวิทยาลัยก็ต้องการ international environment เพื่อ ranking ของมหาวิทยาลัยด้วย

     เรื่องเสื้อผ้าก็ไม่ต้องเอาไปเยอะ เพราะเสื้อกันหนาวจากไทยก็กันได้ไม่ดีเท่าของสวีเดน

 

37.07

ฝากผลงาน

     เมน-ฐณฐ จินดานนท์ เป็นนักแปล ซึ่งกำลังมีผลงานหนังสือแปลกับสำนักพิมพ์ openworlds ชื่อ GDP ประวัติศาสตร์เบื้องหลังตัวเลขเปลี่ยนโลก

 

“ถ้าทำได้ผมอยากมีส่วนช่วยพัฒนานโยบายสวัสดิการของบ้านเรา พูดง่ายๆ ว่าชีวิตคนทุกคนก็มีความหมาย ก็อยากให้เขาได้รับโอกาสในชีวิตที่ดี เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่กลไกรัฐหรือกลไกทางสังคมบางอย่างเนี่ยมันช่วยให้เราเท่ากันได้”

 


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest ฐณฐ จินดานนท์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X