ความคิดเล็กๆ ที่ผุดมาในหัวของคนยุคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คือการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่คนเปิดกิจการ มีแบรนด์ขายออนไลน์ที่ขายดีมาก ลูกค้าเยอะมาก แถมยังง่ายและสะดวกกว่าเมื่อก่อนด้วย เพราะเป็นช่องทางที่ทุกคนใช้กันอยู่แล้ว
จูนจูน พัชชา มาแชร์ประสบการณ์ตรงสำหรับคนอยากเริ่มทำธุรกิจและชวนคุณเค้ก-อภิพรรณ มงคลพาณิชยกิจ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ทั้ง Rally Movement, j.c.co และเป็น Co-founder ของ gloc มาให้คำแนะนำเป็นแนวทางสำหรับคนอยากเปิดร้านออนไลน์
คำถามที่ควรถามตัวเองก่อนเริ่มทำธุรกิจ
1. ชอบอะไร
สนใจอะไร เป็นความชอบแค่ผิวเผินหรือเปล่า ถ้าทำไปเรื่อยๆ จะเบื่อหรือเปล่า ธุรกิจที่สำเร็จยั่งยืนคือธุรกิจที่ต้องใช้ระยะเวลา ถ้าทำไปเรื่อยๆ แล้วล้มเลิกกลางทางก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
2. มีต้นทุนเท่าไร งบตั้งต้นมาจากไหน และจะจัดสรรอย่างไร อาจเริ่มจากเงินเก็บที่เรามีเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ เมื่อธุรกิจเริ่มโต มีกลุ่มลูกค้า แล้วค่อยๆ เพิ่มเงินขยายธุรกิจออกไป ต้องวางแผนการเงินของธุรกิจตัวเองคร่าวๆ ก่อนด้วย
3. ขายใคร
เมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายทำให้เรารู้ว่าควรทำสินค้าแบบไหน ขายช่องทางไหนบ้าง เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนสูงอายุ การขายออนไลน์อาจจะไม่เหมาะ แต่เหมาะสำหรับกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น และต้องมั่นใจด้วยว่า บริการหรือการขายของเรามันมีคนซื้อจริงๆ ไม่ใช่การคิดเองคนเดียว
แนวคิดในการเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ของตัวเอง
1. สังเกตตัวเอง
ทำอะไรแล้วมีความสุข หรืออยู่กับสิ่งนั้นได้นาน ดูว่าเราทำอะไรแล้วรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว หรือทำแล้วเราไม่ได้รู้สึกว่าทำงานอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจเสื้อผ้า อาจเป็นอาหาร บริการอื่นๆ ก็ได้ หรืออีกวิธีคือลองสังเกตจากสิ่งรอบตัว เช่น ครอบครัวของเรามีธุรกิจอื่นที่เคยทำ อาจจะเป็นสิ่งที่เราสนใจและอาจนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้ เพราะการมีรากฐานที่ดีจากครอบครัวจะทำให้เราไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็เป็นเรื่องที่ดี
2. ลงมือทำ
เราควรคิดเร็วทำเร็ว เพราะโลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ บางทีไอเดียเราดีมากแต่ไม่ยอมลงมือทำ รอเวลาไปเรื่อยๆ อาจจะมีคนอื่นมาทำแล้วประสบความสำเร็จแทนเราไปเลยก็ได้
3. วางคาแรกเตอร์แบรนด์
แบรนด์เราสไตล์ประมาณไหน ราคาเท่าไร สินค้ามีอะไรบ้าง แบรนด์ที่ดีควรจะมีสไตล์ที่ชัดเจนเพื่อกำหนดกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงที่สุด สำหรับมือใหม่เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นลองทำ Mood Board รวมสิ่งที่จะเป็นเราดูว่าแพ็กเกจเป็นอย่างไร ภาพรวมแบรนด์เป็นอย่างไร อาจหาภาพจากอินเทอร์เน็ตมาแปะบนกระดาษหรือไดคัตในคอมพิวเตอร์ เพื่อจำกัดภาพรวมแบรนด์ของเราให้เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น
4. สำรวจตลาด
ลิสต์ว่ามีแบรนด์คู่แข่งแบรนด์ไหนบ้าง สินค้าเป็นอย่างไร ราคาขายเท่าไร ต้องสำรวจตลาดเพื่อให้เราเห็นช่องว่างทางการตลาดว่ามีอะไรบ้าง แบรนด์ที่ขายเหมือนเรายังขาดอะไรอยู่ อาจทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ได้ นอกจากนั้นแล้วการสำรวจตลาดยังช่วยให้มือใหม่ซึมซับวิธีการขายจากโมเดลธุรกิจที่มีอยู่แล้ว และบางอย่างอาจปรับใช้กับธุรกิจของเราเองได้
5. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
ให้คิดเลยว่าใครจะเป็นคนมาซื้อสินค้าเรา วัยไหน เพศอะไร เช่น ถ้าทำธุรกิจเสื้อผ้าอาจต้องลงลึกไปถึงบุคลิกของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร สาวเท่ สาวหวาน คนแบบนี้จะใช้สินค้าแบบไหนบ้าง อาจทำให้เราคิดสินค้าได้ตอบโจทย์มากขึ้น
กรณีตัวอย่าง
จากประสบการณ์การทำแบรนด์ Rally Movement ของคุณเค้ก ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงซึ่งเน้นสูทกับกางเกงสแล็กเป็นหลัก จุดเริ่มต้นของแนวคิดเริ่มจากตัวคุณเค้กเองที่ชอบใส่สูทกับกางเกงสแล็กมาก แต่หาซื้อในตลาดไม่ได้เพราะส่วนใหญ่จะมีไว้สำหรับใส่ไปทำงาน มีสีให้เลือกไม่มาก คือ ขาว ดำ เทา แต่คุณเค้กเป็นคนชอบสีสันจึงอยากทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือคุณเค้กสูงประมาณ 155 เซนติเมตร เวลาหากางเกงสแล็กทรงสวยๆ ที่ชอบมันหายากมาก เพราะปลายขาจะกองพื้นแล้วต้องคอยเอาไปตัดขาแล้วทรงจะเสียตลอด เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา
หลังจากที่รู้แล้วว่าอยากขายอะไร เลยไปศึกษาตลาดต่อ ไปดูว่าตอนนี้มีคนขายสูทกับกางเกงสแล็กแบบไหนบ้าง แต่เท่าที่ดูในตลาดตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ที่ขายสูทกับกางเกงสแล็กสำหรับผู้หญิง เลยสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา แล้ววางคาแรกเตอร์แบรนด์ให้เป็นผู้หญิงเท่ที่สนุกกับการแต่งตัวและแมตช์สี
คุณเค้กทิ้งท้ายทริกเล็กๆ น้อยๆ ไว้อีกดังนี้
1. ต้องอดทนและทุ่มเท
อย่าล้มเลิกไปก่อน แรกๆ อาจจะยังขายไม่ดีเท่าไรนัก แต่อาจจะมีคนมาซื้อในภายหลังก็ได้ มีหลายแบรนด์ที่ทำแบรนดิ้งสวย มีสินค้าที่น่าสนใจ แต่ล้มเลิกภายใน 1 เดือนเพราะคิดว่าไม่มีคนซื้อ ในความเป็นจริงแล้วต้องใช้เวลาเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นเราและจะกลับมาซื้อสินค้าของเราในภายหลัง
2. ต้องต่อเนื่อง
ขยันโพสต์ ขยันแชร์ สร้างคอนเทนต์ ทำให้ลูกค้าเห็นเรามากๆ และลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าในอนาคต
3. ตามเทรนด์อย่างพอเหมาะ
อย่าสูญเสียความเป็นตัวเอง เห็นใครขายอะไรดีก็ไปขายตามเพราะอาจจะไม่เข้ากับแบรนด์เราก็ได้ เราต้องแข็งแรงและรักษาคาแรกเตอร์ของแบรนด์เราเอาไว้ และอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อยากเริ่มธุรกิจออนไลน์ในปีนี้ ขอให้เริ่มทำและทำให้สำเร็จ
Credits
The Host พัชชา พูนพิริยะ
The Guest อภิพรรณ มงคลพาณิชยกิจ
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Show Producers อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic