จูนจูน พัชชา รวบรวมวิธีเก็บเงินแบบง่ายๆ มาให้เลือกใช้ตามสไตล์ที่แต่ละคนถนัด เพราะเชื่อว่าถ้าคุณเจอวิธีเก็บเงินในแบบที่ใช่ เมื่อนั้นคุณก็จะเก็บเงินได้ไม่ยาก
วิธีที่ 1 เก็บเงินแบบเแบ่งกระปุก
หากระปุกหรือขวดโหลน่ารักๆ มาเตรียมไว้สำหรับใส่เงิน พร้อมเขียนป้ายแปะไว้หน้ากระปุกให้ชัดเจน เช่น กระปุกที่ 1 สำหรับทริปไปเที่ยวญี่ปุ่น กระปุกที่ 2 สำหรับกระเป๋า Chanel กระปุกที่ 3 สำหรับ MacBook Pro เวลาอยากได้อะไรเราก็จะตั้งใจหยอดเงินใส่กระปุกนั้นๆ
วิธีที่ 2 เก็บเศษเหรียญ
แต่ละวันเรามักมีเศษเหรียญติดตัวกลับบ้านมาอยู่แล้ว หรือที่กระจัดกระจายอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ทั้งในบ้านหรือบนรถ เอามารวมใส่ไว้ในกระปุกเดียว อย่าเอาไปใช้จ่าย พอปลายปีค่อยเอาออกมานับ รับรองว่าได้เงินเยอะอย่างเหลือเชื่อ
วิธีที่ 3 เก็บเงินเป็นทีม
ชวนเพื่อนหรือคนรักมาทำกิจกรรมร่วมกันและเก็บเงินไปพร้อมๆ กัน เช่น ปลายปีอยากไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ชวนเพื่อนเก็บเงินเดือนละ 3,000 บาท พอครบ 1 ปี มีเงิน 36,000 บาท ก็สามารถจองตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักได้อย่างสบายๆ ทำให้ฝันที่ตั้งใจไว้เป็นจริงได้แล้ว
วิธีที่ 4 เก็บตามจำนวนวันของปี
วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 365 ถ้าคุณทำตามได้อย่างเคร่งครัด วันสุดท้ายของปีจะมีเงินเก็บประมาณ 66,000 บาท แต่ถ้าใครที่ต้นปียังมีแรงฮึดและมีเงินโบนัส แนะนำให้ลองทำกลับกัน เก็บ 365 บาทตั้งแต่วันที่ 1 และค่อยๆ เก็บลดลงไปเรื่อยๆ หรือถ้าใครอยากเก็บทุกวันในจำนวนเท่ากัน เราหารเฉลี่ยมาให้แล้ว คือวันละ 183 บาท ก็จะได้ยอดเงินท้ายปีที่มีจำนวนเท่ากันแล้ว
แถมพิเศษ วิธีเก็บเงินจาก พี่หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach
1. หาเป้าหมายที่ชัดเจนให้เจอและประกาศให้คนที่รักรับรู้
เป้าหมายที่ดีต้องเป็นยอดเงินที่เราสามารถทำได้จริง มีเหตุผลรองรับให้กับตัวเองได้ว่าทำไมเราถึงควรมีเงินก้อนนี้ เช่น เพื่อความอุ่นใจ สร้างความมั่นคงทางการเงิน
รวมถึงอย่าลืมบอกคนใกล้ตัว เพื่อเป็นเหมือนคำสัญญาให้เราไม่กล้าทำผิดพลาด ให้เขาคอยช่วยเตือนและให้กำลังใจเราด้วย
2. ตัดเงินก่อนใช้จ่าย
เปิดบัญชีใหม่ ให้ธนาคารที่เราใช้บริการช่วยตัดเงินที่เข้าประจำใส่ไว้ในบัญชีนั้นก่อนที่จะถึงมือเรา แต่ต้องไม่หักโหมหรือตัดเยอะจนเราลำบาก อาจเริ่มต้นที่ 1,000 บาทก่อนก็ได้
3. เก็บภาษีฟุ่มเฟือยของตัวเอง
สมมติว่าคุณกินอาหารเย็นในร้านหรูราคา 500 บาท ซึ่งเกินจากราคาข้าวปกติในแต่ละมื้อที่กินอยู่ มื้อนั้นคุณต้องจ่ายภาษีให้ตัวเองเพื่อเป็นเงินเก็บ 10% เป็นเงิน 50 บาท วิธีนี้จะทำให้เงินในมือลดลง และทำให้เรารู้จักคิดก่อนใช้มากขึ้น
4. หาแบงก์โชคดีให้ตัวเอง
หลายคนมักใช้แบงก์ 50 เพราะเป็นแบงก์ที่ไม่ได้ผ่านมือบ่อยนัก ให้คิดเลยว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณได้แบงก์ 50 คุณจะเก็บมันไว้และไม่นำออกมาใช้ ตั้งใจสะสมจนถึงปลายปีค่อยเอาออกมานับ หลายคนได้เงินเป็นหมื่นๆ เลยนะ
Credits
The Host พัชชา พูนพิริยะ
The Guest จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Show Producers อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic