×

คอมเมนต์งาน อย่างไรให้ไม่เจ็บช้ำน้ำใจและได้งานที่ดี

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:01 ข้อดีของการคอมเมนต์งาน

10:31 วิธีการคอมเมนต์คนอื่นให้ไม่เจ็บช้ำน้ำใจ

16:16 ถ้าต้องคอมเมนต์งานที่เป็นนามธรรมทำอย่างไร

19:31 ถ้าถูกคอมเมนต์งานควรมีวิธีคิดอย่างไร

ในการทำงานเป็นทีม สิ่งหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นก็คือ การคอมเมนต์ เพื่อให้สุดท้ายเราได้ชิ้นงานหรือไอเดียที่ดีที่สุดร่วมกัน แต่การ คอมเมนต์งาน ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทบกับความรู้สึกและนำไปสู่ดราม่าต่างๆ ได้ง่าย

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ และ บองเต่า จึงมาช่วยหาวิธีว่าถ้าเราต้อง คอมเมนต์งาน คนอื่น จะทำอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจหรือรู้สึกว่ากำลังโดนวิจารณ์ และในขณะเดียวกัน ถ้าเราเป็นคนถูกคอมเมนต์จะเอาความคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับใช้อย่างไรเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด

 


 

ข้อดีของการ คอมเมนต์งาน

องค์กรที่ทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการร่วมติชมงานกันเป็นปกติ แต่สำหรับบางองค์กรที่ยังยึดธรรมเนียมอาวุโส การคอมเมนต์งานจึงอาจกลายเป็นเรื่องประดักประเดิดเมื่อเด็กรุ่นใหม่วิจารณ์งานของผู้ใหญ่ แต่อยากให้ลองเปิดใจมองข้อดีต่างๆ ของการร่วมกันระดมความคิดเพื่อติชมบ้าง ไม่แน่ว่าสุดท้ายเราอาจจะได้ชิ้นงานที่ดีกว่าการให้เจ้านายเป็นคนคิดตัดสินใจอยู่คนเดียวก็ได้

 

1. ได้ไอเดียหรือผลงานที่ดีที่สุด

เมื่อเราคิดไอเดียหรือผลงานขึ้นมาได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าชิ้นไหนกันแน่ที่เป็นที่สุด การเปิดให้บุคคลอื่นร่วมกันคอมเมนต์จึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ทุกคนช่วยกันคัดเลือก ‘Best of the Best’ เพราะแต่ละคนจะใช้ทักษะที่ตัวเองถนัด ร่วมกันคอมเมนต์ในมุมมองที่ต่างกัน เราจะได้ความเห็นหลากหลายที่จะช่วยตัดไอเดียฟุ้งกระจายให้เหลือแต่สิ่งที่เป็นไปได้ เพื่อนำไปพัฒนาให้เป็นไอเดียหรือชิ้นงานที่ดีต่อไปในอนาคต

 

2. ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความถนัดต่างกันมาคอมเมนต์ เราจะได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย ที่เห็นได้ชัดเจนคืองานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหรืองานออกแบบ ถ้าเราได้ไอเดียอื่นๆ มาช่วยกันเติม เราจะเห็นว่ามันยังมีทางไปได้หลายทาง หรือปรับให้งานสวยขึ้นได้อีก หลักการและวิธีคิดที่ต่างออกไปนี้อาจช่วยสั่งสมองค์ความรู้ให้กับตัวเราเองต่อไปด้วย

 

3. สะท้อนตัวตนของเรา

เราอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า งานเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา ผลงานจึงสะท้อนตัวตนของผู้ทำงานด้วย ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงความคิดเห็น มันอาจสะท้อนมาถึงตัวเราว่าตอนนั้นเราคิดอะไร มีทัศนคติอะไรเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งคอมเมนต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเราอาจไม่ได้เป็นจริงทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะเปิดใจรับฟัง แล้วค่อยกรองดูเอาเองว่าข้อบกพร่องไหนที่เป็นอย่างนั้นจริง แล้วจะปรับปรุงอย่างไรดี หรือคอมเมนต์ไหนที่ไม่เป็นความจริง เราจะได้เอามาวิเคราะห์ต่อได้ว่า ทำไมคนอื่นเขาถึงมองเราอย่างนั้น

 

แต่สิ่งสำคัญสำหรับคนถูกคอมเมนต์ ต้องไม่ลืมว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นสะท้อนเพียงงานและความถนัด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิสัยใจคอ ความดี ความเลวของเรา ให้คำวิจารณ์เหล่านั้นมีผลแค่กับตัวงาน อย่าเอามันมาตัดสินตัวเรา

 

4. ทำให้เราพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ถ้าอยากเก่งขึ้น ต้องค้นคว้าหาความรู้ หรือทดลองปฏิบัติจนเกิดเป็นทักษะเท่านั้น แต่ยังมีอีกวิธีที่หลายคนคิดไม่ถึงนั่นคือการเปิดรับความคิดเห็น ถ้าลองให้คนอื่นวิจารณ์งานของเรา คนเหล่านั้นอาจชี้ให้เห็นว่ามันยังบกพร่องตรงไหน เราต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมไหม แค่เปิดใจ เราอาจได้พัฒนาตัวเอง

 

5. ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันภายในองค์กร

โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ความรู้ความถนัดบางอย่างจะกระจุกอยู่ภายในทีมของตัวเอง แต่เมื่อมีการช่วยกันคอมเมนต์งาน มันก็จะเป็นการช่วยถ่ายทอดความรู้ที่ทีมตัวเองถนัดให้ทีมอื่นๆ เอาไปใช้เสริมประสิทธิภาพการทำงานของเขาได้ สร้างให้ภาพรวมขององค์กรมีความรู้หลากหลายมากขึ้น

 

6. ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น การคอมเมนต์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน คำพูดบางคำจึงไม่เหมาะกับการคอมเมนต์งานเพราะกระทบกับความรู้สึก การคอมเมนต์จึงเป็นการฝึกให้เรามีทักษะในการสื่อสาร รู้ว่าต้องแสดงความเห็นอย่างไรถึงจะตรงจุด ไม่กระทบกระเทือนความรู้สึก ชี้จุดบกพร่องอย่างไรให้ไม่รู้สึกว่ากำลังตำหนิ และในขณะเดียวกัน เราเองในฐานะที่เป็นคนถูกคอมเมนต์ก็ยังช่วยฝึกทักษะการยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ลดอีโก้ของตัวเองลงอีกด้วย

 

ทำอย่างไรถ้าเราต้อง คอมเมนต์งาน คนอื่น

สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือหากเราไม่เป็นฝ่ายถูกคอมเมนต์ เราก็ต้องคอมเมนต์ผู้อื่น ซึ่งสร้างความลำบากใจได้เหมือนกัน แต่ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู

 

1. อย่าใช้การคอมเมนต์ไปทำร้ายใคร

สิ่งแรกที่ควรคิดไว้เสมอคือ ให้พิจารณาเฉพาะตัวงานเท่านั้น อย่าลากเรื่องราวในอดีตที่อีกฝ่ายเคยทำผิดพลาด อย่าลากนิสัยส่วนตัวหรือแบ็กกราวด์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชิ้นงานมาเป็นตัวตัดสิน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเราจะเผลอคอมเมนต์ ‘คนทำงาน’ มากกว่า ‘ชิ้นงาน’ ที่สำคัญ อย่าใช้การคอมเมนต์งานเป็นโอกาสในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพราะนอกจากจะทำให้ไม่ได้งานตามเป้าหมายแล้ว ยังดูไม่เป็นมืออาชีพอีกด้วย

 

2. ควรมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องคอมเมนต์

การคอมเมนต์งานที่ดีควรมีการเตรียมความพร้อม ต่อให้เราถนัดในสิ่งที่เราต้องคอมเมนต์อยู่แล้ว ก็ควรศึกษาตัวงานไปก่อนอยู่ดีว่าคอนเซปต์คืออะไร ที่มาคืออะไร เพื่อจะได้วิจารณ์งานเขาได้อย่างมั่นใจและรู้จริง แต่มีบางกรณีเหมือนกันที่ต้องคอมเมนต์เพราะตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่เราไม่มีความรู้เท่าที่ควร ในกรณีนี้ หากไม่มั่นใจจริงๆ เราสามารถปฏิเสธ แล้วหาคนที่เชี่ยวชาญกว่ามาวิจารณ์ให้ แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ การศึกษาหาความรู้เรื่องเพิ่มเติมมาก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางครั้งการคอมเมนต์จากมุมของคนนอก อาจสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับคนที่จมอยู่ในงานนั้นมานานๆ ก็ได้เหมือนกัน

 

3. ก่อนคอมเมนต์ควรรับฟังก่อน

ถึงเวลาที่จะต้องคอมเมนต์จริงๆ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ การฟัง เราควรรับฟังก่อนว่าเขาคิดงานอยู่บนพื้นฐานไหน คอนเซปต์เป็นอย่างไร เพราะการเปิดโอกาสให้คนอื่นอธิบายจะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดในงานนั้นได้มาด้วยความคิดอะไร หรือสิ่งที่ผิดพลาดมันเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร หรืออาจเป็นไอเดียที่ดีที่สุดแล้วที่เขาคิดได้ในเวลานั้น

 

4. เปิดใจให้กว้าง

อย่าคิดว่าการเปิดใจเป็นหน้าที่ของคนที่ถูกคอมเมนต์เท่านั้น คนคอมเมนต์เองก็ต้องเปิดใจยอมรับความคิดเห็นคนอื่นด้วย ขอให้นึกอยู่เสมอว่าการคอมเมนต์งานเป็นการสื่อสารสองทาง ในขณะที่เราคอมเมนต์คนอื่น เขาก็มีสิทธิอธิบายในสิ่งที่เขาคิด เพราะในการทำงานให้สำเร็จได้อาจมีอีกหลายวิธีที่เราคิดไม่ถึง เราต้องไม่ยึดอีโก้ตัวเองเป็นหลัก แต่ต้องค่อยๆ ฟัง ทำความเข้าใจ และร่วมกันติชมเพื่อจะได้ทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

 

5. ไม่ต้องคอมเมนต์ทุกอย่างที่เห็น

ให้คอมเมนต์เฉพาะสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ หรือสิ่งที่อยากให้ปรับปรุงแก้ไข เพราะปกติแล้วในงานชิ้นหนึ่งมันจะมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ส่วนดีเราควรชื่นชม และส่วนไม่ดีก็ควรแจงอย่างตรงไปตรงมาว่าในความเห็นของเราควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง คิดไว้เสมอว่าการติไปเสียทุกอย่างไม่ได้ทำให้เราดูเป็นคนเก่งหรือชนะแต่อย่างใด

 

6. พูดตรงประเด็นและไม่ควรใช้อารมณ์

อาจเป็นเรื่องที่หลายคนรู้อยู่แล้ว แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อถึงเวลาจริงมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก หรือเผลอกันได้ จนนำไปสู่ดราม่าในที่สุด คำบางคำเมื่อพูดออกไปแล้ว คนฟังสามารถตีความหมายได้หลากหลาย เพราะฉะนั้นการเลือกคำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าจุดไหนที่ควรแก้ไข และถ้าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นการสามารถช่วยบอกได้ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราไม่มีคำพูดด้านลบจนคนฟังรู้สึกว่าเป็นการเชือดเฉือน ต้องย้อนกลับไปข้อแรก คือนึกไว้เสมอว่าการวิจารณ์คือการร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่การทำร้ายใคร

 

7. ถ้าต้องคอมเมนต์งานที่เป็นนามธรรม ให้กลับไปที่สิ่งที่จับต้องได้

เป็นเรื่องไม่ง่ายที่ต้องวิจารณ์งานศิลปะ เช่น รูปถ่าย ปกหนังสือ โปสเตอร์ แพ็กเกจจิ้ง ว่างานชิ้นนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เราจึงเจอคอมเมนต์ประเภท ‘รู้สึกว่ายังไม่สวย แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่สวยตรงไหน’ ‘ดีนะ แต่ยังไม่สุด’ ‘เหมือนมันขาดๆ อะไรไปบางอย่าง’ อยู่เป็นประจำ คนที่ถูกวิจารณ์จึงสับสนเพราะไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขตรงไหน

 

เพื่อให้ทุกคนทำงานต่อไปได้อย่างมีทิศทาง สิ่งที่ควรยึดถือเมื่อต้องคอมเมนต์งานที่เป็นศิลปะคือ

  • ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นหรือ Brief เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ โจทย์ของงานนี้คืออะไร ความต้องการของลูกค้าคืออะไร ซึ่งทั้งหมดเป็นผลดีกว่าจะมานั่งตีความกันเองเป็นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทิศทาง
  • การยึดถือกลุ่มเป้าหมาย หรือ Target เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะรู้ว่ากำลังทำงานสื่อสารกับใครอยู่ สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความดี ความอร่อย ความสวย ฯลฯ เหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายเป็นหลัก มากกว่าการมองผ่านความชอบของตัวเอง
  • มีสิ่งอ้างอิงที่เป็นรูปธรรม หรือที่เราเรียกกันว่า Reference โดยเฉพาะการทำงานกับลูกค้าที่สร้างความปวดหัวให้กับหลายคน เรามักโดนลูกค้าคอมเมนต์งานว่าไม่สวย ไม่ดี แต่ฝ่ายลูกค้าเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าความบกพร่องที่เกิดขึ้นคืออะไร และสิ่งที่บอกว่า ‘สวย’ นั้นคือแบบไหน การมี Reference จึงทำให้ทั้งเราและลูกค้าเห็นภาพร่วมกัน มากกว่าการคอมเมนต์งานไปอย่างไม่มีทิศทาง

 

8. เมื่อสิ่งที่ต้องคอมเมนต์เป็นเรื่องใหญ่ ควรคุยกันส่วนตัว

นอกเหนือจากสาระและวิธีการ เวลาและโอกาสก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน และเราเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง การเลือกคอมเมนต์กันส่วนตัวอาจสร้างความเข้าใจและทำให้ได้งานที่ดีกว่าการคุยรวมในที่ประชุม ซึ่งเราควรพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่าเรื่องไหนบอกกล่าวกันส่วนตัวหรือเรื่องไหนที่เหมาะจะถามความคิดเห็นจากหลายคน

 

เมื่อถูก คอมเมนต์งาน เราจะปรับทัศนคติอย่างไร

หลายคนอาจมีประสบการณ์แค่ถูกอาจารย์คอมเมนต์ตอนพรีเซนต์หน้าชั้นสมัยมหาวิทยาลัย แต่สำหรับชีวิตการทำงานจะแตกต่างออกไป ไม่ว่าใครก็อาจมีสิทธิคอมเมนต์งานเราได้ ไม่ใช่แค่คนที่อยู่เหนือกว่าเราอย่างเจ้านาย และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แรกๆ ที่เราถูกคอมเมนต์อาจจะรู้สึกเจ็บใจ เลยเถิดไปถึงการตีโพยตีพายเรื่องคุณค่าและความสามารถของตัวเอง แต่อย่าเพิ่งเตลิด ถ้าเราถูกคอมเมนต์งานเบอร์ใหญ่ สาระทั้งหลายถูกล้อมด้วยคำเสียดสีต่างๆ นานา ให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วทำอย่างนี้

 

1. ให้คิดว่า มันเป็นการฝึกความอดทน

โดยเฉพาะการโดนคอมเมนต์ครั้งแรก ไม่ง่ายเลยที่จะไปยืนเป็นเป้าแล้วให้คนมากมายแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราทำ แรกๆ เราจะแยกไม่ออกระหว่างคำพูดที่ทำให้เรารู้สึกผิด กับจุดบกพร่องที่เราต้องแก้ไขจริงๆ ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อโดนคอมเมนต์บ่อยขึ้น เราจะเริ่มแยกออก ความไม่มั่นใจหรือความเจ็บปวดจากการโดนคอมเมนต์จะน้อยลง แต่ถ้ารู้สึกว่าคอมเมนต์นั้นหนักหนาเสียจนเราตั้งหลักไม่อยู่ ให้ลองคิดว่านี่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เมื่อไปเจอลูกค้าโหดหินผู้ใช้คำพูดที่สร้างความเจ็บปวดยิ่งกว่านี้ เราจะได้เป็นคนแกร่งที่รับมืออยู่ เพราะถูกฝึกมาแล้ว

 

2. ให้เชื่อว่า ทุกคนเจตนาดี

อย่าคิดว่าชีวิตออฟฟิศจะดราม่าเหมือนในละครตลอดไป เพราะในความเป็นจริง ทุกที่มีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่ทุกคนย่อมอยากให้บริษัทประสบความสำเร็จ ผลงานและผลประกอบการดี ให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้น การคอมเมนต์งานก็น่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้สึกนี้ นั่นคือทุกคนร่วมกันติเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง

 

3. ให้ถามตัวเองดูว่า เราทำงานนี้ด้วยเจตนาอะไร

ถ้ารู้สึกว่าคำวิจารณ์ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามานั้นไม่ใช่สาระ แต่เต็มไปด้วยคำเสียดสีที่สร้างความเจ็บปวดจนเสียกำลังใจในการทำงาน ให้ลองถามตัวเองดูว่าตอนทำงานนี้เราทำด้วยความรู้สึกอะไร ถ้าทำด้วยความตั้งใจที่อยากให้บริษัทมีชิ้นงานที่ดี หรือให้ลูกค้าได้งานชิ้นที่ดีที่สุดกลับไปก็อย่าเสียใจ เพราะเรารู้ตัวเองว่าเรามีจุดหมายคือความปรารถนาดี เพียงแต่งานมันยังไม่สมบูรณ์ คนที่ทำงานอย่างขอไปที ทำให้เสร็จๆ ไปวันๆ คนเหล่านั้นต่างหากที่น่าจะต้องเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ

 

4. อย่าลืมที่จะมีจุดยืนเป็นของตัวเอง

เราเองควรเริ่มต้นด้วยการอธิบายที่มา แนวคิด วิธีการทำงาน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน ทุกคนจะได้ช่วยกันติชมอย่างถูกจุด เมื่อเกิดข้อสงสัยหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน เราเองก็ต้องสามารถอธิบายและตอบคำถามได้ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น บางคนอาจมีประสบการณ์มากกว่า เห็นทางออกของการแก้ไขมากกว่า ซึ่งหน้าที่ของเราคือการวิเคราะห์ กรองเอาความคิดเห็นเหล่านั้นมาพัฒนาชิ้นงานของเราต่อไป

 


 

Credits

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรด์ชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising