×

เด็กจบใหม่เรียกเงินเดือนเท่าไรดี? รู้สึกว่าเงินเดือนน้อยไปจะพูดอย่างไร? ทำไมเงินเดือนต้องเป็นความลับ?

16.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:04 เด็กจบใหม่เรียกเงินเดือนเท่าไรถึงจะเหมาะสม

12:49 เด็กจบใหม่ควรต่อรองเงินเดือนอย่างไร

18:29 บริษัทที่เงินเดือนดีแต่สวัสดิการไม่ดี กับบริษัทที่สวัสดิการดีแต่เงินเดือนกลางๆ เราควรเลือกทำที่ไหน

26:58 เรื่องเงินเดือนควรเป็นความลับหรือไม่

เงินเดือน เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดของคนทำงาน ถึงขนาดที่บางครั้งเรายังเรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีผลกระทบทั้งการวางแผนชีวิตและความรู้สึกอีกด้วย

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้รวบรวมคำถามต่างๆ เกี่ยวกับเงินเดือนที่อาจเป็นข้อสงสัยของเด็กจบใหม่ (First Jobber) ที่ไม่เคยมีเงินเดือนมาก่อนในชีวิต แถม ท้อฟฟี่ แบรด์ชอว์ และ บองเต่า ยังช่วยกันสุมหัวแก้ไขปัญหาเงินๆ ทองๆ ที่น้องๆ อาจต้องเจอในอนาคตให้อีกด้วย

 


เด็กจบใหม่ควรเรียกเงินเดือนเท่าไรถึงจะเหมาะสม

คนเพิ่งเรียนจบและกำลังจะมีงานทำเป็นครั้งแรก (First Jobber) น่าจะคิดว่านี่เป็นคำถามที่ยากที่สุด ตรงที่ยากคือ ‘เรียกเท่าไรถึงเหมาะสม’ กล่าวคือ ไม่น้อยเกินไปจนกลายเป็นกดราคาตัวเอง หรือไม่มากเกินไปจนบริษัทกลอกตาใส่แล้วบอกผ่าน เรื่องอย่างนี้ไม่มีสูตรบวกลบคูณหารตายตัวเสมอไป แต่เหล่านี้คือแนวคิดคร่าวๆ ให้แต่ละคนเอาไปปรับใช้ต่อตามความเหมาะสมของสถานการณ์และสายงานตน

 

1. ก่อนจะไปถึงเรื่องเงิน ให้ตั้งคำถามว่า งานนี้จะให้อะไรกับเราบ้าง เราจะได้เรียนรู้อะไรจากมัน และมันจะช่วยสร้างให้เราเป็นคนแบบไหนในอนาคต ลองทำการบ้านดูก่อนว่าคนในองค์กรนี้เขาเจริญเติบโตก้าวหน้าไปเป็นคนแบบไหน มีทักษะอะไร ถ้ารู้สึกว่างานนี้สามารถสร้างให้เราเป็นคนเก่งได้ก็ถือเป็นงานที่น่าพิจารณา

 

2. แต่เพื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลองมองเงินเดือนให้เป็นเรื่องการลงทุน ดูต้นทุนของเรา และกำไรที่เราจะได้ ให้คำนวณดูว่า ถ้าจะทำงานที่นี่ เราต้องมีต้นทุนอะไรบ้าง เริ่มจาก ค่าใช้จ่ายประจำ (Fixed Cost) อย่าง ค่าเช่าบ้านหรือหอพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องลิสต์ออกมาให้เห็นตัวเลขก่อน จากนั้นค่อยคำนวณค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือค่าใช้จ่ายที่ทำให้ชีวิตเราดีหรือมีความสุขขึ้น เช่น ค่าเข้าสังคมต่างๆ นอกจากนั้นก็ควรบวกจำนวนเงินที่ต้องการออมในแต่ละเดือนเพื่อความมั่นคงในชีวิตเข้าไปด้วย

 

ยังไม่รวมถึงต้นทุนบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเงิน เช่น ค่าเหนื่อยจากเวลาที่ใช้ในการเดินทาง แทนที่จะได้ใช้กับครอบครัว ใช้ในการออกกำลังกาย เที่ยวเล่น หรือทำสิ่งที่เราสนใจ

 

เมื่อคำนวณดูสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวล ค่าตอบแทนถือว่าคุ้มไหม ให้พิจารณาดูเอาเอง

 

15,000 บาท ยังใช่ตัวเลขที่ควรเรียกอยู่หรือเปล่า

‘หมื่นห้า’ เหมือนเป็นตัวเลขมาตรฐานเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับคนจบปริญญาตรีใหม่ๆ บรรดา First Jobber เมื่อไปแอบคุยแอบถามกันก็จะพบว่าเงินเดือนเริ่มต้นของเพื่อนแต่ละคนแตกต่างกันมาก อาจมีหลายครั้งที่เราประหลาดใจว่าทำไมเริ่มกันน้อยขนาดนี้ และบางครั้งก็ชวนให้น้อยใจว่าทำไมเราถึงไม่ได้ขนาดนั้นบ้าง

 

สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ เพื่อนแต่ละคนเริ่มต้นด้วยงานแบบไหน ต้องใช้ความสามารถพิเศษอะไรหรือไม่ ตัวอย่างเช่น งานแนว Management Consultant อาจเริ่มต้น เงินเดือน เดือนแรกเฉียดแสน แต่เป็นงานที่ต้องแลกด้วยเวลาในชีวิตส่วนตัวเยอะมาก คนทั่วไปทำงานกันประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่งานนี้ สัปดาห์หนึ่งอาจต้องทำถึง 70-90 ชั่วโมง ค่าตอบแทนขนาดนั้นจึงสมเหตุสมผลกับสิ่งที่เขาต้องแลก

 

หรือในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เงินเดือน เริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป แต่วิศวกรรมบางสาขา เช่นที่ต้องทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน อาจจะสูงถึงเดือนละ 70,000-80,000 บาท (บวก Allowance) เพราะเขาต้องสละเวลาปีละหลายเดือนไปประจำการอยู่กลางทะเลที่อาจจะทั้งเหงาและเสี่ยงอันตรายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมดทั้งมวลก็กลับไปที่สมการ ต้นทุน และกำไรอยู่ดีว่าอาชีพในแต่ละสาขาเรียกร้องให้เราลงทุนแค่ไหน ดังนั้น เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท จึงไม่ใช่ตัวเลขที่ใช้ได้สำหรับทุกคนและทุกวงการ

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการได้เงินเดือนเป็นครั้งแรกๆ ของ First jobber ทุกคนก็คือ การปรับชีวิตตัวเองให้เข้ากับเงินเดือนที่ได้รับ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะไลฟ์สไตล์บางอย่างอาจถูกลดทอนหรือตัดไป แต่ขอให้ลองพยายามค่อยๆ ปรับ นี่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ เพราะไม่ว่าจะได้เงินเดือนเท่าไร เราก็ไม่ควรใช้จ่ายเกินตัวอยู่ดี

 

‘งานแรก’ นั้นจะสร้างประสบการณ์ที่จะติดตัวเราไปมากมายกว่าเงินเดือนที่ได้ด้วยซ้ำ มันจะช่วยเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาว นี่คือสิ่งที่หาไม่ได้จากโรงเรียนหรือสถาบันไหนๆ และที่สำคัญ ต้องบอกตัวเองไว้เสมอว่า เราจะไม่ได้เงินเดือนเท่านี้ตลอดไป พอพ้นโปรฯ มันจะขึ้น พอมีประสบการณ์ มันก็จะขึ้นอีก และถ้าวันหนึ่งเราเก่งมาก มันก็จะสามารถขึ้นไปได้อีกมากๆ เช่นกัน

 

อีกอย่างที่อยากฝากไว้คือ เมื่อเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเองแล้ว อยากให้ First jobber ทุกคนลองรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางอย่างในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ มันจะช่วยฝึกความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และช่วยทำให้พ่อแม่ได้เห็นว่าเราโตแล้ว นอกจากรับผิดชอบตัวเองได้ ยังช่วยเหลือที่บ้านได้ด้วย

 

เด็กจบใหม่ควรต่อรองเงินเดือนอย่างไร

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีผังองค์กรชัดเจน มักมีลำดับขั้นเงินเดือนรวมถึงเส้นทางการเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน (Career Path) ที่ชัดเจนเช่นกัน แต่สำหรับบริษัทสมัยใหม่ที่มีขนาดกลางหรือขนาดเล็ก บางครั้งเงินเดือนเริ่มต้นก็มีความยืดหยุ่น และสามารถต่อรองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต่อรองอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ มีหลักการคร่าวๆ ที่จะนำไปพูดคุยกับผู้สัมภาษณ์หรือแผนกบุคคล (HR) ได้ ดังนี้

 

1. รู้จักตลาดและตัวองค์กร

เราควรเห็นภาพรวมของธุรกิจก่อนว่าเป็นอย่างไร เงินเดือนขั้นต่ำของตำแหน่งที่เราต้องการนั้นส่วนใหญ่เริ่มต้นที่เท่าไร โดยสามารถหาข้อมูลเหล่านี้จากอินเทอร์เน็ต แล้วใช้ตัวเลขตั้งต้นนั้นในการต่อรองเงินเดือน หรือในระดับที่ลึกขึ้นเราก็สามารถเสิร์ชหาข้อมูลผลประกอบการของบริษัทจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อดูแนวโน้มธุรกิจ หรือสภาพคล่องทางการเงินขององค์กร เพราะนั่นอาจจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้ร่วมตัดสินใจในการเรียกเงินเดือนได้ด้วย

 

2. รู้ว่าเรามีคุณสมบัติพิเศษอะไร

ถ้ามั่นใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีประสบการณ์บางอย่างมากกว่าคนทั่วไปก็ทำให้เรามีสิทธิในการต่อรองเงินเดือนมากขึ้น เช่น มีทักษะภาษาอังกฤษ มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ สมัยเรียนเคยเป็นประธานนักศึกษา เคยทำกิจกรรมค่ายอาสา เคยทำละครคณะ เคยไป Work and Travel ฯลฯ เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่มักโดนเหมารวมว่า ‘ไม่มีประสบการณ์’ แต่ถ้าเราสะสมประสบการณ์นอกหลักสูตรเหล่านี้เอาไว้มากๆ ตั้งแต่สมัยเรียน มันก็จะกลายเป็นจุดแข็ง กลายเป็นความน่าสนใจ กลายเป็น Value ที่นำไปสู่การต่อรองค่าตัวได้มากขึ้นเช่นกัน

 

ต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าเรามีคุณค่าอะไร แล้วเราถึงจะเรียกร้องได้

 

ถ้าถูกถาม เราควรพูดให้ชัดเจนตั้งแต่ถูกเรียกสัมภาษณ์งานว่าเราต้องการเงินเดือนเท่าไร ไม่ว่าจะกับหัวหน้างานหรือกับฝ่ายบุคคล แม้ว่าการคุยเรื่องเงินจะน่าประดักประเดิดอยู่บ้าง แต่ก็ควรทำ เพราะนอกจากจะสบายใจในการทำงานแล้ว ยังแสดงถึงความเป็นมืออาชีพอีกด้วย

 

เงินเดือนดีแต่สวัสดิการไม่ดี เทียบกับ สวัสดิการดีแต่เงินเดือนกลางๆ เราควรเลือกบริษัทไหน

สำหรับเด็กจบใหม่ นอกจากเรื่องเงินเดือนแล้ว ควรพิจารณาสวัสดิการต่างๆ ก่อนตัดสินใจด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตในการทำงานดีได้เช่นกัน เช่น บางบริษัทมีการจัดอบรมบ่อย นั่นแสดงว่าเขาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพพนักงาน ซึ่งมันจะทำให้เราเก่งขึ้น หรือบางที่มีเครื่องแบบพนักงานให้ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีประกันสุขภาพ มีวันหยุดพิเศษเพิ่มเติมจากวันหยุดทั่วไป หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการมีกาแฟให้ดื่มฟรี ออฟฟิศมีบรรยากาศที่น่าทำงาน ธรรมชาติขององค์กรเป็นมิตรและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่รับฟังเสียงเด็กๆ เสมอโดยไม่ใช้ประสบการณ์หรืออายุมากีดกัน ฯลฯ  

 

และเมื่อผ่านการสัมภาษณ์ไปแล้ว เราถูกหลายองค์กรเรียกตัวพร้อมกัน อำนาจการเลือกจะตกมาอยู่ที่เรา องค์กรหนึ่งสวัสดิการไม่เท่าไร แต่เงินเดือนดี กับอีกองค์กรหนึ่งเงินเดือนกลางๆ พอรับได้ แต่สวัสดิการดีมาก เราควรเลือกที่ไหน ให้ลองถามตัวเองง่ายๆ ดังนี้

 

1. เราอยากทำงานไหนกันแน่ เพราะสุดท้ายแล้วเนื้องานที่เราทำจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่แท้จริงให้เราทำงานได้ดีที่สุดอย่างยั่งยืน อย่าเลือกงานที่ตัวเองไม่ค่อยรักเพียงเพราะเงินดีและสวัสดิการดีเด็ดขาด รับรองว่ามันจะดีไปได้ไม่นาน

 

2. เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน การสอบถามพูดคุยกับพนักงานรุ่นพี่อาจทำให้เราพอจะได้ข้อมูลและเห็นภาพรวมบ้าง เช่น บางบริษัทเงินเดือนดี สวัสดิการดี แต่เนื่องจากออฟฟิศอยู่ในห้างสรรพสินค้า ค่าครองชีพจึงสูงมาก เพราะมักต้องกินอาหารกลางวันในห้าง อันนี้ต้องบวกลบคูณหารกันดีๆ ว่าไหวไหม คุ้มไหม

 

นอกจากเรื่องค่าครองอาชีพแล้วก็ควรพิจารณาเรื่อง การเดินทาง ร่วมด้วย ถ้าต้องเดินทางไกลมาก เงินเดือนระดับเราเหลือพอให้เช่าที่พักใกล้ออฟฟิศไหม เพราะการไม่ต้องเดินทางไกลก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนั้นแล้ว สวัสดิการเรื่อง ค่ารักษาพยาบาล ก็เป็นอีกอย่างที่น่าพิจารณา เด็กจบใหม่อาจไม่กังวลกับเรื่องนี้เท่าไรนักเพราะร่างกายยังแข็งแรงอยู่ แต่อยากให้คิดไว้ว่าความเจ็บป่วยจะมาเยือนโดยที่เราไม่คาดคิดเสมอ และใครจะไปรู้ว่าเราจะป่วยหนักแค่ไหน ค่าใช้จ่ายอาจสูงมากจนจ่ายเองไม่ไหว เจ็บไม่พอยังต้องมาจนซ้ำอีก ถ้าบริษัทมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้บางส่วน ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก หรือบางองค์กรใหญ่ นอกจากช่วยแก้ไขที่ปลายทางเมื่อป่วย ยังมีมาตรการส่งเสริมให้สุขภาพดีต้นแต่ต้นทางโดยการมีฟิตเนสอยู่ในออฟฟิศ หรือมีเงินสนับสนุนให้ไปสมัครฟิตเนสต่างๆ ในราคาประหยัดอีกด้วย

 

ยังมีสวัสดิการอีกหลายอย่างที่ควรพิจารณา เช่น การให้อิสระในการเข้า-ไม่เข้าออฟฟิศ หรือความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้า-ออกงาน (Flexible Hours Arrangements) รวมถึงสวัสดิการของบางองค์กรที่เผื่อแผ่ไปถึงคนในครอบครัวของเราด้วย เป็นต้น

 

เรื่อง เงินเดือน ควรเป็นความลับหรือไม่

ปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากมานานคือ เงินเดือนเป็นเรื่องที่ถามหรือบอกกันได้ไหม คำตอบไม่ยาก แค่เราลองสมมติสถานการณ์ดูว่า ถ้าถามแล้วพบว่าเพื่อนได้เงินเดือนเยอะกว่า เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะเชื่อว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือไม่ มันจะรบกวนจิตใจเราจนไม่สามารถโฟกัสเรื่องงานไหม แล้วคนที่เงินเดือนเยอะกว่าจะวางตัวอย่างไรให้สบายใจในการทำงานด้วยกันต่อไป แค่นี้เราก็ได้คำตอบแล้วว่าเรื่องเงินไม่ควรถามกัน และไม่ควรรู้ของกันและกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ต่อให้พนักงานตำแหน่งใกล้เคียงกันก็ไม่มีทางที่จะได้เงินเดือนเท่ากันทุกคน มากน้อยต่างกันไปตามความสามารถและอายุงาน ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะอยากรู้เงินเดือนของบางตำแหน่งเพื่อวางแผนเรื่องความก้าวหน้าของหน้าที่การงานในอนาคต เราอาจลองถามจากคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว อย่างคนที่เคยอยู่ตำแหน่งที่ว่าแต่ลาออกไป ก็จะไม่เสียมารยาทและไม่เกิดความกระอักกระอ่วน

 

ความจริงอีกอย่างคือ เงินเดือนเป็นเรื่องความพอใจเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นต่อให้เงินเดือนมาก เขาอาจยังไม่พอใจก็ได้

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือคนเรามักเอาเงินเดือนของตัวเองไปผูกติดกับของคนอื่น ถ้าเงินเดือนเยอะกว่าจึงจะมีความสุข เช่น ถ้าเราได้เงินเดือน 10,000 บาท แต่เพื่อนได้ 8,000 บาท เรามีความสุข แต่ในทางกลับกันถ้าเราได้เงินเดือน 50,000 บาท แต่เพื่อนได้ 70,000 บาท เราทุกข์ทันที เพราะรู้สึกว่ามีไม่เท่าคนอื่น ทั้งที่เงินเดือนที่ได้ก็เกินพอต่อการใช้จ่ายและการออมด้วยซ้ำ แล้วเราจะไปดิ้นรนอยากรู้ให้เสี่ยงต่อความเป็นทุกข์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบนี้ทำไม

 

ที่สำคัญกว่าเราได้เงินเดือนเท่าไรคือ เรามีเงินเหลือเก็บเท่าไร ได้เยอะแต่ไม่รู้จักวางแผนการใช้และออมอย่างฉลาดก็ไม่มีประโยชน์ เทียบกับคนที่เงินเดือนไม่มาก แต่รู้จักจัดการ เก็บออม พร้อมแสวงหาความรู้ในการลงทุนให้งอกเงยด้วยวิธีต่างๆ ชีวิตในบั้นปลายยังจะมีความสุขมากกว่าคนที่ได้เงินเดือนสูงๆ ด้วยซ้ำ

 

คิดว่า เงินเดือน น้อยไป ควรพูดไหม พูดกับใคร พูดอย่างไร

หากบังเอิญได้รู้เงินเดือนของเพื่อนในตำแหน่งเดียวกัน แล้วปรากฏว่าเราได้น้อยกว่าเขา สิ่งที่ตามมาอาจเป็นความไม่พอใจ และสงสัยว่านี่คือความไม่ยุติธรรม แต่ก่อนที่จะบุ่มบ่ามดราม่าออกไป ขอให้ลองพิจารณาตัวเลขนั้นดีๆ ว่า

 

หนึ่ง ส่วนต่างมากน้อยแค่ไหน มากมายน่าเกลียดจนต้องเสียแรงลุกขึ้นมาดราม่าหรือไม่

 

สอง ดูหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเรา เทียบกับของเพื่อนดูดีๆ ว่าเราทำงานมากพอ และดีพอหรือยัง อะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดความแตกต่างในตัวเลขค่าตอบแทนนี้

 

ถ้ามั่นใจว่า Performance ของตัวเองดีพอและควรค่าแก่การได้รับเงินเดือนมากกว่านี้ ให้เดินไปคุยกับเจ้านายอย่างสุภาพ ขอการประเมินผลและคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมที่จะแจกแจงผลงานและคุณภาพของการปฏิบัติงานของตัวเองด้วย

 

หากที่สุดแล้วพบว่าเรายังบกพร่องจริง อาจขอคำปรึกษาโดยลงรายละเอียดไปเลยว่า ถ้าอยากได้ค่าตอบแทนมากขึ้น เราต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น พัฒนาผลงานอย่างไร อาสารับงานที่ท้าทายมากขึ้นได้ไหม หรือขอโอกาสเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรได้อีกบ้างไหม มีตัวชี้วัด (KPI) อะไร ถ้าทำได้ ค่าตอบแทนที่เหมาะสมของเราควรจะขึ้นเป็นเท่าไร ภายในกรอบเวลาในการประเมินผลนานแค่ไหน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ เป้าหมายในที่นี้ไม่ใช่การต่อรองให้เงินเดือนของเราเท่ากับหรือมากกว่าใครๆ แต่เป็นการต่อรองเพื่อได้เงินเดือนที่เป็นธรรมและสมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพของตัวเราเอง ดังนั้น ก่อนจะเดินเข้าไปคุย ขอให้แน่ใจเสียก่อนว่า เราเป็นพนักงานคุณภาพแล้ว และสมควรได้รับโอกาสในการปรับค่าตอบแทนจริงๆ ไม่อย่างนั้น ขอแนะนำให้เอาเวลาที่จะเจรจา ไปพัฒนาตัวเองให้เก่งเสียก่อน เพราะถ้าเราดีจริง และดีจนบริษัทไม่อยากเสียไป การต่อรองเงินเดือนจะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด

 


ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 

 


 

Credits

The Host ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising