×

ผู้ใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยน vs เด็กรุ่นใหม่ไม่ทุ่มเท จะลดช่องว่างระหว่างวัยอย่างไรให้เข้าใจกัน

09.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:07 แต่ละออฟฟิศประกอบด้วยเจเนอเรชันไหนบ้าง

04:52 เจเนอเรชันไม่ได้สำคัญแค่เรื่องระหว่างคน

06:28 ผู้ใหญ่มองเด็กรุ่นใหม่อย่างไร และเรียนรู้อะไรจากเด็กสมัยนี้ได้บ้าง

21:40 เด็กรุ่นใหม่มองผู้ใหญ่อย่างไร และเปิดใจเรียนรู้อะไรได้บ้าง

26:54 วิธีปรับตัวเข้าหากันของทั้งสองเจเนอเรชัน

ถ้ามองแค่ครอบครัวของเราซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ มีสมาชิกอย่างมากเพียงหลักสิบ ประกอบด้วยคนรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นเรา เท่านี้ยังมีเรื่องปวดหัวให้แก้ปัญหามากมาย แล้วในองค์กรที่ประกอบด้วยคนจำนวนหลายสิบ หลายร้อย หรือเป็นพัน ประกอบด้วยผู้คนที่พื้นเพ อุปนิสัยใจคอ และช่วงวัยหลากหลาย พนักงานอาวุโสที่สุดอาจจะอายุราวปู่ของเรา และพนักงานผู้น้อยที่สุดอาจสามารถเป็นลูกเราได้ ปัญหาอันเนื่องมาจาก ‘ช่องว่าง’ และ ‘ความไม่เข้าใจ’ ย่อมตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ตลอดช่วงอายุการทำงาน ตั้งแต่เริ่มเข้าไปเป็น ‘จูเนียร์’ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในออฟฟิศจึงคิดและทำอะไรไม่เข้าท่าแบบนั้น พออยู่ไปสักพัก กลายเป็น ‘ซีเนียร์’ ก็ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ว่าทำไมไม่เข้าท่าอย่างนี้

 

I HATE MY JOB พอดแคสต์ อยากร่วมสร้างความเข้าใจและถมช่องว่างระหว่างวัยด้วยความคิดที่ว่า ผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนรู้วิธีการทำงานที่เขาอาจไม่เคยเห็นมาก่อนจากเด็กรุ่นใหม่ แทนที่จะมัวมองพวกเขาอย่างกล่าวหาว่าจับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ส่วนเด็กๆ ที่ชอบตั้งแง่อคติว่าผู้ใหญ่คร่ำครึ โบราณ ก็สามารถเรียนรู้จากการผ่านร้อนผ่านหนาวของผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนได้เช่นเดียวกัน

 

ช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้คนไม่เข้าใจกัน

เป็นไปได้ว่าในหนึ่งองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อาจประกอบด้วยพนักงานหลายเจน ดังนี้

 

Baby Boomer รุ่นเกิดหลังสงครามโลก อายุประมาณพ่อแม่ของเราหรือแก่กว่านั้น อาจเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการ

 

Gen X เป็นรุ่นลูกของเบบี้บูมเมอร์ เทียบให้เห็นภาพคือคนรุ่นเจ้านายหรือหัวหน้าของเรา

 

Gen Y ใน พ.ศ. นี้ คือคนอายุประมาณ 20 ปลายๆ จนถึงประมาณ 35 ปี เป็นกองกำลังสำคัญขององค์กร มีอายุงานตั้งแต่ 0-5 ปี

 

การที่องค์กรประกอบด้วยคนทั้ง 3 ช่วงวัยถือเป็นเรื่องดี ความหลากหลายและแตกต่างของวัยจะสามารถเติมเต็มภาพรวมขององค์กรให้รอบด้านยิ่งขึ้น เพราะแต่ละกลุ่มจะใช้ความถนัดของตนมาช่วยกันสร้างงานให้มีคุณภาพมากขึ้น

 

เจเนอเรชันเป็นเรื่องใหญ่ สามารถสะท้อนภาพรวม ทิศทาง และวัฒนธรรมขององค์กร โดยเฉพาะคนที่ทำงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรตระหนักว่า ในทุกวันนี้องค์กรของเรามีสัดส่วนของคนวัยไหนเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับนโยบายหรือสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น บางองค์กรที่เคยมี Gen X เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไป วันหนึ่งคนกลุ่มใหญ่ของออฟฟิศอาจกลายเป็น Gen Y ก็ได้

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าเจเนอเรชันไหนก็ต้องอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติกัน และทุกคนก็ควรต้องใช้ความสามารถของตนพางานไปข้างหน้าให้สำเร็จ

ผู้ใหญ่มองเด็กสมัยนี้กันอย่างไร

หลายครั้งเราพบว่าอคติและการเหมารวมมักไปตัดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ข้อดีของกันและกัน เช่น ผู้ใหญ่จะชอบตั้งแง่กับเด็กด้วยความคิดเหล่านี้

 

เด็กสมัยนี้ไม่มีสัมมาคารวะ

ผู้ใหญ่ชอบมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเห็นหัว ไม่ค่อยมีมารยาท และไม่ค่อยให้เกียรติคนที่โตกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัมมาคารวะและมารยาทเป็นเรื่องสองทาง ทั้งสองฝ่ายควรให้เกียรติกัน ไม่ใช่ให้เด็กแสดงต่อผู้ใหญ่เท่านั้น สังคมไทยจะสั่งสอนกันมาว่าผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็จะเอ็นดูผู้น้อย แต่ความจริง เมื่อใดที่ต่างฝ่ายต่างล้ำเส้นกัน ไม่ว่าจะเด็กเริ่มเล่นหัวผู้ใหญ่โดยไม่แคร์ความอาวุโส หรือผู้ใหญ่ดูถูกเด็กเพราะถือว่าอายุน้อยกว่าก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักทั้งคู่ สัมมาคารวะถือเป็นสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งแปลว่าไม่จำเป็นต้องผูกกับเจเนอเรชันหรืออายุแต่อย่างใด โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

ผู้ใหญ่อาจพยายามมองอย่างเข้าใจว่า ก่อนเข้าสู่โลกของการทำงาน ส่วนใหญ่เด็กรุ่นใหม่ก็ใช้ชีวิตอยู่แต่กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่างมากก็รุ่นพี่ที่โตกว่าไม่กี่ปี นี่จึงอาจเป็นครั้งแรกที่เขาต้องมาใช้ชีวิตกับคนที่มีวัยแตกต่างจากเขามากขนาดนี้ ทำให้พวกเขายังไม่ชิน ต้องใช้เวลาในการปรับตัวและเรียนรู้

 

เมื่อผู้ใหญ่ไม่ถือสา ให้เวลา และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กก็จะได้เห็นว่าขนาดรุ่นพี่หรือผู้อาวุโสยังเคารพหรือให้เกียรติเด็กอย่างเขา เด็กดีที่เอาไหนก็จะเรียนรู้โดยการซึมซับสิ่งดีเหล่านี้ไป แล้วปัญหาระหว่างวัยก็จะลดลง

 

เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ความอดทนต่ำ

เรื่องนี้อยากให้ผู้ใหญ่หันมามองบริบทการเติบโตของเด็กสมัยนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ Baby Boomer ที่ส่วนใหญ่จะเกิดมาในยุคสงครามโลก สถานการณ์ทำให้ต้องเอาชีวิตรอด คนรุ่นนี้จึงมีความอดทนติดตัวมา ส่วน Gen X เป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัวในโลกที่ความขัดแย้งต่างๆ เริ่มคลายตัวลง มาถึง Gen Y เขาจะเริ่มสบาย เพราะไม่ได้เจอความลำบากในชีวิตมากมาย เป็นรุ่นที่พ่อแม่เริ่มมีเวลาเลี้ยงดูทะนุถนอมอย่างไม่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเหมือนในภาวะสงครามแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ได้เจอความขัดแย้งหรืออุปสรรคใหญ่หลวงในชีวิต ความอดทนต่อสิ่งต่างๆ ก็จะน้อยลงไปด้วย นี่เป็นที่มาของความคิดว่า ‘ไม่ต้องไปทน’ นอกจากนั้นปัจจุบันเทคโนโลยียังมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทุกอย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว และนี่เป็นที่มาของความคิดว่า ‘ไม่ต้องไปรอ’ เพราะการส่งข้อความทางมือถือมันไวมาก ในขณะที่คนรุ่นก่อนติดต่อกันด้วยจดหมาย การจะรอใครสักคนตอบจดหมายก็เหมือนได้ฝึกความอดทนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นต่างฝ่ายต่างต้องเข้าใจภูมิหลังของแต่ละยุคที่พวกเขาเหล่านั้นเกิดมาด้วย

 

นอกจากนั้นแล้ว ความรู้สึกที่ผู้ใหญ่ชอบมองว่าเด็กสมัยนี้สมาธิสั้น ไม่สนใจทำอะไรเป็นอย่างๆ ให้เสร็จทีละชิ้น เพราะว่าเด็กสมัยนี้เติบโตขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่รองรับการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ที่ทำให้สามารถทำงานที่ไหนเมื่อไรก็ได้ เลยดูเป็นคนไม่โฟกัสอะไรสักอย่าง เพราะเด็กสมัยนี้ถูกหล่อหลอมให้เป็นอย่างนี้ ในขณะที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนจะทำงานให้เสร็จไปทีละอย่างด้วยความตั้งใจ

 

วิธีการทำงานทั้งสองแบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำทีละหลายอย่างอาจได้ทั้งปริมาณและอาจเสร็จเร็วขึ้น แต่การทำทีละอย่างก็ทำให้ได้งานละเอียด คุณภาพเนี้ยบ เมื่อคนที่ถนัดวิธีต่างกันต้องมาทำงานด้วยกันก็ควรต้องเปิดใจ ปรับจูน และค่อยๆ เรียนรู้กันไป

 

เด็กสมัยนี้ไม่ทุ่มเทและไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร

ที่ผู้ใหญ่รู้สึกอย่างนี้ เพราะเด็กรุ่นใหม่หลายคนเข้ามาทำงานได้แค่ปีสองปีก็ออกแล้วย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ต่างจากค่านิยมเมื่อก่อนที่ทำงานที่ไหนก็จะทำไปยาวๆ บางคนอยู่องค์กรเดิมมาเป็นสิบปี จึงอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าตนนั้น ‘ภักดีและทุ่มเท’ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ ‘ไม่ภักดีและไม่ทุ่มเท’

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนต่างรุ่น ความคิดย่อมต่างกัน เพราะคนรุ่นก่อนที่เติบโตมาในภาวะที่ต้องเอาตัวรอด ถ้ามีงานที่สามารถยึดเหนี่ยวไว้เพื่อความมั่นคงก็จะยึดไว้ก่อน การทำงานที่เดิมที่เดียวนานๆ โดยไม่ย้ายไปไหนเกิดจากความรู้สึกว่านี่เป็นความมั่นคงของชีวิต แต่สำหรับเด็กสมัยนี้ ความมั่นคงและการเอาชีวิตรอดไม่ใช่เรื่องที่ต้องกระเสือกกระสนกันขนาดนั้น เพราะโลกทุกวันนี้มีทางเลือกมากขึ้น การผูกมัดตัวเองระยะยาวจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป

 

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ใหญ่จะมีอคติกับเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ไม่ยาวว่าไม่มีความจงรักภักดี แต่ถ้าผู้ใหญ่ลองมองอีกมุมว่า ถ้าเด็กรู้จักตัวเอง อยากจะไปศึกษาในสิ่งที่ตัวเองรัก ตัวเองชอบไม่ดีกว่าหรือ ทำไมจะต้องยึดติดกับที่เดียวแล้วได้ตำราหรือวิชาจากที่นี่ที่เดียว ทำไมไม่เอาตัวเองออกไปดูตำราหลายๆ เล่ม เพราะเด็กรุ่นใหม่ความสนใจค่อนข้างกว้างและหลากหลาย แถมเขายังเห็นบทเรียนบางอย่างจากความผิดพลาดหรือข้อเสียของคนรุ่นเก่าว่า การอยู่องค์กรเดิมยาวๆ นั้นอาจทำให้ตนพลาดโอกาสในการสร้างทักษะใหม่ๆ จากการทำงานในองค์กรหลากหลาย โอกาสในการเติบโตก็ไม่เท่าคนที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ แถมบางครั้งยังได้ผลตอบแทนน้อยกว่ารุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่เสียอีก

ฉะนั้นการโทษว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่จงรักภักดีเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่เรื่องยุติธรรมนัก แต่เขาอาจจะแค่เลือกทางเดินของตัวเองก็เท่านั้น

เด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งอาจเคยทำงานเป็นนักบัญชี แต่วันหนึ่งก็เปลี่ยนตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์ก็ได้ เพราะเขาแน่ใจว่าตัวเองมีทางเลือก อาชีพไม่ได้มีอาชีพเดียว

 

นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่อาจเห็นบทเรียนจากคนรุ่นเก่าว่าการทุ่มเทให้งานเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจชีวิตด้านอื่นก็ไม่อาจเรียกว่าประสบความสำเร็จ คนรุ่นเก่าอาจคิดว่าการเอางานเป็นที่ตั้งถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่เขากลับรู้สึกว่าคนที่สามารถสร้างสมดุลให้กับทุกด้านของชีวิตต่างหากคือคนที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ การทุ่มเทให้กับงานจึงไม่ใช่ทางเลือกหลักของเด็กรุ่นนี้ และเขาก็ไม่ผิดที่คิดอย่างนั้น

 

ในเมื่อธรรมชาติของคนรุ่นใหม่เป็นแบบนี้ ไม่เพียงแต่พนักงานรุ่นใหญ่ต้องปรับตัว องค์กรเองก็ต้องปรับตัวด้วย จากเมื่อก่อนที่เคยคิดว่าพนักงานคนหนึ่งเข้ามาแล้วจะต้องอยู่กันยาว 10-20 ปี มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นแล้วก็ได้

 

ผู้ใหญ่เรียนรู้อะไรจากเด็กรุ่นใหม่ได้บ้าง

1. อย่าทำแต่งาน การทำทุ่มเททำงานเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจด้านอื่นของชีวิตอาจไม่ใช่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะเด็กรุ่นใหม่แสดงให้เห็นว่าชีวิตเรามีมิติด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงาน และถ้าทำให้มันดีก็อาจประสบความสำเร็จได้ เช่น บางคนทำงานไปด้วย ขายของออนไลน์ไปด้วย หรือหลังเลิกงานบางคนก็ไปเรียนมวยไทยเป็นงานอดิเรก จากที่เคยทำแต่งาน ผู้ใหญ่อาจได้เห็นมุมอื่นที่ทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น

 

2. อย่ายึดติด เด็กรุ่นใหม่ไม่มีแบบแผนหรือกรอบบางอย่างในการทำงานเท่าคนรุ่นเก่า เขาเชื่อว่าวิธีการทำงานไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเวลาคิดอะไรเขาจึงมีความคิดสร้างสรรค์สูง ส่วนผู้ใหญ่ที่ทำงานมานานแล้วจะมีสูตรของตัวเอง เพราะพิสูจน์มาแล้วว่ามันเคยได้ผล แต่มันไม่ได้หมายความว่าสูตรนี้จะได้เสมอและตลอดไป ถ้าเราให้อิสระเด็กใหม่ได้ลองหาวิธีทำงานใหม่ๆ โดยไม่ต้องยึดติดกับวิธีการเก่าๆ พวกเขาอาจไปเจออะไรที่จะทำให้ผลงานโดยรวมดีขึ้นก็ได้ และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่รับฟังและให้โอกาสเด็กแสดงความคิดของตัวเอง

 

3. เรียนรู้ทักษะของโลกใหม่ ทุกวันนี้หลายธุรกิจเริ่ม ‘โกดิจิทัล’ ซึ่งคนที่เรียนรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กและปรับตัวได้เร็วกว่าก็คือคนรุ่นใหม่ ถ้าเราเปิดโอกาส รุ่นน้องเหล่านี้จะช่วยสอนอะไรใหม่ๆ ให้รุ่นพี่ได้มากมาย ผลคือการพาให้องค์กรก้าวหน้าและปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีขึ้น

 

แล้วเด็กสมัยนี้มองผู้ใหญ่กันอย่างไร

ไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่จะชอบตั้งแง่กับเด็ก เด็กเองก็มักมองผู้ใหญ่ในทางไม่ค่อยดีเอาไว้ก่อนเหมือนกัน

 

ผู้ใหญ่เชย จู้จี้จุกจิก เจ้าระเบียบ

เด็กๆ จะเบื่อพิธีรีตอง เอกสารก็ต้องทำกันหลายขั้นตอนเหลือเกิน เพราะผู้ใหญ่อาจคิดด้วยกรอบเดิมๆ ว่าหลักฐานที่เป็นระเบียบชัดเจนเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้ารุ่นน้องเบื่อความยืดยาดไม่ทันใจของกรอบหรือระเบียบเก่าๆ ที่มีอยู่ ก็ลองเสนอวิธีที่จะทำให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้นหรือดีขึ้นได้ให้รุ่นพี่พิจารณาดู เพราะต้องเข้าใจว่าองค์กรเขาอยู่มานานและทำอะไรซ้ำๆ อยู่เป็นสิบปี บางทีมันก็นึกไม่ออกว่าจะทำด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร หรือไม่เห็นข้อดีของการคิดใหม่ทำใหม่ด้วยซ้ำ หากคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่าที่เปิดโอกาสและเปิดใจ องค์กรที่อยู่มานานๆ ก็สามารถยกเครื่องใหม่ให้ทันสมัยได้

 

นอกจากที่จะมัวมองว่าผู้ใหญ่คร่ำครึแล้ว ลองเปลี่ยนมุมมองดูว่าพวกเขาคือคนที่พาองค์กรของเราก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ ผ่านยุคสมัยของอุปสรรคและความไม่สะดวกมากมาย ไม่มีเทคโนโลยี อีเมล หรือโซเชียลมีเดียที่คอยเอื้อในการทำงานเท่าทุกวันนี้ นี่แสดงว่าพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ เขาต้องมีความเก่งความชำนาญบางอย่างล่ะ วิธีปรับทัศนคติตัวเองด้วยความคิดในมุมแบบนี้ทำได้ง่ายนิดเดียวโดยการหาโอกาสนั่งพูดคุยทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนมกับผู้ใหญ่หลายๆ คนในองค์กรดู เราอาจพบว่าจริงๆ แล้วพวกเขามีบทเรียนหรือองค์ความรู้บางอย่างที่เราไม่มี และสามารถปรับใช้กับการทำงานได้ในอนาคต

การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่คือการได้ยินได้ฟังว่าเขาเคยล้มท่าไหน เราจะได้ไม่ล้มซ้ำในท่าเดิม

ผู้ใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง

คนส่วนใหญ่อาจมองว่าผู้ใหญ่ผ่านอะไรมาตั้งมากมาย มีวุฒิภาวะ ทำไมยังพลาดเรื่องเดิมๆ อยู่อีก ผู้ใหญ่เลยไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น นั่นคือเหตุผลที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจผู้ใหญ่ในมุมนี้ และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ใหญ่บางคนเขาพร้อมจะเปลี่ยนนะ เพียงแต่เขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน อยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจและอดทนในความค่อยเป็นค่อยไปนี้ด้วยเช่นกัน

 

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนในทุกวัยทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน เพื่อทำให้เรื่องช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ไม่กลายเป็นปัญหาก็คือ

 

1. เปิดใจและให้เกียรติ

อย่าเพิ่งตั้งแง่ ลืมเรื่องความแตกต่าง ลืมว่าใครต้องเก่งกว่าใครไปก่อน คิดเสียว่าเขาคือเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเรา ทุกคนเป็นครูของใครบางคน และเป็นนักเรียนของใครบางคนได้ทั้งนั้น

 

2. อย่าเหมารวม

อย่าคิดว่าคนเจเนอเรชันใดๆ ต้องมีลักษณะนิสัยอย่างที่เราคาดเดาไว้ (หรือบางทีแค่ได้ยินมา) เสมอไป อย่าเพิ่งคิดว่าเด็กจะไม่มีสัมมาคารวะ และอย่าเพิ่งคิดว่าผู้ใหญ่จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเสมอไป เพราะถ้าสังเกตดีๆ ในออฟฟิศเราจะมีผู้ใหญ่บางคนที่เก่งเทคโนโลยีกว่าเด็กรุ่นใหม่เยอะ และในขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่บางคนก็ช่างโลกแคบและไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย มองคนให้เป็นคน และทำความรู้จักเขาไปทีละคน ในฐานะปัจเจกบุคคล เราอาจเจอข้อดีที่เราคิดไม่ถึงมาก่อนก็ได้

เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องทำงานด้วยกัน สร้างอนาคตที่ดีด้วยกัน จำไว้ว่าถ้าอยากไปเร็วให้ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปให้ไกลต้องไปด้วยกัน


ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 

 


 

Credits

The Host ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising