×

วางแผนวันลาเพื่อให้หยุดอย่างแฮปปี้

26.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:51 ประเภทของวันลา

08:15 เคสตัวอย่างของการลา

09:48 ลาแล้วต้องตัดขาดการทำงานเลยไหม แล้วควรทำอย่างไรระหว่างลา

14:00 วิธีวางแผนการลาให้แฮปปี้กันถ้วนหน้า

21:01 ลาแล้วโพสต์โซเชียลอวดได้แค่ไหน

วันลา เป็นสิ่งที่ชุ่มชื่นหัวใจและเฝ้ารอสำหรับชาวออฟฟิศที่ทำงานหนักตลอดทั้งปี เป็นเหมือนจุดแวะพักที่เราได้ไปชาร์จแบตตัวเอง ได้ไปทำสิ่งที่ชอบ ได้ไปจัดการด้านอื่นๆ ของชีวิตที่นอกเหนือจากการทำงาน

 

แม้วันลาจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่มนุษย์ออฟฟิศทุกคนจะพึงมีพึงได้มากน้อยต่างกันตามอายุงาน แต่อย่างที่รู้กัน เราไม่สามารถลาตามอำเภอใจ นึกอยากจะหยุดเมื่อไรก็หยุด เพราะตราบใดที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งงานที่ต้องประสานกับคนอื่นๆ ในออฟฟิศและหน่วยงานข้างนอก เราจึงจำเป็นต้องลาอย่างมีแผนเพื่อทุกฝ่ายจะได้เข้าใจ และเราเองก็ได้หยุดอย่างสบายใจด้วยเช่นกัน

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ มาชวนกันวางแผนการลางาน ทั้งลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ให้ได้หยุดยาวอย่างมีความสุขกันถ้วนหน้า เดินไปขอเจ้านายอย่างไรให้เข้าใจ รวมถึงมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงลา เช่น จะโพสต์ได้ลั้นลาขนาดไหนในขณะที่เพื่อนๆ กำลังทำงานอยู่


ประเภทของ วันลา

สำหรับชีวิตมนุษย์ออฟฟิศ การลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลาเพียง 1 ครั้งอาจส่งผลกระทบต่องานและผู้ร่วมงานได้ วันลาที่เราคุ้นเคยกันสามารถแบ่งได้เป็น

 

ลาป่วย พบว่าโรคยอดฮิตสำหรับคนที่ลาป่วยในระยะเวลาสั้นคือ อาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่การลาป่วยนั้นสามารถลาได้ตามเวลาที่ป่วยจริง เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะหายป่วยเมื่อไร แม้จะระวังรักษาร่างกายมากขนาดไหนก็ตาม และอย่าลืมส่งใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานให้ HR ด้วย

 

ลากิจ คือการลาไปทำธุระส่วนตัว เช่น เพื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการ ทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เมื่อโดนตัดน้ำตัดไฟ ซึ่งต้องไปติดต่อในเวลาราชการ และบางออฟฟิศก็ต้องการหลักฐานเหมือนกัน เช่น บัตรประชาชนใบใหม่ หรือพาสปอร์ตเล่มใหม่ จำนวนวันที่ลาได้นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละที่ว่าให้ปีละกี่วัน เพราะถือเป็นสวัสดิการที่องค์กรมอบให้ ไม่ได้บังคับใช้ตามกฎหมาย โดยที่องค์กรมีสิทธิ์พิจารณาไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ลากิจได้ด้วย

 

ลาพักร้อน ถือเป็นการลาไฮไลต์สำหรับใครหลายคน เพราะเป็นการหยุดพักจากการทำงานเพื่อไปใช้ชีวิตส่วนตัวในด้านอื่นๆ บ้าง แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้ทุกองค์กรมีลาพักร้อน แต่เป็นสวัสดิการที่ควรมี เพราะจะเป็นผลดีทั้งต่อบริษัทและต่อศักยภาพของพนักงาน ลองนึกภาพคนที่ใช้ชีวิตเป็นกิจวัตรจันทร์ถึงศุกร์และมีวันหยุดแค่เสาร์อาทิตย์ซ้ำอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ได้มีโอกาสพิเศษออกไปเปิดหูเปิดตาที่ไหนเลย ชีวิตย่อมจะเหี่ยวเฉา แต่การได้หยุดพักบ้าง นอกจากทำให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว การเดินทางท่องเที่ยวไปในที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย ก็ทำให้พบแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่จะเอามาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ด้วย โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องอาศัยความครีเอทีฟ การลาพักร้อนจึงจำเป็นอย่างมาก

 

จำนวนวันลาพักร้อนของแต่ละองค์กรก็ไม่เท่ากัน ตามนโยบายของแต่ละที่จะได้มากน้อยแค่ไหนส่วนใหญ่อยู่ที่อายุงาน เช่น พนักงานใหม่อาจมีโควตาปีละ 7 วัน จนถึงมากที่สุดหากอยู่มานานๆ อาจได้ถึง 20 กว่าวันเลยก็มี นโยบายเรื่องการให้วันลาพักร้อนก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเลือกงานของคนจำนวนมากในสมัยนี้

 

นอกจากวันลาพื้นฐาน 3 ชนิดที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว ยังมี

 

ลาคลอด แม่สามารถลาคลอดได้ครั้งละ 90 วันตามกฎหมายกำหนด โดยนับวันหยุดอยู่ในช่วง 90 วันนี้ด้วย ซึ่ง 45 วันแรกออฟฟิศจะเป็นคนจ่ายเงินเดือนให้ ส่วนแม่ที่ส่งประกันสังคม ประกันสังคมจะออกค่าจ้างให้ทั้งหมด 90 วัน โดยจ่ายให้ 50% ของเงินเดือนในกรณีที่มีเงินเดือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท

 

ส่วนใครที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ประกันสังคมก็จะคิดให้ในอัตราเดือนละ 15,000 บาทเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น แม่มีเงินเดือน 10,000 บาท x 3 เดือน x 50% เท่ากับว่าประกันสังคมจ่ายให้ 15,000 บาท หรือในอีกกรณีที่แม่มีเงินเดือน 15,000 บาท หรือมากกว่า ก็จะเป็น 15,000 บาท x 3 เดือน x 50% เท่ากับว่าประกันสังคมจ่ายให้ 22,500 บาท

 

ส่วนผู้ที่เป็นพ่อ กฎหมายยังไม่มีกำหนดว่าสามารถให้ลาคลอด แต่บางองค์กรก็เริ่มมีนโยบายนี้แล้วด้วยเหมือนกัน

 

ลาเกณฑ์ทหาร พนักงานสามารถลาได้ตามจำนวนที่หมายเรียกกำหนด โดยถือว่ายังไม่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ส่วนเรื่องเงินเดือนในช่วงที่ไปเกณฑ์ทหารนั้นองค์กรจะเป็นคนจ่ายให้ แต่กฎหมายกำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 60 วันต่อปี

 

ลาบวช ถือเป็นสวัสดิการที่แต่ละองค์กรมอบให้ ซึ่งบางที่อาจไม่มีนโยบายนี้ และถึงแม้ว่าให้ลาได้ การจ่ายค่าจ้างก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรเหมือนกัน แนะนำให้พูดคุยกับฝ่ายบุคคลจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด

 

ลาทำหมัน สามารถลาได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยควรลาล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดผลข้างเคียงจากการทำหมันก็สามารถลาป่วยต่อได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยองค์กรจะจ่ายเงินเดือนให้ไม่มีการหักเงินในวันนั้นๆ

 

ในปัจจุบันองค์กรจะมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น บางที่จะมีวันหยุดที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา เช่น บางบริษัทมีนโยบายให้หยุดในวันเกิด หรือบางบริษัทมี Sabbatical Leave อนุญาตให้พนักงานประจำที่ทำงานกับองค์กรมานานได้หยุด (ยาวกว่าลาพักร้อน อาจตั้งแต่ 2 เดือนไปถึง 1 ปี) เพื่อไปชาร์จพลังงานให้ตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง อาจเดินทางท่องเที่ยว ลงเรียนคอร์สต่างๆ หรืออื่นๆ ในกรณีพนักงานจะกลับมาพร้อมพลังงานมากขึ้น ประสบการณ์หรือความรู้มากขึ้น ส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทจะยังจ่ายหรือไม่จ่ายค่าจ้างแค่ไหนอย่างไรระหว่าง Sabbatical Leave แล้วแต่กฎกติกาของแต่ละที่

 

นอกจากนั้นแล้วออฟฟิศรุ่นใหม่ที่เข้าใจธรรมชาติของพนักงาน เช่น เว็บไซต์ Mango Zero และ ParentsOne ให้พนักงานลาหยุดได้ถ้าอกหัก ปีละ 3 วัน หรือพนักงานที่อายุงานครบ 1 ปี ก็สามารถลาไปบำเพ็ญประโยชน์ได้ 1 วัน เป็นต้น

 

เราควรลาแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่สุดของการลาคือเราควรลาตามความเป็นจริง เพื่อเป็นการไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน บริษัท และที่สำคัญเป็นการไม่ให้เกียรติตัวเอง ลาป่วยก็ลาเมื่อป่วย ลากิจเมื่อต้องมีธุระติดต่อกับสถานที่ราชการและลาพักร้อน ก็ควรลาเต็มสิทธิ์ที่เรามี ถ้าเป็นพนักงานใหม่ ปีแรกอาจจะยังลาไม่ได้เนื่องจากอายุงานไม่ถึงตามนโยบายแต่ละบริษัท แต่เมื่อมีสิทธิ์ในการลาในปีถัดไปแล้ว เราควรลาตามสิทธิ์ทั้งหมดที่มี เพราะถือว่าเป็นสวัสดิการที่ออฟฟิศมอบให้

 

มีบางคนไม่ยอมใช้สิทธิ์ในการลาพักร้อนเพราะรู้สึกผิด รู้สึกเหมือนว่าถ้าลาเยอะแล้วดูขี้เกียจ ดูไม่รักงาน หรือต่อให้ลาบ้างก็ไม่ยอมใช้สิทธิหมดโควตา แต่อยากให้ลองคิดว่า ถ้าตอนทำงานเราทำเต็มที่ ตอนพักเราก็ควรพักเต็มที่ด้วย วันลาเป็นสิทธิ์ที่เราควรได้ เราก็ต้องใช้มัน และไม่ต้องกังวลว่ามันจะเกี่ยวกับเพอร์ฟอร์แมนซ์ เพราะตราบใดเท่าที่เรายังรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ คุณภาพงานดี และไม่ได้ลาเกินกว่าที่บริษัทกำหนด ก็เรียกว่าเราได้ใช้ทั้งสิทธิ์และทำทั้งหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้ว

 

วางแผนการลาอย่างไรให้เวิร์ก

1. วางแผนลาร่วมกันทั้งทีม

ตั้งแต่ต้นปี ลองเรียกทั้งทีมมาประชุมกัน เอาปฏิทินมากางแล้ววางแผนการลาร่วมกันว่าใครแพลนจะหยุดเมื่อไรบ้าง อย่างแรกคือจะทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกว่าชีวิตการทำงานมีเป้าหมาย รู้ว่าตรงไหนจะได้หยุดพัก นอกจากนั้นแล้วยังสามารถจัดสรรคนรับผิดชอบแทนในช่วงที่มีคนลาด้วย

 

2. ลองลาในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาล

หลังจากรู้ว่าสมาชิกในทีมหยุดวันไหนกันแล้วบ้าง เราลองมาดูตัวเองว่าเราชอบวันลาแบบไหน ระหว่างการหยุดในช่วงเทศกาล หรือยอมหยุดยาวในช่วงที่คนอื่นไม่หยุดกัน แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า ถ้าลาพักร้อนในช่วงเทศกาล ก็ต้องไปแย่งกันกินแย่งกันเที่ยวกับคนมากมาย ถ้าไม่อยากเจอแบบนั้น ให้ลองเลือกลาหยุดยาวในช่วงนอกเทศกาล ก็จะได้ไปเที่ยวโดยไม่ต้องผจญกับคนเยอะๆ แถมอาจได้ตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่าด้วย เช่น เลี่ยงช่วงซากุระบานหรือช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในญี่ปุ่น เปลี่ยนมาเที่ยวในช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งอาจเจออากาศร้อน และ/หรือ ฝน แต่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างถูกหมดเพราะเป็น Low Season เป็นต้น

 

3. เฉลี่ยวันลา

ถ้าเป็นคนไม่ค่อยนิยมการเที่ยวยาว แต่รู้สึกว่าการได้พักผ่อนสั้นๆ แต่ได้ไปบ่อยๆ เหมาะกับธรรมชาติตัวเองมากกว่า ก็ลองเฉลี่ยวันลาดู เช่น ถ้าทั้งปีมีวันลาพักร้อน 12 วัน ก็ลาเดือนละ 1 วัน เพื่อหยุดยาวในศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ของทุกๆ เดือน เป็นต้น

 

4. ทำเช็กลิสต์เคลียร์งาน

ถ้าหยุดยาวแต่ยังมีสิ่งคั่งค้างต้องเคลียร์ ลองทำเช็กลิสต์เป็นข้อๆ เพื่อให้รู้ว่างานทั้งหมดที่ต้องทำมีอะไรบ้าง แล้วไล่ทำทีละข้อจนหมด เมื่อถึงเวลาจะได้ไปเที่ยวอย่างสบายใจ

 

การตั้ง Auto Reply ในอีเมลเพื่อให้คนที่ติดต่อมารู้ว่าเราลาอยู่ก็เป็นการสื่อสารที่ดี นอกจากนั้นลองเขียนป้ายตั้งไว้บนโต๊ะทำงานว่าเราลาช่วงนี้ถึงช่วงนี้ เวลามีคนในออฟฟิศมาติดต่อจะได้รู้

 

5. ลาอย่างมีน้ำใจ กระจายโควตาให้เพื่อนบ้าง

ทุกครั้งที่มีช่วงหยุดยาวหรือวันลาฟันหลออาจมีขาประจำบางคนที่คอยเหมาจองทั้งหมดโดยไม่เผื่อแผ่ให้คนอื่น ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่ก็ไม่น่ารักเท่าไร การวางแผนลาร่วมกันทั้งทีมอย่างที่แนะนำไปในตอนต้นจะช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ ในปัจจุบันนี้มีบางบริษัทให้พนักงานจองวันลาล่วงหน้าในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็จะทำให้เห็นหมดว่าใครลาวันไหนบ้าง และเห็นหมดว่าใครเผื่อแผ่หรือใครเห็นแก่ตัวแค่ไหนบ้าง

 

6. โพสต์โซเชียลอย่างเหมาะสม

ในขณะที่คนอื่นกำลังทำงานยุ่งเป็นระวิง เราผู้กำลังเที่ยวลั้นลาอยู่นั้นก็ควรโพสต์โซเชียลแต่พอดี มีความบันยะบันยัง และไม่มีน้ำเสียงเยาะเย้ยหรือสมน้ำหน้าเพื่อนที่กำลังทำงานอยู่ ต่อให้ตั้งใจจะเล่นมุกขำๆ แต่คนทางนี้อาจไม่ขำด้วย นี่คงไม่ใช่กฎ แต่เป็นเรื่องของมารยาทมากกว่า

 

เคสตัวอย่างของการลา

1. ลาป่วยแต่โป๊ะ

ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ใครทำอะไรคนก็เห็นหมด มีเหตุการณ์หนึ่งที่พนักงานไลน์มาบอกเจ้านายว่าป่วยด้วยเสียงอันสั่นเครือ ขอลาไปโรงพยาบาล ปรากฏโดนเพื่อนแท็กรูปในเฟซบุ๊ก เลยเห็นว่าที่จริงกำลังเที่ยวทะเลอย่างสนุกสนาน ตกลงยังไง ป่วยเพราะโดนแมงกะพรุนหรืออะไร โป๊ะกันไป กลายเป็นตราบาป จำไว้ว่าอย่าโกหก ไม่มีความลับในโลกโซเชียลหรอกนะ

 

2. ลาไปแล้ว แต่งานเข้า

ลาพักร้อนไปแล้ว แต่มีเหตุการณ์คาดไม่ถึง งานเข้าไม่หยุด และเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้ถึงวันที่ลาไว้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเคลียร์ทัน ตั๋วเครื่องบินก็ซื้อไปแล้ว ที่พักก็จองไว้แล้ว ในกรณีนี้ทั้งท้อฟฟี่และบองเต่าเห็นตรงกันว่า ควรจะเอางานไว้ก่อน แม้ว่าการลาจะเป็นสิทธิ์ของเราก็ตาม แต่ความรับผิดชอบเรื่องงานต้องมาเป็นอันดับแรก

 

3. ลาแล้วลาลับได้ไหม

หลายคนถือว่าการลาเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ระดับที่จะขอตัดขาดเรื่องงานแบบไม่แตะเลย แต่บางคนก็ลาเหมือนไม่ได้ลา ต้องพกงานไปทำด้วย

 

ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถหาข้อสรุปได้เลยว่าใครควรจะทำอย่างไร เพราะตำแหน่งงานที่รับผิดชอบแต่ละคนก็ต่างกันไป และแต่ละองค์กรก็มีธรรมชาติในการทำงานไม่เหมือนกัน ต้องหาจุดเหมาะสมของเราเอง แต่มีข้อที่อยากให้ลองคิดดูคือ

 

เราสามารถลาแบบไม่ต้องชัตดาวน์ได้ คือการใช้อุปกรณ์สื่อสารและโซเชียลเน็ตเวิร์กในการอัปเดตเรื่องงานได้ เช่น เช็กอีเมลสักครั้งก่อนนอน ถ้ามีอะไรด่วนหรือสำคัญมากๆ ที่ต้องทำเดี๋ยวนั้นก็มอบหมายหรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานได้ หรือถ้าเจองานสำคัญแต่ยังไม่ต้องทำทันทีก็ได้ ให้ติดดาวหรือปักธงเอาไว้ให้ตัวเองรู้ว่าต้องรีบจัดการทันทีเมื่อกลับมาทำงานตามปกติ

 

ตั้ง Auto Reply ในอีเมล นอกจากควรอีเมลแจ้งผู้ที่มีธุระต้องติดต่อกันประจำล่วงหน้าให้รู้ว่าเราจะลาช่วงไหนบ้างแล้ว การตั้งข้อความตอบอัตโนมัติยังเป็นการสื่อสารให้คนอื่นๆ รู้ว่าเราไม่อยู่ ไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาใดๆ ให้เขาได้ในทันที นอกจากนั้น เรายังควรใส่ชื่อและเบอร์ติดต่อของคนที่สามารถรับเรื่องแทนเราได้ไว้ในข้อความตอบอัตโนมัตินี้ด้วย

 

พูดคุยตกลงกันในทีมให้เข้าใจตรงกัน ว่าในช่วงที่แต่ละคนลานั้น หากไม่ฉุกเฉินหรือคอขาดบาดตายจริงๆ ไม่ต้องตามตัว ให้คิดเสียว่าติดต่อไม่ได้ เพราะช่วงที่ทำงานก็ทำกันอย่างเต็มที่แล้ว พอถึงช่วงที่ลาก็อยากให้พักกันจริงๆ ไม่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรตกลงกันดีๆ ก่อนว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบแทนในกรณีที่มีเรื่องให้แก้ปัญหาหรือว่ามีคนติดต่อเข้ามา เพื่อให้งานยังดำเนินไปได้

 

การ ‘ลาแล้วลาเลย’ ในกรณีที่คนลาเป็นหัวหน้าหรือเจ้านาย อาจเป็นโอกาสดีในการปล่อยให้ลูกน้องและทีมได้รับผิดชอบเต็มที่โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะเป็นการฝึกสกิลให้แข็งแกร่งขึ้น

 

คิดสักนิดก่อนจะลา

แม้ว่า วันลา จะเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม แต่การลาครั้งหนึ่งของเราอาจส่งผลกระทบต่อทีมหรือตัวงาน เพราะฉะนั้นเราควรลาให้ถูกต้อง และไม่เดือดร้อนใคร และควรศึกษาระเบียบของบริษัทให้ดี เพราะบางที่ลาปากเปล่าได้ แต่บางที่ต้องมีการทำเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นขั้นตอน

 

ส่วนการลาพักร้อน ก็ควรดูธรรมชาติของธุรกิจแต่ละบริษัท เช่น บริษัทที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับฤดูกาลหรือเทศกาล แต่ละเดือนจะมีความยุ่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ซึ่งช่วงที่พีกที่สุดคือปลายปีประมาณพฤศจิกายนถึงธันวาคม ในขณะที่บริษัทอื่นๆ มีวันหยุดเยอะมาก แต่ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารจำเป็นต้องเปิดทำการและบางที่อาจจะมีนโยบายว่า 2 เดือนนี้ห้ามลา ถือเป็นเงื่อนไขที่พิเศษและต่างจากบริษัททั่วไปที่เราควรรู้และเป็นข้อมูลในการพิจารณาการสมัครงานด้วย

 


ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 

 


 

Credits

The Host ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising